โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

10 ข้อคิด วางใจอย่างไร จึงพัฒนาจิตได้เร็ว | พศิน อินทรวงค์

พศิน อินทรวงค์

เผยแพร่ 05 ก.ย 2562 เวลา 10.19 น.

1. ให้ศีลเป็นกรอบ อย่าให้เป็นกฎ ให้เหมือนบ้านที่ไม่มีรั้วชัดเจนนัก แต่เราก็รู้ว่าขอบเขตบ้านอยู่ตรงไหน ศีลที่ชัดเจนเกินไปจะกลายเป็นสิ่งบีบคั้น ที่สุดแล้วมักนำมารร้ายมาสิงใจผู้ยึดถือในภายหลังเสมอ 

2. งานชำระจิต คืองานทวนกระแส มีอะไร ๆ ภายนอก เราก็ทวนเข้ามาดูภายใน เราจะไม่เพ่งเล็งไปที่ความประพฤติของใครทั้งนั้น แต่เราจะเพ่งเล็งมาที่กิเลสตัณหาของตนเองล้วน ๆ

3. ขอให้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ การอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติไม่ได้หมายถึงการเข้าป่า หรือย้ายตนเองไปนอนริมทะเล ธรรมชาติมีอยู่แล้วทุกที่ ในบ้านเรือนของเราก็มีธรรมชาติ เพียงทำใจให้นิ่ง ธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว จะไหลผ่านสู่ใจของเราเอง

4. อะไร ๆ ก็นำมาพิจารณาธรรมได้ทั้งนั้น ทั้งความผิดหวัง และสมหวัง ทั้งสิ่งที่เราชื่นชอบ และสิ่งที่เราคิดว่าไม่ชอบ มันมีลักษณะเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือความเปลี่ยนแปลง ถ้าเรามองเห็นความเปลี่ยนแปลงในทุกสิ่ง ความชอบหรือไม่ชอบต่อสิ่งนั้นย่อมลดลง ใจจะเป็นกลางมากขึ้น

5. การสนทนาธรรมเป็นสิ่งดี แต่พูดมากเกินไปก็กลายเป็นไม่ดีได้เหมือนกัน ถ้าให้ดีควรเลือกสนทนาตามกาลที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นคนบ้าธรรมะ เป็นอันตรายอีกประการที่แฝงมากับการศึกษาธรรมะอย่างลืมตัว ความรู้ธรรมะก็เป็นกิเลสได้ถ้าไม่มีสติกำกับ

6. สิ่งหนึ่งที่ผูกเราไว้กับกิเลสอย่างแน่นหนาก็คือการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะการวิจารณ์โดยมากมักมีต้นกำเนิดจากอัตตาของตนเอง เรามีประสบการณ์แบบใด เราก็ยึดสิ่งนั้นเป็นบรรทัดฐาน เมื่อมีความจำเป็นต้องวิจารณ์ ก็ควรระวังใจของตนเอง พูดถึงคนอื่นเท่าที่จำเป็นก็พอ

7. เป้าหมายเป็นสิ่งดีในทางโลก แต่ในทางธรรมบางครั้งอาจไม่เสมอไป การตั้งเป้าหมายทางธรรมควรตั้งอย่างเบา ๆ หมายความว่า เพียงแค่รู้ว่าจะไปไหน รู้เล่นๆ รู้เบา ๆ หากปฏิบัติธรรมเพื่อหวังได้สมาธิ หวังบรรลุธรรม หวังสวรรค์ หวังบุญ หวังนิพพาน สุดท้ายแล้วอาจกลายเป็นกิเลสรูปแบบใหม่ รวมความว่าหวังได้ ตั้งเป้าหมายได้ แต่หวังแบบเบาๆ เอาแค่พอให้มีกำลังใจเดินทาง อย่าให้เคร่งเครียดจริงจังจนเกินไป

8. ความเพียรในการปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งที่แปลก เราไม่อาจใช้ความเพียรในลักษณะเดียวกับการทำสงคราม ถ้าเราต้องการเอาชนะกิเลส นั่นคือการเพิ่มพลังให้กิเลส แม้เราไม่ต้องการเอาชนะ เพียงแค่ทำความเข้าใจ กิเลสกลับลดลงอย่างน่าประหลาด การทำความเพียรในแง่มุมของการปฏิบัติจึงมีความหมายตรงกับคำว่า “ไม่เพียรไม่พัก” เราไม่ได้ทำจริงจังนักแต่เราก็ไม่หยุดทำ ไม่ใช่ความเพียรแบบพายุ แต่เป็นความเพียรแบบสายลมพัดผ่าน

9. เราไม่ได้ต้องการอารมณ์เชิงบวก และเราไม่ได้ต้องการอารมณ์เชิงลบ เราต้องการเพียงแค่ความตั้งมั่นเล็ก ๆที่หล่อเลี้ยงด้วยความเบิกบาน เพื่อเฝ้าสังเกต เราสังเกตทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในความคิด ทั้งอารมณ์เชิงบวกและลบจะถูกเราสังเกตทั้งหมด สังเกตเท่าที่สังเกตได้ รู้เท่าที่รู้ได้ ไม่ใช่รู้อยู่ตลอดเวลา อารมณ์ไม่ใช่เรา และเราไม่ใช่อารมณ์

10. การปฏิบัติธรรมไม่ใช่สิ่งอลังการที่ดูเข้มขลัง มิใช่การสวมชุดขาว ไม่ใช่การทำบุญเข้าวัด แต่คือการชำระจิตผ่านการใช้ชีวิตประจำวัน ทุกอย่างควรทำให้เรียบง่ายและกลมกลืนที่สุด เราสามารถปฏิบัติธรรมที่บ้านก็ได้ ที่ทำงานก็ได้ ในห้องน้ำก็ได้ เพราะจิตใจอยู่กับเราทุกที่ทุกเวลา 

รูปแบบเป็นส่วนเสริมกำลังใจแต่ไม่ใช่สาระสำคัญ ความสร้างสรรค์ และการรู้จักกิเลสของตนเองเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การปฏิบัติธรรมมีความก้าวหน้า หลักธรรมคำสอนคือวัตถุดิบ ผู้ปฏิบัติควรปรุงให้มีความเหมาะสมกับตนเอง สิ่งที่ทำให้การปรุงไม่ผิดพลาดคือสติ กิเลสนี้เป็นของแปลก บางครั้งต้องทุบ บางครั้งต้องสังเกต บางครั้งต้องแกล้งโอนอ่อนผ่อนตาม ทุกอย่างไม่มีสูตรตายตัว ทว่าเป็นการแก้เกมแบบก้าวต่อก้าว รายวัน รายชั่วโมง รายนาที รายวินาที เป็น ณ ขณะจิต

เมื่อเราตื่น กิเลสมักตื่นก่อน เมื่อเรากิน กิเลสย่อมแทรกตัวเข้ามาร่วมวง ยามเราพูด ถ้าสังเกตให้ดี ย่อมเห็นว่ามันเป็นผู้บ่งการเราอยู่ตลอดเวลา แม้ทำสมาธิบางครั้งก็มีกิเลสแฝง แม้ทำวิปัสสนาบางคราวก็มีกิเลสแฝง ความรวดเร็วของมันมีสูง ทั้งยังฉลาดปราดเปรื่อง ล้ำลึก แยบยล ผู้ปฏิบัติทั้งหลายไม่อาจชะล่าใจว่า ตนเอาอยู่!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0