โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ใครเป็นคนเริ่มดื่มชา? ค้นหลักฐานร่องรอยวัฒนธรรมการดื่มที่ฮิตทั่วโลก

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 08 พ.ค. 2566 เวลา 03.34 น. • เผยแพร่ 06 พ.ค. 2566 เวลา 17.05 น.
ภาพปก-ชา
ภาพประกอบเนื้อหา - (ขวา) คนงานเก็บใบชาในสวน Chinnamora Tea Garden แถบ JORHAT ประเทศอินเดีย เมื่อปี 2005 (ภาพจาก STR / AFP)

แม้เอกสารส่วนใหญ่จะเห็นว่าการดื่ม “ชา” นั้นได้เริ่มขึ้นในประเทศจีน คาดกันว่าน่าจะเริ่มมาไม่น้อยกว่า 2,157 ปีก่อนพุทธศักราช ทั้งนี้ กรรมวิธีในการผลิตชาเพื่อการบริโภคนั้นเป็นการพัฒนางานทางเทคโนโลยีชีวภาพที่เก่าแก่ที่สุด

มีเรื่องที่น่าสนใจว่า แม้การดื่มชาจะเป็นเรื่องที่พัฒนากันมาแล้ว แต่วัฒนธรรมการดื่มชานี้ได้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

จากการศึกษาในเอกสารที่มีอยู่ในประเทศไทย พบว่าผู้คนส่วนใหญ่มีความคิดไขว้เขวกันมากเกี่ยวกับการดื่มชาว่าใครเป็นคนแรกที่ริเริ่มในการดื่มชา คนทั่วไปเองก็คงจะไม่รับทราบว่าการดื่มชานั้นย่อมต้องมีจุดเริ่มต้น เมื่อเป็นที่ยอมรับทั่วไปก็มีการแพร่หลายมากขึ้น

มีแนวความคิดเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของการดื่มชาหลายแนวความคิด ซึ่งสามารถที่จะประมวลเป็นแนวความคิดได้ ดังนี้

แนวความคิดที่ 1

เมื่อกาลครั้งหนึ่งที่จักรพรรดิเชน หนุง (Emperor Shen Nung) ทรงต้มน้ำใกล้ ๆ กับต้นชา พลันกิ่งชาได้หล่นลงมาในหม้อน้ำ เมื่อเอากิ่งชาและใบชาออกแล้วทรงดื่มดูก็พอพระทัยเป็นที่ยิ่ง หลังจากนั้นจึงได้มีการดื่มชาแพร่หลายมากขึ้น

แนวความคิดที่ 2

มีเรื่องเล่าขานกันว่า นานมาแล้วมีนักบวชชาวอินเดียชื่อธรรม (Daruma) ได้ปรารภกับตัวเองว่าจะพยายามบำเพ็ญเพียรโดยจะไม่นอนเป็นเวลาเจ็ดปี แต่เมื่อได้บำเพ็ญได้เพียงห้าปี ก็เกิดอาการง่วงนอน จึงคว้าเอาใบของต้นชาที่อยู่ใกล้ ๆ มาเคี้ยวเล่น ทำให้สามารถที่จะไม่นอนต่อไปอีก จนครบเจ็ดปีตามที่ได้ตั้งใจเอาไว้ในตอนแรก

เรื่องคล้ายกันนี้ได้รับการเรียบเรียงไว้ในเอกสารของ ส.พลายน้อย (พฤกษนิยาย) หนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงเรื่องราวของนักบวชชื่อธรรม (Daruma) เป็นโอรสของกษัตริย์อินเดียที่ได้เดินทางไปจาริกบุญเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาในประเทศจีน ช่วงนั้นอยู่ในแผ่นดินของจักรพรรดิกูตี่ (Emperor Ku Ti) หรือในช่วง พ.ศ. 1063

องค์จักรพรรดิกูตี่นิยมชมชอบนักบวชเป็นที่ยิ่ง จึงทรงนิมนต์นักบวชให้เข้าไปพักอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งที่เมืองนานกิง ขณะที่นักบวชได้นั่งสวดมนต์ภาวนาก็เกิดเผลอม่อยหลับไป ทำให้คนจีนหัวเราะเยาะและเย้ยหยัน ท่านธรรมจึงตัดหนังตาของตัวเองทิ้งเสีย หนังตาเหล่านั้นเมื่อตกถึงพื้นดินก็เกิดงอกเงยขึ้นมาเป็นต้นพืช นับเป็นศุภนิมิตที่สร้างความแปลกใจให้แก่ชาวจีนเป็นที่ยิ่ง คนจีนจึงพากันเก็บใบชามาชงในน้ำเดือดเพื่อรักษาโรค

แนวความคิดที่ 3

สมัยหนึ่งได้เกิดอหิวาตกโรคในตำบลหนึ่งของประเทศจีน ชาวบ้านต่างพากันล้มตายกันเป็นจำนวนมาก เกี้ยอุยซินแซพบว่าสาเหตุใหญ่ของการเกิดโรคเกิดจากการที่ผู้คนต่างพากันดื่มน้ำสกปรก จึงแนะนำให้ชาวบ้านต้มน้ำดื่ม และไปเสาะหาใบไม้มาอังไฟให้หอมเพื่อใส่ลงไปในน้ำต้ม

เกี้ยอุยซินแซพบว่ามีพืชชนิดหนึ่งที่ให้กลิ่นหอมมากเป็นพิเศษ มีรสฝาดเล็กน้อยและแก้อาการท้องร่วงได้บ้าง จึงเผยแพร่วิธีการนี้ให้ชาวบ้านได้ทำตาม พืชที่มีกลิ่นหอมนั้นที่แท้ก็คือต้นชานั่นเอง

แนวความคิดที่สามของเกี้ยอุยแซนี้ มีความเป็นไปได้สูงมาก แม้ในเอกสารเอ็นไซโคลพีเดีย บริตานิก้าที่มีชื่อเสียงก็ยังได้ให้ข้อคิดเห็นว่า เรื่องราวของการดื่มชาที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศจีนหรือเมื่อราว 4,700 ปีมาแล้ว แนวความคิดนี้ให้เหตุผลว่าอันการเริ่มต้นของการดื่มชานั้น เป็นการต้มน้ำเพื่อรักษาสุขภาพให้ดี แต่เอกสารนี้ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดมากนัก

แนวความคิดที่ 4

จากข้อสันนิษฐานทางวิทยาศาสตร์เห็นว่า “ชา” ไม่ได้มาจากจีน แต่น่าจะมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้ที่สนับสนุนแนวความคิดนี้มี เอเดนและเฮมุคคาเซ ทั้งสองให้ความเห็นว่า ชาที่ดื่มกันอยู่ทุกวันนี้น่าจะมาจากเวียดนาม โดยได้นำเข้าไปปลูกในจีนและญี่ปุ่นโดยพระสงฆ์ จากนั้นจึงมีการเผยแพร่ทั้งการปลูกและการบริโภคถ้าพิจารณาด้วยเหตุผลแล้วจะเห็นว่าแนวความคิดที่ 3 หรือที่ 4 นั้น เป็นความคิดที่น่าจะถูกต้องเพราะมีเหตุผลดี

คนจีนได้ถือปฏิบัติการดื่มชาเรื่อยมาเป็นเวลาหลายพันปีมาแล้ว แม้คนจีนรุ่นใหม่ก็ดื่มน้ำเย็นกันน้อย เวลากินข้าวก็ดื่มน้ำชา หรือไม่ก็เครื่องดื่มทั้งประเภทน้ำแข็งใส่น้ำชา ชาดำเย็นหรือชาเย็น แล้วแต่ว่าใครจะชอบแบบไหน

พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่บ่งบอกถึงแนวทางของการวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของมนุษย์ แม้จุดเริ่มต้นเกี่ยวกับการดื่ม “ชา” จะไม่ชัดเจนดีพอ แต่ก็ยังมีการดื่มชากันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เมื่อความต้องการดื่มชาของมนุษย์ได้เพิ่มมากขึ้น พื้นที่ปลูกชาจึงได้ขยายตัวอย่างมากมาย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กรกฎาคม 2561

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0