โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ภูมิภาค

ปกครองชะอำตั้งด่านเข้มดักรถขยะจากประจวบฯ ทหาร ม.ทบ.15 ยันปิดบ่อฝังกลบ ศร.เหตุ อปท.ผิดเงื่อนไขมีผลกระทบสิ่งแวดล้อม

สยามรัฐ

อัพเดต 03 ก.ค. 2564 เวลา 06.06 น. • เผยแพร่ 03 ก.ค. 2564 เวลา 06.06 น. • สยามรัฐออนไลน์
ปกครองชะอำตั้งด่านเข้มดักรถขยะจากประจวบฯ ทหาร ม.ทบ.15 ยันปิดบ่อฝังกลบ ศร.เหตุ อปท.ผิดเงื่อนไขมีผลกระทบสิ่งแวดล้อม

วันที่ 3 ก.ค.64 พ.ต.ธีระพงษ์ นามสละ นายทหารที่ดิน มณฑลทหารบกที่ 15 (ม.ทบ.15)จ.เพชรบุรี เปิดเผยว่า หลังจากมีปัญหาขยะล้นเมืองใน จ.ประจวบคีรีขันธ์วันละกว่า 200 ตัน โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน เทศบาลเมืองประจวบฯ และองค์กรปกครองท้องถิ่น ( อปท.)อีก 20แห่งเนื่องจากมีการปิดบ่อขยะแบบผังกลบในพื้นที่ศูนย์การทหารราบค่ายธนะรัชต์ (ศร.) อ.ปราณบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้นได้เดินทางไปตรวจสอบการบริหารจัดการขยะร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร ศร. พบว่าการขออนุญาตเปิดบ่อขยะตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2544 ตลอดระยะเวลาได้ดำเนินการผิดเงื่อนไขอย่างต่อเนื่อง

พ.ต.ธีรพงศ์ กล่าวว่า การบริหารจัดการปล่อยให้มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขณะที่ ศร.ได้แจ้งให้ทุก อปท.ทราบว่าจะปิดบ่อฝังกลบหากหมดสัญญาในเดือนสิงหาคม 2564 แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้เตรียมความพร้อมวางแผนล่วงหน้า ส่วนข้อเรียกร้องให้เปิดบ่อขยะแห่งเดิมใน ศร.เป็นการชั่วคราวเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน คาดว่าอาจจะมีการเจรจาในระดับนโยบาย ขณะที่หน่วยงานใน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ตั้งด่านสกัดบนถนนเพชรเกษม และถนนสายรองทุกเส้นทาง เพื่อตรวจสอบบรรทุกขยะจาก จ.ประจวบคีรีขันธ์

“ จากรายงานการติดตามและประเมิน ในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานภาครัฐ พบว่า การจัดการขยะ ภายใน ศร. มีขยะฝังกลบ 300ตันต่อวัน แต่ความสามารถในการกำจัดรองรับสูงสุดเพียง 60 ตันต่อวัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีรายได้จากการรับกำจัดขยะ 25 ล้านบาทต่อปี จากการเก็บตัวอย่างคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อตรวจสอบค่าโลหะหนัก 10 ชนิด ตามมาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดินละการตรวจสอบระบบระบายก๊าซ ทำให้พื้นที่รอบบ่อขยะมีความเสี่ยงที่มีกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”พ.ต.ธีรพงศ์ กล่าว

นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีพื้นที่บำบัดขยะวันละกว่า 170 ตันทั้งในและนอกจังหวัด แต่ได้ตรวจสอบพื้นที่ในเขตเทศบาลพบว่ามีที่ดิน 7 ไร่ ในซอย 102 ห่างจากถนนสายหลักก่อนเข้าซอย 3 กิโลเมตร จึงสั่งการให้ทางสำนักงานฝ่ายช่าง ใช้รถแบ็คโฮปรับปรุงพื้นที่เพื่อใช้เป็นสถานที่กองขยะชั่วคราว เพื่อให้สามารถจัดเก็บขยะในชุมชนที่ตกค้างทั้งหมดมาทิ้งเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะสามารถจัดหาสถานที่ทิ้งขยะนอกเขตจังหวัดได้สำเร็จ

มีรายงานว่าภายหลัง นายกมล แก้วเทศ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองประจวบคีรีขันธ์ เรียกผู้เกี่ยวข้องประชุมด่วน หลังจากเทศบาลต้องยุติการนำขยะวันละกว่า 45 ตัน ไปบำบัดที่ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี หลังจากจ้างบริษัทเอกชนรับเหมาใช้งบประมาณเดือนละ 1.5 ล้านบาท นานหลายปี ล่าสุดบริษัทเอกชนได้นำขยะในเขตเทศบาลไปกองพักไว้ในที่ดินเอกชน ในพื้นที่ ต.อ่าวน้อย อ.เมือง แต่ยังไม่มีแนวทางการนำขยะไปบำบัด และบริษัทเอกชนจะไม่ประสงค์จะต่อสัญญาหลังสิ้นสุดสัญญาจ้างบรรทุกขยะไปทิ้งข้ามจังหวัดในเดือนกันยายน 2564

ด้านแหล่งข่าวจากผู้บริหาร อบต.อ่าวน้อย อ.เมือง กล่าวว่า ขณะนี้ อบต.ไม่มีนโยบายให้นำขยะจากนอกพื้นที่เข้ามาทิ้ง หลังจากหลายปีก่อนสภา อบต. มีมติไม่อนุญาตการนำขยะจากเทศบาลเมืองประจวบฯไปบำบัดที่บ่อขยะเอกชนที่หมู่ 3 บ้านคั่นกระได และที่ผ่านมารองนายกเทศมนตรีรายหนึ่งของเทศบาลเมืองฯพยายามเข้ามาเจรจาต่อรองผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ได้ตอบปฏิเสธ และขณะนี้ อบต.อ่าวน้อย อนุญาตให้เทศบาล กม. 5 นำขยะไปบำบัดที่เตาเผา เนื่องจากมีปัญหาปิดบ่อขยะในค่ายทหาร โดย อบต.จะอนุญาตให้ดำเนินการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเพียงสัปดาห์เดียวเท่านั้น

นายสราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ( อบจ.) ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ปัญหาขยะในจังหวัดมีการพูดคุยกับเทศบาล และ อบต. เพื่อหาแนวทางที่จะมีโรงงานกำจัดขยะ โดยมีทางเลือกจากการนำขยะมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า เนื่องจากในภาพรวมมีขยะเฉลี่ยวันละ กว่า 280 ตัน แต่เป็นการลงทุนของภาคเอกชน จึงต้องมีการศึกษาผลกระทบ การรับฟังความเห็นจากประชาชนและยังมีอีกหลายขั้นตอน ใช้เวลานานพอสมควร ทราบว่าเทศบาลตำบลเขาน้อย อ.ปราณบุรีได้ กำลังประสานกับเทศบาลและ อบต.หลายแห่ง แต่ที่สำคัญการแก้ไขปัญหาขยะทุกฝ่ายต้องร่วมมือ หาวิธีการลดขยะจากต้นทางให้ได้เพื่อลดต้นทุนในการบำบัด

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0