โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ลางานทำไมต้องรู้สึกผิด ในเมื่อเป็นสิทธิ์ของทุกคน - ห้องแนะแนว

LINE TODAY

เผยแพร่ 02 ม.ค. 2563 เวลา 17.00 น. • nawa.

 "คนไทยรั้งอันดับ 7 ของโลก ว่าด้วยประเทศที่มีคนลาพักร้อนน้อยที่สุด – ผลสำรวจจาก 18th Annual Vacation Deprivation® Study"

 ก้มหน้าก้มตาทำงานมาทั้งปี พอจะลางานสักทีก็รู้สึกแปลก ๆ กลัวโดนเพื่อนมองไม่ดี ลาไปไหน? ลายาวขนาดนี้เลยเหรอ? สารพัดคำถามทั้งจากคนรอบข้างหรือบางทีก็ถามตัวเองนี่แหละ เดี๋ยวก่อน! แค่ลางานไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โตมากมายอย่างที่คุณคิด ในเมื่อทุกคนมีสิทธิ์ที่จะใช้วันลาของตัวเองอย่างอิสระไม่ใช่หรือ ในร้อยวันพันปีคนเราก็ย่อมมีธุระ มีเจ็บป่วย มีเที่ยว มีสังคมก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา แค่จะใช้เวลาไปพักผ่อนพักสมองเสียบ้าง ก็ไม่น่าเป็นอะไร

 ห้องแนะแนว วันนี้จึงอยากหยิบยกเรื่องของ 'สิทธิ์' ตามกฎหมายในการใช้ 'วันลา' ของลูกจ้างอย่างเรา ๆ ทุกคน จะได้ลากันอย่างสบายใจ ไม่ต้องคิดอะไรมากอีกแล้ว 

 ตามกฎหมายแรงงาน ปี 2551 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ลูกจ้างมีสิทธิ์ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปี ไม่น้อยกว่า 6 วันต่อปี ตั้งแต่ปีแรกที่เข้าทำงาน และนายจ้างสามารถพิจารณาเพิ่มวันหยุดให้มากขึ้นได้ในปีถัด ๆ ไป สำหรับลูกจ้างที่ยังทำงานไม่ถึง 1 ปีอย่าเพิ่งตกใจไปว่า ฉันไม่มีสิทธิ์ลาเหรอ? ไม่ใช่ค่ะ คุณลาได้ เพียงแต่จำนวนวันลาของคุณขึ้นอยู่กับนายจ้างว่าจะคำนวณวันหยุดในปีนั้นให้กี่วัน (ตามระยะเวลาการทำงาน)

 ส่วนเรื่องการลาหยุดต้องยื่นใบลาไหม ลางานผ่านอีเมล หรือ LINE ได้หรือไม่ ข้อนี้กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของแต่ละบริษัทไป 

 ถ้าไม่ลาเลย สะสมไปปีอื่นได้ไหม 

ทำได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับข้อตกลงของแต่ละบริษัทเช่นกัน เช่น บางบริษัทอาจจะให้โอนวันลาของปีนี้ไปปีถัดไปได้ไม่เกิน 5 วันต่อปี ลูกจ้างก็ต้องทำตามกฎนี้ด้วย หรือบางบริษัทสามารถแลกวันหยุดเป็นเงินค่าตอบแทน ก็ย่อมทำได้เช่นกัน

 แล้วถ้านายจ้างไม่อนุมัติให้ลาล่ะ ผิดหรือไม่? 

เรื่องการใช้สิทธิ์วันลาหยุด เป็นเรื่องการตกลงสองฝ่าย ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง  หากลูกจ้างถูกปฏิเสธการลา หมายความว่า ลาไม่ได้ เจ้านายไม่อนุมัติ นายจ้างก็ย่อมทำได้ แต่ต้องมีเหตุผลตามสมควร โดยอาจจะเลื่อนวันลาออกไปเป็นวันอื่นแทนตามต่อรอง เพราะจริง ๆ แล้วตามกฎหมายให้สิทธิ์ต่อนายจ้างว่าเป็นฝ่ายกำหนดวันหยุดพักผ่อนของลูกจ้างเอง ไม่ใช่ลูกจ้างเป็นคนกำหนด แต่ส่วนมากแล้วจะเป็นการตกลงของทั้งสองฝ่ายตามความเหมาะสมมากกว่า  

 ลาป่วย ต้องมีใบรับรองแพทย์เสมอ? 

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ถกเถียงกันมานานว่า คนเราเวลาป่วยก็ไม่ได้ไปหาหมอเสมอไป บางทีก็กินยา นอนพักอยู่บ้านเฉย ๆ พอหายก็ไปทำงานตามปกติ แต่โดนทวงใบรับรองแพทย์ พอไม่มีให้ก็เป็นเรื่องเลย  

การลาป่วยนั้น กฎหมายกำหนดให้สามารถลาป่วย ‘ได้เท่าที่ป่วยจริง’ ซึ่งประเด็นนี้ถูกพูดถึงในพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานไว้เช่นกันว่า หากลูกจ้างลาป่วยตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป นายจ้าง ‘อาจ’ ให้แสดงใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลได้ แต่ ‘จะบังคับ’ ไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ว่าเป็นความผิด หากลูกจ้างไม่ยื่น ก็ถือว่าไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร  

ตรงนี้อาจจะเป็นช่องโหว่ให้บางคนฉกฉวยโอกาสได้ ก็ต้องระวังทุกฝ่าย แต่เราเชื่อว่า โกหกใครก็โกหกได้ แต่โกหกตัวเองไม่ได้แน่นอน 

 ลากิจ 

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ปี 2562 เพิ่มเติมสิทธิ์ให้ลูกจ้างสามารถลาไปทำกิจธุระส่วนตัวได้ ไม่น้อยกว่า 3 วันต่อปี โดยที่ยังได้รับค่าจ้างตามปกติ แต่กฎหมายไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ลากิจคือไปทำอะไรบ้าง ข้อนี้ต้องทำตามกฎระเบียบของแต่ละบริษัทไป

 *ทั้งนี้ต้องดูกฎระเบียบของแต่ละบริษัทด้วยว่ากำหนดเกณฑ์ในการใช้วันหยุดพักผ่อนไว้อย่างไรบ้าง บทความนี้เป็นการพูดถึงภาพรวมเท่านั้น ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันไปเพิ่มเติมอีกด้วยค่ะ*

 การใช้วันหยุดพักผ่อน วันลาต่าง ๆ เป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของทุกคน เพราะฉะนั้นไม่ต้องคิดเยอะหากจำเป็นต้องลา ถ้าเพียงแต่คุณทำตามกฎระเบียบข้อบังคับของบริษัทก็ไม่มีอะไรต้องกังวลค่ะ ใช้วันลาให้ถูกประเภท ไม่ลักไก่ ไม่เอาเปรียบเพื่อนร่วมงานก็พอ ส่วนเรื่องอื่น ๆ คุณต้องรู้จักบริหารจัดการตัวเองให้ได้ เช่น หากเกรงใจคนรอบข้าง ก็รีบเร่งเคลียร์งานส่วนตัวเองให้เสร็จก่อน หากจำเป็นต้องฝากฝังใครให้รับผิดชอบแทนก็ตกลงกันให้ดี ตอนกลับมาทำงานก็แสดงน้ำใจให้เขาบ้าง ของฝากเล็ก ๆ น้อย ๆ ติดไม้ติดมือมาให้กันหน่อย  

 เดี๋ยวนี้หลาย ๆ บริษัทก็อะลุ่มอล่วยและยืดหยุ่นมากขึ้น หลาย ๆ คนจึงเก็บวันลาไว้ไปเที่ยวยาว ๆ ไกล ๆ ทีเดียวก็ทำได้ อย่าลืมว่ามันเป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมของเรานะคะ WORK-LIFE BALANCE ต้องมี ว่าแล้วก็ยื่นใบลาไปเที่ยวปีใหม่ดีกว่า! 

.

.

ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/043/T_0021.PDF

http://www.jobdst.com/index.php?option=com_content&view=article&id=40:2541-2551&catid=11:%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99&Itemid=135

https://kafaak.blog/2018/11/21/labor-law-you-should-know-01/

https://www.bltbangkok.com/CoverStory/%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99-%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%94-%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%9F-burnout/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0