โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

DCA คืออะไร? ดีสำหรับเราจริงหรือ? I POCKET MONEY EP7

Finnomena

อัพเดต 09 ม.ค. 2567 เวลา 02.31 น. • เผยแพร่ 10 ก.พ. 2564 เวลา 03.00 น. • FINNOMENA CHANNEL

นักลงทุนหลายคนมีมุมมองที่ผิด ว่าการ DCA (Dollar-Cost Averaging) เป็นการออมที่หวังว่าวันหนึ่งจะช่วยให้เราเป็นอิสระทางการเงิน โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านการลงทุน ซึ่งเป็นความเชื่อที่น่ากลัวมาก เพราะจะทำให้ไม่ระมัดระวังในการเลือกหุ้น หรือกองทุน ที่จะลงทุน ซึ่งนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ขาดทุน

ก่อนจะพูดถึงข้อดี, ข้อเสีย และสิ่งที่นักลงทุนมือใหม่มักจะเข้าใจผิด เกี่ยวกับการทำ Dollar-Cost Averaging เรามาทบทวนความเข้าใจกันสักหน่อยว่าการ DCA คืออะไร ?

DCA คืออะไร?

การ DCA คืออีกรูปแบบหนึ่งของการลงทุน ซึ่งจะลงทุนอย่างสม่ำเสมอในสินทรัพย์ที่เราเลือกเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หรือกองทุนก็ตามเป็นจำนวนเงินเท่า ๆ กันทุกครั้ง โดยไม่สนใจว่าทรัพย์สินที่เลือกไว้จะราคาเท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้ราคาของสินทรัพย์ที่เราได้ในภาพรวมนั้นก็จะเฉลี่ย ๆ กันไป ซึ่งโดยปกติแล้วความถี่ของการ DCA ของหลาย ๆ คนก็มักจะอยู่ที่รายเดือน เป็นอีกหนึ่งวิธียอดนิยมที่ใช้สร้างวินัยการลงทุนกัน

คุณรู้จัก DCA ดีแค่ไหน?
คุณรู้จัก DCA ดีแค่ไหน?

ยกตัวอย่างเช่น อย่างตัวอย่างในรูปข้างบนนี้คือ การ DCA ในกองทุน ก. เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท ทุกๆ เดือน หรือจะเป็น การ DCA ในหลายสินทรัพย์เช่นการลงทุนใน กองทุน ข. และหุ้น ค. โดยลงทุนอย่างละ 3,000 บาท ทุกๆ 2 เดือน ก็ได้เช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่า จำนวนสินทรัพย์, ประเภทสินทรัพย์, และระยะเวลาความสม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเรา เพราะสิ่งที่สำคัญของ DCA คือการลงทุนอย่างเป็นประจำ โดยไม่สนใจเรื่องของราคา

เมื่อเริ่มเข้าใจแล้วว่าการทำ DCA เป็นอย่างไร เราก็มาดูกันเลยดีกว่า ว่าข้อดีและข้อเสีย ของ DCA มีอะไรบ้าง แล้วตบท้ายด้วยสิ่งที่ DCA ไม่ใช่ หรือสิ่งที่นักลงทุนมือใหม่จะเข้าใจผิดกับ DCA โดยเริ่มจากข้อดีก่อนเนอะ :)

สร้างแผนและเปิดบัญชีกองทุนรวมกับ FINNOMENA สะดวก รวดเร็ว เปิดออนไลน์ ไม่ต้องส่งเอกสารให้ยุ่งยาก พร้อมเลือกซื้อกองทุนกว่า 1,000 กอง จาก 22 บลจ. สร้างแผนและเปิดบัญชี คลิก: https://finno.me/open-plan

ข้อดีของการทำ DCA

• DCA มัน D ต่อใจ

การ DCA ทำให้ช่วยปรับมุมมองของเราที่มีต่อตลาด จากการที่มองว่า ราคาสินทรัพย์ที่เราลงทุนมีการปรับตัวลดลงทำให้เราขาดทุน เป็นโอกาสที่ดีในการช้อนซื้อสินทรัพย์นั้นๆได้มากขึ้น เพราะจำนวนเงินที่ลงทุนเท่าเดิม แต่ราคาต่อหน่วยลดลง เลยทำให้ซื้อได้มากขึ้น เปลี่ยนจากนอนหลับฝันร้ายจากการขาดทุน เป็นหลับฝันดีเพราะได้ของที่ชอบเพิ่มขึ้นมา

• DCA สร้างวินัย

การ DCA เป็นการทำสัญญาใจกับตัวเราเองว่าจะลงทุนอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ใช้อารมณ์ที่เรามีต่อตลาด เป็นปัจจัยในการตัดสินใจ ซึ่งการมีวินัยเนี่ย นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่เราควรมีกับการลงทุน เพราะการลงทุนอย่างไม่มีวินัยจะทำให้เราเป็นคนมักง่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวินัยในการเลือกสินทรัพย์ที่จะลงทุน หรือการ cut-loss ที่อาศัยวินัยของเราในการลงมือทำจริง

• DCA ช่วยลดความเสี่ยงจากการจับจังหวะตลาด

การทำ DCA ช่วยลดความเสี่ยงจากการที่เราเข้าซื้อสินทรัพย์ผิดจังหวะและส่งผลให้เกิดการติดดอย เพราะ การ DCA คือการทยอยลงทุนเรื่อย ๆ ทั้งในช่วงเวลาที่ดีและเลวร้าย แตกต่างจากการลงทุนเป็นก้อนซึ่งหากลงทุนผิดจังหวะอาจทำให้พอร์ตของเราติดลบได้มาก ซึ่งอาจมีตัวอย่างให้เห็นได้จากการเข้าลงทุนในกองทุนเทคโนโลยีเติบโตสูงต่าง ๆ ที่มีความผันผวนค่อนข้างมาก

ข้อเสียของการทำ DCA

• DCA ให้ผลตอบแทนน้อยหากเราเป็นนักลงทุนที่มีทักษะ

คุณรู้จัก DCA ดีแค่ไหน?
คุณรู้จัก DCA ดีแค่ไหน?

การ DCA เป็นการทยอยซื้อสินทรัพย์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของนักลงทุนมือใหม่ แต่เพราะสินทรัพย์ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมที่ราคาจะปรับตัวขึ้นในระยะยาว เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการซื้อสินทรัพย์ด้วยเงินก้อนตั้งแต่วันแรก เทียบกับการทยอยซื้อที่จะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยสูงขึ้นเนื่องจากราคาปรับตัวขึ้นตามเวลา ทำให้การซื้อด้วยเงินก้อนตั้งแต่วันแรกสร้างกำไรที่สูงกว่า

สิ่งที่ DCA ไม่ใช่

• DCA ไม่ได้ลดความเสี่ยง

คุณรู้จัก DCA ดีแค่ไหน?
คุณรู้จัก DCA ดีแค่ไหน?

นักลงทุนหลายคน หรือแม้แต่กูรูหลายท่าน มักจะมองว่าการ DCA คือวิธีการลดความเสี่ยง แต่ในความเป็นจริงนั้นDCA ช่วยลดเฉพาะความเสี่ยงด้าน Market Timing หรือการกะจังหวะในการลงทุน ไม่ใช่ความผันผวนของมูลค่าพอร์ตลงทุน และที่สำคัญคือ มันช่วยแค่ในช่วงแรกของการลงทุนเท่านั้นเนื่องจากสาเหตุที่ว่า ยิ่งจำนวนครั้งในการลงทุนเพิ่มขึ้น เงินลงทุนก็เพิ่มตาม ทำให้เปอร์เซ็นต์ความเปลี่ยนแปลงของต้นทุนในแต่ละครั้งที่ซื้อก็จะลดลง เพราะสัดส่วนของมูลค่าที่ซื้อเพิ่มมันเล็กมากเมื่อเปรียบเทียบกับเงินที่ลงทุนไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ในกราฟที่ยกมานี้เป็นการ DCA บนกองทุนที่จำลองการเคลื่อนไหวของ SET50 โดยลงทุนครั้งละ 1,000 บาท ทุกๆต้นเดือน นั่นหมายความว่าพอลงทุนไปแล้ว 60 ครั้ง เราจะมีเงินที่ลงทุนไปแล้วเป็นจำนวน 60,000 บาท (1,000 บาท x 60 ครั้ง) ซึ่งมากกว่าเงินที่จะลงทุนเพิ่มถึง 60 เท่าจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลงเหมือนช่วงแรกของการลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับกราฟที่ยิ่งจำนวนครั้งการลงทุนเพิ่ม เปอร์เซ็นต์ความเปลี่ยนแปลงของต้นทุนเฉลี่ยลดลงเกือบเป็น 0% และเป็นเหตุผลเดียวกันที่ว่า ทำไมตอนเรียนมหา'ลัยปี 1 เกรดเฉลี่ยเปลี่ยนง่าย ในขณะที่ตอนเรียนปี 4 เกรดเฉลี่ยไม่ค่อยเปลี่ยนแล้ว เพราะช่วงปี 1 จำนวนหน่วยกิจรวม น้อยกว่าช่วงปี 4 นั่นเอง

• DCA ไม่ได้เหมาะกับสินทรัพย์ทุกชนิด

คุณรู้จัก DCA ดีแค่ไหน?
คุณรู้จัก DCA ดีแค่ไหน?

DCA เป็นเพียงเทคนิคหนึ่งในการลงทุนเท่านั้น ซึ่งก็เหมือนกับเทคนิคอื่นๆในการลงทุน คือควรใช้บนพื้นฐานของความรู้ และความเข้าใจ การ DCA โดยที่ไม่ได้เลือกสินทรัพย์ที่เหมาะสมกับเทคนิคที่ใช้ ก็จะทำให้ผลลัพธ์ที่ได้มานั้น แตกต่างจากสิ่งที่เราคาดหวังไว้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถ้าเราลงทุน DCA กับกองทุนน้ำมันแล้วล่ะก็… ดูแค่กราฟก็พอ อย่าไปพูดถึงเลยเนอะ

ส่วนเหตุผลที่การ DCA ไม่เหมาะกับกองทุนน้ำมันก็เพราะสินค้าโภคภัณฑ์มักปรับตัวตามวัฏจักรขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานในแต่ละช่วง ซึ่งถ้าเรามีทักษะที่เหนือกว่านักลงทุนทั่ว ๆ ไปในการเฟ้นหาข้อมูลดังกล่าวและมีความเข้าใจในสินทรัพย์ประเภทนี้อย่างแท้จริง การทยอยสะสมในช่วงต้นของวัฏจักรก็อาจจะไม่ได้ผิดแปลกแต่อย่างใด

ถ้างั้นเราควร DCA กับอะไร ?

สงสัยแล้วหละสิ ว่าถ้างั้นสินทรัพย์อะไรที่เหมาะแก่การ DCA ? อย่างที่ได้อธิบายไปก่อนหน้านี้ว่า DCA คือการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ที่ช่วยลดความเสี่ยงด้าน Market Timing ในช่วงแรกของการลงทุน นั่นหมายความว่า สินทรัพย์ ที่เหมาะกับการ DCA จะมีผลมากคือ สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงด้านจังหวะเข้าซื้อ หรือมีความผันผวนนั่นเอง และที่สำคัญคือมีพฤติกรรมที่ราคาจะปรับตัวขึ้นในระยะยาว เช่น ดัชนีหุ้นหรือหุ้นต่าง ๆ ที่ตราบใดประเทศหรือบริษัทยังสามารถสร้าวงการเติบโตได้เรื่อย ๆ ในระยะยาวแล้วราคาของสินทรัพย์นั้น ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่นดัชนีหุ้นของประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น S&P500, DAX30, FTSE100, หรือ SET ของบ้านเราก็ตาม แต่เพราะหัวใจสำคัญของ DCA คือควรที่จะเป็นสินทรัพย์ที่ราคาจะปรับตัวขึ้นในระยะยาว กองทุนตราสารหนี้ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกัน

แล้วเราควร DCA ยังไง ?

เพราะว่าการ DCA ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงอย่างที่หลายคนเข้าใจ แปลว่าเราต้องบริหารจัดการความเสี่ยงเอง สำหรับคนที่ไม่อยากบริหารความเสี่ยงเองทั้งหมด ก็มีทางเลือกที่จะแบ่งภาระในจุดนี้ไปให้ผู้บริหารกองทุนได้ โดยการ DCA ในกองทุนนั่นเอง แต่การเลือกกองทุนที่จะลงทุนก็ไม่ควรลงทั้งหมดในกองใดกองหนึ่ง เราก็ควรจะกระจายความเสี่ยงโดยการลงทุนในหลายๆกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกัน ไม่ใช่ว่าไปแบ่งครึ่งหนึ่งไปลง กองทุน SET50 ของ บลจ ก. แล้วอีกครึ่งไปลง กองทุน SET50 ของ บลจ ข. เพราะสุดท้ายแล้วกองทุนทั้ง 2 นี้ ถึงจะต่าง บลจ. แต่เพราะมีนโยนายในการลงทุนเหมือนกันจึงมีการเคลื่อนไหวที่เหมือนกัน หรือ ที่เรียกว่า Correlation สูง ซึ่งการลงทุนในสินทรัพย์ที่มี Correlation สูง ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงแต่อย่างใด

สรุป แล้วถ้าอยาก DCA จะเริ่มไงดี ?

เริ่มจากการ DCA ในกองทุนตราสารหนี้ก่อน เพราะว่าเป็นกองทุนที่มีนโยบายในการลงทุนที่สามารถเข้าใจได้ง่ายที่สุด และมีความเสี่ยงต่ำ บวกกับมีพฤติกรรมที่ราคาจะปรับตัวขึ้นในระยะยาว ซึ่งเหมาะกับการเริ่ม DCA และเรียนรู้เรื่องการลงทุนไปในตัว จนกว่าจะมีความรู้และความเข้าใจในสินทรัพย์อื่นๆ จึงควรจะเริ่มปรับพอร์ตไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นตามสมควร เช่น สินทรัพย์อย่าง หุ้น หรือกองทุนรวมตราสารทุน

เพิ่มเติม หากใครสนใจที่จะทำ DCA ทาง FINNOMENA มีบริการให้คำปรึกษาการจัดพอร์ตลงทุน ถ้าสนใจการบริการนี้ สามารถลงทะเบียนรับสิทธิได้ที่นี่https://www.finnomena.com/nter-exclusive/ *ที่มาบทความ: https://investoradventure.wordpress.com/2019/02/09/คุณรู้จัก-dca-ดีแค่ไหน/*