โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รู้จักรางวัลซีไรต์ และหนังสือที่ได้รางวัล

Typethai

เผยแพร่ 21 มี.ค. 2562 เวลา 17.00 น.

รางวัลซีไรต์ (อังกฤษ: S.E.A. Write) มีชื่อเต็มว่า รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม แห่งอาเซียน (อังกฤษ: Southeast Asian Writers Award) เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2522 เป็นรางวัลประจำปีที่มอบให้แก่กวีและนักเขียนใน10 ประเทศรัฐสมาชิกแห่งสมาคมประชาชาติ แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน 

โดยงานเขียนที่ได้รับรางวัลเป็นผลงานที่ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวาง และมีงานเขียนหลากหลายรูปแบบที่ได้รับรางวัล อย่างเช่น กวีนิพนธ์ เรื่องสั้น นวนิยาย ละครเวที คติชนวิทยา รวมไปถึงงานเขียนด้านสารคดีและงานเขียนทางด้านศาสนา 

นับตั้งแต่มีการก่อตั้งรางวัลซีไรต์ขึ้น สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงประกอบด้วยรัฐสมาชิกเพียง 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ต่อมา ในปี พ.ศ. 2527 บรูไนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนามเข้าร่วมในปี พ.ศ. 2538 ลาวและพม่าเข้าร่วมในปี พ.ศ. 2540 และกัมพูชาเข้าร่วมหลังสุดในปี พ.ศ. 2542 โดยมีหนังสือของนักเขียนไทยที่ได้รางวัลซีไรต์ เรียงจากอดีตถึงปัจจุบันดังต่อไปนี้ 

ลูกอีสาน 

หนังสือซีไรต์ (นวนิยาย) ปี 2522

ผู้แต่ง คำพูน บุญทวี

นวนิยายเรื่องลูกอีสาน สะท้อนภาพชีวิตของชาวอีสาน ผ่านเรื่องเล่าคล้ายสารคดีชีวิต ผสมนวนิยายที่แพรวพราวไปด้วยชั้นเชิงวรรณศิลป์ งดงามด้วยสร้อยอักษร ฉายภาพวิถีชีวิตอันแร้นแค้นของชาวอีสานได้อย่างโปร่งใสบริสุทธิ์ ปราศจากน้ำเสียงที่แสดงความขมขื่นและไม่ได้พยายามตีแผ่ความชั่วร้ายของสังคม แต่ปลุกจิตสำนึกให้กับผู้อ่านโดยชี้ให้เห็นถึงแนวทางการเปลี่ยนแปลงของสังคม 

เพียงความเคลื่อนไหว

หนังสือซีไรต์ (กวีนิพนธ์) ปี 2523

ผู้แต่ง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

กวีนิพนธ์มุ่งนำเสนอความคิดทางการเมือง ต่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เรื่อยมาจนถึง 6 ตุลาคม พ.ศ 2519 มีลีลาและเนื้อหาสะท้อนใจ ปลุกเร้าอารมณ์ ชี้ให้เห็นถึงความตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง แฝงวิถีชีวิตพื้นบ้านเอาไว้มาก มีคุณค่าทางภาษาอันงดงาม เปี่ยมไปด้วยพลัง ประกอบด้วยฉันทลักษ์อันไพเราะ และทัศนคติอันงดงามเรียบง่าย 

ขุนทอง เจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง

หนังสือซีไรต์ (รวมเรื่องสั้น) ปี 2524

ผู้แต่ง อัศศิริ ธรรมโชติ

อัศศิริได้นำเค้าโครงบทกวีชื่อ “เพลงขลุ่ยเหนือทุ่งข้าว” ในหนังสือชุด “เพียงความเคลื่อนไหว” ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มาจินตนาการกับเหตุการณ์ต่อสู้ทางการเมืองยุค 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 มีเนื้อความกระชับ ลักษณะเด่นคือการใช้ภาษาที่รัดกุมไพเราะ บางช่วงบางตอนราวกับบทกวี เป็นเหตุการณ์ทางการเมือง ประวัติศาสตร์และสังคม งานของอัศศิริไม่ใช่งานฝันหวาน แต่เป็นงานก่อให้เกิดความคิด ความรู้สึกใหม่ๆ  

คำพิพากษา

หนังสือซีไรต์ (นวนิยาย) ปี 2525

ผู้แต่ง ชาติ กอบจิตติ

เรื่องของ ฟัก ลูกสัปเหร่อ และสมทรงแม่เลี้ยงที่เป็นแม่ม่ายยังสาวที่ไม่ค่อยจะเต็มเต็ง แต่ถูกคนเอาเปรียบ และสังคมกลับพิพากษาให้เขาผิด ทั้งๆที่ฟัก เป็นคนที่ยึดมั่นในศีลในธรรม เป็นงานที่แสดงถึงภาวะของมนุษย์ในสภาพจนตรอกต่อสิ่งต่างๆ ได้ดีที่สุด เหมือนตัวละครที่ตกเป็นเบี้ยล่าง เป็นผู้แพ้ และถูกกดทับด้วยตัวละครที่เป็นกลไกทางสังคม ไม่ว่าเรื่องนั้นจะมีมูลความจริงหรือไม่ก็ตาม ทำให้ผู้ได้รับคำตัดสินต้องพบกับความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ 

นาฏกรรมบนลานกว้าง

หนังสือซีไรต์ (กวีนิพนธ์) ปี 2526

ผู้แต่ง คมทวน คันธนู

กวีนิพนธ์กี่ยวกับอยู่กับเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วง 14 ตุลาคม พ.ศ 2516 ถึง 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่ทั้งปลุกเร้า เรียกร้อง ตีแผ่ ให้กำลังใจ วิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างรุนแรง ดุดัน ด้วยสร้อยสำนวน อันเป็นเอกลักษณ์และแพรวพราวไปด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ 

 

ซอยเดียวกัน

หนังสือซีไรต์ (รวมเรื่องสั้น) ปี 2527

ผู้แต่ง วาณิช จรุงกิจอนันต์

รวมเรื่องสั้น 15 เรื่องของ และบทกวี 1 ชุด ของ วาณิช จรุงกิจอนันต์ มีเนื้อหาสะท้อนสังคมอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา มีการเสียดชีวิตในเมืองหลวง ทั้งผู้คนที่เห็นแก่ตัว การดูถูกเหยียดหยามซึ่งกันและกัน ความวุ่นวายต่างๆ นักเขียนรุ่นใหม่ถึงกับยอมรับซอยเดียวกันว่าเปรียบเสมือน ครูบาอาจารย์ของการสร้างสรรค์ผลงานในสมัยนั้น เนื่องจากมีกลวิธีการเขียนที่แปลกใหม่ มีความเหมาะสมกับเนื้อเรื่อง มีคุณค่าทางวรรณศิลป์อย่างแท้จริง 

ปูนปิดทอง

หนังสือซีไรต์ (นวนิยาย) ปี 2528

ผู้แต่ง กฤษณา อโศกสิน

นวนิยายที่กระเทาะคราบทองของผู้เป็นพ่อแม่ เกี่ยวกับปัญหาของครอบครัวไทยในสังคมใหญ่ การเลี้ยงดูที่ขาดความอบอุ่น ขาดความรัก ส่งผลต่อเด็กที่เติบโตมา เป็นนวนิยายที่สร้างสรรค์เนื้อเรื่องให้เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ด้วยความงดงามของชีวิตโดยใช้ความเลวร้ายมาเปรียบเทียบ ทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีร่วมกัน 

ปณิธานกวี

หนังสือซีไรต์ (กวีนิพนธ์) ปี 2529

ผู้แต่ง อังคาร กัลยาณพงศ์

หนังสือรวมกวีนิพนธ์ที่มีเอกลักษณ์สวยงาม เป็นกวีนิพนธ์ที่มีลักษณะแต่งเป็นโคลง กลอนและกาพย์ เป็นงานที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางวรรณศิลป์ เพราะมีความเด่นในการใช้คำ ทำให้เกิดจินตนาการลึกซึ้งและกว้างขวาง กลวิธีการประพันธ์มีลักษณะเฉพาะตัวประสานขนบเก่ากับทัศนคติที่มีต่อสังคมในยุคสมัยนั้นได้อย่างแนบเนียน 

ก่อกองทราย 

หนังสือซีไรต์ (รวมเรื่องสั้น) ปี 2530

ผู้แต่ง ไพฑูรย์ ธัญญา

เรื่องสั้นสะท้อนปัญหาและแง่มุมต่างๆ ของชีวิตในหลายเรื่อง แสดงให้เห็นถึงชีวิตและธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสากล และในขณะเดียวกันก็มีสีสันของท้องถิ่นและความเป็นไทย ทั้งในด้านถ้อยคำ และการใช้ฉากอันเป็นท้องเรื่องอย่างความเชื่อท้องถิ่นของชาวบ้าน การเล่าเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงสัจธรรมชีวิตอย่างชัดเจน มีการใช้ภาษา มีความงดงาม ไม่ว่าจะบรรยายอารมณ์ความรู้สึก ฉากหลังหรือตัวละคร สามารถเรียบเรียงออกมาให้ผู้อ่านเห็นภาพจน์ เห็นถึงความประณีตบรรจง 

ตลิ่งสูง ซุงหนัก

หนังสือซีไรต์ (นวนิยาย) ปี 2531

ผู้แต่ง นิคม รายยวา

เรื่องของคนผู้แสวงหาความหมายและคุณค่าของการมีชีวิต เราต้องหาเอง ในขบวนการแสวงหานั้น คนเรามัวแต่รักษาซากที่ไม่มีชีวิต ไม่เคยรักษาชีวิตที่อยู่ในซากเลย คนเราเกิดครั้งเดียวตายครั้งเดียว ดังนั้นความหมายที่แท้จริงของชีวิตอยู่ที่การดำรงอยู่ ความเข้าใจต่อธรรมชาติ มิใช่เงินตราหรือวัตถุ ที่คนในสมัยนี้มักสะสมไว้เต็มบ้านเต็มเมือง 

ใบไม้ที่หายไป 

หนังสือซีไรต์ (กวีนิพนธ์) ปี 2532

ผู้แต่ง จิระนันท์ พิตรปรีชา

บันทึกชีวิตของ จิระนันท์ พิตรปรีชา ตั้งแต่สมัยที่เธอยังป็นนักศึกษา เป็นเชิงกวีนิพนธ์ มีทั้งความใฝ่ฝัน ปรัชญาชีวิต และอุดมการณ์ของคนหนุ่มสาว นอกจากนั้นแล้วบทกวีเหล่านี้ยังมีคุณค่าในด้านการปลุกสำนึกของสังคมเกี่ยวกับฐานะและบทบาทใหม่ของผู้หญิงอีกด้วย 

อัญมณีแห่งชีวิต

หนังสือซีไรต์ (รวมเรื่องสั้น) ปี 2533

ผู้แต่ง อัญชัน

หนังสือรวมเรื่องสั้นจากประสบการณ์ของผู้เขียน จากคำบอกเล่า เพื่อให้ทราบถึงมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ กิเลส อารมณ์ ความรัก ความกลัวและความชิงชัง โดยใช้กลประพันธ์ที่แยบยลสอดคล้องกับเนื้อหา มีลีลาเฉพาะตัวที่ละเอียด ประณีต ลึกซึ้ง และละเมียดละไม ภาษาที่ใช้ให้จินตนาการชัดเจน สร้างบรรยากาศและอารมณ์หลากหลาย ทั้งอ่อนหวาน เศร้า กร้าวแกร่ง โหดร้าย แม้กระทั่งสยอง และให้เห็นถึงวัฏจักรแห่งชีวิตอันเป็นสัจธรรม 

เจ้าจันท์ผมหอม

หนังสือซีไรต์ (นวนิยาย) ปี 2534

ผู้แต่ง มาลา คำจันทร์

นวนิยายพูดถึงเจ้าหญิงล้านนา ภาษาที่ใช้ส่วนมากเป็นภาษาล้านนาเพื่อให้เข้ากับเนื้อเรื่อง แต่ผู้เขียนได้บอกความหมายของคำเหล่านั้นไว้ด้วย โดยใช้การประพันธ์หลากหลาย เช่น การประยุกต์ขนบวรรณกรรมทั้งเก่าและใหม่ได้อย่างผสมกลมกลืน การดำเนินเรื่องโดยใช้ขนบของนิราศและวรรณคดีเก่าของล้านนามาสานสอดเหตุการณ์ในเรื่อง ได้อย่างลงตัวและสวยงามแบบล้านนา 

มือนั้นสีขาว

หนังสือซีไรต์ (กวีนิพนธ์) ปี 2535

ผู้แต่ง ศักดิ์สิริ มีสมสืบ

รวบรวมบทกวีนิพนธ์ไทยสมัยใหม่ ที่มีลักษณะสร้างสรรค์ทั้งความคิดและวิธีการนำเสนอที่โดดเด่น มุ่งแสดงอุดมคติอันเชิดชูคุณค่าความบริสุทธิ์และความมีน้ำใจของมนุษย์ผ่านบทกวีที่พูดถึงบุคคลสมมุติ ระหว่างวัยเด็กอันไร้เดียงสากับผู้ใหญ่ที่ถูกครอบงำจากกฏเกณฑ์ในสังคม ลึกซึ้งด้วยกลการประพันธ์ที่เฉียบคม 

ครอบครัวกลางถนน

หนังสือซีไรต์ (รวมเรื่องสั้น) ปี 2536

ผู้แต่ง ศิลา โคมฉาย

รวมเรื่องสั้นสะท้อนชีวิตของชนชั้นกลางในเมืองกรุง ที่ต้องพยายามดิ้นรนต่อสู้กับสภาพความเป็นอยู่แบบปากกัดตีนถีบ ดิ้นรนจากการบีบคั้นในการทำมาหากิน การแข่งขันในชั้นเชิงธุรกิจ ไปจนถึงการจราจรที่แสนติดขัด ฉายภาพกว้างให้เห็นถึงชะตากรรมที่คนในเมืองจะต้องเผชิญร่วมกัน พร้อมกับถ่ายทอดความคิดประชดประชันสังคมอย่างรุนแรง

เวลา  

หนังสือซีไรต์ (นวนิยาย) ปี 2537

ผู้แต่ง ชาติ กอบจิตติ

เรื่องราวของคนแก่ในสถานสงเคราะห์คนชรา โดยหยิบเอาธรรมชาติของคนขี้หลงขี้ลืมและขี้เหงา มาบอกกล่าว ด้วยกลวิธีการเขียนแบบใหม่คือเทคนิคของภาพยนตร์ ผสมกับการนำเสนอแบบละครเวที 

ม้าก้านกล้วย

หนังสือซีไรต์ (กวีนิพนธ์) ปี 2538

ผู้แต่ง ไพวรินทร์ ขาวงาม

เป็นนิราศแรมร้างจากฝันของมนุษย์ร่วมสมัยที่ต้องผจญกับความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วหลากหลาย มนุษย์ผู้ต้องรับสภาพความเสื่อมสลายของอุดมคติเดิม สะท้อนให้เห็นถึงพลังชีวิตและจิตใจของคนชนบทเข้าสู่เมือง ด้วยความใฝ่ฝันและความหวังถึงชีวิตที่ดีกว่า และได้กลายเป็นพลังอันสำคัญสร้างสรรค์สังคม ซึ่งแม้คนชนบทจะพบกับชีวิตแปลกแยกในสังคม แต่ความผูกพันโหยหาชีวิตในถิ่นเดิมก็เป็นพลังให้คนชนบทมีชีวิตยืนหยัดอยู่ได้

แผ่นดินอื่น

หนังสือซีไรต์ (นวนิยาย) ปี 2539

ผู้แต่ง กนกพงศ์ สงสมพันธุ์

มีเนื้อหาเข้มข้น เต็มไปด้วยเลือดเนื้อ จิตวิญญาญ มีกลิ่นอายบรรยากาศของท้องถิ่น สะท้อนปัญหาชีวิตสังคมถึงในระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัวและสังคม นำเสนอวิถีชีวิตที่หลากหลายด้วยแนวชาตินิยม สะท้อนชีวิต ความเชื่อ คุณค่าและคตินิยมพื้นถิ่นอย่างลึกซึ้งและแหลมคม ให้เห็นว่าแม้ในสังคมต่างวัฒนธรรม ต่างความเชื่อ มนุษย์ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยไมตรีสัมพันธ์ ดำเนินเรื่องด้วยกลวิธีการเขียนที่ดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน ให้ใคร่รู้ใคร่ติดตาม และนำไปสู่จุดหมายที่เป็นเอกภาพ โดยไม่ละเลยที่จะสอดแทรกปัญหาและแง่มุมของชีวิต

ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน

หนังสือซีไรต์ (นวนิยาย) ปี 2540

ผู้แต่ง วินทร์ เลียววาริณ

นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ โดยมีท้องเรื่องและเหตุการณ์ในช่วงเวลา 60 ปี ของระบอบการเมืองการปกครองทีเรียกกันว่า “ประชาธิปไตย” โดยกำหนดให้ตัวละครตัวหนึ่งอยู่ในระบบและตัวละครอีกตัวหนึ่งอยู่นอกระบบ ซึ่งตัวละครทั้งสองต่างต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตามอุดมการณ์ของตน ภายในกรอบจำกัดและเงื่อนไขของสังคม โดยใช้ชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ เรียงร้อยเหตุการณ์ และบุคคลจริงอย่างผสมผสานกลมกลืน ผ่านความคิดคำนึงและบทสนทนาของสองตัวละครเอก ผู้เป็นเสมือนตัวแทนของคนในชาติ ที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางการเมือง

ในเวลา

หนังสือซีไรต์ (กวีนิพนธ์) ปี 2541

ผู้แต่ง แรคำ ประโดยคำ

บทกวี ที่บรรยายถึงภาวะภายในของคนเมื่อเผชิญกับสิ่งเร้ารอบๆ ตัวแล้วมีการตอบสนอง “ในเวลา” เริ่มต้นด้วยเวลาค่ำ ตามมาด้วยเวลาดึก สาย บ่าย เย็น แล้วจบลงด้วยเวลาพลบค่ำอีกครั้ง เทียบเวลาวันหนึ่งเปรียบเทียบกับช่วงชีวิตของคนที่ผ่านช่วงเวลาต่างๆ ในเวลา แสดงความคิดเห็นได้อย่างหลักแหลม ด้วยเนื้อหาหลากหลาย โดยกวีสามารถจับจังหวะลีลาของโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่ายมาเรียงร้อยให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญของกวีอย่างช่ำชอง สร้างจินตภาพกระทบอารมณ์ และให้ความรู้สึกลึกซึ้งแก่ผู้อ่าน

สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน

หนังสือซีไรต์ (รวมเรื่องสั้น) ปี 2542

ผู้แต่ง วินทร์ เลียววาริณ

สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน เป็นงานเขียนเชิงวิเคราะถึงความเป็นมนุษย์ที่มีพฤติกรรมและสัญชาตญาณที่แตกต่างกัน ทั้งในแง่ความรู้สึก อุปนิสัย ความต้องการ โดยต้องการจะสื่อให้เห็นถึงสิ่งที่หล่อหลอมคนเรามาตั้งแต่เด็ก และส่งผลมาจนถึงตอนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในตามสภาวะของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางสังคม

อมตะ

หนังสือซีไรต์ (นวนิยายซีไรต์) ปี 2543

ผู้แต่ง วิมล ไทรนิ่มนวล

นวนิยายที่นำเสนอประเด็นวิวาทะระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศีลธรรมกับสัญชาติญาณเถื่อน เป็นแก่นหรือแกนหลัก และยังมีประเด็นรองๆ อีกหลายเรื่อง เช่นความรักกับความแค้น ธุรกิจการค้ากับความเป็นมนุษย์ การต่อสู้กับการยอมจำนน อิสรภาพกับการจองจำทั้งในระดับกายและจิตวิญญาญ มีกลวิธีเสียดสีและวิพากษ์วิจารณ์สังคม สร้างความสะเทือนใจและกระตุ้นให้ตระหนักถึงปัญหาที่มนุษยชาติเผชิญร่วมกัน

บ้านเก่า

หนังสือซีไรต์ (กวีนิพนธ์) ปี 2544

ผู้แต่ง โชคชัย บัณฑิต’

รวมบทกวี ที่เรียงร้อยจากประสบการณ์และสิ่งธรรมดาสามัญรอบตัวซึ่งคนทั่วไปอาจมองข้าม ด้วยสัมผัสที่ละเอียดอ่อน จากมุมมองเฉพาะตัวที่โดดเด่น โดยมีภาพ “บ้านเก่า” ซึ่งแสดงถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมเป็นพื้นฉาก เกี่ยวกับกระแสบริโภคนิยมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่รุกเข้ามาลบภาพ “บ้านเก่า” ไปทีละน้อย มีความโดดเด่นในกลวิธีทางวรรณศิลป์ โดยเฉพาะการนำสิ่งตรงกันข้าม หรือคล้ายคลึงมาเชื่อมโยงทาบเทียบกัน และด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนกับท่าทีที่ท้าทายความคิดของผู้อ่าน สามารถสื่อสิ่งที่กวีต้องการจะถ่ายทอดได้อย่างชัดเจน

ความน่าจะเป็น

หนังสือซีไรต์ (รวมเรื่องสั้น) ปี 2545

ผู้แต่ง ปราบดา หยุ่น

รวมเรื่องสั้นที่แสดงความคิดของคนรุ่นใหม่ที่มีมุมมองต่อโลกแตกต่างจากคนทั่วไป ซึ่งใช้หลักการ ทางคณิตศาสตร์ สถิติศาสตร์ การเงิน การพนัน วิทยาศาสตร์ มารวมกับความสร้างสรรค์ทางการเขียนของเขาจนกลายมาเป็นเรื่องสั้นที่ตั้งคำถามต่อสังคมในหลายแง่มุม ซึ่งคนส่วนมากมักไม่สามารถหาคำตอบได้ สามารถแสดงความสร้างสรรค์ในการนำเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นเรื่อง มาเขียนให้เป็นเรื่องที่น่าขบคิดหรือตั้งคำถามโดยไม่ให้คำตอบ มีลีลาและกลวิธีการเขียนที่มีความหลากหลายแปลกใหม่

ช่างสำราญ

หนังสือซีไรต์ (นวนิยาย) ปี 2546

ผู้แต่ง เดือนวาด พิมวนา

นวนิยายแสดงภาพชีวิตของเด็กบ้านแตก ต้องกลายเป็นเด็กจรจัด อยู่อย่างไร้ความหวัง แต่เพราะความเอื้ออาทรของชาวบ้าน เขาจึงไม่ต้องเร่ร่อนไปไหน เสน่ห์ของเรื่องช่างสำราญอยู่ที่ความช่างคิดช่างค้นของผู้เขียน นำเอาเหลี่ยมมุมต่างๆ มาร้อยเรียงใหม่ ทำให้น่าอ่านน่าติดตาม ความเป็นเรื่องเป็นราวของสังคมไทย ที่แสดงออกถึงความไม่แล้งน้ำใจ และความเอื้ออาทรที่มีต่อกัน

แม่น้ำรำลึก

หนังสือซีไรต์ (กวีนิพนธ์) ปี 2547

ผู้แต่ง เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์

กวีนิพนธ์ รำลึกความหลังของชายชรา ที่รำลึกถึงชีวิตในวัยเยาว์ ซึ่งรำลึกย้อนผ่านสถานที่ ผู้คน สรรพสิ่งรอบตัว สามารถให้ภาพของการฟื้นความหลังได้อย่างงดงาม มีทั้งสิ่งที่สร้างขึ้นมาจากจินตนาการและจากประสบการณ์ของตัวเอง โดยเล่าถึง ความฝัน ความสุข ความทุกข์ ในช่วงเวลาต่างๆ เหมือนนำชิ้นส่วนภาพของชีวิตมาประติดประต่อกันอย่างสวยงามด้วยศิลปะการประพันธ์ แต่ละบทมีความสมบูรณ์ในตัวเองและเรียงร้อยเป็นโครงเรื่องที่มีเอกภาพ

เจ้าหงิญ

หนังสือซีไรต์ (รวมเรื่องสั้น) ปี 2548

ผู้แต่ง บินหลา สันกาลาคีรี

เป็นการนำโลกในจินตนาการมาผสมกับโลกความเป็นจริงได้อย่างลงตัวในรูปแบบนิทาน โดยพูดถึงคุณค่าและการแสวงหาความสุขในชีวิต แต่ด้วยความเขลาของมนุษย์จึงดิ้นรนและตกอยู่ในห้วงมายา ด้วยการประพันธ์สร้างตัวละครหลากหลาย ทั้งคน สัตว์ สิ่งของ แบบนิทานเปรียบเทียบที่อุดมด้วยสีสัน รวมทั้งการเล่นคำ โดยเฉพาะชื่อ “เจ้าหงิญ” ที่สื่อความหลายนัยและอารมณ์ขัน มีลีลาภาษาที่รุ่มรวยด้วยโวหาร เร้าจินตนาการและความคิด

ความสุขของกะทิ

หนังสือซีไรต์ (นวนิยาย) ปี 2559

ผู้แต่ง งามพรรณ เวชชาชีวะ

เป็นเรื่องของเด็กหญิงคนหนึ่งที่แม้จะขาดพ่อแม่ เลี้ยงดูใกล้ชิดเหมือนเด็กอื่นๆแต่เธอก็อยู่กับคนรอบข้างที่มีความรัก ความเมตตาให้อย่างบริสุทธิ์ใจ ลักษณะความเป็นอยู่ของกะทิเหมือนกับชีวิตชาวไทยสมัยก่อน เด็กๆ และคนเฒ่าคนแก่ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่รู้สึกเหงา เพราะมีกิจกรรมต่างๆ ให้ทำอยู่ตลอดเวลา ต่างกับวิถีชีวิตของคนสมัยนี้ ด้วยภาษารื่นรมย์ แฝงอารมณ์ขัน สอดแทรกความเข้าใจชีวิตที่ตัวละครได้เรียนรู้ไปตามประสบการณ์ ความสะเทือนอารมณ์จะค่อยๆ พัฒนาและดิ่งลึกในห้วงนึกคิดของผู้อ่าน

โลกในดวงตาข้าพเจ้า

หนังสือซีไรต์ (กวีนิพนธ์) ปี 2550

ผู้แต่ง มนตรี ศรียงค์

เป็นกวีนิพนธ์ที่เล่าเรื่องราวของชุมชนเล็กๆ ด้วยภาษาแบบนักกวี ด้วยการเล่าเรื่องสลับไปมา ผ่าน ความรู้สึก ความนึกคิด และความรัก เอกลักษณ์ของกวีเล่มนี้อยู่ที่การปล่อยวางต่อความเป็นไปของโลกใบนี้ ซึ่งถูกถ่ายถอดไว้ในบทกวีได้อย่างกลมกลืน มีชีวิตชีวา มีศิลปะการนำเสนอการเลือกใช้คำและการเรียบเรียงลำดับภาพความคิด ชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ ก่อให้เกิดความสะเทือนอารมณ์และชวนคิด

เราหลงลืมอะไรบางอย่าง

หนังสือซีไรต์ (รวมเรื่องสั้น) ปี 2551

ผู้แต่ง วัชระ สัจจะสารสิน

รวมเรื่องสั้น ที่พูดถึงความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ของสังคมเรา โดยเฉพาะสังคมชนบท ที่ถูก สังคมเมืองเข้ามาแทนที่ มีการนำเสนอภาพของการเมืองที่สกปรก เต็มไปด้วยปัญหาและความขัดแย้ง ในเนื้อหาได้ตั้งคำถามในฐานะปัญญาชนคนรุ่นใหม่ถึงสิ่งที่ว่า ทุกวันนี้เราหลงลืมอะไรบางอย่างไปหรือเปล่า เป็นงานเขียนสะท้อนชีวิตและสังคมในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลง

ลับแลแก่งคอย

หนังสือซีไรต์ (นวนิยาย) ปี 2552

ผู้แต่ง อุทิศ เหมะมูล

เรื่องที่เขียนจากความทรงจำของ อุทิศ เหมะมูล ผ่านตัวละครเด็กชายที่คึกคะนองมีนิสัยต่อต้านพ่อเลี้ยงของตัวเอง จนพ่อเลี้ยงทนไม่ไหว ตัดสินใจพาไปดัดนิสัยในวัดกลางป่าแห่งหนึ่ง ให้อยู่ในความดูแลของเจ้าอาวาส นวนิยายเรื่องนี้เสนอมิติอันซับซ้อนของตัวมนุษย์ที่แยกไม่ออกจากรากเหง้า ชาติพันธุ์ ชุมชน ความเชื่อและเรื่องเล่า โดยใช้กลวิธีการเล่าเรื่องอันแยบยล สร้างตัวละครที่มีเลือดเนื้อและอารมณ์ราวกับมีตัวตนจริง สร้างแก่นและบรรยากาศได้อย่างมีชีวิตชีวา และใช้ภาษาเรียบง่ายแต่ทรงพลัง

ไม่มีหญิงสาวในบทกวี

หนังสือซีไรต์ (กวีนิพนธ์) ปี 2553

ผู้แต่ง ซะการีย์ยา อมตยา

เป็นกวีนิพนธ์นำเสนอภาพและแนวคิดเพื่อการดำรงและดำเนินชีวิตอย่างสันติสุข ประกอบด้วยการใช้เนื้อหาและภาษาที่หลากหลาย มีมิติ เนื้อหาไม่ได้ผูกอยู่กับยุคสมัยใดสมัยหนึ่ง ด้วยลักษณะคำประพันธ์กลอนเปล่า ไม่จำเป็นต้องมีสัมผัสสระ แต่ชวนให้คิด ปลุกเร้าอารมณ์และเสริมสร้างจินตนาการ ผู้เขียนสามารถวางจังหวะคำกวีได้อย่างทรงพลัง และสามารถใช้ภาษาที่ทำให้เกิดจินตภาพ มีการสร้างภาพพจน์ที่ลุ่มลึกกระตุ้นให้เกิดจินตนาการ ขบคิดและคิดต่อ

แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ

หนังสือซีไรต์ (รวมเรื่องสั้น) ปี 2554

ผู้แต่ง จเด็จ กำจรเดช

รวมเรื่องสั้นที่บอกให้เรามองสิ่งรอบตัวให้ไม่เหมือนเดิม ผ่านงานเขียนเนื้อหาที่มีการเสียดสีความตกต่ำของสังคม ตลกขบขัน ล้อเลียน แต่เต็มไปด้วยสาระและแง่คิด ชวนให้ผู้อ่านตั้งคำถามตลอดเวลาและนำเสนอประเด็นอันหลากหลายเกี่ยวกับมนุษย์ในสังคมที่มีความซับซ้อน นำเสนอการปะทะกันระหว่างความจริงกับความจริงเสมือน ความรู้กับความเชื่อ ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องหลายวิธีที่ท้าทายการตีความ สร้างความคลุมเครือและความลวง กลวิธีเหล่านี้เปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านสร้างความหมายได้หลายระดับ

คนแคระ

หนังสือซีไรต์ (นวนิยาย) ปี 2555

ผู้แต่ง วิภาส ศรีทอง

เรื่องราวสุดวิกลจริต เนื้อหาประหลาด ของคนสามคน ที่เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนร่วมสมัยกับสิ่งที่พวกเขากระทำต่อคนแคระราวกับว่ามีค่าต่ำกว่ามนุษย์ ที่ฉีกทุกกฎเกณฑ์แนวที่คนส่วนมากเข้าใจ เพราะเนื้อหาการกระทำต่างๆ ของตัวละครมีความไร้เหตุผล แต่ถูกขับเคลื่อนโดยจิตสำนึกเพียงอย่างเดียว นวนิยายมีการเล่าเรื่องที่ทรงพลัง มีการสร้างจินตภาพที่ชวนให้เกิดการตีความหลากหลาย มีตัวละครซับซ้อนแปลกแยก และท้าทายกฎเกณฑ์ของสังคม

หัวใจห้องที่ห้า

หนังสือซีไรต์ (กวีนิพนธ์) ปี 2556

ผู้แต่ง อังคาร จันทาทิพย์

กวีนิพนธ์ที่เต็มไปด้วยสาระความรู้ บอกเล่าเรื่องราวของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงยุคสังคมร่วมสมัย โดยเน้นไปที่สังคมในเมืองหลวงที่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม กล่าวถึงคนยากจน คนไร้บ้าน ชนกลุ่มน้อย ซึ่งต่างต้องทนทุกข์ทรมานกับสังคมที่แออัดในเมืองใหญ่ นำเสนอความขัดแย้งท่ามกลางความยุคสมัยที่เปลียนแปลงในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อให้ผู้อ่านนำไปคิดเอง

อสรพิษและเรื่องอื่นๆ

หนังสือซีไรต์ (รวมเรื่องสั้น) ปี 2557

ผู้แต่ง แดนอรัญ แสงทอง

รวมเรื่องสั้นที่ว่าด้วยเรื่องของการต่อสู้กับปัญหาต่างๆ ภายในจิตใจมนุษย์ การต่อสู้กับสังคม ด้วยการเล่าเรื่องที่ชาญฉลาด มีความหลากหลาย แสดงให้เห็นถึงความมีศรัทธาอันแน่วแน่ของผู้เขียน โดยนำเรื่องจากเทพปกรณัม ชาดก ตำนาน เรื่องย้อนอดีต ฯลฯ มานำเสนออย่างมีสัมพันธบท ด้วยลีลาภาษาอันวิจิตร เน้นใช้คำโบราณและภาษาถิ่นที่มีความหมายชัดเจน สร้างพลังอันเข้มข้นเร้าใจให้ผู้อ่านได้ถึงอารมณ์

ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต

หนังสือซีไรต์ (นวนิยาย) ปี 2558

ผู้แต่ง วีรพร นิติประภา

นวนิยายรักสามเส้า กล่าวถึงตัวละครที่กำลังหลงทางอยู่ในวังวนของความคิดตัวเอง เหมือนกับไส้เดือนตาบอดที่พยามหาทางออกจากเขาวงกต โครงเรื่องถูกวางไว้เป็นนิยายรักมาตรฐาน เจอกัน จากกัน พบกันใหม่ ผิดใจ รักกัน สามเส้า ความจำเสื่อม แต่เล่าอีกแบบเพื่อบอกว่ามายาคติเป็นอย่าง ความจริงอาจเป็นอีกหลายอย่าง ใส่กลิ่น เสน่ห์ ภาษาเชิงสัญลักษณ์ ที่ให้เห็นถึงชะตาชีวิตของผู้คนแต่ละคนได้อย่างถึงอารมณ์ ด้วยภาษาที่กระทัดรัด อ่านง่าย ให้ความสนุก ให้แง่คิด

นครคนนอก

หนังสือซีไรต์ (กวีนิพนธ์) ปี 2559

ผู้แต่ง พลัง เพียงพิรุฬห์

รวมบทกวีเรื่อง “นครคนนอก” ที่มีความโดดเด่นด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความเป็นสากล วิธีการนำเสนอจากมุมมองที่เปลี่ยนใหม่ ให้ภาพของผู้คนที่สังคมมองข้ามเนื้อหาครอบคลุมสังคมร่วมสมัย ชีวิตในเมือง ชีวิตชนบท และเทคโนโลยีสมัยใหม่ มีการใช้ภาษาที่สั้น กระชับ มีพลัง คมชัด ทั้งเสียงและความหมาย ใช้รูปแบบฉันทลักษณ์ตามขนบและไร้ฉันทลักษณ์ผสมผสานกัน ใช้วรรณรูป ภาพวาด และสัญญะแสดงอารมณ์ สื่อเสริม เน้นความหมายให้ขบคิดและตีความ จินตภาพ

สิงโตนอกคอก

หนังสือซีไรต์ (รวมเรื่องสั้น) ปี 2560

ผู้แต่ง จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท

เนื้อหาทุกเรื่องเป็นการสะท้อนแง่มุมต่างๆ ของการใช้ชีวิต ตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ ความดี ความชั่ว ความเป็นธรรมของระบอบการปกครอง อำนาจนิยม มายาคติ ความเชื่อ ท้าทายความคิดของผู้อ่าน ผ่านโลกสมมุติในแบบแฟนตาซีผสมไซไฟ ที่จิดานันท์สร้างขึ้นมาเอง

พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ

หนังสือซีไรต์ (นวนิยาย) ปี 2561

ผู้แต่ง วีรพร นิติประภา

นวนิยายเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวชาวจีนที่อพยพมาอยู่ในเมืองไทยครอบครัวหนึ่ง ผ่านสายตาและความทรงจำที่แหว่งวิ่นจนเกือบไม่ปะติดปะต่อของผู้เล่าเรื่อง ที่เป็นสมาชิกในครอบครัวรุ่นหลัง สะท้อนทั้งความเศร้า ความสุข ความแค้น ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความเสียสละ ความหวังอันเรืองรองและริบหรี่ รวมทั้งอารมณ์ความรู้สึกอีกมากมายมหาศาลที่ขับเคลื่อนให้ชีวิตดำเนินต่อไป

กว่าจะได้หนังสือซักเล่ม นักเขียนแต่ละคนต้องใช้ประสบการณ์มากมายมาเป็นข้อมูล ดังนั้นเราอย่าลืมให้การสนับสนุนหนังสือดีๆเพื่อให้หนังสือดีๆ ยังสามารถผลิตออกมาได้อย่างต่อเนื่องสวนทางกับในยุคที่การอ่านหนังสือลดน้อยลงเรื่อยๆในทุกวัน

อย่าลืมติดตาม เรื่องราวสนุกๆแบบ Typeไทย มากมาย ที่ Facebook / Youtube / IG / Twitter

อ้างอิงจาก www.amarinbooks.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0