โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

BITE SIZE : เมื่อแฟมิลี่มาร์ท กำลังหายจากไทย และแทนด้วย Tops Daily

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 14 ส.ค. 2566 เวลา 10.50 น. • เผยแพร่ 12 ส.ค. 2566 เวลา 04.00 น.
ปกเว็บ FamilyMart Tops Daily

Prachachat BITE SIZE โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ

ตลอดสัปดาห์ที่ผานมา ข่าวความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของธุรกิจค้าปลีก ที่ส่งผลต่อการรับรู้ของผู้บริโภค หนีไม่พ้นการเปลี่ยนแปลงของ ร้านแฟมิลี่มาร์ท (FamilyMart) ในประเทศไทย ที่ Central Food Retail บริษัทแม่ของแฟมิลี่มาร์ทในไทย กำลังทยอยพลิกโฉม เปลี่ยนป้ายเป็น ท็อปส์ เดลี่ (Tops Daily) มินิซูเปอร์มาร์เก็ตที่ผู้คนคุ้นตามากกว่า

ความเคลื่อนไหวใหญ่ในครั้งนี้ กลายเป็นที่สนใจของผู้คนว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับวงการค้าปลีก โดยเฉพาะกลุ่มร้านสะดวกซื้อ

แต่ก่อนจะไปดู Movement ใหญ่ที่เกิดขึ้นนี้ มาทำความรู้จัก 2 ตัวละครสำคัญในเรื่องนี้กันก่อน คือ ท็อปส์ (Tops) และ แฟมิลี่มาร์ท (FamilyMart)

จุดเริ่มต้น ท็อปส์-แฟมิลี่มาร์ท

เริ่มจากจุดเริ่มต้นของ Tops ที่ต้องถอยกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2538 โดย ณ ตอนนั้น กลุ่มเซ็นทรัล เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ที่กำลังประสบปัญหาทางการเงิน พอกลุ่มเซ็นทรัสเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโรบินสันแล้ว ก็พบว่ามีแผนกสินค้าที่มันซ้ำซ้อนกัน เพราะความมี Department Store 2 แบรนด์ซ้อนกันในมือ

กลุ่มเซ็นทรัล จึงเดินเกมรวมแผนกที่ซ้ำซ้อนเข้าด้วยกัน แล้วแปลงร่างออกมาเป็นร้านแบรนด์ใหม่
ทั้งแผนกกีฬา รวมกันเป็น SUPERSPORTS แผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมกันเป็น Power Buy แผนกเครื่องเขียน รวมกันเป็น B2S

และแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัล ไปร่วมทุนกับ “รอยัล เอโฮลด์” กลุ่มทุนจากเนเธอร์แลนด์ เพื่อทำซูเปอร์มาร์เก็ตในชื่อ “ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต” เมื่อปี 2539 โดยการไปขอซื้อสิทธิการบริหารแบรนด์นี้จาก Tops Markets LLC สหรัฐอเมริกา

ก่อนที่กลุ่มเซ็นทรัล หรือ Central Retail ในปัจจุบัน ซื้อหุ้นและกิจการต่าง ๆ ส่วนของรอยัล เอโฮลด์ มาทั้งหมด และ Tops ก็กลายเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์ไทยเต็มตัว

ส่วนแฟมิลี่มาร์ท เข้ามาในไทยเมื่อปี 2536 โดย บริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทไทย จากนั้นก็ค่อย ๆ ขยายสาขาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งใน กทม. ไปจนถึงต่างจังหวัด

ก่อนที่กลุ่มเซ็นทรัล จะเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในปี 2555 และซื้อหุ้นทั้งหมดเมื่อปี 2563 กลายเป็นอีกหนึ่งในบริษัทภายใต้ Central Food Retail เต็มตัว

สะดวกซื้อ ตลาดเปลี่ยน-ธุรกิจจัดทัพใหม่

หากย้อนดูภาพของแฟมิลี่มาร์ทในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จาก 1,135 สาขา เมื่อปี 2560 ลดลงจนเหลือแค่ 409 สาขา เมื่อสิ้นไตรมาส 1 ของปีนี้

ยิ่งถ้าดูภาพรวมของธุรกิจร้านสะดวกซื้อ จะเห็นได้ว่า เทรนด์ค่อนข้างเปลี่ยนไปมากพอสมควร บรรดาร้านสะดวกซื้อทั้งรายใหม่ และรายใหญ่ พลิกเปลี่ยนทำเลใหม่ ให้ตอบโจทย์ผู้ซื้อมากขึ้น โดยเฉพาะต้องมีรูปแบบร้านที่มีที่จอดรถด้วย

สภาพตลาดที่เปลี่ยนไปนี้ เป็นไปตามแนวคิดการพัฒนาธุรกิจของ คุณญนน์ โภคทรัพย์ แม่ทัพใหญ่แห่ง เซ็นทรัล รีเทล ที่บอกว่า เทรนด์ของธุรกิจร้านสะดวกซื้อในไทยเปลี่ยนแปลงไป ตลาดต้องการร้านที่ขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ร้าน FamilyMart ซึ่งมีพื้นที่เฉลี่ย 120 ตร.ม. ไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ต่างจากร้าน Tops ที่มีขนาดพื้นที่ร้านค้า 250-300 ตารางเมตร มีความหลากหลายของสินค้ามากกว่า ในกรณีธุรกิจที่ไม่ลงตัวกับกลยุทธ์บริษัท ไม่ลดบทบาทก็อาจขายทิ้ง เพื่อทำให้พอร์ตยืดหยุ่น

ย้อนกลับไปเมื่อปลายปีที่แล้ว เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ประกาศจัดทัพธุรกิจฟู้ดใหม่ ใช้แบรนด์ ท็อปส์ (Tops) เพียงแบรนด์เดียว เช่น Tops, Tops Daily, Tops Food Hall รวมถึงโมเดลใหม่อย่าง Tops Fine Food และ Tops CLUB เพื่อให้ Tops ขึ้นเป็น Food Discovery & Destination หรือจุดหมายปลายทางด้านอาหารและประสบการณ์ใหม่ ๆ และเป็นเบอร์ 1 Food Omni Retailer

FamilyMart 409 สาขา ทำยังไงต่อ ?

ตอนนี้สาขาแฟมิลี่มาร์ทในไทย ที่มีอยู่ 409 สาขา เริ่มมีสาขาบางส่วนปรับเป็น Tops Daily แล้ว ขณะที่สิทธิการใช้แบรนด์ FamilyMart ในประเทศไทย มีข้อมูลว่า จะหมดสัญญาในปีนี้

คนในวงการค้าปลีก ประเมินว่า กลุ่มเซ็นทรัล อาจจะไม่ต่อสัญญาแบรนด์นี้แล้ว แต่เรื่องนี้ยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนออกมาจากทีมผู้บริหารว่า แบรนด์ FamilyMart ในไทย จะยังไปต่อ หรือพอแค่นี้ ?

ขณะที่แบรนด์ Tops เอง เตรียมขยายสาขา Tops เพิ่มอีก 15 สาขา ภายในปีนี้ ครอบคลุมทั้งไทยและเวียดนาม จากปัจจุบันที่มีแล้ว 297 สาขา ยังไม่รวมบางสาขาที่ย้ายจาก FamiyMart มาเป็นแบรนด์ Tops Daily แล้ว

การที่ไม่ต่อสัญญาแบรนด์ และหันมาผลักดัน Tops ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนไทยมากกว่า อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในการสู้กับสมรภูมิร้านสะดวกซื้อเมืองไทยที่สุดจะระอุ

ต้องจับตาดูต่อว่า เกมสมรภูมิค้าปลีก โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อ จะเดินไปยังไงต่อ แต่ละแบรนด์ในสนาม จะงัดไม้เด็ดอะไรมาสู้ต่อ

ชมรายการ Prachachat BITE SIZE EP.15 ได้ที่ https://youtu.be/KoOsGD10iUw

youtube
youtube
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น