ลองจิตนาการถึงภาพของแม่กับน้ากำลังคุยกัน ต่อหน้าตากับยาย (ในสภาพของเถ้ากระดูกที่โกศข้างกำแพงวัด)
“ฝั่งไหนของพ่อ ฝั่งไหนของแม่ล่ะ” แม่ผมถาม เพราะขั้นตอนต่อไปคือการเอาป้ายชื่อมาปิดไว้
น้าซึ่งเป็นผู้จัดการเรื่องนี้ตั้งแต่เช้าบอกว่า “อันไหนก็เหมือนกันแหละ พอดีเอาออกจากห่อผ้ามา แล้วดันลืม ไม่เป็นไรหรอก ต่อให้สลับกันบ้างก็พ่อกับแม่เหมือนเดิม”
ความฮาก็เลยบังเกิด….
ผมนี่คิดในใจว่า ก็เปิดกระดูกออกมาดู อันไหนเก่ากว่าก็ของคนตายก่อน อันไหนใหม่กว่าก็ของคนตายทีหลัง
อ้อ! เรื่องของเรื่องคือ ทางวัดทำกำแพงวัดใหม่ เลยต้องทุบ “ธาตุ” หรือเจดีย์เล็กๆ หรือบางที่เรียกโกศ รอบๆวัด แล้วก็ย้ายทั้งหมดไปใส่ไว้ในช่องกำแพงนั่น
ซึ่งช่วงเช้าก็ทำพิธีอะไรเรียบร้อย แต่ป้ายชื่อเจ้ากรรม ทางร้านขอเลทไปหนึ่งวัน ต้องทำวันถัดไปในขั้นตอนนี้
เลยเป็นที่มาของความสับสนกระดูกตากับยาย
แต่เอาล่ะ ในเมื่อลูกๆของตากับยายเค้าไม่ซีเรียสก็ไม่มีปัญหา
เพราะจิตวิญญาณของคนที่ตาย ไม่ได้สิงสถิตอยู่ที่กระดูก
ไปไหนต่อไหนแล้วก็ไม่รู้
ดังนั้น ขี้เถ้าพวกนี้เป็นแค่สิ่งที่เอาไว้เป็นตัวแทนหรือ “สื่อทางใจ” เฉยๆ ไม่ต่างจากรูปที่ทำจากกระดาษ หรือป้ายวิญญาณที่ทำจากไม้ หรือแม้กระทั่งในความทรงจำ
เลยเป็นที่มาของคำว่า “ประสากระดูก” ซึ่งเป็นบทสรุปของลูก ๆ หลาน ๆ
โดย “ประสา” ในภาษาอีสาน หมายถึง “ก็แค่” เช่น “ประสาเงิน 30 บาท จะทำอะไรได้ เติมน้ำมันยังไม่ถึงลิตรเลยเด้อ”
ส่วน “ประสา” ทางภาคกลาง จะใช้ในบริบทประมาณว่า “แต่งตัวตามแฟชั่นตามประสาวัยรุ่น” อารมณ์แบบ เป็น “สไตล์” หรือ “เป็นเรื่องของ…” ดังที่พจนานุกรมแปลว่า “วิสัยที่เป็นไป”
นั่นแหละครับ เรื่องฮาๆ ประสากระดูก
-“ก็แค่” กระดูก
-“วิสัยที่เป็นไป” ของกระดูก
ท้ายที่สุด วิสัยที่เป็นไปของคนเรา มันเหลือแค่นี้จริงๆ
เหลือแต่ขี้เถ้า (ลูกหลานยังจำสลับอีก 555 )
อีกหลายสิบปี ร้อยปี ต่อไปข้างหน้า
กำแพงนี้ก็คงถูกทุบทิ้ง ชื่อเลือนหาย ไม่รู้ว่าของใครเป็นของใคร
“ก็นึกรวมๆเอาละกัน แต่ก็แหม่ ต้นไม้ยังแยกตัวผู้ตัวเมียเลยเนาะ”
แม่ผมยังแอบบ่นอุบ และพูดเอาฮาตามประสาคนชอบปลูกต้นไม้