โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“Schadenfreude” ⁣ผิดไหมที่มีความสุขเมื่อเห็นคนอื่นทุกข์?

Mission To The Moon

เผยแพร่ 23 พ.ย. 2564 เวลา 13.00 น. • Thanwarat Choktapra

 

เราต่างรู้กันดีว่า ความรู้สึกของมนุษย์เป็นสิ่งที่เรายากจะควบคุม.. เคยไหม เห็นคนอื่นเจอเรื่องร้ายๆ เช่น ลื่นพื้น ทำไอศกรีมตกพื้น แล้วเราก็แอบยิ้มหรือแอบพึงพอใจอยู่ลึกๆ แม้แต่การที่เราชอบซุบซิบกับเพื่อนของเราเกี่ยวกับข่าวหรือเรื่องลับๆ ของดาราดังหรือผู้ที่มีชื่อเสียง ถึงสิ่งที่เราทำจะดูผิดและไม่สมควรทำ แต่นี่คืออาการปกติหนึ่งของมนุษย์ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “Schadenfreude”

.

Schadenfreude คืออะไร

.

Schadenfreude (ชา-เดิน-ฟรอย-เดอ) คือความสุข ความรื่นเริงที่มาจากการรับรู้หรือพบเห็นปัญหา ความล้มเหลว หรือความอัปยศของผู้อื่น มาจากการยืมคำภาษาเยอรมันคือ “Schaden” ที่แปลว่า เสียหายหรือทำลาย และ “Freude” หมายถึง ความสุข 

.

บางครั้งอาจมีการใช้คำอังกฤษว่า “Epicaricacy” ซึ่งหมายถึงความปลื้มปีติหรือมีความสุขบนความโชคร้ายของคนอื่น คำนี้มีรากศัพท์จากภาษากรีกโบราณซึ่งประกอบไปด้วย “Epi” หมายถึง บน (Upon) “Kharis” แปลว่า ความสุข (Joy) และ “Kakos” คือความชั่วร้ายหรือปีศาจ (Evil)

.

.

Schadenfreude เกิดจากอะไร

.

Schadenfreude นั้นคล้ายคลึงกับสิ่งที่นักจิตวิทยา Roy F. Baumeister และ Brad J. Bushman เรียกว่า “ความขัดแย้งอันเป็นพื้นฐานที่สุดในจิตใจมนุษย์” ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างความหุนหันพลันแล่นด้านความเห็นแก่ตัว (Selfish Impulses) และการควบคุมตัวเอง (Self-control)

.

“พวกเราล้วนแต่มีความโหดร้ายหลบซ่อนอยู่ในใจ” นี่คือประโยคจาก Cheryl Strayed ที่เขียนไว้ในคอลัมน์ Dear Sugar ในเว็บไซต์ The Rumpus และเธอให้ความเห็นในมุมมองของเธอที่มีต่อมนุษย์ว่า “พวกเราล้วนอยากเป็นผู้ที่ถูกเลือก ถูกรัก และถูกเชิดชู”

.

นอกจากนี้ยังมีการทดลองอื่นที่เกี่ยวข้องกับ Schadenfreude กับการทดลองชื่อ “Empathic Neural Responses Are Modulated By The Perceived Fairness Of Others” โดยนักจิตวิทยาชาวเยอรมันชื่อว่า Tania Singer และเพื่อนร่วมงานของเธอที่ University College London 

.

พวกเขาได้ทำการทดลองโดยใช้คลื่นแม่เหล็กตรวจจับปฏิกิริยาในสมองของผู้ทดลอง ซึ่งพวกเขาตั้งใจจะศึกษาตัวแปรที่ส่งผลต่อระดับความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) โดยวัดได้จากกิจกรรมในสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวด ที่จะแสดงผลผ่านภาพสแกนสมองเมื่อเห็นผู้อื่นกำลังเจ็บปวด

.

Singer ให้ผู้ทดลองดูคนเล่นเกม 2 คลิป คลิปแรกคือคนที่เล่นแบบโกง (Bad People) และคลิปสองเป็นคนที่เล่นตามกฎ (Good People) จากนั้นให้ผู้ทดลองดูคลิปที่คนเหล่านั้นถูกกระแสไฟฟ้าช็อตที่มือจนเกิดความเจ็บปวด และเมื่อดูปฏิกิริยาของสมองผ่านภาพสแกน ผลปรากฏว่า สมองของผู้ทดลองนั้นแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อกลุ่ม Good People ที่กำลังเจ็บปวด

.

แต่เมื่อ Bad People ได้รับความเจ็บปวด มีเพียงผู้ทำการทดลองหญิงเท่านั้นที่ยังคงเห็นอกเห็นใจพวกเขา ในขณะที่ผู้ทดลองชายไม่ใช่แค่ไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจ แต่สมองส่วน Reward Center ได้แสดงปฏิกิริยาซึ่งแปลได้ว่า “พวกนั้นสมควรโดนแล้ว!” ดังนั้น Schadenfreude ถือได้ว่าเป็นปฏิกิริยาที่ปกติของสมองมนุษย์ แม้จะมีความจำเพาะในแต่ละเพศ แต่ถือว่าเป็นสิ่งที่ช่วยให้สมองเราตัดสินผลลัพธ์ของการกระทำจากสิ่งที่เราเห็น

.

.

Schadenfreude ในชีวิตประจำวันของเรา

.

อีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การที่ดาราหรือผู้มีชื่อเสียงต่างๆ ถูกนิตยสารนำเรื่องของพวกเขามาซุบซิบ นายแพทย์ Smith และ Katie Boucher ได้ทำการวิเคราะห์นิตยสาร National Enquirer เป็นเวลา 10 สัปดาห์ พวกเขาพบว่า “ยิ่งดารามีชื่อเสียงมากเท่าไหร่ บทความต่างๆ ก็ยิ่งสนใจเรื่องโชคร้ายของพวกเขามากขึ้นเท่านั้น”

.

อธิบายได้สั้นๆ ว่าเมื่อเราอยู่ในช่วง Schadenfreude เราจะยิ่งพึงพอใจมากขึ้นเมื่อเห็นคนมีชื่อเสียงเหล่านั้นกำลังทำลายภาพลักษณ์ตัวเอง แต่การจะเกิด Schadenfreude ได้นั้นต้องอยู่ใต้ 3 เงื่อนไขนี้

- เราได้ประโยชน์จาก Schadenfreude เช่น เราสบายใจมากขึ้นเพราะมีคนโชคร้ายกว่าเรา

- คนๆ นั้นสมควรเจอเรื่องโชคร้าย เช่น ทำผิดกฎหมายแล้วโดนตำรวจจับ

- เรื่องโชคร้ายนั้นเกิดขึ้นกับคนที่เรารู้สึกอิจฉา

ดังนั้น หากดาราหรือผู้มีชื่อเสียงที่ถูกพูดถึงเป็นคนที่เราชื่นชอบ เราจะไม่เกิดความรู้สึก Schadenfreude ขึ้น

.

นอกจากนี้ ยังมีผลการวิจัยของ Benoît Monin นักจิตวิทยาทางสังคมจาก Stanford ที่ชี้ให้เห็นว่า ชาวมังสวิรัติสามารถทำให้ผู้ที่กินทั้งพืชทั้งเนื้อสัตว์รู้สึกราวกับโดนตัดสินว่าด้อยค่าทางศีลธรรม โดยนายแพทย์ Smith ได้เพิ่มเติมว่า “ชาวมังสวิรัติไม่จำเป็นต้องพูดออกมา แค่พวกเขามีตัวตนอยู่ก็ทำให้คนที่กินเนื้อสัตว์รู้สึกเคืองใจแล้ว” 

.

แต่การค้นพบสิ่งที่คล้ายกับความเสแสร้ง (Hypocrisy) ในสมองของผู้ที่นึกว่าตนอยู่สูงกว่าสามารถลดความเคืองใจนี้ลงได้ ดังนั้นเมื่อคนที่รักเนื้อสเต็กเห็นภาพคนที่เป็นมังสวิรัติกินเนื้อคำโตจะมีอาการ Schadenfreude ในรูปแบบ “เราไม่ได้ต่ำต้อยในแบบที่เราถูกทำให้เชื่อ เราเพียงแค่มีจุดยืนด้านศีลธรรมที่ตรงข้ามกันเท่านั้น” 

.

ทั้งนี้ Schadenfreude เป็นอารมณ์ด้านลบที่เกิดจากความอิจฉาและการมองเห็นคุณค่าตัวเองต่ำ (Low Self-esteem) ดังนั้นการปล่อยให้ตัวเราจมอยู่กับความรู้สึกด้านลบนานๆ อาจนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า เราจึงควรหมั่นให้กำลังใจตัวเองผ่านการชื่นชมตัวเองหรือเปลี่ยนมุมมองโดยนำเส้นทางของผู้ที่ประสบความสำเร็จมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับชีวิตเรา

.

แต่อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ Smith ก็ได้ให้ความเห็นว่า เราไม่ควรมองว่า Schadenfreude เป็นสิ่งชั่วร้ายเสียทั้งหมด เพราะบางครั้งเราควรเปิดโอกาสให้ด้านมืดของเราได้ทำตามใจบ้าง ดีกว่าไปปฏิเสธการมีอยู่ของด้านมืด และตราบที่ Schadenfreude เป็นเพียงสิ่งเล็กๆ อยู่ในใจของเรา สิ่งนี้จะช่วยเพิ่มความรู้สึกว่า ชีวิตเรามีคุณค่า (Self-worth) และทำให้เราระลึกอยู่เสมอว่า “แม้ชีวิตใครบางคนจะน่าอิจฉาเท่าไหน แต่เขาก็เหมือนพวกเราที่อาจใช้ชีวิตผิดพลาดกันได้”

.

.

เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ

- เมื่อ Self-Esteem ต่ำ นี่คือ 4 สิ่งที่ควรทำเพื่อย้ำถึง ‘คุณค่าในตัวเอง’: https://bit.ly/3kWit0L

.

.

อ้างอิง

https://nyti.ms/3DwKiUH

https://nyti.ms/3FE82Hd

https://bit.ly/3nCZqdA

https://bit.ly/3DL0UIA

https://bit.ly/3DDeCNB

https://bit.ly/3kRD9aa

https://bit.ly/3kQkOKI

.

#missiontothemoon

#missiontothemoonpodcast

#psychology

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0