พอลูกเริ่มโต ก็จะเริ่มมีการแสดงออกทางด้านอารมณ์มากขึ้นตามไปด้วย บางครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ขัดใจ ตักเตือน ตำหนิ หรือห้ามไม่ให้ลูกทำอะไรบางอย่าง ลูกก็อาจแสดงอาการเสียใจ ไม่พอใจ ไม่ยอมพูดกับคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งทั้งหมดนั้น ก็เพื่อที่จะแสดงความน้อยใจออกมาให้คุณเห็น
พฤติกรรมเหล่านี้ อาจส่งผลต่อนิสัยและพฤติกรรมของลูกในอนาคต จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม
แต่จะมีวิธีรับมืออย่างไร…
1. คุยกับลูกด้วยเหตุผล
ถามถึงสาเหตุที่ลูกน้อยใจ โดยไม่ต้องคาดคั้น และคุณแม่ก็ควรบอก
เหตุผลที่ต้องตำหนิลูกเช่นกัน เทคนิคนี้ นอกจากจะทำให้คุณเข้าใจลูกมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการสอนให้ลูกฝึกคิดอย่างมีเหตุผลอีกด้วย
2. สร้างกิจกรรมให้ลูกอารมณ์ดี
ขณะที่ลูกกำลังน้อยใจ ชวนคุยเท่าไรลูกก็ยังมีท่าทีนิ่งเฉย คุณควรทำให้ลูกอารมณ์ดีขึ้น เช่น ชวนคุยเรื่องตลก เปิดเพลงที่ลูกชอบ หรือหาเกมสนุกๆ มาเล่นด้วยกัน
หลังจากนั้น ค่อยคุยกับลูกด้วยเหตุผล เมื่อบรรยากาศดีขึ้นแล้ว รับรองว่าลูกจะเปิดใจ และพร้อมรับฟังมากกว่าเดิมอีกเป็นเท่าตัว
3. อย่าเพิ่งขัดจังหวะ ถ้าลูกยังพูดไม่จบ
สาเหตุอันดับต้นๆ ที่ลูกน้อยใจ คือเมื่อลูกพูด แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากคุณ เช่น ตอนกินข้าว ลูกกำลังเล่าเรื่องสนุกของเขาอย่างสนุกสนาน แต่คุณกลับตอบลูกไปว่า “กินข้าวให้หมดก่อน แล้วค่อยพูดนะคะ” ลูกจะรู้สึกน้อยใจที่คุณไม่ตั้งใจฟังเรื่องราวของเขา
ดังนั้น คุณควรรอให้ลูกพูดจบก่อน แล้วค่อยหาจังหวะเหมาะๆ สอนลูก ก็ยังไม่สายนะคะ
4. สร้างความมั่นใจให้กับลูก
เมื่อลูกน้อยใจ หมายถึงลูกต้องการความรักและความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้น ควรพูดให้ลูกมั่นใจในความรักที่คุณมีให้เขา และที่สำคัญคือ อย่าลงโทษลูกด้วยการบอกว่า จะไม่รักเขาอีกต่อไปแล้ว
5. ไม่เมินเฉยต่อความรู้สึกของลูก
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ และอธิบายอารมณ์ของตัวเองได้ เช่น บอกได้ว่ากำลังโกรธ เสียใจ หรือน้อยใจ เมื่อลูกเข้าใจและบอกความรู้สึกกับคุณได้แล้ว สิ่งที่สำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเมินเฉยต่อความรู้สึกของลูก และไม่ควรตำหนิ หรือทำให้ลูกรู้สึกผิด ที่เขาน้อยใจคุณพ่อคุณแม่
อ้างอิง
ความเห็น 0