โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ไม่มีใครอยากมีปัญหา แต่ปัญหาคือเราไม่รู้ว่าตัวเองมีปัญหา - หมอเอิ้น พิยะดา

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 27 พ.ค. 2563 เวลา 10.01 น. • หมอเอิ้น พิยะดา
ภาพโดย Joshua Rawson-Harris / unsplash.com
ภาพโดย Joshua Rawson-Harris / unsplash.com

ถ้าวันนี้เราเจอคำถามว่า 

“คุณอยากเป็นโรคซึมเศร้ามั้ย?” 

“คุณอยากเป็นโรควิตกกังวลมั้ย?”

“คุณอยากเป็นโรคนอนไม่หลับมั้ย?”    

“คุณอยากเป็นคนขี้โมโหและเกรี้ยวกราดมั้ย?”  

เชื่อว่าเกือบทุกคนจะตอบว่าไม่ และคิดสงสัยในใจว่า คนถามคำถามนี้ช่างประหลาด

ถ้าไม่มีใครชอบความรู้สึกเหล่านี้ แต่ทำไมเรายังมีปัญหาเหล่านี้อยู่ในชีวิต และหลายครั้งก็ลุกลาม จนสร้างความเดือดร้อนให้ตัวเองและคนอื่นอย่างไม่รู้ตัว

นั่นเพราะเราทุกคนต่างมีอารมณ์และความคิดทั้งด้านบวกและด้านลบเท่ากันเป็นปกติ

แต่เรามีความสามารถที่จะสังเกตเห็นสิ่งเหล่านี้ภายในตัวเราเองแตกต่างกัน และแม้บางครั้งสังเกตเห็นก็ยากต่อการแยกเเยะว่า อะไรคือความปกติ รู้ตัวอีกทีก็เป็นปัญหาที่ยากเกินกว่าที่ตัวเองจะควบคุม และอาจลงท้ายด้วยปัญหาสุขภาพจิต

วันนี้หมอเลยอยากเล่าถึง สัญญาณความผิดปกติของจิตใจที่เราไม่ควรมองข้าม ก่อนที่จะลุกลามเป็นปัญหา

1.ความอดทนที่เคยมีเริ่มลดต่ำลงกับทุกเรื่องอย่างผิดสังเกต 

สัญญาณนี้อาจมาในลักษณะของความหงุดหงิดง่าย กังวลง่าย หรือเศร้าง่าย บ่อน้ำตาอาจตื้นกว่าปกติ

เมื่อมีอะไรมากระตุ้น จากที่เคยอดทนได้ก็รู้สึกอดทนไม่ได้  

2.รู้สึกเศร้า เบื่อหน่ายท้อแท้เกือบตลอดเวลายาวนานกว่า 2 อาทิตย์

คนเราเศร้าได้เป็นปกติ แต่ถ้าเริ่มรู้สึกเศร้าเกือบตลอดเวลาไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรอย่างไม่ทราบสาเหตุ

และเริ่มเป็นยาวนานเกินกว่า 2 อาทิตย์ อาจกลายเป็นความเศร้าแบบซึมเศร้าได้

3.อยากแยกตัวเองออกจากสังคมและผู้คนแม้ว่าจะไม่ได้มีปัญหาความสัมพันธ์มากระทบ

บางคนมีความสุขกับการอยู่คนเดียว ในขณะที่บางคนมีความสุขเวลาอยู่กับผู้คน ถ้าความสุขจากการเคยได้พบเจอผู้คนหายไป กลายเป็นความเบื่อหน่ายอย่างไร้สาเหตุอาจเป็นจุดสังเกตที่สำคัญ  

4.มีอารมณ์แกว่งไปมาอย่างสุดโต่ง

อารมณ์ของเราไม่คงที่เป็นปกติ ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์อะไร กำลังคิดอะไร

แต่หากอารมณ์แกว่งเร็วอย่างสุดโต่งมากเกินไปจนรู้สึกว่ายากเกินควบคุม อาจเป็นสัญญาณของปัญหาทางอารมณ์ได้

5.นอนมากเกินไปหรือเริ่มมีปัญหานอนไม่หลับ

แม้ว่าทางการแพทย์จะแนะนำว่าเราควรนอน 7-8 ชั่วโมงแต่ความรู้สึกพอดีในชั่วโมงการนอนของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน บางคนนอนหกชั่วโมงรู้สึกพอดี บางคนนอน 10 ชั่วโมงถึงจะรู้สึกพอดี ความพอดีนี้เราสังเกตได้ง่ายๆว่า ตอนเช้าตื่นมาสดชื่นหรือไม่ กลางวันอ่อนเพลียหรือไม่ ถ้ารู้สึกนอนเท่าไรก็ยังไม่พอหรือข่มตาเท่าไรยังไม่หลับติดต่อกันหลายคืน ก็อาจกลายเป็นการนอนที่ผิดปกติได้

6. มีความย้ำคิดหรือวิตกกังวลเรื่องเดิมจนเริ่มรู้สึกควบคุมไม่ได้

เราต่างมีเรื่องให้ต้องคิด แต่เมื่อเห็นความคิดแล้ววางความคิดนั้นลงได้ แม้ว่าไม่นานความคิดนั้นจะกลับมาใหม่ ก็เป็นความคิดกังวลปกติ แต่หากเห็นความคิดแล้วนอกจากวางความคิดไม่ได้ กลับยิ่งหมกมุ่นจนรู้สึกทุกข์ ความกังวลอาจเข้าข่ายวิตกกังวลผิดปกติได้

7.หงุดหงิด โกรธ หรือเกรี้ยวกราดเกินกว่าเหตุ อย่างที่ไม่เคยเป็น

คนที่พื้นนิสัยใจร้อน หงุดหงิดง่ายอยู่แล้วอาจสังเกตเรื่องนี้ได้ยาก แต่หากเดิมทีเป็นคนใจเย็นยับยั้งช่างใจได้ดี

อยู่ๆกลายเป็นคนใจร้อนและรู้สึกได้ว่านิสัยกำลังจะเปลี่ยนไป อาจเป็นสัญญาณการระเบิดความเครียดที่เคยเก็บสะสมไว้มานาน

8. เริ่มมีความคิดอยากใช้แอลกอฮอร์หรือยาเสพติดเพื่อบรรเทาความเครียด

ปกติจิตใจเราต้องการความอิสระ ความเป็นตัวของตัวเอง เมื่อไรที่รู้สึกอยากพึ่งพาอาจเป็นสัญญาณของความอ่อนล้า

การใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติดอาจทำให้รู้สึกดีชั่วคราวแต่ระยะยาวคือการที่สมองถูกทำลาย

9.หมกมุ่นกับความคิดอยากทำร้ายตัวเองหรือ ฆ่าตัวตาย

การมีความคิดฆ่าตัวตายไม่ได้เป็นอาการของโรคซึมเศร้าเท่านั้น คนปกติก็มีความคิดอยากตายได้

เพราะความหมายของความคิดฆ่าตัวตาย คือการที่เราเอาตัวเองออกไปจากหลุมของความทุกข์ หรือมรสุมของปัญหา

แต่ความคิดจะเป็นลักษณะชั่ววูบ แต่เมื่อไรที่เรามีความคิดอยากทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายแบบหมกมุ่น

จนมีการวางแผน เราควรรีบขอความช่วยเหลือจากคนที่เราไว้วางใจ หรือผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยเราได้

 สัญญาณทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของความเปลี่ยนแปลงด้วย ถ้าความเปลี่ยนแปลงยาวนานติดต่อกันเกินกว่าสองอาทิตย์ เราควรรีบรับรู้ปัญหา ยอมรับและกลับมาทบทวนความเครียดที่จิตใจสะสมไว้ แล้วตั้งใจดูแลจิตใจอย่างเหมาะสม ก่อนที่สัญญาณของจิตใจ จะลุกลามกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ยากต่อการควบคุม

รับรู้ว่ามีปัญหา ยอมรับปัญหา เพื่อแก้ไขปัญหา เพราะปัญหาที่น่ากลัวที่สุดคือการไม่รู้ว่าตัวเองมีปัญหา

ถ้าเราอยู่กับคนหงุดหงิดง่ายควรทำอย่างไรดี?

--

ติดตามบทความดี ๆ จาก หมอเอิ้น พิยะดา บน LINE TODAY ทุกวันพุธ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0