โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ไฟป่าเชียงใหม่ครั้งใหญ่ กับจุดเริ่มต้นของกลุ่มอาสาสมัครพลังบวก "สายใต้ออกรถ" - ดีกับใจ

LINE TODAY

เผยแพร่ 14 เม.ย. 2563 เวลา 23.16 น. • @mint.nisara

“มันไม่ใช่แค่ฝุ่นเหมือนสมัยก่อนแล้ว ตอนนี้มันคือขี้เถ้าชิ้นใหญ่ ๆ ที่ปลิวอยู่ในอากาศเต็มไปหมด” 

นี่คือคำบอกเล่าจาก ณัฐรดา​ สินเจริญ เจ้าของโรงแรม POR Thapae Gate ในเชียงใหม่ เราเห็นสเตตัสที่เธอโพสต์ลงในเฟซบุคและถูกแชร์ออกไปเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้วเกี่ยวกับไฟป่าเชียงใหม่ว่าปีนี้เป็นปีที่หนักหนาสาหัสที่สุด ส่งผลกระทบกับผู้คนทั้งจังหวัด คร่าชีวิตเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานไปแล้ว 6 ราย รวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่าที่ประเทศไทยต้องสูญเสียให้กับวิกฤตนี้อีกด้วย 

ถึงแม้ในอาทิตย์นี้จะมีข่าวดีว่าแนวโน้มของค่าฝุ่นเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและเขียว แต่ก็ยังคงมีข่าวเก่ียวกับไฟที่จุดตัวขึ้นมาให ทั้งในเขตจังหวัดเชียงใหม่รวมถึงจังหวัดข้างเคียง อย่างลำปางและแม่ฮ่องสอน เพื่อที่จะเข้าใจกับปัญหานี้มากยิ่งขึ้น ทางทีม LINE TODAY เลยต่อสายไปคุยกับณัฐรดาเพื่อสอบถามเกี่ยวกับเรื่องนี้

(บทสัมภาษณ์เกิดขึ้นในวันที่ 8 เมษายน 2563)

“ตอนนี้ไม่มีใครที่สามารถใช้ชีวิตอยู่เอาท์ดอร์ (ในที่แจ้ง) ได้เลย อย่างล่าสุดก่อนที่โควิดจะระบาด เราไปค้างคืนบนดอยมา ก็เห็นว่าภูเขาทั้งลูกกำลังถูกไหม้อยู่” ณัฐรดาเล่าให้ฟังว่าปัญหาไฟป่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเชียงใหม่ทุกปีเนื่องด้วย “หน้าควัน” ช่วงเวลาที่ชาวบ้านจะเผาที่สำหรับเตรียมหน้าดินสำหรับทำการเกษตรในฤดูต่อไป แต่หน้าควันของปีนี้ยาวนานและรุนแรงกว่าที่ผ่านมา ม้นถูกซ้ำเติมด้วยไฟที่เกิดขึ้นจากการเล่นสนุกของกลุ่มคนบางกลุ่มอีกต่างหาก 

“ที่มันแย่กว่าเดิมเพราะพื้นที่ที่ถูกไหม้ปีนี้เป็นในเขตป่าสงวนและอุทยานซะเยอะ อย่างที่ถูกจับกุมได้ล่าสุดตอนต้นเดือน คนที่ลงมือก็สารภาพว่าทำไปเพราะความคึกคะนอง แต่ผลคือไฟไหม้ทั้งดอยสุเทพ ซึ่งถ้าไม่มีเคสนี้เกิดขึ้น ไฟป่าในเชียงใหม่ก็จะไม่ถูกพูดถึงในข่าวเลย

<i>ภาพขี้เถ้าที่ปนเปื้อนในอากาศ</i>
ภาพขี้เถ้าที่ปนเปื้อนในอากาศ

ทุกคนทำได้แค่เก็บตัวอยู่ในบ้าน ไม่เปิดหน้าต่าง อยู่ได้ด้วยเครื่องฟอกอากาศอย่างเดียว มันเป็นเหมือน silent hill อะ ผลกระทบที่มีต่อสุขภาะมันแน่นอนว่ามีอยู่แล้ว โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว หรือมีลูกเล็ก ๆ อย่างเราก็เริ่มเห็นที่ผิวหนังก่อนเลย ขึ้นเป็นผด ๆ ทั้งแขน แต่ที่ทำให้เราทนไม่ไหวจริง ๆ คือวันนั้นที่ลองออกไปนั่งกินข้าวหน้าบ้าน อยู่ดี ๆ ก็มีขี้เถ้าปลิวตกลงมาในอาหาร สระว่ายน้ำก็มีขี้เถ้าจุด ๆ ลอยเต็มไปหมด ซึ่งนั่นเป็นจุดที่เรารู้สึกว่ามันทนต่อไปไม่ได้แล้วนะ เลยโพสต์สเตตัสเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อให้อย่างน้อยที่สุด บอกเพื่อน ๆ ในเฟซบุคของเราว่ามีสิ่งนี้ที่กำลังเกิดขึ้นนะ และควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังได้แล้ว” ณัฐรดาบอก

ในเวลาที่โควิดระบาดในทุกพื้นที่ ชาวเชียงใหม่กลับถูกไฟป่าและปัญหามลพิษนี้เล่นงานไปพร้อม ๆ กัน ในภาคประชาชนมีกลุ่มคนที่ตื่นตัวและไม่เพิกเฉยต่อเรื่องนี้ พวกเขารวมกลุ่มอาสาสมัครกันเพื่อตั้งเป็นศูนย์กลางในการรับบริจาคสิ่งของต่าง ๆ แล้วนำไปกระจายให้กับเจ้าหน้าที่และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่า ซึ่งจากการแนะนำของณัฐรดา เราได้คุยกับกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “สายใต้ออกรถ” เป็นกลุ่มอาสาสมัครที่เกิดจากรวมพลังของคนจากวงการร้านอาหารในเชียงใหม่ และเป้าหมายของพวกเขาคือการเป็นหนึ่งแรงที่จะช่วยซัพพอร์ตให้ปัญหาไฟป่าและความเดือดร้อนของทุกคนที่ได้รับผลกระทบทุเลาลงได้

<i>รูปจากเพจ สายใต้ออกรถ</i>
รูปจากเพจ สายใต้ออกรถ

เริ่มต้นภารกิจด้วยการช่วยแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5

ฮะนีฟ พิทยาสาร เจ้าของร้าน Rustic and Blue และแกงเวฬา ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มเล่าให้เราฟังว่า “สายใต้ออกรถ” ถือกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นช่วงที่โควิดเริ่มระบาดรุนแรง ทำให้ร้านอาหารหลายแห่งต้องปิดให้บริการชั่วคราว ทุกคนเลยผันเวลาที่ว่างจากงานหลักมาเป็นอาสาสมัครฟูลไทม์โดยเหตุบังเอิญนี้ ฮะนีฟบอกว่า “มันเริ่มจากผมนี่แหละ นั่งบ่นในฟีดเฟซบุคทุกวันว่าแบบอากาศแย่ ไม่ไหวแล้ว ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่าจริง ๆ แล้วเชียงใหม่อยู่กับภาวะ PM 2.5 มาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว เราเจอกันมานานมากจนกลายเป็นความชิน ซึ่งในสมัยเริ่มแรก ค่า AQI มันจะอยู่ที่ประมาณร้อยต้น ๆ ณ วันนั้นผมก็รู้สึกว่ามันหนักแล้วนะ แต่ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมานี้มันแตะ 300-400 ทุกวัน เรากลายเป็นเหมือนคนวิตกจริตไปเลยที่ตอนตื่นมาจะต้องมานั่งเช็กค่าฝุ่นก่อน นั่งถอนหายใจ 

พอบ่นมาก ๆ ผมก็เริ่มเบื่อตัวเอง เลยเปลี่ยนมาเป็นการตั้งคำถามบนเฟซบุคตัวเองว่าเราจะทำยังไงกับปัญหานี้ที่มันเป็นรูปธรรมได้บ้าง แล้วพอดีว่ามีเพื่อนของผมคนนึงที่ทำร้านอาหารเหมือนกันชื่อว่า น้ำตาล เขาเคยบริจาคเครื่องฟอกอากาศให้กับศูนย์เด็กเล็กในจังหวัด ปีนี้อยากจะทำโปรเจกต์นี้อีกครั้งก็เลยชวนมาจอยกันเพื่อระดมทุนมาซื้อเครื่อง เราก็ได้เพื่อน ๆ คนอื่น ๆ ที่อยู่ในวงการเดียวกันมาร่วมด้วย แต่ละคนไปคิดโมเดลของตัวเองมาว่าจะทำอะไรได้บ้าง อย่างของผมทำร้านแกงเวฬา ก็กำหนดวันเลยว่าวันนี้รายได้โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใด ๆ จะเอาไปซื้อเครื่องฟอกอากาศให้กับศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งผลตอบรับมันดีมาก คนมาอุดหนุนกันเยอะ ลูกค้าทุกคนก็ช่วยหยอดเงินสมทบทุนเพิ่มให้ แค่ในเวลาอาทิตย์เดียวทุกร้านรวมกันก็หาเงินได้ 170,000-180,000 แล้ว 

พอเราหาเงินได้ก้อนใหญ่ก้อนนี้มา ก็มานั่งคิดกันต่อว่าจะซื้อเครื่องฟอกอากาศไปส่งให้ที่ไหนดี จะเป็นแค่ศูนย์เด็กเล็กอย่างเดียวไหม หรือมีชุมชนกับโรงพยาบาลส่วนตำบลด้วยดี ซึ่งพอทำรีเสิร์ชออกมา มันเริ่มไม่ใช่เรื่องเล็กละเพราะมีหลายที่ ๆ ต้องการ บังเอิญว่าเราได้ไปรู้จักกับกลุ่มพี่ ๆ สภาลมหายใจ ที่ทำโครงการอาสาสมัครเหมือนกัน เขาได้มีการคุยกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และแนะนำเราต่อว่าการส่งมอบเครื่องฟอกให้กับศูนย์เด็กเล็กเนี่ย จริง ๆ แล้วไม่ได้ตอบโจทย์ เพราะว่าในพื้นที่พวกนั้นยังคงเป็นห้องแบบโอเพ่นแอร์ ถ้าเอาเครื่องฟอกไปตั้งแต่ยังเปิดลมเอาอากาศจากข้างนอกเข้ามามันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เราจัดซื้อเครื่องมาแล้วแต่พักเบรกไป รอโปรเจกต์ของมช.ที่จะสร้างห้องปิดให้กับทางศูนย์เสร็จแล้วเราค่อยไปส่งมอบพร้อม ๆ กัน ซึ่งในระยะเวลาที่เราทำโปรเจกต์นี้อยู่ที่ยังไม่ทันได้ส่งมอบดี ก็มีเรื่องของโควิดและไฟป่าเข้ามา เราเลยขยายโมเดลของสายใต้ออกรถไปช่วยทั้งสองเรื่องนี้ด้วย”

<i>รูปจากเพจ สายใต้ออกรถ</i>
รูปจากเพจ สายใต้ออกรถ

สายใต้ออกรถ ไปลุยไฟป่า

สำหรับการช่วยเหลือเรื่องโควิด กลุ่มสายใต้ออกรถก็ได้ให้การสนับสนุนในรูปแบบของอาหารซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาถนัด มีการส่งข้าวไปให้กับโรงพยาบาลในจังหวัดเพื่อที่บุคลากรการแพทย์ที่กำลังทำงานอย่างหนักหน่วงและน่าเหน็ดเหนื่อยได้มีอาหารอร่อย ๆ ทานกัน ส่วนเรื่องของไฟป่า พวกเขาก็ได้ทำงานร่วมกับกลุ่มอาสาสมัครอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือกับปัญหานี้อย่างเต็มที่

“เราเริ่มจากการเรียกเพื่อน ๆ ที่ทำเรื่องดีไซน์มาช่วยสร้างอินโฟกราฟิก 6 ชิ้นแรกที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริจาคและการสนับสนุน มีพี่ ๆ อีกกลุ่มที่ชื่อว่า “ป่าเขาลมหายใจเรา” ซึ่งเป็นกลุ่มเชฟเหมือนกันและพวกเขาเคยทำโปรเจกต์เกี่ยวกับไฟป่าของที่อื่นมาก่อนหน้านี้ ก็มาร่วมกันจัดทำข้อมูลตัวนี้ด้วย และด้วยความที่เป็นคนจากหลากหลายสายอาชีพมาช่วยกันทำ มันเลยอิมแพคต์มาก คนบอกต่อ ๆ กันไวมากและเงินบริจาคที่เข้ามาก็ทะลุล้านในเวลาที่เร็วมาก

<i>รูปจากเพจ สายใต้ออกรถ</i>
รูปจากเพจ สายใต้ออกรถ

เรารวบรวมทั้งของและเงินบริจาคที่ได้ทั้งหมดแล้ววางแผนว่าจะเอาไปกระจายที่ไหนดี ผมว่าถ้าคร่าว ๆ น่าจะมีมากกว่า 80 กว่าจุดแล้วที่เราได้ส่งของเข้าไปช่วยเหลือ ที่บอกว่า “มากกว่า” เพราะว่าบางทีเราเอาไปส่งให้กับตำบล แล้วตำบลก็เอาไปแจกจ่ายต่อให้กับหมู่บ้าน ซึ่งถามว่าเขาต้องการของกันเยอะไหม ไฟป่าครั้งนี้เกิดขึ้นในแทบจะทุกพื้นที่เลย ยกเว้นแค่อำเภอสารภีและอำเภอเมืองเท่านั้นที่อาจจะไม่ได้รับผลกระทบมาก เพราะฉะนั้นทุกอำเภอในเชียงใหม่เราจะมีเครือข่ายผ่านทางกลุ่มอาสาสมัครอื่น ๆ ที่เป็นเพื่อนกัน เขาก็จะมีรายชื่อของหมู่บ้านต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์และในระดับเจ้าหน้าที่ที่ออกปฏิบัติงานจริง ๆ ซึ่งบางทีการช่วยเหลือจากทางส่วนกลางก็ไปไม่ถึง หรือในเวลาที่ฉุกเฉิน เขาก็ไม่มีอุปกรณ์ที่สามารถใช้ดับไฟได้ทันเวลา 

เขาก็จะบอกกันปากต่อปากว่ามีพวกเราที่สามารถช่วยเหลือได้ แต่ละวันเราเลยจะได้รับโทรศัพท์ว่ามีพื้นที่ ๆ นี้นะที่ต้องการของ ก็จะจัดรถไปส่งให้เขาทั้งเครื่องอุปโภคและบริโภค ส่วนเงินก้อนใหญ่ ๆ ที่เราได้รับบริจาคมาเราจะไม่ได้เอาไปซื้อของเล็ก ๆ พวกนี้ แต่จะเอาไปลงกับการซื้ออุปกรณ์ดับไฟป่าต่าง ๆ ของชิ้นใหญ่ที่สุดก็คือโบลเวอร์เอาไว้เป่าทำแนวกันไฟ ซึ่งเครื่องก็จะมีราคาตั้งแต่ 7,000 ไปจนถึง 20,000 กว่าบาท นอกจากนี้ก็จะมีพวกจอบ เสียม ถุงมือกันไฟ ไฟฉายติดหัวเพราะเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติงานช่วงกลางคืนกันด้วย” ฮะนีฟเล่าให้เราฟังถึงขั้นตอนการทำงานของสายใต้ออกรถ ซึ่งกลุ่มคนที่มาอยู่ตรงนี้ทำทุกอย่างด้วยหัวใจ และมีความตั้งใจเดียวกันก็คือการช่วยบรรเทาทุกข์ของคนที่บ้านถูกไฟลามมาไหม้ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่เองที่ต้องไปลุยผจญไฟด้วยตัวเอง"

<i>รูปจากเพจ สายใต้ออกรถ</i>
รูปจากเพจ สายใต้ออกรถ

#เชียงใหม่ไม่ได้มีแค่ดอยสุเทพ

ทั้งณัฐรดาและฮะนีฟพูดเหมือนกันว่าเรื่องไฟป่าไม่ได้รับความใส่ใจที่จะแก้ไขปัญหาในภาพใหญ่สักเท่าไร พวกเขาเลยใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการกระตุกความสนใจของคนและกระพือเรื่องนี้ออกไปว่ามันไม่ใช่ปัญหาเล็ก ๆ อีกต่อไป ณัฐรดาโพสต์สเตตัสใน 4 ภาษาบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะที่กลุ่มอาสาสมัครสร้างแฮชแท็ก #saveเชียงใหม่ และ #เชียงใหม่ไม่ได้มีแค่ดอยสุเทพ เพื่อสื่อสารกับคนภายนอก

“ขอเรียนอย่างนี้เลยว่านับตั้งแต่วันแรกที่มีไฟป่าจนถึงวันนี้ มันเป็นเหมือนเดิมทุก ๆ วัน ซึ่งมันมีที่ ๆ ดับไปและมีที่ ๆ ไหม้ขึ้นมาใหม่ ไฟป่ากับไฟในเมืองมันต่างกันลิบลับเลยฮะ สำหรับไฟป่าถ้าเราดับบนหน้าผิวได้ ลึกลงไป 6 เมตร ไฟสามารถวื่งได้ในชั้นใต้ดินและมันอาจจะไปปะทุอีกหลาย ๆ เมตรออกไปก็ได้ เพราะฉะนั้นการขยายวงกว้างของไฟมันมีหลายรูปแบบมาก ทั้งคนจุดใหม่แล้วก็ที่มันเกิดมาใหม่เองตามที่ ๆ แล้งและแห้ง มันเลยไม่จบไม่สิ้น อย่างตอนที่มีข่าวใหญ่ของดอยสุเทพ มันก็ถูกดับไปแล้วจริง ๆ แหละ แต่มันมีอีกหลายที่มาก ๆ เราเลยสร้างแฮชแท็กกันขึ้นมาว่า #เชียงใหม่ไม่ได้มีแค่ดอยสุเทพ แม้กระทั่งคนเชียงใหม่เอง บางคนไม่ได้ตามข่าวก็จะไม่รู้ว่ามันมีไฟป่าที่อื่น ๆ ด้วย”

<i>รูปจากเพจ สายใต้ออกรถ</i>
รูปจากเพจ สายใต้ออกรถ

ช่องทางสำหรับการช่วยเหลือ

ฮะนีฟเล่าให้ฟังถึงความลำบากในการทำภารกิจดับไฟว่ามันทั้งร้อน เหน็ดเหนื่อย และเสี่ยงชีวิตมาก ๆ “เราได้ได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของเจ้าหน้าที่ก่อนที่เขาจะเข้าไปลุยดับไฟ ที่เห็นชัด ๆ เลยคือคลิปวีดีโอจากพี่ ๆ เหล่านี้ที่ถ่ายมาให้ดูว่า เนี่ย อุปกรณ์กับของที่เราส่งไปเขาได้ใช้แล้วนะ เวลาได้ข่าวว่ามีคนตายจากการเข้าไปดับไฟป่า มันน่าหดหู่ใจมากเลย ส่วนกลุ่มชาวบ้านและชาติพันธุ์ก็น่าเห็นใจพวกเขามาก ๆ เช่นกันเพราะไฟป่าที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ก็จะกระทบกับพื้นที่อยู่อาศัยของเขาบนดอย ชาวบ้านจะตื่นตัวกันมาก ๆ เขาอยู่ไม่ได้เพราะมันคือบ้านเขา แล้วอุปกรณ์มันก็ไม่มี เราได้เห็นแววตาของพวกเขาตอนมารับมอบเครื่องเป่ามันคือสุด ๆ เลยครับ”

สำหรับใครที่อยากจะร่วมสมทบทุนเป็นเงินหรือสิ่งของ สามารถเช็กช่องทางการรับบริจาคได้ดังต่อไปนี้:

1. เพจ สายใต้ออกรถ - มีโครงการที่ช่วยทั้งไฟป่าและโควิด รับบริจาคทั้งเงินและสิ่งของ โดยหากเป็นเงิน สามารถโอนเข้าบัญชีของ มูลนิธิสรรค์สังคม ได้ตามรายละเอียดด้านล่าง ส่วนสิ่งของที่เปิดรับบริจาคตอนนี้ ได้แก่ หน้ากาก N95, ไฟฉายติดหัว, ถุงมือกันไฟ, รองเท้าบูทส์, กระเป๋าเป้น้ำ, อาหารแห้งที่สามารถฉีกซองแล้วกินได้เลย (มาม่าไม่แนะนำเพราะไม่ป่าไม่สามารถต้มน้ำร้อนได้) สามารถติดต่อไปทาง Inbox ของเพจเพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ คลิกที่นี่เพื่อไปยังเพจ

2. มูลนิธิเทใจ - เป็นโครงการระดมทุนที่จะนำไปช่วยเหลือไฟป่าและสัตว์ป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของเมืองไทย คลิกที่นี่เพื่อไปยังโครงการ

3. สภาลมหายใจเชียงใหม่  - ขณะนี้ปิดรับบริจาค แต่สามารถติตตามความเคลื่อนไหวบนเพจได้ คลิกที่นี่เพื่อไปยังเพจ

4. เพจ Wannasingh Prasertkul (วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล) - ขณะนี้ปิดรับบริจาค แต่สามารถติตตามความเคลื่อนไหวบนเพจได้ คลิกที่นี่เพื่อไปยังเพจ

<i>รูปจากเพจ สายใต้ออกรถ</i>
รูปจากเพจ สายใต้ออกรถ

สุดท้ายนี้เราถามฮะนีฟว่าเขามีอะไรอยากจะบอกคนในจังหวัดอื่น ๆ หรือใครก็ตามที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ไหม เขาบอกกับเราว่าขอส่งให้กำลังใจให้ทุกคนแทน เพราะสถานการณ์โดยทั่วไปก็น่าจะหนักหน่วงสำหรับหลาย ๆ คนไม่แพ้กัน

"เราไม่อยากขอให้คนจังหวัดอื่น ๆ มาเข้าใจหรือเห็นใจคนเชียงใหม่เลยนะ เพราะว่าทุกคน ณ วันนี้ก็ประสบปัญหาเหมือน ๆ กัน ซึ่งไฟมันก็เป็นเรื่องใหญ่ ๆ เรื่องหนึ่ง เอาเป็นว่าถ้าใครมีจิตศรัทธาหรือมีตรงไหนที่สามารถแบ่งปันกันได้ เรามาแบ่งกันเถอะครับ 

ไม่ใช่แค่เรื่องของไฟป่าในเชียงใหม่อย่างเดียว จะอะไรก็ได้ที่ในพื้นที่คุณหรือพื้นที่ใกล้เคียงที่เขาต้องการ เราพอช่วยตรงไหน เราก็ช่วยกันครับ"

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0