โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"ในวันที่ฉัน (เคย) อยากตาย" เรื่องเล่าจากคนที่เคยอยากฆ่าตัวตายและผ่านพ้นมาได้อย่างสวยงาม - ดีกับใจ

LINE TODAY

เผยแพร่ 09 ก.ย 2563 เวลา 17.05 น. • @mint.nisara

การฆ่าตัวตายไม่ใช่เรื่องไกลตัว และคนที่เคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้วก็อาจเป็นเพื่อนเรา เป็นญาติสนิท เป็นคนที่เดินสวนกันในห้าง หรือแม้แต่ตัวเราเองก็เป็นได้..

เราตั้งสเตตัสในเฟซบุคเพื่อหาบุคคลที่เคยมีประสบการณ์อยากจบชีวิตตัวเอง และยินยอมให้สัมภาษณ์กับ LINE TODAY เพื่อแชร์เรื่องราวของตน 

เราได้คนที่มาแสดงตัวอยากให้สัมภาษณ์เป็นหลายสิบคน และที่ผู้เขียนไม่เคยคาดคิดมาก่อนก็คือในกลุ่มบุคคลเหล่านั้น มีญาติ มีรุ่นพี่ มีเพื่อนที่ใกล้ชิด มาเปิดเผยตัวว่าพวกเขาเคยอยากฆ่าตัวตาย หรือแม้กระทั่งได้ลองแต่ไม่ตายมาแล้ว

“ดีกับใจ” ในสัปดาห์นี้ เราเลยอยากนำเสนอเรื่องราวที่หนักและดาร์ก เพื่อให้ทุกคนได้ระแวงและระวังเกี่ยวกับปัญหานี้ผ่านเรื่องราวของบุคคลทั้งสามที่เราได้คุยด้วย 

หากคุณกำลังเผชิญกับชีวิตที่หนักหน่วง อยากให้รู้ว่าคุณยังมีบทความนี้อยู่เป็นเพื่อน และหากคุณกำลังเจอกับทางตัน เราก็มีความหวังเล็ก ๆ ว่าบทความที่เราตั้งใจเขียนขึ้นนี้ จะช่วยให้คุณมองเห็นชีวิตจากอีกด้านที่สดใสมากขึ้น 

100% ของความคิดอยากฆ่าตัวตายคือผลพลอยได้จากโรคซึมเศร้า

เราเริ่มคุยกับผู้ให้สัมภาษณ์คนแรกเกี่ยวกับเรื่องนี้ “ออม” คือรุ่นพี่ที่ผู้เขียนเคยทำงานด้วย เธอเป็นคนที่ร่าเริงสดใสมาก ๆ แต่สิ่งที่เราได้รับรู้จากการคุยกับเธอในครั้งนี้คือภายใต้ความเป็นคนตลกและเสียงหัวเราะที่ชวนให้คนอื่นต้องขำตามคือโรคซึมเศร้าที่อยู่กับเธอมาเป็นเวลากว่า 7 ปี

ออม
ออม

“เรารู้ตัวตอนอายุ 27 ว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า และสาเหตุก็คือเราอกหักเว่ย โดนแฟนบอกเลิกแล้วร่างกายก็ตอบโต้ด้วยการไม่นอนไป 3 วันเลย ซึ่งปกติที่เราอกหักก็จะเป็นคนดำดิ่งกับมันอยู่แล้ว แต่ก็ไม่คิดเหมือนกันว่ามันจะมาถึงจุดที่ไม่ได้นอนติดต่อกันนานถึง 3 วัน

เหตุผลที่โดนบอกเลิกคือเขาเพิ่งมาสารภาพว่าตัวเองมีแฟนอยู่แล้ว เราเป็นคนที่มาทีหลัง เรื่องมาแดงเพราะว่าอยู่ ๆ ก็มีผู้หญิงคนนึงมาโพสต์รูปบนเฟซบุคของเขาแล้วก็เขียนแคปชั่นประมาณว่าคิดถึงนะ คือเราไม่ได้อยู่ด้วยกันตลอดเวลาเพราะเขาเป็นชาวต่างชาติ เดินทางไป ๆ กลับ ๆ เมืองไทย แต่ทุกอย่างมันชัดเจนมาก เขาพาพ่อแม่มาเที่ยวแล้วมาเจอเรา อยู่ที่ไหนไปไหนก็บอกกันตลอด ทำให้เราไว้ใจ แต่พอเจอรูปผู้หญิงคนนั้นและเราถามเขา คำตอบที่ได้คือเขามีผู้หญิงอีกหลายคนรวมถึงแฟนที่เป็นตัวเป็นตนอยู่แล้ว

เราไม่อยากอยู่คนเดียวเลย โทรหาเพื่อนบอกว่าจะขับรถไปเสม็ด เพื่อนก็อาสามาเป็นเพื่อน กลับมาก็ไปค้างคอนโดเพื่อนอีก นางก็เห็นแหละว่าเราไม่ได้นอน ร่างกายไม่ไหวเหมือนเครื่องมันสั่นแล้วแต่ทำยังไงมันก็ไม่หลับ ก็เลยเอายาแก้แพ้ให้เรากิน เราหลับไปเพราะฤทธิ์ยา คิดว่าตัวเองหลับไปนานมากแต่จริง ๆ แล้วเวลาผ่านไปแค่ 2 ชั่วโมง และสิ่งที่เราเห็นหลังจากตื่นขึ้นมาคือทุกอย่างเป็นสีเทา

เราตกใจแล้วก็ร้องไห้ ไม่เข้าใจว่าทำไมทุกอย่างถึงกลายเป็นแบบนี้ เข้าใจประโยคที่เขาบอกกันว่าโลกเป็นสีเทามันคืออย่างนี้จริง ๆ อะ เพื่อนก็บอกว่ามึงควรจะไปหาหมอ กูไม่ไหวกับมึงแล้วจริง ๆ ก็เลยขับรถไปมนารมย์เลย และจากที่ได้คุยกับคุณหมอ เราก็ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า” 

ออมเล่าให้ฟังถึงครั้งแรกของเธอกับโรคนี้ เธอป่วยมาโดยตลอดและหลังจากที่เผชิญกับปัญหาความรัก เธอก็ต้องต่อสู้กับอีกหลาย ๆ เรื่อง จนความคิดอยากฆ่าตัวตายแว้บเข้ามาในหัวในฐานะทางออกของปัญหา

“เราเคยรู้สึกว่าอยากตายตอนเด็ก ๆ พออกหักปุ๊บรู้สึกว่าไม่อยากจะมีชีวิตอยู่แล้ว แต่อารมณ์เหล่านั้นอาจจะเป็นเพราะเราเด็ก เรายังไม่ได้เข้าใจชีวิตดีและแค่รู้สึกอย่างนั้นเพราะอยากประชดอะไรสักอย่าง แต่ความรู้สึกอยากตายที่เพิ่งเข้ามาล่าสุดคือไม่กี่เดือนมานี้ 

เรารู้สึกว่าหลายอย่างเข้ามาในชีวิตมาก ๆ แต่เราช่วยเหลืออะไรตัวเองไม่ได้แล้ว จิตใจตัวเองเข้มแข็งขึ้นนะและจากที่เรารักษามาโดยตลอด เราก็รู้ทันว่าตัวเองจะดิ่งตอนไหน จะฉุดตัวเองขึ้นมาตอนไหน แต่ที่เครียดครั้งนี้เป็นปัญหาเรื่องงาน ความคาดหวังจากคนอื่น การที่เราเสียเพื่อนไปเพราะเรื่องงาน เป็นหนี้ และคำพูดเสียดแทงจากคนในครอบครัว เรารู้สึกว่าพอโตแล้วเรื่องพวกนี้ไม่มีใครที่อยากจะฟังแล้ว ทุกคนต่างก็มีภาระของตัวเองและเราก็ต้องอยู่กับตัวเองให้ได้ มันก็เลยมีความคิดที่แว้บเข้ามาว่า ‘ไม่อยากอยู่แล้วว่ะ จะตายยังไงดีวะ’”

มะปราง
มะปราง

"มะปราง" ผู้ให้สัมภาษณ์คนที่สองเล่าเรื่องของเธอให้ฟังว่าจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาเรื่องความรักที่นำไปสู่อาการซึมเศร้าเช่นกัน และในที่สุดทั้งหมดก็นำพาเธอไปสู่จุดที่อยากจะหนีปัญหาด้วยความตาย

“4 ปีที่แล้ว เราเลิกกับแฟน มันไม่โอเคตรงที่เขาเลิกเพื่อไปคบกับเพื่อนของเรา และเป็นช่วงที่เรามีปัญหากับเพื่อนอีกคนด้วยเรื่องนี้ เพิ่งมารู้ว่าเขาเป็นสาเหตุที่ปั่นให้เราเลิกกับแฟน ตอนนั้นเรารู้สึกว่าทุกอย่างมันแย่ไปหมด คนที่เรารักและเชื่อใจมาหักหลังพร้อม ๆ กัน เราก็ได้แต่โทษตัวเองว่าทำไม่ดีตรงไหน รู้สึกอยากตาย

เราร้องไห้ทั้งวันแบบควบคุมตัวเองไม่ได้ ออกจากบ้านก็ร้อง ขึ้นรถไฟฟ้าก็ร้อง ไปทำงานก็ร้อง ไม่กินข้าวเลยเป็นเวลา 2 เดือน น้ำหนักเราลดลง 12 โลภายในเวลา 2 อาทิตย์ สุขภาพก็แย่ลง เป็นลมบ่อยมาก ๆ จนแม่บอกว่าจะอยู่แบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้วนะ แม่จะพาไปหาหมอ

หลังจากเลิกกัน เราพยายามที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นนะ แต่รู้สึกว่าไม่มีใครให้ความร่วมมือเลย ตอนนั้นเราไม่เห็นทางออก ไม่เห็นคุณค่าตัวเอง โทษแต่ว่าเราไม่ดี ๆ ไม่รู้จะอยู่ทำไมจริง ๆ”

“คนที่เป็นซึมเศร้า เขาจะออกจากหัวตัวเองไม่ได้นะ” 

“เราเข้าใจเลยว่าปัญหามันจะวน ๆ อยู่ในหัวและมันไม่มีทางออก คนที่เป็นซึมเศร้าเลยต้องการคนที่จะรับฟังเรื่องพวกนั้นซ้ำ ๆ ต้องการระบาย เพราะมันออกมาไม่ได้” นี่คือสิ่งที่ออมบอกกับเรา

สำหรับคนที่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า บางคนอาจจะรู้สึกว่าทำไมปัญหาของคน ๆ นั้นช่างน้อยนิดแต่ปล่อยให้ตัวเองจมอยู่ในปัญหานั้น สิ่งหนึ่งที่เราอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจให้ตรงกันก็คืออาการซึมเศร้าคือความป่วยที่สารเคมีในสมองมีอิทธิพลเหนือความคิดและการกระทำ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบางคนเลยควบคุมตัวเองไม่ได้และมองไม่เห็นทางแก้ไข

ความตายอาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในขณะนั้น

มะปรางเล่าให้ฟังต่อว่าตอนที่เธอป่วยและหาทางออกให้กับตัวเองไม่ได้ เธอจะทำร้ายร่างกาย ทำให้ตัวเองรู้สึกเจ็บแล้วจะรู้สึกดีขึ้น ถึงเธอจะรักษาด้วยการกินยาตามที่หมอสั่ง แต่ทุกครั้งที่มีการปรับยา อาการของเธอจะแย่ลง เธอหายดีขึ้นเพราะตัดขาดจากกลุ่มคนที่ทำให้เธอรู้สึกเป็นพิษ แต่ตอนที่เธอกำลังจะดีขึ้นเขาก็กลับมา  

“คราวนี้เขามาเพื่อบอกเราว่าตัวเองก็ป่วยเหมือนกันและโทษว่าเป็นเพราะเราที่ทำให้เขาต้องเป็นแบบนี้ เขาอยากมาปรึกษาว่าควรต้องทำยังไง แต่ในหัวเราตอนนั้นคิดแต่ว่าทำไมตอนที่เราแย่ เขาไม่ได้อยู่ตรงนั้นแต่กลับซ้ำเติมให้เราแย่ลงไปเรื่อย ๆ แต่ทีคราวตัวเองแย่แล้วถึงกลับมาหาเรา

เราก็โอเค ยอมเป็นเพื่อนที่ดีให้เขา แต่กลับกลายเป็นว่าสิ่งที่เขาอยากได้จากเรามีมากกว่านั้น 

แฟนเก่าเราขอให้เราอยู่ในฐานะ friends with benefits (เป็นเพื่อนที่มีความสัมพันธ์ทางกายแต่ไม่ต้องผูกมัด) ให้เขา ถึงคนอื่นจะบอกว่าเราโง่มากที่ทำอย่างนั้น แต่ถ้าไม่ได้อยู่ในจุดนั้นที่เราก็ยังรักและผูกพันกับคน ๆ นี้อยู่ จะไม่มีวันเข้าใจในสิ่งที่เราเลือกเลย

เรายอมเขาทุกอย่างด้วยความหวังที่ว่าความสัมพันธ์มันจะกลับมาดีได้แบบเดิม พยายามทำทุกอย่างให้มันดีขึ้นเพื่อแก้ไขอะไรที่เขาเคยบอกว่าเราแย่ แต่การกลับมาคบกันมันทำให้เราต้องกลับไปพึ่งยาอีกครั้ง เวลาเขามีเรื่องอะไรมา ก็เอามาลงที่เรา และที่พีคที่สุดก็คือประมาณปลายปีที่แล้ว อยู่ดี ๆ เขาก็มาบอกเราว่าจะขอเลิก เขาเจอคนใหม่แล้ว เราเหมือนเป็นบ้าไปเลย ทำร้ายตัวเอง เวลาเศร้าก็ทุบตัวเอง ทำให้ร่างกายมันรู้สึกเจ็บเข้าไว้ และความคิดอยากฆ่าตัวตายก็กลับเข้ามาอีกครั้ง

เราทดลองหลายครั้งมาก ๆ ทุกครั้งจะมีการวางแผนมาอย่างดี ส่วนใหญ่จะทำตอนกลางคืนเพราะทุกคนในบ้านหลับหมดแล้ว ครั้งแรกลองกินยาแก้ไมเกรนที่หมอให้มา กินไป 30 กว่าเม็ดได้ ค่อย ๆ กิน ค่อย ๆ กินจนหมดกระปุก แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น มารู้ทีหลังว่ายาที่จิตแพทย์จ่ายจะโอเวอร์โดสยังไงก็ไม่มีผลต่อสมอง เราเลยลองใหม่อีกครั้ง คราวนี้เปลี่ยนยา ลองกินยาใหม่ เอาแก้วน้ำที่แตกมากรีดตัวเอง ปล่อยให้เลือดไหลออกจากตัวเยอะ ๆ แต่ก็แค่เป็นลมไป เคยแม้กระทั่งลองผูกคอตาย แต่ก็ไม่สำเร็จ”

ความลังเลที่เกิดขึ้นระหว่างลงมือทำคือความกลัวความทรมาน

คนที่คิดฆ่าตัวตายทุกคนไม่ได้มีใครชอบความเจ็บปวดหรือทรมานจากการตายทั้งนั้น พวกเขาต้องการความตายที่ฉับพลันเพื่อหนีออกจากความเจ็บปวดทางจิตใจที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่ ทั้งออมและมะปราง รวมไปถึงผู้ให้สัมภาษณ์แบบนิรนามอีกหลาย ๆ คนบอกเราว่าพวกเขาไม่อยากได้กระบวนการตายที่ทรมาน และเมื่อนึกถึงวิธีการฆ่าตัวตายที่ทำให้ตัวเองไม่ตายในทันที จุดนั้นจะทำให้เกิดความลังเลใจว่าควรเดินหน้าหรือเลิกล้มดี ออมอธิบายให้เราฟังว่า

“มันอาจจะเป็นความคิดที่แย่นิดนึงแต่มันก็ช่วยเราได้ คือเวลาที่เราคิดถึงความตายเราจะคิดถึงสเต็ปในการตายเว่ย สมมติว่าเราจะโดดตึก ถ้าตกเตี้ย ๆ เราอาจจะไม่ตายและต้องทรมาน ถ้าจะเอาให้ตายจริง ๆ คือต้องโดดสูง แต่พอโดดสูง เราก็จะมีเวลาประมาณ 5 วินาทีตอนที่ตัวลอยอยู่ในอากาศ และเรามั่นใจว่าตอนนั้นอะ เราอาจจะเสียดายชีวิตและไม่อยากตายก็ได้ พอความคิดนั้นมันติดเข้ามาในหัว วิญญาณเราจะไม่ได้ไปในที่ดี ๆ แน่ ๆ และเราไม่อยากจบชีวิตตัวเองแบบนั้น”

“เราจะฉุกคิดเมื่อวินาทีสุดท้ายของการจะลงมือทำสิ่ง ๆ นั้นแล้วอะ แล้วสติจะดึงเรากลับมาว่าไม่ๆๆๆ เราจะทำแบบนี้ไม่ได้ เราโทรหาเพื่อนเลยทันที แล้วก็รู้จากการคุยทุกครั้งว่าเราจะตายไม่ได้ และจริง ๆ แล้วเราก็ไม่อยากตาย” มะปรางเล่าเสริม

แต่สิ่งที่กระชากตัวเองออกมาจากสถานการณ์นั้นได้คือความรัก

“วันนั้นคือวันที่เราคิดไว้แล้วว่าอยากตาย มองหามีด หาอะไรก็ได้รอบ ๆ ที่ทำให้ตัวเองตายได้แล้ว แต่อยู่ดี ๆ ก็มีภาพแม่แว้บขึ้นมาในหัว” ออมเล่าให้เราฟังถึงวันที่เธอตัดสินใจจะฆ่าตัวตาย 

“เราตัดสินใจโทรไปบอกแม่ตรง ๆ ว่าเราอยากตาย มันหลุดจากความคิดตัวเองไม่ได้ และเราไม่มีทางออกให้ตัวเองได้แล้วโดยเฉพาะเรื่องหนี้ พอได้ฟังเสียงแม่ที่สั่นเครือกลับมาในโทรศัพท์คือแม่งแบบ เราทำเขาไม่ลงอะ เราทำคนที่เรารักขนาดนี้ไม่ได้ ถึงแม้ว่าเราจะมองไม่เห็นตัวเองหรือใครแต่เราลืมไปเลยว่ามีแม่อยู่ตรงนี้ทั้งคน เราตายไป เราไม่รู้หรอกว่าตัวเองไปไหน แต่คนที่รักเราและต้องอยู่ มันคงทรมานจิตใจเขาไม่แพ้กัน”

"แอน" ผู้ให้สัมภาษณ์คนที่สามเล่าถึงวันที่เธอเตรียมจะผูกคอตายว่า “เหตุการณ์นี้เพิ่งผ่านมาได้ไม่ถึงสัปดาห์ เราป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหลังจากที่สูญเสียคุณแม่ไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว รักษานะแต่เราก็ไม่รู้สึกว่าอาการนี้จะหายไปสักทีและมีความคิดที่อยากจะตายอยู่ตลอดเวลา 

วันนั้นเราแพลนเอาไว้แล้วว่าจะตาย เตรียมผูกเชือกไว้กับลูกบิดประตูห้องนอนและก็โทรไปลาแฟน จังหวะที่เราได้ยินเสียงเขาร้องไห้ฟูมฟาย มันทำให้เราลังเลมาก ๆ เหมือนใจสลายไปเลยตอนนั้นเพราะเราไม่เคยเห็นแฟนต้องเป็นแบบนี้และเราก็รู้สึกว่าทำไม่ลงจริง ๆ พอได้คุยกับพ่อในวันถัดไป คำพูดของพ่อที่บอกว่า “พ่อสูญเสียแม่ไปคนนึงแล้ว อย่าให้พ่อต้องสูญเสียแอนไปด้วยเลย” แค่ประโยคนี้เลยจริง ๆ ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราจะตายไม่ได้ ต้องมีชีวิตอยู่ต่อเพื่อพ่อ"

 

อาการนี้ไม่มีหายขาด มันจะกลับมาเป็นช่วง ๆ แต่สิ่งที่จะต่อสู้กับมันได้คือจิตใจที่แข็งแรง

ตราบใดที่คน ๆ นั้นยังป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ความคิดอยากฆ่าตัวตายจะกลับมาเยี่ยมเยือนเป็นช่วง ๆ แต่ถ้าคน ๆ นั้นมีสภาพจิตใจที่เข้มแข็งและฝึกให้จิตรู้เท่าทันความคิดที่เกิดจากอาการป่วย มันก็จะแปรสภาพเป็นแค่ลมแผ่ว ๆ ที่พัดเข้ามาและผ่านไป

“ตอนที่เราอยากฆ่าตัวตาย เรารู้สึกแค่ว่ามันไม่มีทางเลือกอื่นในชีวิตแล้ว แต่จริง ๆ แล้วพอมองย้อนกลับไป ทางมันมีให้เลือกแหละ แต่เราแค่ไม่ได้มองหาหรือเดินไปหามันเอง เราแค่อยากจบปัญหาด้วยวิธีง่าย ๆ และอยากหนีความทรมานให้มันเร็วที่สุดมากกว่า” ปรางบอกว่าวิธีที่เธอใช้เยียวยาตัวเองนอกจากปล่อยให้เวลาเป็นตัวช่วยที่ดีแล้วก็คือการออกเดินทาง พาตัวเองไปหาสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ 

“พยายามอย่าอยู่กับตัวเองบ่อยจนเกินไป เพราะบางทีช่วงเวลานั้นมันจะทำให้เราจมอยู่กับความคิด พยายามออกไปเจอเพื่อนบ้าง เปลี่ยนสถานที่บ้าง อย่างถ้าทุกทีนัดเจอกันสยาม วันนี้ก็ย้ายที่หน่อย ให้เราได้เจอกับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ อีกวิธีที่เราใช้แล้วเวิร์กก็คือการออกเดินทาง ไปเที่ยวคนเดียวเลย มันก็ทำให้เรารู้สึกว่าโลกนี้ก็ไม่ได้มีแค่เขาหนิ มันมีอะไรที่รอเราอยู่อีกตั้งเยอะ และถ้าเราไม่ได้ทำมันหลังจากนี้ก็คงรู้สึกเสียดายอะ”

อีกอย่างที่ออมบอกเราก็คือการหาอุดมการณ์ให้ตัวเอง “เราเข้าใจแล้วว่าการที่คนเรามีความฝันที่จะไล่ตามอะไรสักอย่าง หรือมีเป้าหมายที่อยากทำให้มันสำเร็จมันสำคัญมาก มันทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องใช้ชีวิตเพื่อบางสิ่งบางอย่าง ถึงแม้ว่าจะเป็นอะไรที่จับต้องไม่ได้แต่มันคือสิ่งที่เราใช้ยึดเหนี่ยวได้ดีและทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตนี้มันมีค่า”

หากคุณประสบปัญหาและต้องการผู้รับฟัง โทรหาสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศได้ที่ 02-713-6793 หรือสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0