โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"โบ ณวัชรี ปิยะมงคล" ฟิล์มเมกเกอร์สาวไทยที่บอกเล่าเรื่องราวของ 'ผู้หญิง' ผ่านภาพยนตร์ – INTERVIEW TODAY

INTERVIEW TODAY

เผยแพร่ 18 มิ.ย. 2563 เวลา 01.30 น. • @mint.nisara
โบ ณวัชรี ปิยะมงคล / ภาพจากอินสตาแกรม <a href=
@boboboh  ">
โบ ณวัชรี ปิยะมงคล / ภาพจากอินสตาแกรม @boboboh 

"พอทุกคนต้องหยุดอยู่บ้านช่วงโควิด-19 ต้องทำ self-quarantine อยู่กับตัวเองเยอะ ๆ เราอยากบอกว่านี่คือชีวิตของคนทำหนังเลย Welcome to my world" นี่คือประโยคที่ โบ ณวัชรี ปิยะมงคล บอกกับเราเมื่อเราถามถึงสถานการณ์ในช่วงนี้ 

เธอคือเด็กสาวที่เปี่ยมไปด้วยความฝันและพลัง ค้นพบว่าตัวเองหลงใหลในศาสตร์ของภาพยนตร์จนเดินทางไปศึกษาต่อด้านฟิล์มอย่างจริงจังที่สถาบัน Calfornia Institute of the Arts (CalArts) ในเมืองลอส แองเจลิส สหรัฐอเมริกา และเริ่มผลิตผลงานของตัวเอง ส่งเข้าชิงรางวัลตามเวทีและเทศกาลต่าง ๆ จนภาพยนตร์ของฟิล์มเมกเกอร์สาวไทยคนนี้ได้รับคัดเลือกให้ไปโชว์ในงานเทศกาลในหลาย ๆ ประเทศถึง 4 งานใหญ่ ๆ ด้วยกัน 

INTERVIEW TODAY ในวันนี้ เราเลยอยากพาทุกคนมารู้จักกับอาชีพที่เรียกว่า "ฟิล์มเมกเกอร์" ให้มากขึ้นผ่านเรื่องเล่าของโบ รวมไปถึงผลงานต่าง ๆ ของเธอที่พยายามสะท้อนเรื่องบางเรื่องในสังคมด้วย

โบ ณวัชรี ปิยะมงคล
โบ ณวัชรี ปิยะมงคล

การตกหลุมรักในศาสตร์ของ 'หนัง' และ 'การสร้างหนัง' 

โบคือเด็กสาวที่โตมาพร้อม ๆ กับยุคของ Channel V ยุคที่ทุกคนเริ่มเสพสากล ฟังเพลงฝรั่ง และมิวสิกวีดีโอของศิลปินจากรุ่นนั้นเองที่เป็นแรงบันดาลใจให้เธอสนใจในศาสตร์ของภาพเคลื่อนไหวและมีอิทธิพลในชีวิตเธอมาอย่างสม่ำเสมอ

"พอโตขึ้นมา เราเข้าคณะอักษรศาตร์ เรียนป.ตรี แต่เอาจริงว่าตอนนั้นก็ยังไม่ได้รู้สึกชอบสิ่งที่ตัวเองเรียนขนาดนั้นแต่ก็ไม่มีอะไรที่จะไปไฟต์ที่บ้านได้เพราะเรายังไม่มีจุดยืนหรือแผนการในชีวิตที่เป็นตัวเป็นตนว่าเราอยากทำอะไร มันก็เคว้ง เรานั่งดูหนังทุกวันเลย ดู ๆๆๆ แล้วก็เกิดไอเดียว่าเราเองก็อยากสร้าง 'Escape' ให้กับคนอื่นบ้าง อยากสร้างโลกที่เขาไม่ต้องนึกถึงเรื่องของตัวเองสักพักหรือว่าสามารถไปเป็นคนอื่นได้ชั่วคราว เพราะในชีวิตจริงเราก็คงมีเป็นได้แค่ตัวเองเนอะ แต่พอดูหนัง มันทำให้เราลองไปสวมบทบาทแบบอื่น ๆ ได้ อันนั้นน่าจะเป็นไอเดียที่ผลักดันที่ให้ไปเรียนด้านฟิล์มต่อ"

อาชีพฟิล์มเมกเกอร์หรือ 'คนทำหนัง' ไม่ใช่แค่การออกไอเดียคร่าว ๆ ว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นจะออกมาเป็นอย่างไรแต่คือการเจาะลึกและเป็นคนคุมบังเหียนในแทบจะทุกกระบวนการของการผลิตหนัง อย่างเช่น การเขียนบท, การถ่ายทำ จนถึงขั้นตอนการตัดต่อ

"พอเริ่มได้ลงมือทำจริง ๆ ได้ดูหนังหลาย ๆ ประเภทไปด้วย เรากลับรู้สึกว่าหนังมันเป็นอะไรได้มากกว่าแค่การสร้างโลกให้คนดูนะ เป็นอะไรที่ดูเสร็จแล้วเราเอาไปคิดต่อหรือใช้ได้ในชีวิตประจำวันเลย หรือบางทีหนังก็ยกเอาประเด็นที่เป็นปัญหาขึ้นมา แล้วบอกให้เราไปคุยกันต่อ หนังเป็นเหมือนสื่อกลางของความเห็นอกเห็นใจระหว่างมนุษย์ ซึ่งบางเรื่องมันก็เป็นหัวข้อที่อยู่ดี ๆ จะพูดขึ้นมาโพล่ง ๆ ก็อาจจะไม่ได้สบายใจมาก โบเลยคิดว่าการดูหนังเลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ชูประเด็นเหล่านั้นขึ้นมา" โบบอก

โบ ณวัชรี ปิยะมงคล / ภาพจากอินสตาแกรม <a href=
@boboboh ">
โบ ณวัชรี ปิยะมงคล / ภาพจากอินสตาแกรม @boboboh

ประเด็นยาก ๆ และอาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจดังกล่าวกลายเป็นแกนของหนังที่โบเริ่มสร้าง…

เธอเอาสิทธิพิเศษของภาพยนตร์ในการที่จะพูดเรื่องยาก ๆ เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมาใช้และสร้างหนังที่สะท้อนให้เห็นถึงวิธีที่ผู้หญิงไทยถูกปฏิบัติในต่างแดน

"หนังธีสิสของโบชื่อเรื่องว่า "Pieces and Bits" คืออันที่เราตั้งใจทำมาก ๆ เรื่องนี้พูดเกี่ยวกับ Stereotype หรือภาพจำของผู้หญิงไทยและผู้หญิงเอเชียนที่ชาวต่างชาติมี ที่อยากเจาะประเด็นนี้เพราะว่ามันเป็นอะไรที่เกิดขึ้นในวันธรรมดาทุก ๆ วันของเรา และที่น่าแปลกใจคือมันเกิดจากคนที่เราเชื่อใจ กับคนที่ไม่ได้ไกลตัว บางทีก็เป็นเพื่อนของเพื่อน เป็นประเด็นที่ว่าเวลาที่พูดถึงคำว่า 'หญิงไทย' ขึ้นมา ชาวต่างชาติมักจะนึกเชื่อมโยงถึงผู้หญิงค้าบริการขึ้นมาในทันที แม้แต่คนที่ได้รับการศึกษาที่ดี แถมทำงานในสายศิลปะซะด้วยซ้ำ บางทีเขาก็ยังเอาภาพจำนั้นออกไปไม่ได้ 

ยกตัวอย่างเช่นตอนที่โบนั่ง Uber ในแอลเอนี่ล่ะ คนขับก็ชวนคุยถามว่าเรามาจากประเทศไหน เราก็ตอบเขาว่ามาจากไทย เขาก็คุยกลับว่าสวยมาก ๆ เลยนะ เพื่อนผมไปมา บอกว่าผู้หญิงที่นู่นถูกมากเลย เราก็นั่งเงียบ ไม่รู้ว่าควรจะตอบว่าอะไรดี เพราะเราก็เป็นผู้หญิงมาจากไทยไง แต่ความคิดในหัวเราก็ถามตัวเองต่อทันทีเลยนะว่าที่เขาพูดมาต้องการอะไรหรือเปล่า มันสมควรไหม ซึ่งจริง ๆ พอไปคุยกับเพื่อนผู้หญิงคนไทยหลาย ๆ คน ทุกคนโดนแบบนี้เยอะมาก แค่เราบอกว่ามาจากไทย มันเหมือนไปเปิดสวิตช์อะไรสักอย่างที่บอกเขาว่ามันโอเคที่จะทรีตกับเราแตกต่างออกไป"

ในเรื่อง Pieces and Bits นี้ มี “ซี” ผู้หญิงไทยที่เป็นนักศึกษาเรียนต่อด้านศิลปะในอเมริกาเป็นตัวละครที่ดำเนินเรื่อง "เธอไปเจอแก๊งเพื่อน ๆ ของแฟน แล้วก็มีคนเข้ามาพูดคุยถามว่ามาจากเมืองไทยหรอ ฉันชอบอาหารไทยนะ ชอบกรุงเทพมาก ๆ แต่พอไปเรื่อย ๆ ก็จะมีคำถามแปลก ๆ อย่างเช่น ทำอาหารให้แฟนกินแล้วยัง นวดให้หรือเปล่า มันเป็นอะไรที่ผู้ชายต่างชาติจะคิดเอาไว้อยู่ในหัวอยู่แล้วว่าการเป็นผู้หญิงเอเชียและคบฝรั่งจะต้องปรนนิบัติแฟนตัวเอง" โบเล่าให้เราฟัง ซึ่งก่อนที่จะสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมาเธอได้ทำเซอร์เวย์เกี่ยวกับประสบการณ์จริงของผู้หญิงไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน

"อ่านคำตอบแล้วมันน่าหดหู่ใจ มีบางคนเจอการล่วงละเมิดทางเพศโดยเพื่อนของโฮสต์ตอนไปอยู่ที่ต่างประเทศ แล้วเขาเจอเหตุการณ์แบบนี้ตอนอายุแบบ 15-16 และมันน่าโมโหตรงที่ว่าผู้ชายต่างชาติแค่คิดว่าเราเป็นคนไทยจะทำอะไรก็ได้อะ และสำหรับเรา มันเป็นแมสเสจที่อยากจะส่งต่อให้กับคนดูว่าแบบการคิดว่าจะทำอะไรก็ได้กับคน ๆ หนึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ผิดแล้ว แต่การที่บอกว่ายูเป็นผู้หญิงไทย เราจะทำอะไรก็ได้กับยู มันไม่ถูก การเอาสัญชาติของคนมาสนับสนุนการกระทำของตัวเอง บางทีเราก็สงสัยว่าความคิดนี้ของเขามันมาได้ยังไงเหมือนกัน

โบ ณวัชรี ปิยะมงคล / ภาพจากอินสตาแกรม @boboboh
โบ ณวัชรี ปิยะมงคล / ภาพจากอินสตาแกรม @boboboh

ผลงานอีกเรื่องของ "โบ" กับการได้รับเลือกให้ฉายในเทศกาลหนังอาร์ตระดับโลกถึง 3 งานด้วยกัน

นอกจากเรื่อง Pieces and Bits ที่ทำให้โบเริ่มกลายเป็นที่รู้จักในวงการหนังอินดี้แล้ว อีกหนึ่งผลงานที่เป็นเครื่องยืนยันความสามารถและความตั้งใจจริงในการสร้างหนังของเธอก็คือภาพยนตร์สั้นที่ใช้ชื่อว่า "Three" โดยเรื่องนี้ได้รับการคัดเลือกให้แสดงที่ AVIFF Cannes, เทศกาลหนังอาร์ตในเม็กซิโก และเทศกาล Asolo Film Festival ในอิตาลี

"เรื่องนี้เป็น Semi-documentary หนังสั้นกึ่งสารคดีที่ถ่ายด้วยฟิล์ม 8 mm เกี่ยวกับผู้หญิง 3 คนที่ไปผจญภัยในรัฐอริโซนา ซึ่งจริง ๆ แล้ว มันคือทริปที่เราไปเที่ยวกับเพื่อนนั่นแหละแต่อยากลองทำหนังสั้นดูด้วย 

ความเป็นจริง มันควรจะเป็นการเดินทางแบบมีแดด ทุกอย่างสวยงาม ฟ้าใส แต่ทริปนี้ปรากฏว่าฝนตกตู้มต้าม เริ่มต้นด้วยการตกเครื่องบิน ไปเที่ยวแกรนด์แคนยอนก็หลงทางกันข้างใน มีแต่เรื่องบ้าบอ ตัวเรื่องเลยเซ็นเตอร์อยู่ที่ชาเลนจ์ ๆ หนึ่งที่ตัวละครทั้ง 3 คนทำกันคือการแชร์เรื่องกันด้วยการบอกเรื่องจริง 2 อย่าง และเรื่องโกหกอีก 1 อย่างเกี่ยวกับตัวเอง" ซึ่งเรื่องเล่าต่าง ๆ เหล่านี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตด้านความสัมพันธ์และการต่อสู้ดิ้นรนอะไรบางอย่างของผู้หญิงท้ัง 3 คน สามารถติดตามชมภาพยนตร์สั้นเรื่อง Three แบบเต็ม ๆ ได้เร็ว ๆ นี้

Keeping you and your products cool since 1989 เดินผ่านเกือบทุกวัน มองผ่านเป็นครั้งคราว…

โพสต์โดย Systemform Co.,Ltd. เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม 2019

โฆษณาของบริษัท Systemform ผลงานการสร้างของ โบ ณวัชรี ปิยะมงคล

"การทำหนังทำให้เราต้องใช้หลักทางพุทธมาก ๆ เลย เราพยายามส่งหนังไปตามที่ต่าง ๆ และจะถูกปฏิเสธเป็นร้อยครั้ง แต่เราก็ต้องปล่อยวาง ซึ่งถามว่ามัน personal ไหม มัน personal สุด ๆ เลยนะ ไม่ใช่แค่ความคาดหวังอย่างเดียวที่ทำให้เรารู้สึกเฟลแต่เวลาเราทำหนังมันคือการใส่ตัวตนเราเข้าไป ความคิด ประสบการณ์ จิตวิญญาณ เพราะฉะนั้นเวลาถูกเขาปฏิเสธมันก็คือทั้งหมดของเรา" โบบอกทิ้งท้าย ซึ่งถึงแม้ว่าการที่ผลงานของเธอได้เข้าไปอยู่ในหลาย ๆ เทศกาลแล้ว เธอบอกเราว่าการอยู่ในวงการฟิล์มทำให้เธอรู้สึกยังไม่ 'ดีพอ' และพยายามสร้างผลงานต่อไป

"งานฟิล์มมันค่อนข้าง self-motivated มาก ๆ เลยนะ เราต้องผลักดันตัวเอง หาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ให้ตัวเองอยู่เรื่อย ๆ และจะไม่รู้สึกถึงคำว่า 'ดีพอ' สักที ความโชคดีของเราคือครอบครัวสนับสนุนมาก ๆ คุณพ่อไม่เคยเร่งให้เราต้องรีบประสบความสำเร็จแต่เปิดโอกาสให้เราค้นหาตัวเองได้เต็มที่ เพราะแกเข้าใจว่าการเป็นฟิล์มเมกเกอร์มันต้องใช้เวลา มันต้องออกไปใช้ชีวิตด้วยถึงจะมีเรื่องให้เล่า เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของคนและเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ว่ามันเป็นยังไง

พี่ชายก็พูดอยู่ตลอดเหมือนกันว่ากว่าคนอื่น ๆ ที่เขาประสบความสำเร็จกัน เขาก็ต้องได้ยินคำปฏิเสธมาแล้วหลาย ๆ รอบ ซึ่งจริง ๆ มันอาจมีคนที่ตอบตกลงนะ แต่กว่าจะมีคำว่า “เยส” จากโอกาสที่ "ใช่" มันก็ต้องใช้เวลา ทุกวันนี้ก็ฝึกไปเรื่อย ๆ ทำทุกเรื่องที่ช่วยให้ตัวเองพัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ มีอะไรให้กำกับเราก็ทำหมด เพื่อที่เวลาที่คำว่า “เยส” นั้นมาถึง เราจะได้พร้อมรับมัน" โบบอกกับเรา

ติดตามผลงานต่าง ๆ ของ โบ ณวัชรี ปิยะมงคล ได้บนเว็บไซต์ www.nawacharee.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0