โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"เราเที่ยวด้วยกัน" VS "Go To Travel" ส่องแคมเปญชวนเที่ยวของไทยและญี่ปุ่น - จุดประเด็น

LINE TODAY

เผยแพร่ 22 ก.ค. 2563 เวลา 17.46 น. • AJ.
ภาพโดย Darren Lawrence / unsplash.com
ภาพโดย Darren Lawrence / unsplash.com

การระบาดของโควิด19 ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวของทุกประเทศทั่วโลกต้องหยุดชะงัก

โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลักอย่าง "ไทย" หรือ "ญี่ปุ่น" และเพื่อช่วยเหลือการท่องเที่ยวในประเทศให้กลับมาแข็งแรงดังเดิม ประเทศไทยจึงผุดแคมเปญ "เราเที่ยวด้วยกัน" ส่วนญี่ปุ่นก็ปั้น "Go To travel" ทั้ง 2 แคมเปญมีจุดขายอย่างไร และประสบปัญหาอะไรกันบ้าง? เราไล่เรียงรายละเอียด และปัญหาของแคมเปญทั้ง 2 มาให้ทุกคนได้ #จุดประเด็น กันแล้ว!

"เราเที่ยวด้วยกัน" ที่เริ่มกลายเป็น "เราโก่งราคาไปด้วยกัน"

จาก "เที่ยวปันสุข" เปลี่ยนชื่อเป็น "เราเที่ยวด้วยกัน" แคมเปญที่กำลังร้อนแรงในขณะนี้ ด้วยสถานการณ์โควิด19 ในไทยที่เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลจึงออกแคมเปญ "เราเที่ยวด้วยกัน" มาให้นักเดินทางได้ชื่นใจ ด้วยเงื่อนไขร้อนแรงอย่างเงินสนับสนุนค่าที่พัก 40% กว่า 2 ล้านสิทธิ์ ให้คนไทยได้เที่ยวไทยในงบประหยัด ทั้งยังเป็นวิธีกระตุ้นการท่องเที่ยวที่ซบเซามานาน ให้เจ้าของธุรกิจที่พักได้มีรายได้กลับคืน ถือว่าวิน ๆ กันทั้งสองฝ่าย

หลังจากมีการลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ และมีผู้จองห้องพักไปกว่า 80,000 กว่าห้อง ผู้ใช้ส่วนมากกลับพบปัญหาห้องพักขึ้นราคา โดยเฉพาะเมื่อจองผ่านเว็บไซต์ตัวแทนผู้ประกอบการ (OTA)

งานนี้รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งเฉย โดยออกประกาศเตือนผู้ประกอบการโรงแรมที่ "ฉวยโอกาส" ขึ้นราคาห้องพัก จะถูก "แบล็กลิสต์" และถอดชื่อโรงแรมออกจากแคมเปญทันที ร้ายแรงกว่านั้นคือหากพบว่ามีนักท่องเที่ยวจองไปแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องคืนเงินทั้งหมดทันทีด้วย

จากแคมเปญดี ๆ กลายเป็นช่องทางฉวยโอกาสของคนบางกลุ่มไปเสียได้ แต่แม้จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ก็ยังยืนยันว่าประชาชนไทยยังมีการจองห้องพักเข้ามาเรื่อย ๆ และมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากการสำรวจพบว่าคนไทยจองไปเที่ยวมากที่สุดในระยะเวลา 2 วัน 1 คืนคือภาคตะวันออกและตะวันตก และหากมากกว่า 2 คืนขึ้นไป นิยมไปเที่ยวภาคใต้มากกว่า โดยจุดหมายอันดับ 1 คือ จังหวัดกระบี่

ภาพโดย Ryan Kwok / Unsplash.com
ภาพโดย Ryan Kwok / Unsplash.com

"Go To Travel" แคมเปญชวนเที่ยวญี่ปุ่นที่ชาวญี่ปุ่นแอบงง

ญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศในเอเชียที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว และนับตั้งแต่วิกฤตโควิด19 ที่ทำให้เกิดปิดประเทศต่าง ๆ รวมถึงโอลิมปิกที่ถูกเลื่อน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศนั้นลดลงอย่างน่าใจหาย ยกตัวอย่างนักท่องเที่ยวจีนที่มีจำนวนกว่า 726,132 คนจากปีที่แล้ว ลดลงเหลือเพียง 200 คนในปีนี้

แคมเปญ Go To Travel ถูกโปรโมตตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นลงทุนกว่า 1.35 ล้านล้านเยนในการปลุกปั้นGo To Travel เพื่อชักชวนให้เหล่านักเดินทางกลับมาใช้จ่ายให้การท่องเที่ยวญี่ปุ่นอีกครั้ง

ความ "น่าโดน" ของ Go To travel ก็คือ "ส่วนลด" คล้าย"เราเที่ยวด้วยกัน" ของไทย นักท่องเที่ยวจะได้เงินคืนในการจองตั๋วรถไฟ โรงแรม ร้านอาหาร สูงถึง 50% ที่ไหนก็ได้ในประเทศญี่ปุ่น

แต่ความปวดหัวของแคมเปญดังกล่าวที่คนญี่ปุ่นต้องร้องว่า"หน่านิ๊? " (อะไรเนี่ย?) คือการเลื่อนวันไปมาตั้งแต่เริ่ม ตอนแรกบอกว่าจะเริ่มใช้ได้ในเดือนสิงหาฯ ถัดมาบอกว่าใช้ได้สิ้นเดือนกรกฎาคม (ญี่ปุ่นมีวันหยุดยาว 4 วันพอดี) และล่าสุดเพิ่งเปลี่ยนมาประกาศว่าเริ่มใช้ได้วันที่ 22 กรกฎาคมก็คือเมื่อวานนี้เลย

ไม่เพียงเท่านั้น เพราะก่อนแคมเปญจะเริ่มไม่นาน นายคาซึโยชิ อากาบะ (Kazuyoshi Akaba) รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวญี่ปุ่นได้ออกมาให้ความเห็นว่าเขาไม่แนะนำให้เด็กและผู้สูงอายุ หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวเกิน 50 คนร่วมใช้แคมเปญดังกล่าว เหตุเพราะเสี่ยงติดโควิด19 ซึ่งชาวญี่ปุ่นก็ร้อง "หน่าาาานิ๊? " รอบสอง เนื่องจากเป็นเงื่อนไขที่เพิ่งมาบอกกล่าวกันทีหลัง

ยังไม่พอ! เพราะสาเหตุที่ทำให้ต้องร้อง "หน่าาาาานิ๊?!" พร้อมทำท่าเอียงหัวแบบในการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นรอบที่สาม คือการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขอีกครั้งของรัฐบาล โดยตัดสินให้กรุงโตเกียวไม่อยู่ในโปรฯ Go To Travel สาเหตุมาจากการกลับมาระบาดอีกครั้งของโควิด19 ซึ่งการตัดโตเกียวออกทำให้นักท่องเที่ยวหลายคนที่จองทริปไปแล้วต้องกุมขมับ ผู้ประกอบการโรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งก็ออกมาแสดงความผิดหวังกันเป็นแถบ ๆ แต่ก็ยังมีคนส่วนมากที่เห็นด้วยกับรัฐฯ เพราะการดันทุรังไปเที่ยวโตเกียวขณะที่ยังมีโควิด19 มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงเปล่า ๆ

ความคล้ายกันของ 2 แคมเปญทั้งจากไทยและญี่ปุ่น คือความพยายามที่จะกู้สถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศให้กลับมาคึกคักดังเดิมหลังเจอวิกฤตหนัก และแม้จะพบปัญหาทั้งความไม่ซื่อตรงของผู้คน (ส่วนน้อย) หรืออุปสรรคโควิด19 ที่ดันกลับมาระบาดในจังหวะที่ไม่เหมาะเอาเสียเลย ประชาชนอย่างเราก็ได้แต่หวังว่าทางการจะรับเอาปัญหาดังกล่าวไปเป็นโจทย์ในการปรับปรุงแคมเปญให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก

ล่าสุด "เราเที่ยวด้วยกัน" มีมาตรการป้องกันโรงแรมโก่งราคาแล้ว โดยใครพบเห็นที่พักขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรม สามารถแจ้งเข้ามาได้ที่ 2 ช่องทาง ได้แก่เว็บไซต์เราเที่ยวด้วยกัน และสายตรง 1672 ททท. ได้ทันที

-

อ้างอิง

prachachat

loyaltylobby

japantimes

jw-webmagazine

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0