โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เพราะเราคือครอบครัวเดียวกัน | พศิน อินทรวงค์

พศิน อินทรวงค์

เผยแพร่ 01 ก.ย 2562 เวลา 11.25 น.

1. สิ่งสำคัญที่สุดคือการรับฟังความแตกต่าง เมื่อเรามองสิ่งหนึ่ง จากประสบการณ์ของตัว เราจะเห็นอย่างหนึ่ง ต่อเมื่อเราออกจากวงล้อมแห่งประสบการณ์ส่วนตัว เราย่อมเห็นความจริงไปอีกแบบ แม้ผูกขาดความจริงในแบบของตนไปแล้ว ก็เท่ากับไม่เหลือพื้นที่รับฟัง เทน้ำให้เหลือครึ่งแก้ว พื้นที่ว่างจึงเกิด รองรับสิ่งใหม่ได้

2. คนรุ่นเก่ามีประสบการณ์ หนทางแก้ปัญหาจึงมีมาก แต่ความหวาดกลัว ก็มีมากตามประสบการณ์ไปด้วย คนรุ่นใหม่ประสบการณ์น้อย หนทางแก้ปัญหามีน้อย ทว่ามีความกล้าหาญ ความกล้าหาญนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เปรียบเหมือนแสงไฟ 

หากใช้แสงไฟพอดี ย่อมเป็นเครื่องมือเปิดเส้นทางใหม่ แม้เร่งไฟลุกลามเกินเหตุ ก็อาจเผาโลกใบเดิม ทั้งที่ยังมิเห็นโลกใหม่ การเดินทางสู่ท้องทะเลอันอุดมสมบูรณ์ จำเป็นต้องใช้ทั้งความกล้าของคนรุ่นใหม่ และประสบการณ์เดินทางของคนรุ่นเก่า นาวาแห่งสังคมใหญ่ จึงแล่นฉิวโดยไม่ผิดพลาด

3. การรับฟังของคนรุ่นเก่า เกิดขึ้นยาก เพราะอัตตาแห่งความสำเร็จที่ผ่านมา การรับฟังของคนรุ่นใหม่ เกิดขึ้นยาก เพราะยังมิผ่านร้อนผ่านหนาว มีเพียงทฤษฎีที่ยังไม่ผ่านการทดสอบ หนทางแห่งการรับฟัง จึงเป็นหนทางแห่งการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ คนรุ่นเก่า เปิดใจ เรียนรู้โลกทฤษฎีของคนรุ่นใหม่ 

คนรุ่นใหม่ เปิดใจ เรียนรู้ประสบการณ์ของคนรุ่นเก่า ดังวิทยาการ สรรพความรอบรู้ของโลก มิได้กำเนิดจากยุคใดยุคหนึ่ง หากแต่เป็นการส่งไม้ต่อจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง ช่วงเวลาแห่งการส่งรับไม้ คือช่วงเวลาสำคัญ ผิดพลาดเมื่อไหร่ ไม้ย่อมตกสู่พื้น จะลำบากทั้งสองฝ่าย

4. โลกแห่งเทคโนโลยี เป็นโลกใบใหม่ที่คนรุ่นเก่าเพิ่งเดินทางมาถึง แต่โลกแห่งเทคโนโลยี คือบ้านของคนรุ่นใหม่ พวกเขาเกิดและเติบโต ณ ที่แห่งนี้ คนรุ่นเก่ามักตื่นตาตื่นใจกับการเปลี่ยนไปของโลก ทว่า คนรุ่นใหม่กลับรู้สึกเฉยๆ ราวกับมิได้เกิดสิ่งใดผิดปกติ คนรุ่นเก่าคือนักเดินทางจากแผ่นดิน มาสู่เรือ จึงรู้สึกโคลงเคลง เมื่อเรือขึ้นลงตามเกลียวคลื่น ส่วนคนรุ่นใหม่มิรู้สึกใด ๆ เพราะเขาและคลื่นเป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อแผ่นดินของคนรุ่นเก่า และท้องทะเลของคนรุ่นใหม่ผสานกันเมื่อใด เส้นขอบฟ้าย่อมถือกำเนิด

5. ทุกยุคทุกสมัย ช่องว่างระหว่างวัยย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ห้าสิบปีก่อน ปู่ยาตาทวด ล้วนเคยเป็นคนรุ่นใหม่ ห้าสิบปีต่อมา กลับกลายเป็นคนรุ่นเก่า ในสายตาของผู้คนยุคปัจจุบัน ส่วนอนาคตอีกห้าสิบปีต่อจากนี้ เยาวชนรุ่นนี้ ก็จะกลายเป็นคนรุ่นเก่า ในสายตาของผู้ที่ยังไม่เกิด ธรรมชาติเคลื่อนตัวอย่างนี้มานานแล้ว 

เราต่างเติบโตมาด้วยคำพูดสองประโยคที่ได้ยินจนชินหู เมื่อเราเป็นเด็ก เรามักพูดกับเพื่อนๆ ว่า “ผู้ใหญ่ยุคนี้ไม่รับฟังความเห็นต่าง” ต่อเมื่อเราเติบโตขึ้น เราคนเดียวกันกลับพูดกับเพื่อนว่า “ทำไมเด็กยุคนี้จึงไม่มีสัมมาคารวะ” ดูเหมือนผู้ขุดหลุมช่องว่าง มิใช่กาลเวลา ทว่าเป็นอัตตาของเราเอง

6. ความจริงของเรา อาจไม่ใช่สิ่งผิด ความจริงของเขา ก็อาจไม่ใช่สิ่งผิด ในดีมีร้าย ในร้ายมีดี หนทางทำลาย คือเห็นแต่ด้านดีของตน และเห็นแต่ด้านร้ายของผู้อื่น หนทางสร้างสรรค์ มองด้านร้ายของตนให้เห็น มองด้านดีของผู้อื่นให้ได้ แม้กระทำได้เช่นนี้ พลังสร้างสรรค์ของคนรุ่นเก่า และคนรุ่นใหม่ย่อมถือกำเนิด เกิดเป็นส่วนสมดุล 

7. สิ่งที่ควรเคารพสูงสุดมิได้อยู่ที่อายุ หากแต่อยู่ที่ความรู้ ความดี อันประกอบด้วยความเมตตาเป็นพื้นฐาน ทั้งสามสิ่ง มิได้ขึ้นกับวัย หากแต่ต้องดูส่วนต่างของบุคคลเป็นราย ๆ ไป โลกมิได้มีสูตรสำเร็จ ไม่มีสูตรตายตัว จำเป็นต้องเว้นช่องว่าง ให้ความเปลี่ยนแปลงเข้ามามีส่วนรวม 

หากยึดติดสิ่งใดสิ่งหนึ่งตายตัวจนเกินไป ความแข็งกร้าว ย่อมสร้างอันตราย ทั้งคนรุ่นเก่า และคนรุ่นใหม่ จำเป็นต้องประสานด้วยคุณธรรมแห่งความเมตตา วันวัยมิใช่ช่องว่างที่แท้จริง ช่องว่างเกิดเพราะไร้เมตตา ความรู้คือสิ่งสำคัญ ประสบการณ์คือสิ่งสำคัญ ความกล้าคือสิ่งสำคัญ ทว่า สามสิ่งนี้ จะส่งประโยชน์ได้ต่อเมื่อมีความเมตตารองรับเท่านั้น 

8. แม้ศัตรูในสงครามก็ยังให้เกียรติกันได้ แล้วเหตุใดครอบครัวเดียวกัน จะเคารพกันและกันไม่ได้ มองหาจุดร่วมที่เหมือนกัน แล้วขยับขยายเปิดหนทางจากตรงนั้น อย่าเริ่มต้นบทสนทนาด้วยความเห็นแตกต่าง จักพาไปสู่ทางตัน ศาสดาทุกพระองค์ เขียนข้อธรรมเป็นอักษรแตกต่าง ทว่าเนื้อหาสาระเดียวกัน นั่นคือ มีเป้าหมายแห่งความสุขสันติ 

สันตินี้มิควรเป็นเพียงจุดหมาย แต่ต้องเป็นเส้นทางด้วย หนทางสู่สันติ จะเริ่มต้นด้วยความรุนแรงไม่ได้เลย เริ่มด้วยศีลขั้นพื้นฐาน ระงับกาย วาจารุนแรง ส่วนในขั้นจิตใจ ให้ขับเคลื่อนด้วยเหตุผลบนฐานความอ่อนน้อม ความอ่อนน้อมนี้ ทั้งผู้สูงวัย และเด็กน้อยไร้เดียงสาก็กระทำได้ทั้งนั้น คนรุ่นเก่า ก็คือมนุษย์ผู้หนึ่ง คนรุ่นใหม่ ก็คือมนุษย์อีกคนหนึ่ง ลึก ๆแล้ว เราต่างมีความกล้า ความกลัว ความเหงา และความสุข ไม่ต่างกัน ตัวจริงของบุคคลตรงหน้ามิใช่หัวโขนที่เห็น ถอดหัวโขนออก จึงเห็นความเป็นเพื่อนมนุษย์ 

9. ดอกไม้ในโลก ไม่อาจนำมาเปรียบเทียบ ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศ ไม่มีดอกไม้ใดงดงามกว่า ไม่มีดอกไม้ใด ด้อยไปกว่ากัน ในท้องทะเลทราย มิใช่พื้นที่ของกุหลาบ ทว่า ไม่ใช่ความผิดของกุหลาบ และไม่ใช่ความผิดของทะเลทราย ความแตกต่าง มิใช่ความน่าเกลียด ทว่าคือความงดงามที่ธรรมชาติสร้างมา หากผู้คนคิดเหมือนกันทั้งโลก โลกจักอยู่รอดได้อย่างไร 

ในคนรุ่นเก่า ยังมีความคิดแบบใหม่ ในคนรุ่นใหม่ ยังมีความคิดแบบเก่า ความจริงแล้ว ไม่มีความคิดใดที่เก่า และใหม่ด้วยตัวมันเอง ทุกสรรสิ่ง ทุกเหตุการณ์ ทุกความเป็นไป คิดอ่าน วิเคราะห์ จำเป็นต้องบินให้สูง แล้วมองลงมาเบื้องล่าง จะเห็นภาพใหญ่ การเห็นภาพใหญ่นั้น จำเป็นต้องชักชวนกันไปเห็น ล้อมวงเพื่อเลือกสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว เหตุใดจึงไม่ล้อมวง เพื่อประสานทุกสิ่ง จบมือกันไว้ให้แน่น บินไปด้วยกัน ช่วยกันติชม ท้วงติ เสนอทุกสิ่งด้วยภาษาดอกไม้

10. ความขัดแย้งทุกอย่างในโลก เกิดขึ้นด้วยความเห็นแก่ตัว “เห็น” คือการมอง คืออยู่ในสายตา “แก่ตัว” คือตัวตนของตนเอง รวมความแล้ว คำว่า เห็นแก่ตัว นั่นเป็นคำที่มีความหมายลุ่มลึก นั่นคืออาการที่เรามองไม่เห็นใคร หรืออะไรนอกจากตนเอง หนทางที่จะทำให้เราหลุดจากความเห็นแก่ตัวได้ คือมองไปที่ผู้อื่น ให้ส่วนผสมทางความคิดของผู้อื่นเข้ามาสู่ตัวตนของเรา สัจธรรมใหญ่ของโลก ตั้งอาศัยอยู่ในความเปลี่ยนแปลง 

ความหนุ่มสาวที่แท้จริง มิได้เกิดจากอายุ หรือสภาพทางร่างกาย หากแต่เกิดจากสภาวะแห่งการยึดติด สะสมความยึดติดมากไว้มากจึงเรียกว่าผู้ชรา สะสมความยึดติดน้อยไว้น้อยจึงเรียกว่าคนหนุ่มสาว เป็นไปได้ไหมที่เราจะดำรงความรู้ไว้อย่างคนผ่านโลกมามาก  ทว่ามีหัวใจงดงามดุจเด็กน้อย ไม่มีเรื่องใดที่ใหญ่โตเกินไป หากมองให้ลึก มองให้ดี ความแตกต่างที่มี ไม่อาจแทนที่คำว่า “ครอบครัว” 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0