โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดีก็พอ ? - เพจมนุษย์กรุงเทพฯ

TALK TODAY

เผยแพร่ 04 พ.ย. 2562 เวลา 17.00 น. • เพจมนุษย์กรุงเทพฯ

 ใครต่อใครมักพูดว่า ประเทศไทยเปิดกว้างต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ 

 ใช่ ถ้าเทียบกับบางประเทศที่รุนแรงถึงขั้นทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต บ้านเราไม่มีตุ๊ด เกย์ กะเทย ทอม ดี้ เลสเบี้ยน ฯลฯ ถูกกระทำด้วยความรุนแรงเช่นนั้น อีกทั้งในปัจจุบันสื่อต่าง ๆ ก็นำเสนอภาพกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างมีมิติมากขึ้น (ไม่ใช่แค่ชีวิตแบบตลกโปกฮาอย่างในอดีต) ยิ่งคนมีชื่อเสียงหลายคนเปิดเผยตัวเองอย่างตรงไปตรงมา ทำให้พ่อแม่ยอมรับตัวตนของลูกได้ง่ายขึ้น เพราะคิดว่าเป็นเพศไหนก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ 

 “เป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดีก็พอ”เป็นคำพูดที่พ่อแม่มักใช้กับลูก และใช้กับคนรอบตัวที่มองเข้ามาในครอบครัว 

 หากมองอย่าผิวเผิน คำพูดนี้ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร ทั้งจากคำว่า ‘อะไรก็ได้’ ที่ให้ภาพของความอิสระ เปิดกว้าง และยอมรับในสิ่งที่เป็น แม้จะมีเงื่อนไขในวรรคต่อมา แต่เราทุกคนก็ควรเป็น ‘คนดี’ อยู่แล้วไม่ใช่เหรอ ดังนั้นเลยเป็นคำพูดที่สุดแสนจะธรรมดา

 แต่ภายใต้ความธรรมดานั้น คำพูดว่า “เป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดีก็พอ” ได้กลายเป็นความคาดหวังอย่างเงียบเชียบ (ทำให้พ่อแม่น้อยคนที่จะรู้ตัว) เป็นดินแดนของความดีงามในฐานะลูก-ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่เขาและเธอเลยพยายามจะไปให้ถึง  

 ถ้าเป็นตุ๊ด - ต้องเรียนให้เก่ง

 ถ้าเป็นกะเทย - ต้องประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน

 ถ้าเป็นทอมหรือดี้ (ทำให้ไม่ได้แต่งงานตามครรลอง) - ต้องเป็นที่นับหน้าถือตาในสังคม

 ฯลฯ

 เหล่านั้นคือเรื่องที่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศต้องเจอ เพื่อให้เป็นที่รักและที่ยอมรับ พวกเขาต้องพยายามเป็นตามมาตรฐานคำว่า ‘คนดี’ ที่ตรงกับใจพ่อแม่ ซึ่งมักสอดคล้องกับค่านิยมของสังคมนั้น ๆ

 ทั้งที่คำว่า ‘คนดี’ มีความหมายได้หลากหลาย

 ผมไม่ได้ต้องการถกเถียงว่า ‘คนดี’ คืออะไร แต่ถ้าคำนั้นมีความหมายได้หลากหลาย เลยอยากชวนกลับไปหา*เรื่องพื้นฐานที่ ‘มนุษย์ทุกเพศ’ ควรตระหนักอยู่เสมอ นั่นคือชีวิตที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน อิสระแบบพอดี แต่ไม่ก้าวล่วงกระทบชีวิตคนอื่น แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว *

 ผมเคยคุยกับ ทิชากร ภูเขาทอง เขาเป็นผู้ชายในทางเพศกำเนิด เป็นเกย์ในทางเพศสภาพ และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม Trasher, Bangkok อีกทั้งเป็นผู้กำกับ 3 Will Be Free ซีรีย์ที่ใส่ตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าไปในเรื่องอย่างเป็นปกติ มุมมองของเขาต่อเรื่องนี้น่าสนใจทีเดียว

 “การยอมรับเพศที่สามในบ้านเรามาพร้อมเงื่อนไข คุณต้องประสบความสำเร็จ คุณต้องเป็นคนดี คุณต้องเป็นที่นับหน้าถือตา ถ้าคุณตกงานก็อาจโดนมองว่า เป็นตุ๊ดแล้วยังไม่มีงานทำอีก ทั้งที่ผู้ชายหรือผู้หญิงไม่มีเงื่อนไขแบบนี้ เราเป็นคนหนึ่งที่เคยมองแบบนั้น เลยอยากให้ผู้ใหญ่ทำความเข้าใจ

 “ขณะเดียวกันน้องๆ LGBT ก็ต้องบอกตัวเองด้วยว่า เพศอะไรก็ไม่ใช่ปมด้อย ไม่ว่าคุณจะแต่งงาน เป็นโสด มีความสุข หรือเจอเรื่องแย่ ๆ ในชีวิต นั่นเพราะคุณมนุษย์ สุขหรือทุกข์เป็นเรื่องปกติ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเพศ” 

 แน่นอนว่า “เป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นคนดีก็พอ” ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายหรอก อย่างน้อยก็ดีกว่าพ่อแม่ที่ปฏิเสธและผลักไสลูกที่มีความหลากหลายทางเพศออกไปจากความเป็นครอบครัว แต่มันคงจะผ่อนคลายมากกว่า ถ้าเปลี่ยนคำพูดเป็นว่า “เป็นอะไรก็ได้ ขอให้ไม่เดือดร้อนใคร และสบายใจก็พอ”

 ลองนึกดูสิ ถ้าวันหนึ่งคุณมีลูก แล้วได้พูดประโยคนั้นออกไป เขาจะสบายใจขนาดไหนกัน 

.

.

ติดตามบทความของเพจมนุษย์กรุงเทพฯ ได้บน LINE TODAY ทุกวันอังคารที่ 1 และ 3 ของเดือน

.

.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0