โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เปลี่ยนตัวเอง เป็นนักลงทุนที่ดี ด้วยการตั้งคำถามที่ดีขึ้น - โค้ชหนุ่ม The Money Coach

THINK TODAY

เผยแพร่ 21 พ.ย. 2562 เวลา 03.18 น. • โค้ชหนุ่ม The Money Coach

เวลามีคนส่งคำถามมาถามหลังไมค์เกี่ยวกับการลงทุน อาทิ “มีเงินเก็บอยู่หนึ่งก้อน ลงทุนอะไรดี” หรือ “เงินเดือน 30,000 เหลือเก็บ 8,000 เอาไปฝากหรือซื้อกองทุนรวมดีกว่ากัน”

สารภาพตามตรงเลยว่า เป็นคำถามที่ตอบ “ยากมาก”

ทั้งนี้เพราะปัจจัยในการพิจารณาวางแผนการลงทุนนั้น มันต้องการข้อมูลมากกว่าแค่รู้ว่าคุณมีเงินอยู่เท่าไหร่ แล้วก็มองหาการลงทุนจากเงินเก็บและเงินออมที่มี (คนที่ลงทุนเป็น ลงทุนได้มากกว่าเงินที่มีได้ด้วยนะ)

คนสองคนมีเงินเก็บเท่ากัน แต่เป้าหมายไม่เหมือนกัน ระยะเวลาลงทุนต่างกัน ความรู้ในเครื่องมือลงทุนไม่เท่ากัน รับความเสี่ยงได้ต่างกัน ทั้งเครื่องมือและแผนการลงทุนที่เหมาะสมก็คนละเรื่องเลยนะครับ

ดังนั้น ถ้าหากอยากพัฒนาตัวเองเป็นนักลงทุนที่ดี เป็นนักลงทุนที่เก่งขึ้น มีโอกาสประสบความสำเร็จจากการลงทุนมากขึ้น เราควรเริ่มกันที่การตั้งคำถามเกี่ยวกับการลงทุนให้ดีขึ้นเสียก่อน

ทั้งนี้ คำถามเกี่ยวกับการลงทุนที่ดีนั้น ควรประกอบด้วย

1) เป้าหมายการลงทุน

หรือถามอีกอย่างหนึ่งก็คือ คุณลงทุนไปเพื่ออะไร ให้เริ่มจากเป้าหมายชีวิตของคุณก่อนว่าต้องการอะไร เช่น เก็บเงินสำรอง เก็บเป็นเงินเกษียณ เก็บเงินท่องเที่ยว เรียนต่อ แต่งงาน สะสมเงินให้ลูก ฯลฯ

เป้าหมายต่างกัน การวางแผนการลงทุนก็ต่างกันไปด้วย อย่างการเก็บเงินเพื่อเกษียณอายุ เป็นการเก็บเงินที่มีระยะเวลายาวนานกว่าจะได้ใช้เงิน ก็อาจจะทยอยลงทุนในเครื่องมือที่มีความผันผวนสูงแต่ผลตอบแทนสูงได้ ในขณะที่หากต้องการเก็บเงินแต่งงานในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการเก็บออมและลงทุนในระยะสั้น ก็อาจต้องเลือกเครื่องมือที่มีความแน่นอนสูง เพื่อลดความเสี่ยงที่เงินต้นจะหดหาย เป็นต้น

การมีเป้าหมายการลงทุนที่ชัดเจน จะทำให้ทราบ “ระยะเวลา” การลงทุน รวมไปถึงเครื่องมือและแผนการลงทุนที่มีความเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้เงินเก็บเงินออมของเราไปถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้น

2) เงินออมที่จัดสรรได้

เงินที่คุณจะใช้ลงทุนเป็นแบบไหน เป็นเงินเก็บก้อนเดียวเลย ไม่มีเติมอีกแล้ว หรือเป็นเงินสะสมรายเดือนที่มาทีละน้อย แต่เติมมาลงทุนได้สม่ำเสมอ จนกว่าจะถึงเป้าหมาย อันนี้ก็ต้องบอกให้ชัดเจน

3) ความเสี่ยงที่รับได้

สำหรับการประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยง แนะนำให้ลองตั้งคำถามง่ายๆ ว่า “เราจะรู้สึกสะเทือนใจ และยอมรับไม่ได้ หากเงินลงทุนของเราหายไป กี่ %”

คนบางคนอาจยอมรับการขาดทุนในบางช่วงเวลาได้ถึงระดับ 50% (รับความเสี่ยงได้มาก) แต่ในขณะที่บางคนเห็นเงินลดลงไป 10% ก็นอนไม่หลับแล้ว (รับความเสี่ยงได้น้อย)

การรู้จักและเข้าใจตัวเอง ไม่เพียงช่วยให้เรากำหนดแผนการลงทุนที่มีโอกาสถึงเป้าหมายเท่านั้น ยังช่วยให้เรามีความสุข ไม่มีความกังวลมากเกินไป และนอนหลับฝันดี ตลอดระยะเวลาที่ลงทุนด้วย

4) ความรู้ของผู้ลงทุน (ก่อนลงทุนควรหาความรู้ก่อน)

มีหลายคนตั้งคำถามให้ผู้แนะนำตอบว่า “ลงทุนอะไรดี” ทั้งที่ตัวเองยังไม่รู้จักเครื่องมือลงทุนตัวไหนเลย แบบนี้ได้รับคำแนะนำไปก็ลงทุนประสบความสำเร็จได้ยาก เพราะการลงทุนไม่ใช่แค่การซื้อๆขายๆ แต่เราต้องบริหารจัดการในตอนที่ถือครองมันด้วย (เสี่ยงมากถ้าคุณไม่รู้จักสิ่งที่คุณลงทุนดีพอ)

ดังนั้นสิ่งที่นักลงทุนไม่ควรทำเลยก็คือ ถามคำถามการลงทุน ทั้งที่ตัวเองไม่รู้จักเครื่องสักตัว แล้วก็รอแต่จะทำตามคำบอกของคนอื่น

หลายปีก่อนบ้านเราเกิดภาวะ “ตื่นทอง” ทองคำราคาพุ่ง ถึงขั้นขาดตลาด คนยอมจ่ายเงินแลกใบจองทอง สุดท้ายก็อย่างที่เห็น หลังจากนั้นไม่นานทองราคาตกลงอย่างน่าใจหาย ถึงวันนี้หลายคนยังบาดเจ็บจากการลงทุนครั้งนั้นอยู่อีกไม่น้อย (ช่วงนั้นราคาทองขึ้นไปถึงบาทละ 26,000 บาท)

หรืออย่างในช่วง 3 ปีก่อน ที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นสูง จนเหล่าเกจิและกูรูทำนายกันไปว่าดัชนีตลาดหุ้นมีโอกาสแตะ 2,000 จุด แล้ววันนี้เป็นยังไง ก็คงเห็นกันแล้ว

การลงทุนตามคำบอก ไม่เคยช่วยให้ใครประสบความสำเร็จได้จริง และยิ่งเป็นคำตอบหรือคำบอกที่มาจากคำถามง่ายๆ อย่าง “มีเงินหนึ่งก้อนลงทุนอะไรดี”

ถ้าใครตอบคุณ จงรู้ไว้เลยว่า เขาตอบส่งเดชไปอย่างนั้นแหละ เขาไม่ได้ใส่ใจกับชีวิตคุณสักเท่าไหร่ หนักกว่านั้นคือ การตั้งคำถามแบบคนไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนเลย คุณอาจเจอคนที่ตั้งใจมาหลอกเอาเงินจากความรู้ไม่ของคุณก็เป็นได้

“ไม่รู้จะลงทุนอะไรใช่มั้ย เอาเงินมาให้ฉันสิ !” (กูลวงแชร์ลูกโซ่แสยะยิ้ม)

ดังนั้น จงเปลี่ยนคำถามการลงทุนของคุณเสียใหม่ สร้างคำถามจากระบบความคิดง่ายๆ 4 ข้อข้างต้น ทำให้ “คำถาม” เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของกระบวนการคิดเรื่องการลงทุน พัฒนาคุณไปสู่การเป็นนักลงทุนที่ดี

ดีกว่ามักง่าย ถามคำถามแย่ๆ และรอคำตอบที่แย่กว่า ที่ทำให้คุณสูญเสียเงินออมที่สู้อุตสาห์สะสมมา ไปอย่างน่าเสียดาย

จำไว้ว่า “มีแต่นักลงทุนที่ดีเท่านั้น ที่สร้างผลตอบแทนที่ดีได้”

และ “เราสามารถเริ่มต้นพัฒนาตัวเองสู่การเป็นนักลงทุนที่ดี ด้วยการเปลี่ยนไปใช้คำถามที่ดีขึ้น”

วันนี้คุณพร้อมเป็นนักลงทุนที่ดีแล้วหรือยังครับ ?

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0