โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เติมพลังให้ใจ เติมไฟให้ชีวิต - ศุ บุญเลี้ยง

THINK TODAY

เผยแพร่ 20 พ.ย. 2562 เวลา 13.31 น. • ศุ บุญเลี้ยง

ขณะก้าวเข้าไปนั่งบนรถ ปิดประตูและกำลังจะเคลื่อนออกจากโรงแรม เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือเรียกสั้นๆ ว่า‘ยาม’ ก็เดินเข้ามายกมือไหว้ใกล้ๆ ประตูรถ

ฉุกคิดขึ้นมาแวบนั้นว่า เราควรจะออกรถไปเลยหรือว่าลดกระจกลงแล้วให้เงินเขาดี

ความคิดแล่นไว นึกในใจโดยอัตโนมัติว่า เขาไม่ควรจะเข้ามาใกล้รถขนาดนี้ เป็นยามคอยโบกรถถอยหลัง หรือดูทางให้ก็น่าจะพอ หากใครคิดจะให้เงินก็คงให้เอง ไม่ต้องมาไหว้ชิดกระจกขนาดนั้น มันดูเหมือนขอทานเกินไปหน่อย

ความที่ไม่รีบร้อนทั้งเห็นใจว่า เขาเป็นคุณลุงอายุมากแล้ว จึงกดกระจกลงมาพลางควานหาเศษเงินในกระเป๋า หมายจะให้เพื่อตัดรำคาญ

คุณลุงยามหยิบสมุดเก่าๆ เล่มหนึ่ง ยื่นให้แล้วพูดเบาๆว่า

“ขอลายเซ็นหน่อยครับ”

.

จริงๆ ลุงคงเห็นผมมาพักที่นี่ เฝ้ามอง และแอบชื่นชม

.

.

พอถึงตอนจะกลับ ก็คงเป็นโอกาสเดียวซึ่งเขาจะได้ขอลายเซ็นเก็บไว้เป็นที่ระลึก

เป็นเรานั่นเองที่ผิดพลาดทางความคิด

ผมหยิบปากกาเซ็นให้ด้วยความยินดี

พลางเตือนตัวเองอีกครั้ง ‘อย่ารีบคิดไปเองนักนะ’ โดยเฉพาะคิดมองคนอื่นๆในแง่ลบ

.

การขอลายเซ็นของคุณลุงยามเช้าวันนั้น เป็นปฏิกิริยาบวกซึ่งเรามีให้ต่อกัน ลุงได้ลายเซ็นเพิ่มพลัง ส่วนผมก็ได้พลังบวกเพิ่มก่อนไปทำงาน

แต่ละรอยยิ้ม แต่ละคำพูด แต่ละการกระทำของเรา ส่งผลต่อคนอื่นๆ รายรอบ แม้จะเล็กๆ น้อยๆ

เราต่างเป็นส่วนหนึ่งซึ่งจะต่อเติมหรือถ่ายเทพลังให้แก่กัน

กี่ครั้งกี่หนที่เราประเมินคนอื่นผิดพลาด เพียงเพราะขาดการสื่อสารอันดี และคิดไปเองว่า ถ้าอาจารย์เรียกพบก็คงจะทำผิดอะไรสักอย่าง ถ้าคนอื่นจับกลุ่มกัน เขาคงจะนินทาเราเป็นแม่นมั่น คำพูดนั้นเขาประชดประชันเรานี่นา ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเขาอาจจะไม่ได้คิดอะไรเลย

และที่สำคัญแม้เขาจะประชดประชัน แต่ถ้าเราไม่รับสารนั้นมามอบให้จิตวุ่นวาย ก็คล้ายจะไม่จำเป็นต้องเสียพลังกับคำนินทาหรือความไม่ชอบมาพากลเหล่านั้น

.

.

ในแต่ละวันแต่ละโอกาส หากเราสามารถมอบพลังเล็กๆ น้อยๆ ให้แก่ใครก็ตามที่ได้พบเจอก็ควรจะรีบทำทันที

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเราค้นพบบางสิ่งซึ่งเป็นพรสวรรค์ในตัวคนอื่น หรือเมื่อเล็งเห็นว่าเขามีทักษะพิเศษ ย่อมควรจะเอ่ยปากเพื่อบอกหรือกล่าวชม

.

ผมยังจำได้ว่า ย่าจะยินยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นจากค่าขนมเพื่อให้ผมไปซื้อหนังสือที่มีเนื้อเพลงของนักร้อง แม้คนอื่นอาจจะมองว่าฟุ่มเฟือย

หนังสือรวมเพลงเล่มละไม่กี่บาทก็จริง แต่การที่ย่ายอมให้เงินเป็นพิเศษนั่น เพราะย่าเพียรเห็นพรสวรรค์ในด้านการร้องเพลงของหลาน

อาก็เคยบอกว่าหลานเป็นคนใช้ภาษาได้ดี ตอนมีเหตุทำให้อาไม่ค่อยสบายใจผมไปกล่าวปลอบโยน อาโสภายังจำได้พอเจอหน้าจึงเอ่ยว่า ‘แม้ตอนนั้นหลานจะยังเป็นเด็กแต่ก็เลือกใช้วาจาซึ่งทำให้อารู้สึกดีขึ้นได้ อาจึงบอกว่าหลานน่าจะเป็นนักใช้ภาษาที่ดี’

ตอนเป็นนิสิตช่วงทำค่ายอาสา ได้ไปอยู่ฝ่ายการสอน ต้องสรรหาวิธีการต่างๆ เพื่อจะไม่ให้เด็กนักเรียนเบื่อ ทั้งคุยทั้งเล่นทั้งร้องเพลงกัน จนรุ่นน้องที่สอนด้วยกันพูดออกมาว่า ‘น้องเกื้อว่าพี่น่าจะเป็นศิลปินนะ’

คำพูดเล็กๆ น้อยๆ แต่ตรงประเด็นและชี้ให้เห็นพรสวรรค์ในตัวคนนั้นมีคุณค่ายิ่งนัก

อาจารย์สอนวิชาภาษาเพื่อการสื่อสาร ให้ผมเอางานเขียนไปอ่านหน้าห้องแล้วให้คะแนนบีบวก แต่นอกจากคะแนนแล้ว อาจารย์ยังอวยพร เขียนไว้ใต้กระดาษด้วยลายมือว่า ‘มีแววว่าจะเป็นนักเขียนที่ดี’

เหนือยิ่งกว่าคำทำนายของหมอดู คือคำอวยพรของครูบาอาจารย์มันส่งผล เป็นกำลังใจต่อการทำงานในแต่ละวันและสำคัญต่อการเลือกวิถี

ตั้งแต่อ่านคำชมจากอาจารย์ ผมก็กลายร่างเป็นนักเขียนไปครึ่งตัวแล้ว

กลับไปบ้านนอนตื่นเช้าขึ้นมา ผมก็พยายามจะเป็นนักเขียนที่ดี จากวันนั้นจนบัดนี้

และคุณครูคนที่ควรสำนึกในบุญคุณที่สุดในโลก ก็คือครูซึ่งเอามือลูบหัวแล้วพูดกับเราว่า ‘เธอเป็นเด็กหัวดี’

แม้ผมจะสอบได้คะแนนไม่ดี แต่เมื่อได้เชื่อไปแล้วว่าตัวเองเป็นเด็กหัวดี ชีวิตความคิดของผมก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่เหมือนก่อนหน้านั้นอีกเลย

การปฏิสัมพันธ์ต่อกันนั้น ส่งผลต่ออารมณ์ด้านบวกและลบของเรายิ่งเรามีโอกาสโอภาปราศรัยอยู่ในบรรยากาศที่เสริมส่ง ย่อมจะส่งผลเชื่อมโยง เป็นห่วงโซ่แห่งชีวิต

ไม่ใช่เพียงการพูดจาดีการฟังก็สำคัญไม่แพ้กัน

ยิ่งในยุคสมัยที่ต่างหมกมุ่นอยู่กับมือถือสมาร์ทโฟน อาการสนใจต่อมิตรสหายตรงหน้าก็น้อยลงโดยเราอาจจะไม่รู้ตัวว่า

ความสามารถทางการฟังของเรา ซึ่งแต่เดิมก็ใช่ว่าจะดีอยู่แล้วกลับแย่ลงอีก

ถ้าคุณเลือกแล้วว่าจะใช้เวลาอยู่กับใคร ก็ควรจะให้ความสนใจเขามากกว่าโทรศัพท์

การฟังเป็นการปฐมพยาบาลทางใจที่ดียิ่งนัก

ในแต่ละวันๆ เราจะถูกรบกวนจากเครื่องมือสื่อสารต่างๆ

เข้าออกหน้าจอมือถือ เข้าเน็ต เช็คข้อความ รับสาย เล่นไลน์ ดูเฟซฯ เซลฟี่ กดไลค์ หมุนเวียนไปมา นั่นอาจจะทำให้เรากลายเป็นคนจิตใจเลื่อนลอย จดจ่อแต่หน้าจอ จนขาดความสนใจไม่โฟกัสกับการงาน และนำมาซึ่งความถดถอยเลื่อนลอยของพลังงาน

การตัดขาดจากโลกโซเชี่ยลคงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การรักษาระยะห่างคงจะเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งทำให้เรารักษาพลังงานหรือเติมเต็มได้หากเชื่อมโยงกับมันอย่างเหมาะสม

ถ้าคุณเปิดดูเฟซบุ๊กแล้วเริ่มอิจฉาใคร ก็จงถอยออกมาบ้าง

เลือกโพสต์ข้อความที่ส่งผลดี ต่อตัวเองและคนอื่น

ส่วนที่อยากจะบ่นก่นด่า ขอแนะนำให้ใช้สมุดบันทึกส่วนตัว ขีดเขียนระบาย หรือแช่งให้ตายโหงตายห่าด่าหยาบคายแล้วสบายใจ ก็ลองเขียนลงในกระดาษ พับเก็บไว้ หรือจะเอาไปขยำทิ้งเผาก็ตามแต่

.

.

เคยมีจิตแพทย์บางรายแทนที่จะให้ยาผู้ป่วย กลับบอกผู้ป่วยว่าให้ไปเขียนความกลัดกลุ้มบนผืนทราย แล้วคอยดูเวลาคลื่นมันซัดขึ้นมา เขียนไปแล้วก็รอให้คลื่นซัดจนลบเลือน พร้อมฟังเสียงคลื่นซู่ซู่..สู้สู้

ส่วนคนที่เลือกเส้นทางศิลปะบำบัด ก็มีศาสตร์ทั้งวาดทั้งเขียนให้เราเลือก อย่าไปคิดว่าการบำบัดมีไว้สำหรับคนบ้า แค่เริ่มเครียดก็ควรบำบัดเสียก่อน ส่วนถ้าอาการหนักหนาจำต้องใช้การเยียวยา ก็อย่าเพิ่งไปกังวลว่าจิตแพทย์ต้องคู่กับโรคประสาทเสมอไป แค่อาการอ่อนล้าทางใจบางทีเราก็ต้องการตัวช่วย

โดยส่วนตัวแล้วผมมักบำบัดตัวเองด้วยการอ่านหนังสือ การหลุดเข้าไปในโลกของตัวอักษรและตัวละคร ช่วยให้นำมาเป็นบทเรียน หรือบางทีจินตนาการซึ่งเรามีต่อภาษาสวยๆ ก็ช่วยยกระดับจิตใจ เติมเต็มส่วนที่บกพร่องของเราได้

การสืบค้นประวัติของผู้คนต่างๆ อาจเป็นชีวิตจิตใจของคนซึ่งเคยล้มเหลว เคยผ่านประสบการณ์ละม้ายคล้ายหรือต่างจากเรา คนเหล่านั้นเขาผ่านพ้นช่วงชีวิตแต่ละห้วงขณะนั้นมาได้อย่างไร

ปัจจุบันมีศาสตร์ที่เรียกว่า‘บรรณบำบัด’เกิดขึ้น ใช้กับผู้คนอ่อนล้าหรือมีปัญหาทางใจ บรรณารักษ์ก็จะแนะนำหนังสือที่พอเหมาะกับสภาพจิตใจตอนนั้นให้นำกลับไปอ่าน เป็นงานอันมีคุณค่า ทั้งน่าสนใจยิ่ง

.

การได้ทำงานที่เราชอบกับคนที่เรารัก ย่อมเป็นอุดมคติ

.

.

แต่ในความเป็นจริง งานที่เราชอบอาจต้องทำกับคนที่เราไม่ค่อยรัก หรือกับคนที่เรารักกลับเป็นงานที่เรายังไม่ชอบ

จำเป็นอย่างยิ่งว่าเราต้องมองเป้าหมายของงานหรือกิจกรรมซึ่งมีเราเป็นส่วนหนึ่งนั้น มองให้เห็นเป็นภารกิจที่ดีต่อโลกใบนี้ ยิ่งเห็นเป้าหมาย ยิ่งเราเห็นคุณค่าดีๆ ในเนื้องาน

ยามเมื่อเราเหนื่อยล้า เป้าหมายจะกลายเป็นพลังให้เราอยากทำต่อ

การงานอันมีเป้าหมายชวนชื่นใจ ทำแล้วเห็นคุณค่าว่าได้ประโยชน์ต่อใครๆ นั่นแหละที่ทำให้เราเกิดพลังใจยิ่งๆ ขึ้นไป

ลองนึกถึงการชาร์จแบตโทรศัพท์ที่ใช้จนใกล้หมดแล้วค่อยนำมาชาร์จ เทียบกับแบตเตอรี่รถซึ่งเมื่อขับเคลื่อนเครื่องยนต์ยิ่งวงล้อหมุนไป แบตเตอรี่ก็ทำการชาร์จไฟไปด้วยในตัว

การจอดทิ้งไว้ต่างหากที่ทำให้แบตเตอรี่หมดไฟ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0