โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เคล็ดลับสุขภาพจิตดี ที่นักจิตวิทยาบำบัดแอบกระซิบบอกมา

LINE TODAY

เผยแพร่ 02 ก.ค. 2565 เวลา 17.00 น. • @mint.nisara

สุขภาพจิตดี มีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะไม่ใช่แค่เราจะเข้มแข็งมาจากหัวใจ แต่ยังทำให้ภูมิต้านทานในการต่อสู้กับโลกภายนอกที่โหดร้ายขึ้นทุกวันแข็งแกร่งขึ้นด้วย LINE TODAY เลยขอรวบรวมเอาเคล็ดลับความสุขและวิธีเสริมความแข็งแรงให้จิตใจและอารมณ์ที่นักจิตวิทยาบำบัดนิยมใช้มาบอกต่อ

ใครที่กำลังรู้สึกเครียดหรือหงุดหงิดกับเรื่องบางอย่างในชีวิต ลองอ่านแล้วนำไปปรับใช้ดูได้ เพราะสุขภาพใจของเราก็สำคัญไม่แพ้ร่างกายเลยนะ!

1 | เมื่อไรที่เครียดให้เขียนความในใจออกมา

นักจิตวิทยาส่วนมากจะแนะนำให้เราระบายอารมณ์ที่แย่หรือความรู้สึกลบ ๆ โดยการเขียน เหตุผลหลัก ๆ เป็นเพราะว่าหน้ากระดาษไม่ตัดสินคุณ คุณสามารถมีเวลาตรงนี้ในการเททุกอย่างในใจออกมาโดยที่ไม่ต้องกลัวว่าปลายทางจะรู้สึกโอเคกับเรื่องของคุณหรือเปล่า หรือเขาจะเซ็งกับการรับฟังคุณไหม กระดาษกับปากกานี่ล่ะ เลยเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดคนหนึ่ง

2 | รู้จักตัวเองให้ดี

ความเครียดที่เกิดขึ้นได้ง่ายรูปแบบหนึ่งคือเกิดจากการที่ต้องทำอะไรที่บังคับฝืนใจตัวเอง การรู้จักตัวเองให้ดีและทำตามใจตัวเองบ้างในบางครั้งก็ถือเป็นเคล็ดลับสู่สุขภาพจิตที่ดีอย่างหนึ่ง เชื่อมั่นในจุดยืนและรู้จักการปฏิเสธจะช่วยให้คุณกำจัดความเครียดในบางสถานการณ์ออกไปได้

3 | รู้จัก ‘ให้’

เป็นเรื่องที่เราอาจจะคิดไม่ค่อยถึงกันแต่รู้ไหมว่าการให้ ไม่ว่าจะเป็นโดยการเข้าร่วมโครงการอาสาสมัครอย่างจริงจัง หรือง่ายกว่านั้นแค่บริจาคของหรือช่วยเหลือคนรอบ ๆ ตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีชองการบำบัดที่ดีมาก ๆ นอกจากจะทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้นแล้ว การได้เห็นปัญหาของคนอื่นที่หนักหนากว่าอาจจะเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุกให้เรานึกขึ้นได้ว่าไม่ใช่เราที่แบกความทุกข์เอาไว้คนเดียว แต่ความทุกข์เป็นธรรมชาติสำหรับชีวิตมนุษย์ทุกคนที่ต้องเผชิญ

4 | เวลาความคิดแง่ลบโผล่ขึ้นมา ให้เขียน “สิ่งดี ๆ ในชีวิต 2 อย่าง” ลงในกระดาษ

แบบฝึกหัดที่จะช่วยทำให้อารมณ์โกรธหรือหงุดหงิดเบาลงไปได้ ซึ่งมันก็จริงนะ เวลาคุณรู้สึกดาวน์ แค่คิดถึงการมีแฟนที่ดี มีพ่อแม่ที่รักคุณ หรือแม้กระทั่งมีร้านข้าวไข่เจียวอร่อย ๆ อยู่ใกล้ออฟฟิศ มันก็ช่วยทำให้คุณผ่อนคลายได้มากขึ้นแล้ว คุณหมออลิเชีย คลาร์ก แพทย์จิตวิทยาบำบัดชาวอเมริกันบอกเอาไว้ว่า “ความรู้สึกขอบคุณคือเครื่องมือหนึ่งที่ฉันใช้กับคนไข้ โดยเฉพาะเวลาที่เขาคนนั้นรู้สึกแย่ไปกับทุกสิ่งอย่างรอบ ๆ ตัว”

5 | นอนหลับอย่างมีคุณภาพ

การนอนส่งผลที่สัมพันธ์กับทั้งร่างกายและจิตใจ ลองสังเกตดูว่าถ้าวันไหนนอนไม่พอปุ๊บ คุณจะรู้สึกหงุดหงินงุ่นง่านใจเป็นพิเศษเลย คำแนะนำของนักบำบัดก็คือนอนหลับให้เพียงพอและนอนให้มีคุณภาพ เคล็ดไม่ลับก็คือการเคลียร์ความคิดที่วุ่นวายออกไป เข้านอนด้วยหัวโล่ง ๆ คิดกับตัวเองแค่ว่าถ้าคุณกังวลกับเรื่องอะไร ในฝันคุณก็แก้ปัญหานั้นไม่ได้อยู่ดี ลองเปิดเพลงที่คุณชอบฟังก่อนนอน อ่านหนังสือหรือสวดมนต์ ทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ความคิดอยู่โหมดสงบ ตื่นมาวันถัดไป คุณจะรู้สึกเลยว่าวิธีนี้ดีต่อใจมาก ๆ แหละ

6 | อย่าแบกรับทุกอย่างเอาไว้ที่ตัว

อีกข้อหนึ่งที่ มะเฟือง นักจิตวิทยาบำบัดจากเพจ Beautiful Madness by Mafuang และนักเขียนประจำคอลัมน์ TALK TODAY ของเราบอกมาก็คืออย่าแบกรับทุกอย่างเอาไว้ โดยเฉพาะเวลาที่ผิดหวังหรือเสียใจ ให้เชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำดีที่สุดแล้วและสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมดีเสมอ ไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เราก็ได้เรียนรู้อะไรสักอย่างจากเหตุการณ์นั้น เพราะฉะนั้นอย่ากดดันตัวเองจนเกินไปจนรู้สึกว่าทุกอย่างนั้นหนักไปหมด ปล่อยชิลบ้างก็ได้!

อ้างอิง

- Self.com

- Talkspace.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0