โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

หากเธอให้อภัยได้ ทำไมคุณจะทำไม่ได้ - นิ้วกลม

THINK TODAY

อัพเดต 03 ส.ค. 2561 เวลา 09.35 น. • เผยแพร่ 13 ก.ค. 2561 เวลา 03.32 น. • นิ้วกลม

ที่แห่งนั้นไม่ต่างอะไรกับนรก

อีวา โมเซส กอร์ และครอบครัวของเธอถูกนำตัวจากเมืองเล็กๆ ในโรมาเนียขึ้นรถบรรทุกสัตว์มุ่งหน้าสู่ค่ายกักกันเอาช์วิตซ์ ค่ายเชลยศึกช่วงสงครามโลกครั้งที่สองของนาซีที่ขึ้นชื่อว่าโหดร้ายทารุณอย่างที่สุด ทันทีที่ลงจากรถ มนุษย์ทุกคนจะถูกคัดแยกว่าจะควรมีชีวิตอยู่ต่อไปหรือควรถูกกำจัดไปเสีย

อีวาเป็นเพียงเด็กน้อยวัยสิบขวบ เธอถูกต้อนลงจากรถบรรทุกสัตว์ท่ามกลางความอลหม่าน ทันทีที่เท้าแตะพื้น เธอหันมองบรรยากาศรอบตัวด้วยความงุนงงว่านี่มันคือที่ไหนกัน เกิดมาไม่เคยพบเคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน ทหารนาซีตวาดเสียงดัง หมาตัวใหญ่เห่าดังลั่น ความโหดร้ายก่อร่างอากาศแห่งความหวาดกลัวไปทั่วบริเวณ ทันทีที่หันกลับมา อีวาพบว่าพ่อกับพี่สาวอีกสองคนถูกพรากหายไปแล้ว!

เหลือเพียงแม่กับมิเรียม-พี่สาวฝาแฝดของเธอ ทั้งคู่กอดแม่ไว้แน่น ทันใดนั้นทหารนาซีคนหนึ่งก็ชี้มาที่เธอแล้วตะโกนลั่นว่า “เฮ้ย ฝาแฝด” แม่หันไปถามว่า “ฝาแฝดแล้วดีไหม” นาซีตอบว่า “ดีสิ ดีเลย” นั่นคือวินาทีสุดท้ายที่ทั้งคู่ได้เห็นหน้าแม่ พวกเธอถูกพรากจากกันทันที และเป็นการจากกันตลอดชีวิต

แฝดสิบขวบสองคนถูกจับไปเข้าการทดลองของหมอโจเซฟ แมงเกลลา ผู้ได้ฉายาว่า “เทวดาแห่งความตาย” หน้าที่ของเขาคือการทดลองเพื่อหาวิธีเพิ่มจำนวนประชากรเชื้อชาติอารยัน

ฝาแฝดมากมายถูกจับเป็นหนูทดลอง จันทร์ พุธ ศุกร์ ถูกขังไว้ในห้องในสภาพเปล่าเปลือย แปดชั่วโมงต่อวัน หมอนาซีทำการวัดขนาดทุกส่วนของร่างกายเทียบกับฝาแฝดแล้วจดไว้ อังคาร พฤหัสฯ เสาร์ เจาะเลือดไปตรวจ แล้วฉีดยาเข้าร่างห้าเข็ม อีวาไม่รู้ว่ามันคือสารเคมีอะไร รู้เพียงว่าเมื่อฉีดเข้าไปแล้วแขนของเธอบวม ปวดร้าว และเกิดอาการแสบร้อนเมื่อถูกแสงแดด กระทั่งล้มป่วยลงและแทบจะเอาชีวิตไม่รอด

ครั้งหนึ่งเธอถูกแยกจากพี่สาวฝาแฝด เมื่อกลับมาก็พบว่าพี่สาวนั่งเหม่อลอย ไร้ความรู้สึก อีวาพยายามถามว่าพวกนาซีทำอะไรกับเธอ แต่พี่สาวบอกกับเธอว่าเราจะไม่พูดถึงเรื่องนี้กัน แล้วพวกเธอก็ไม่เคยพูดถึงเรื่องนั้นกันอีกเลยนานหลายสิบปี                                 

12 มกราคม 1945 อีวาและมิเรียมได้รับการปล่อยตัวให้เป็นอิสระโดยกองทัพโซเวียต วันเวลาผ่านไป หลังจากมิเรียมมีลูกสองคน เธอล้มป่วยและตรวจพบว่าผลข้างเคียงจากสารเคมีที่ฉีดเข้าร่างกายเธอทำให้ไตของมิเรียมไม่โตขึ้นเลยจากขนาดไตของเด็กสิบขวบ

อีวาขอร้องมิเรียมว่าได้โปรดอย่ามีลูกอีก เพราะการมีลูกแต่ละครั้งนั้นเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการเสียชีวิต แต่แล้วมิเรียมก็มีลูกคนที่สาม ไตของเธออาการแย่ลงเรื่อยๆ สุดท้ายก็ไตวาย อีวาบริจาคไตหนึ่งข้างให้มิเรียมด้วยเหตุผลว่า “ฉันมีไตสองข้าง แต่มีพี่สาวแค่คนเดียว”

กระนั้นก็ตาม, หลังจากนั้นหนึ่งปี มิเรียมก็จากโลกนี้ไปด้วยโรคมะเร็งซึ่งอาจเป็นผลจากสารเคมีที่ถูกฉีดเข้าร่างกายที่ค่ายกักกันเอาช์วิตซ์ กระทั่งถึงวันนี้เธอยังไม่รู้เลยว่าหมอแมงเกลลาฉีดสารอะไรเข้าร่างของพวกเธอบ้าง

หลังจากมิเรียมจากไป อีวาได้รับการติดต่อจากบอสตันเพื่อให้ไปบรรยายเกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตของเธอที่นั่น แถมยังบอกอีกว่าน่าจะดีถ้าเธอสามารถพาตัวแทนของแพทย์นาซีไปด้วยกัน อีวานึกขึ้นได้ว่าในสารคดีล่าสุดที่สร้างโดยชาวเยอรมัน มีแพทย์นาซีคนหนึ่งที่ยังรอดชีวิตอยู่ เธอจึงลองติดต่อไป คุณหมอคนนั้นไม่อยากไปบอสตัน แต่เชิญให้เธอไปที่บ้านของเขาในเยอรมนี

ปี 1993 อีวาเดินทางไปพบหมอมุนช์ที่บ้านของเขา เธอถามเขาว่าในฐานะที่เคยอยู่ในค่ายเอาช์วิตซ์ คุณเคยเดินผ่านห้องรสแก๊สพิษที่ให้สังหารเชลยศึกหรือไม่ เคยเข้าไปในนั้นบ้างไหม รู้ไหมว่าเขาจัดการเชลยยังไง หมอมุนช์ได้แต่พยักหน้านิ่งเงียบ แล้วบอกกับอีวาว่า “ใช่ นี่คือฝันร้ายที่หลอกหลอนผมอยู่ทุกวัน มันหลอกหลอนผมมาตลอดชีวิต”

หมอมุนช์ทำหน้าที่ตรวจดูการรมแก๊สพิษ เขายืนอยู่ข้างนอกระหว่างที่แก๊สถูกปล่อยออกมาสังหารผู้คน แล้วมองเข้าไปตามช่องเล็กๆ เพื่อดูนาทีวิกฤตที่เชลยทั้งหลายค่อยๆ สิ้นลมหายใจตายอย่างทรมาน แล้วทำหน้าที่เซ็นเอกสารตรวจ ‘จำนวน’ คนตายโดยไม่มีชื่อเสียงเรียงนามแม้แต่คนเดียว

หลังการพูดคุย อีวาชวนหมอมุนช์ไปที่เอาช์วิตซ์ หลังเหตุการณ์ผ่านมาห้าสิบปี เธอยื่นเอกสารคำสารภาพให้เขาเซ็นหน้าห้องรมแก๊สพิษ เขารับปากและเซ็นเอกสารรับสารภาพ อีวาบอกว่า หากใครมาบอกกับฉันว่าเหตุการณ์ที่เอาช์วิตซ์ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ฉันจะยื่นเอกสารนี้ใส่หน้าคนคนนั้น

อีวารู้สึกขอบคุณหมอนาซีที่เซ็นเอกสารนั้นให้ แต่เธอไม่มีทางขอบคุณนาซี และเธอไม่มีวันบอกความรู้สึกนี้กับใครว่าเธอรู้สึกขอบคุณหมอนาซีคนหนึ่ง

สิบเดือนผ่านไป มีความคิดหนึ่งผุดขึ้นในหัวอีวา “จะเป็นยังไงนะ ถ้าฉันส่งจดหมายให้อภัยไปให้หมอมุนช์” เธอคิดว่ามันต้องดีมากแน่ๆ และน่าจะเป็นของขวัญที่มีความหมายสำหรับเขา คิดดูสิ ผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันส่งจดหมายให้อภัยหมอนาซี

ไม่เพียงแค่คิด เธอลงมือเขียนจดหมายฉบับนั้น โดยใช้เวลาทั้งสิ้นสี่เดือน ระหว่างเขียนเธอพบความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง พบว่าชีวิตของเธอเปลี่ยนไปสิ้นเชิง “ฉันพบว่าฉันมีพลังในการให้อภัย เป็นพลังที่ไม่มีใครหยิบยื่นให้กับฉันได้ และไม่มีใครเอาไปจากฉันได้ มันคือพลังของฉันล้วนๆ ฉันสามารถใช้มันได้ตามใจปรารถนา”

แม้พูดภาษาอังกฤษคล่องแคล่ว แต่เรื่องตัวสะกดและการเขียน อีวาไม่แน่ใจนัก เธอจึงรบกวนอาจารย์ท่านหนึ่งให้ช่วยตรวจทาน อาจารย์ท่านนั้นได้อ่านแล้วบอกกับเธอว่า “นี่เป็นเรื่องที่ดีงามเหลือเกิน แต่ปัญหาที่อยู่ในใจเธอไม่ใช่ปัญหากับหมอมุนช์ หากคือปมในใจกับหมอแมงเกลลาต่างหาก” อาจารย์ท่านนั้นอยากให้เธอให้อภัยหมอแมงเกลลา แต่อีวาบอกว่าเธอยังไม่พร้อมให้อภัย อาจารย์จึงขอร้องให้เธอทำอะไรสักอย่าง นั่นคือให้เธอลองกลับบ้านไป แล้วแสร้งทำเหมือนว่าหมอแมงเกลลาอยู่ในห้องเธอ แล้วลองพูดให้อภัยเขา ลองดูสิว่าเธอจะรู้สึกอย่างไร

อีวาเห็นว่าเป็นความคิดที่ไม่เลว แต่สิ่งที่เธอทำเมื่อกลับไปถึงบ้านกลับตรงกันข้ามกับคำแนะนำ เธอเปิดดิกชันนารีแล้วไล่ลิสต์ถ้อยคำอันน่ารังเกียจนับยี่สิบคำ อ่านตะโกนออกมาด้วยเสียงดังลั่น เหมือนตะเบ็งใส่หน้าหมอแมงเกลลา จากนั้นเธอก็บอกกับหมอแมงเกลลาในจินตนาการว่า “แม้จะรู้สึกแบบนั้นทั้งหมด แต่ฉันให้อภัยคุณ”

ปรากฏว่า…เธอรู้สึกดีมากๆ                                 

หลังจากเหตุการณ์นั้น อีวาเดินทางไปที่ค่ายเอาช์วิตซ์อีกครั้งกับหมอมุนช์ คุณหมอพาลูกชาย ลูกสาว และหลานไปด้วย ส่วนอีวาพาลูกชายกับลูกสาวไป แล้วเธอก็ยืนอ่านประกาศนิรโทษกรรมพร้อมเซ็นเอกสารนั้นกับหมอมุนช์ เป็นสัญลักษณ์ของการอโหสิกรรม

“ฉันรู้สึกเป็นอิสระ” เธอกล่าว “ฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นอิสระจากเอาช์วิตซ์ เป็นอิสระจากหมอแมงเกลลา การให้อภัยคือการกระทำที่ปลดปล่อยตัวเอง เยียวยาตัวเอง เติมพลังให้ตัวเอง จากคนที่เป็นเหยื่อ เต็มไปด้วยความเจ็บปวด สิ้นหวัง ไร้เรี่ยวแรง ฉันกลับมาเป็นคนควบคุมชีวิตตัวเองอีกครั้ง”

“การให้อภัยเป็นอำนาจที่อยู่ในตัวเราทุกคน” นั่นคือสิ่งที่อีวา-อดีตเด็กสิบขวบที่ถูกนำไปเป็นหนูทดลองของนาซี และสูญเสียครอบครัวทั้งหมดด้วยฝีมือนาซี-ย้ำเตือนกับเรา

“จำไว้ว่า เราเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ นั่นคือเรื่องเจ็บปวด แต่เราสามารถเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของเราที่มีต่อมันได้”

เธอบอกว่า แม้คู่กรณีของเราอาจไม่คู่ควรต่อการให้อภัย แต่ตัวเราเองนั่นแหละที่คู่ควรต่อการให้อภัย เราให้อภัยเพื่อจะได้กลับมาเป็นอิสระจากความแค้นที่แบกไว้บนบ่ามาเนิ่นนาน การให้อภัยคือการปฏิเสธที่จะเป็นเหยื่อของเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้น

เมื่อรับทราบเรื่องราวทั้งหมดในชีวิตของเธอ และรับรู้ว่าเธอสามารถให้อภัยกับผู้ที่กระทำกับเธอได้ ผมไม่เหลือเหตุผลใดๆ เลยที่จะไม่ให้อภัยกับใครก็ตามที่สร้างบาดแผลหรือความเจ็บแค้นให้กับตัวเองในอดีต แผลของเธอปวดร้าวกว่ามากมายนัก แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับผลลัพธ์ที่ได้เห็นจากการให้อภัยของเธอ

อิสรภาพจากความเคียดแค้นชิงชัง—นั่นเป็นสิ่งที่เราทุกคนคู่ควรจะได้รับมัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0