โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สะเทือนทั้งโลก! รู้จัก 'Youthquake' พลังคนรุ่นใหม่ที่สั่นไหวการเมืองหลายประเทศ

LINE TODAY ORIGINAL

เผยแพร่ 09 ก.ย 2563 เวลา 17.00 น. • AJ.
ภาพโดย annie bolin / unsplash.com
ภาพโดย annie bolin / unsplash.com

หลังกิจกรรมชุมนุมนักเรียน #หนูรู้หนูมันเลว ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ 

หลายคนเริ่มให้ความสนใจกับความเคลื่อนไหวของเด็กนักเรียน และคนรุ่นใหม่ ที่ต่างออกมาเรียกร้องและส่งเสียงเพื่อสิทธิของตัวเองอย่างฉะฉาน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นของกฎระเบียบในโรงเรียน ระบบการศึกษา ไปจนถึงประชาธิปไตย ทำให้เรานึกคำว่า 'Youthquake' ขึ้นมา (ออกเสียงว่า 'ยูธเควก' เป็นการผสมคำระหว่างYouth ที่แปลว่า เยาวชน และ Earthquake ที่แปลว่า แผ่นดินไหว ) ว่าแต่ Youthquake คืออะไร? และมันแน่ขนาดจะสั่นสะเทือนโลกทั้งใบได้เชียวหรือ?

ในปี 2017 คำว่า 'Youthquake' ถูกยกให้เป็นคำศัพท์แห่งปีจาก Oxford Dictionaries โดยมีนิยามว่า "การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม การเมือง หรือสังคม ที่ถูกขับเคลื่อนหรือได้รับแรงบันดาลใจจากเยาวชน"

ปรากฏการณ์ที่มี "เยาวชน" เป็นศูนย์กลางกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ปัจจัยหนึ่งอาจมาจากการที่หลายประเทศเริ่มมีนักการเมืองหรือนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่มากขึ้น เริ่มจากประธานาธิบดีฝรั่งเศสแอมมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) อายุ 41 ปี จาซินดา อาร์เดิร์น (Jacinda Ardern) นายกฯ นิวซีแลนด์ที่เราเห็นจากไวรัลในอินเทอร์เน็ตบ่อย ๆ (40 ปี) และที่ขาดไม่ได้คือ น้องเกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) วัย 17 ปี ที่ทุกคนน่าจะจดจำได้จากมาดขึงขังจริงจังกับภาวะโลกร้อนตามสื่อต่าง ๆ

ใกล้เข้ามาหน่อยก็คงหนีไม่พ้น#พันธมิตรชานม (Milk Tea Alliance) ที่รวมกลุ่มวัยรุ่นจากไต้หวัน ฮ่องกง และวัยรุ่นไทย โดยมีชานมของแต่ละประเทศเป็นสัญลักษณ์ พันธมิตรชานมเริ่มต้นจากดราม่าที่มีนักแสดงไทยคนหนึ่งเรียก "ฮ่องกง" ว่าประเทศ ตามมาด้วยการถูกโจมตีจากชาวจีนในนโยบาย "จีนเดียว" ว่าด้วยทั้งฮ่องกงและไต้หวันไม่ใช่ประเทศ แต่เป็นส่วนหนึ่งของจีน เดือดถึงชาวเน็ต ไทย ไต้หวัน และฮ่องกง ที่จับมือกันคัดค้านชาวเน็ตจีนอย่างสามัคคี รวมถึงกรณี #แบนมู่หลาน เมื่อไม่นานนี้ ที่กลุ่มพันธมิตรชานมก็ร่วมกันต่อต้านหนังดังเรื่องดังกล่าว ด้วยเหตุผลที่นักแสดงนำของเรื่องเคยออกมาสนับสนุนจีนเดียว และต่อต้านการประท้วงของชาวฮ่องกง

หรือแม้กระทั่งในการผลักดันเรื่องแก้รัฐธรรมนูญและยุบสภา ที่กำลังระอุในไทย ก็มีการขับเคลื่อนโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง "เยาวชนปลดแอก" ในขณะที่ฝั่งรัฐบาลก็มีคนรุ่นใหม่อย่าง "คชโยธี เฉียบแหลม" วัยรุ่นอายุ 15 ปี ที่ขึ้นแสดงความคิดเห็นบนเวทีของกลุ่ม"ไทยภักดี" ด้วย

การเคลื่อนไหวของเยาวชนยุคนี้ยังมีจุดเด่นไม่เหมือนใคร จุดประสงค์ของแต่ละการชุมนุมก็ค่อนข้างหลากหลาย ไม่ยึดติดอยู่ที่การ "ลงถนน" เพียงอย่างเดียวเหมือนที่คนรุ่นก่อน ๆ เคยทำอีกต่อไป ลองดูตัวอย่างกลยุทธ์ที่คนรุ่นใหม่ทำแล้วสั่นสะเทือนสังคมกันบ้าง

  • พา "ทัวร์ลง" ในโซเชียลมีเดีย

การช่วยกันถล่มหรือพากัน "แบน" บุคคลหรือสิ่งใด ๆ ที่ขัดต่อแนวคิดของกลุ่มผู้เรียกร้องทางโซเชียลมีเดีย ดูเหมือนจะเป็นไม้ตายสำคัญในทุกการเคลื่อนไหว ตั้งแต่มูฟเมนต์ #BlackLivesMatter ไล่มาถึง#ป่ารอยต่อ จนถึงการแบนคนในวงการบันเทิงเช่นเดียวกับกรณี #แบนมู่หลาน

  • ใช้ "วัฒนธรรมป๊อป" ขับเคลื่อน

ทราบไหมว่าท่าชูสามนิ้วมาจากไหน? ที่จริงท่าชูสามนิ้วมีที่มาจากวรรณกรรมและภาพยนตร์เรื่อง เดอะฮังเกอร์เกมส์ (The Hunger Games) ในบริบทของการไม่จำยอมต่อการปกครองที่ไม่ยุติธรรมตามท้องเรื่อง ไล่เรียงมาถึง "ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์" ที่ใช้ "ลอร์ดโวลเดอร์มอร์" ตัวร้ายของเรื่องอุปมาถึงความไม่ถูกต้อง "ม็อบแฮมทาโร่" ที่แปลงเนื้อเพลงเพื่อเสียดสีรัฐบาล จนถึง "ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล" มีธีมจากหนังไทยเรื่อง "หอแต๋วแตก" ที่เรียกร้องสิทธิของ LGBTQ+ ไปพร้อม ๆ กับประชาธิปไตย ทั้งหมดล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากสื่อบันเทิงสมัยใหม่ที่คนรุ่นใหม่เสพ และนำมาสื่อสารอย่างเข้าใจง่าย แต่ก็ตลกร้ายในคราวเดียวกัน

ตั้งแต่ช่วงโควิด19 จนถึงวันนี้ เชื่อว่าหลายคนเห็นการเรียกร้องสิทธิของวัยรุ่นมาหลายต่อหลายประเด็น อย่างหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จาก Youthquake คือคนรุ่นใหม่มีพลังไม่สิ้นสุด และต่างตระหนักรู้ถึง "เสียง" อันหนักแน่นของตนเอง ก็เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่อย่างเราแล้ว ว่าจะเลือกรับฟัง โต้เถียง และช่วยกันแก้ปัญหาอย่างเป็นเหตุเป็นผลอย่างไร

-

อ้างอิง

the101.world

adaybulletin.com

usatoday.com

globalvoices.org

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0