โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วันที่ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร ลองให้การเขียนเป็นนักบำบัดจิตใจประจำตัว - หมอเอิ้น พิยะดา

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 13 พ.ค. 2563 เวลา 08.29 น. • หมอเอิ้น พิยะดา
ขอบคุณภาพจาก Green Chameleon / unsplash.com
ขอบคุณภาพจาก Green Chameleon / unsplash.com

“คนไม่น่าสงสารคนหนึ่ง ที่ไม่มีใครคิดถึง

รู้มั้ยน่าสงสารสักเท่าไร

อยากจะร้องไห้ก็ต้องยิ้ม ให้ไม่รู้ร้องยังไง

คนไม่น่าสงสารคนหนึ่งที่ไม่มีใครคิดถึง

เพราะไม่เคยยอมรับว่าหัวใจ

ทั้งอ่อนแอและอ่อนไหว ฉันอ่อนแอและอ่อนไหวแต่เธอไม่เคยรู้เลย”

( บางท่อนของเพลง "คนไม่น่าสงสาร"ร้องโดย แอน ธิติมา อัลบั้ม Club Fridayby เอิ้น พิยะดา )

เพลงนี้หมอเขียนไว้หลายปีแต่ในช่วงเวลานี้กลับนึกถึงเพลงนี้บ่อยครั้ง และเมื่อได้นั่งทบทวนถึงบทเรียนของบทเรียนจากการเขียนเพลงก็พบว่า แม้ว่าเทคโนโลยีจะไปไกลมากสักเท่าไร แต่ทุกครั้งที่จะต้องเขียนเพลงหรือบทความ ที่จะต้องสะท้อนถึงความคิด ความรู้สึก หรือบทเรียนชีวิตที่ได้รับ การใช้กระดาษกับดินสอหรือปากกาในการเขียนยังคงเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้การเขียนครั้งนั้นมีผลต่อจิตใจ

 การเขียนเพลงกลายเป็นจิตแพทย์ประจำตัวของหมอเองอย่างไม่รู้ตัวนานกว่า 20 ปี เพิ่งจะมาไขข้อข้องใจว่าเพราะอะไร ความเครียด ความเหนื่อยล้าจึงผ่อนคลายทุกครั้งที่ได้เขียนก็ตอนได้มาเรียนรู้เรื่องของการทำจิตบำบัด

เวลาที่ใครคนหนึ่งมีความทุกข์ใจเครียดจนต้องเดินมาพบจิตแพทย์ สิ่งสำคัญที่จิตแพทย์ต้องดูแลไม่ใช่แค่การให้ยาคลายเครียดเท่านั้น แต่ต้องเรียนรู้ที่มาที่ไปของความเครียด รวมถึงชีวิตของคนคนนั้นด้วย

ซึ่งเริ่มต้นจาการตั้งคำถามโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำความเข้าใจ การที่คนมาขอรับคำปรึกษาได้ตอบคำถามเกี่ยวกับตัวเอง โดยไม่ต้องกังวลว่าคนฟังจะตัดสินว่าถูกหรือผิด จะมองเราดีหรือไม่ และสามารถการพูดถึงความรู้สึก ความคิด ความต้องการ ความคาดหวังของตัวเองอย่างรื่นไหล จนเริ่มเข้าใจความเครียดและความเป็นตัวตนของตัวเองไปพร้อมกับแพทย์ สุดท้ายความเครียดนั้นเบาบางลงและรู้ว่าจะทำอย่างไรให้ไม่เครียดเรื่องนี้อีก นี่คือปลายทางของการทำจิตบำบัด ( จิตบำบัดเป็นทักษะที่จิตแพทย์ทุกคนถูกฝึกฝนมาพร้อมกับการรักษาโรค แต่หากว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากหรือเวลาจำกัด จิตแพทย์อาจทำงานร่วมกับนักจิตวิทยาในส่วนนี้เพื่อช่วยกันดูแลผู้ป่วย) แต่วันนี้จากสถานการณ์โควิด 19 ทุกคนต่างมีความเครียด และโรงพยาบาลกลายเป็นสถานที่เสี่ยงต่อร่างกาย การไปพบจิตแพทย์หรือนักบำบัดอาจไม่ใช่เรื่องง่าย การเขียนจึงเป็นอีกวิธีที่จะช่วยบำบัดจิตใจเราเบื้องต้นได้ด้วยตัวเราเอง

การเขียนเพื่อบำบัดจิตใจต่างจากการเขียนโดยทั่วไปอย่างไร?

  • การเขียนทั่วไปเป็นการบันทึกความทรงจำหรือจิตนาการ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายแน่นอน

การเขียนบำบัดมีจุดมุงหมายแน่นนอน เพื่อการระบายความรู้สึกอึดอัดใจหรือทำความเข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้น

  • การเขียนทั่วไปเน้นบรรยายที่เหตุการณ์ 

การเขียนบำบัดเน้นที่ผลกระทบของเหตุการณ์ที่มีต่อความรู้สึกและความคิด

  • การเขียนทั่วไปไม่ต้องการผลลัพธ์

การเขียนบำบัดต้องการผลลัพธ์คือเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและได้การเรียนรู้กับตัวเองเพื่อนำไปปรับใช้กับชีวิต

 เริ่มต้นการเขียนบำบัดใจอย่างไรดี?

ตั้งใจ การเริ่มเขียนไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะไม่ใช่สิ่งที่เราคุ้นเคย การเริ่มครั้งแรกอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก ดังนั้นต้องอาศัยการเริ่มต้นด้วยการตั้งใจว่าเราจะเขียนเพื่อตัวเราเอง

เตรียมตัว การเขียนบำบัดใจเราต้องอยู่ในภาวะที่พร้อมจะเปิดใจให้ตัวเอง ดังนั้นนอกจากกระดาษกับปากกาที่พร้อมแล้ว เราควรเลือกสถานที่ที่เรารู้สึกสงบ ปลอดภัย ไร้การรบกวนจากปัจจัยภายนอก ในเวลาที่เราสามารถอยู่กับตัวเองได้อย่างเต็มที่

เตรียมใจ ข้อนี้สำคัญมากๆ เพราะถ้าเราไม่เตรียมใจเพื่อที่จะเปิดใจกับตัวเองแล้ว การเขียนครั้งนั้นจะกลายเป็นแค่การบันทึกประจำวันธรรมดา สิ่งที่เราต้องเตรียมใจก่อนเขียนคือ

  • เรามีสิทธิ์คิดและรู้สึกได้ทุกอย่าง (แม้ว่าเราจะเคยถูกสอนว่าไม่ควรคิดแบบนี้)
  • ไม่มีใครตัดสินเราหรือมองว่าเราไม่ดี ยกเว้นตัวเองเอง
  • ไม่มีคำตอบถูกผิดสำหรับการเขียน ทุกอย่างเป็นไปได้
  • ไม่มีใครอ่านสิ่งที่คุณเขียนได้นอกจากคุณจะอนุญาต

กลับไปทบทวนทุกครั้งที่เขียนเสร็จ ว่าได้เรียนรู้อะไร

W = What? เราต้องการระบายเรื่องอะไร ? อาจเขียนชื่อหรือประโยคไว้ที่หัวกระดาษ

R = Review / Reflex มองดูหัวข้อ หลับตา แล้วลองทบทวนหัวข้อที่ตั้งไว้ หัวข้อนี้มีความหมายหรือกำลังสะท้อนอะไรในตัวเรา

I = Investigate สำรวจความคิดและความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อเรื่องนั้นแล้วเริ่มลงมือเขียน

T = Time your self ให้เวลาตัวเองในการเขียนอย่างต่อเนื่องโดยไม่ยกปากกา เพื่อหยุดคิด ไม่แก้ไข ปล่อยให้ร่างกายและจิตใจไหลลื่นไปกับการเขียนอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 5-15 นาที

E = Exist จบการเขียนด้วยการกลับไปอ่านสิ่งที่ตัวเองเขียนมาทั้งหมด โดยไม่แก้ไข แล้วลองสรุปข้อคิดที่ได้กับตัวเอง 1-2 ประโยค

อย่าลืมขอบคุณตัวเองที่วันนี้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้ตัวเอง

สำหรับการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพในช่วงเวลานี้เราอาจคุ้นเคยกับคำว่า New Normal แต่สำหรับความปกติใหม่ของจิตใจอาจเป็นการที่เราต้องมีทักษะในการเยียวยาจิตใจตัวเองเบื้องต้น เพื่อไม่ให้ความเครียดลุกลามจนตามมาด้วยปัญหาของสุขภาพจิต

"คนไม่น่าสงสาร" ร้องโดย แอน ธิติมา อัลบั้ม Club Fridayby เอิ้น พิยะดา
ถ้าเราเจอปัญหาแล้วเครียด แล้วเราเลือกที่จะไม่สนใจ เป็นวิธีที่เหมาะสมหรือไม่?

--

ติดตามบทความใหม่ ๆ จาก หมอเอิ้น พิยะดา ได้ทุกวันพุธ บน LINE TODAY

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0