โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วงจรชีวิตของเจ้าตูบ

Petcitiz

เผยแพร่ 26 ส.ค. 2560 เวลา 01.59 น. • petcitiz.info
วงจรชีวิตของเจ้าตูบ
เรามาเริ่มเรียนรู้วงจรชีวิตของสุนัข รวมถึงการดูแลสุนัขแต่ละช่วงวัย ว่ามีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ละวัยและแตกต่างกันอย่างไรในช่วงวัยของแต่ละสายพันธุ์!!

การพัฒนาการแต่ละช่วงวัยของน้องหมา ล้วนเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ เพราะในแต่ละช่วงวัยของสุนัขก็จะมีพัฒนาการ และความต้องการทางโภชนาการที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้การเจริญเติบโตของลูกสุนัขเป็นไปอย่างสมบูรณ์ และมีอายุยืนยาว ผู้เลี้ยงจึงควรให้ความสำคัญกับช่วงเวลาที่ลูกสุนัขเติบโต โดยการเติบโตนั้นก็จะขึ้นอยู่กับขนาดของลูกสุนัขด้วย สุนัขพันธุ์เล็กจะโตเร็วกว่าสุนัขพันธุ์ใหญ่ การมีประสบการณ์ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นในการฝึกให้ทำตามคำสั่ง หรือเรียนรู้กฎบทบาทของฝูง จะทำให้สุนัขมีประสบการณ์ที่ดีในระยะยาว ซึ่งเป็นผลดีต่อพฤติกรรมของเขาในอนาคต ดังนั้น ผู้เลี้ยงจึงต้องทำความเข้าใจ และเรียนรู้พัฒนาการในแต่ละช่วงวัยของเจ้าตูบดังนี้

1.ช่วงแรกเกิด

เป็นระยะตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 2 สัปดาห์ ระยะนี้ลูกสุนัขจะหูหนวก ตายังคงปิดอยู่ มองไม่เห็น และจมูกก็ยังใช้งานได้ไม่ดีนัก ส่วนมากในวัยนี้จะอาศัยการสัมผัสในการค้นหาเต้า และหัวนมของแม่ ในระยะนี้ลูกหมาเองจะใช้เวลาไปกับการกินแล้วนอนเท่านั้น เวลานอนจะชอบนอนสุมหัวเพื่อเป็นการมอบความอบอุ่นให้แก่กัน และในช่วงท้ายของระยะนี้ เขาจะเริ่มเปิดตา มองเห็น และหูเริ่มได้ยินขึ้นมาบ้าง

2.ช่วงการเปลี่ยนผ่าน

เป็นระยะของช่วงสัปดาห์ที่ 3 ถึงแม้ว่าจะมีการมองเห็น และรับรู้เสียงได้ไม่ดี จนกระทั่งครบ 18 วัน จึงจะพัฒนาในส่วนนี้เต็มที่ ส่วนการดมกลิ่นของจมูกจะเริ่มทำงานอย่างเต็มที่ในช่วงนี้ เราจะเห็นลูกสุนัขรับน้ำหนักตัวด้วยเท้าทั้งสี่ของตัวเองได้ในช่วงท้ายๆ ของระยะนี้ แต่จะยังเดินได้ไม่แข็งแรงพอที่จะข้ามสิ่งกีดขวาง ลูกสุนัขสามารถควบคุมการขับถ่ายด้วยตัวเองทั้งฉี่และอึ และเรียนรู้การออกไปขับถ่ายนอกที่นอน เพื่อนๆ อาจเริ่มสัมผัสตัวสุนัขเป็นเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่นาทีต่อวัน ถือเป็นการเริ่มสร้างความผูกพันกับมนุษย์ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการแสดงออกทางพฤติกรรมของสุนัขเมื่อโตขึ้น

3.ช่วงเข้าสู่สังคม

ช่วงเข้าสู่สังคมคือช่วงอายุประมาณ 3-12 สัปดาห์ ในช่วง 3-4 สัปดาห์แรก ลูกสุนัขจะเริ่มมีฟันน้ำนมงอกขึ้นมา และจะเริ่มสนใจอาหารอื่นๆ นอกจากน้ำ และน้ำนมแม่มากขึ้น ผู้เลี้ยงจึงควรจัดหาน้ำสะอาดวางไว้ให้ลูกสุนัขด้วย อีกทั้งแม่สุนัขจะเริ่มมีการปฏิเสธไม่ให้ลูกสุนัขดูดนม โดยที่ลูกสุนัขทุกตัวในครอกจะหย่านมอย่างสมบูรณ์ที่อายุ 6-8 สัปดาห์ ช่วงวัยนี้ลูกสุนัขเริ่มนอนน้อยลง และใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ เพิ่มมากขึ้น พฤติกรรมหลายๆ อย่างของลูกสุนัขจึงเกิดพัฒนาขึ้นในช่วงนี้ โดยเฉพาะพฤติกรรมการเล่น ในระยะนี้ลูกสุนัขเริ่มเรียนรู้ที่จะควบคุมแรงกัด โดยเรียนรู้จากเสียงครางหงิงๆ ของเพื่อนเล่นที่ถูกกัด เมื่อการกัดนั้นแรงไป ลูกสุนัขจะมีการใช้เสียงต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะกับการเล่น ไม่ว่าจะเป็นการเห่า การขู่คำราม เมื่อถูกทำให้รู้สึกตื่นเต้น หรือไม่พอใจ รวมถึงการส่งเสียงเพื่อเรียกร้องความสนใจจากแม่สุนัขยังคงมีอยู่ แต่ลดน้อยไปจากช่วงแรกเกิด จนถึงช่วงเปลี่ยนผ่าน

ประสบการณ์ทั้งด้านบวก และด้านลบที่ลูกสุนัขได้รับในช่วงนี้ จะมีบทบาทสำคัญต่อการแสดง และกำหนดพฤติกรรมของลูกสุนัขเมื่อโตขึ้น และมีพัฒนาการในด้านต่างๆ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพฤติกรรมทางสังคม จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะส่งเสริมการเรียนรู้การเข้าสังคมให้กับลูกสุนัข เพื่อให้เขาโตขึ้นมาเป็นสุนัขที่มีความมั่นใจ เข้ากับคนอื่น หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ง่าย ไม่ก้าวร้าวหรือขี้กลัว และช่วงอายุที่เหมาะสมสำหรับการย้ายบ้านคือ เมื่อมีอายุ 8 สัปดาห์ ถ้าย้ายบ้านเร็วกว่านี้อาจจะไม่เป็นผลดีมากนัก เนื่องจากลุกสุนัขยังไม่หย่านม ขาดการพัฒนาทางสังคมกับแม่ และพี่น้องในครอกไป นอกจากนี้ หากแยกลูกสุนัขช้าเกินไป นั่นหมายความว่าเจ้าของจะพลาดช่วงเวลาที่สำคัญในการเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าสู่สังคมของลูกสุนัขด้วยเช่นกัน

4.ช่วงวัยเด็กย่างโตเต็มวัย (วัยรุ่น)

เป็นช่วงอายุประมาณ 12 สัปดาห์จนถึงโตเต็มวัย พัฒนาการหลายๆ ด้านของเขาจะเริ่มใกล้เคียงกับสุนัขโตเต็มวัย อย่างไรก็ตามลูกหมาจะยังมีการเจริญเติบโตอยู่ แต่เป็นไปอย่างช้าๆ ทำ ให้ผู้เลี้ยงอาจมองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดเหมือนช่วงก่อน 12 สัปดาห์ อวัยวะต่างๆ ในระบบรับความรู้สึกอย่างประสาทสัมผัส หู ตา ของลูกสุนัขจะพัฒนาโดยสมบูรณ์ และฟันน้ำนมของลูกสุนัขจะถูกแทนที่ด้วยฟันแท้จนครบทุกซี่ที่อายุ 7 เดือน เมื่ออายุ 6 เดือน ลูกสุนัขจะมีทักษะหลายด้านใกล้เคียงกับสุนัขที่โตเต็มวัย

อย่างไรก็ตามทักษะของสุนัขแต่ละตัวอาจจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับตัวสุนัขเอง และสิ่งแวดล้อมโดยรอบ การเป็นสัดครั้งแรกของสุนัขเพศเมียนั้นพบได้เมื่ออายุ 6 ถึง 7 เดือน ซึ่งหากได้รับการผสมพันธุ์ก็สามารถตั้งท้องได้ ในช่วงวัยนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม หากเจ้าของต้องการจะทำหมันให้สุนัข โดยสามารถปรึกษาสัตวแพทย์ใกล้บ้านได้เลย

สำหรับการโตเต็มวัยของสุนัขนั้นจะต่างกันไปตามสายพันธุ์ โดยสุนัขพันธุ์เล็กจะโตเต็มวัยเมื่ออายุประมาณ 9 เดือน สุนัขพันธุ์กลางจะโตเต็มวัยเมื่ออายุ 1 ปี ส่วนสุนัขพันธุ์ใหญ่ และพันธุ์ใหญ่มากจะเจริญเติบโตช้ากว่า ซึ่งมักจะโตเต็มวัยที่อายุ 18 ถึง 24 เดือน

5.ช่วงวัยอายุมาก (ชรา)

เหมือนเช่นเดียวกับระยะช่วงโตเต็มวัย ซึ่งสุนัขแต่ละสายพันธุ์จะมีระยะเวลาของอายุมากขึ้นแตกต่างกันออกไป ช่วงอายุนี้จะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และไม่สามารถสังเกตได้ชัดเจนนัก แต่เมื่อเข้าสู่ระยะนี้เขาจะมีความกระฉับกระเฉงลดลง การเผาผลาญก็ลดลง และน้ำหนักอาจจะเพิ่มขึ้นด้วย ในช่วงนี้ควรแบ่งการให้อาหารออกเป็นมื้อเล็กๆ 2-3 มื้อต่อวัน จะเป็นการช่วยให้ระบบย่อยอาหารของน้องหมาไม่ทำงานหนักจนเกินไป และยังช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างสม่ำเสมออีกด้วย

โดยทั่วไปแล้วสัญญาณแรกของการมีอายุมากขึ้น เมื่อเขาอายุได้ 8-10 ปี ขนบนหัวและจมูกจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาว สายตาและการได้ยินเริ่มลดเสื่อมถอยลง แต่ประสาทรับกลิ่นนั้นจะไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก แต่ในสุนัขที่มีอายุมากนี้ก็ยังชอบที่จะเล่นอยู่ แม้ว่าความคล่องตัวของเขาจะไม่เอื้ออำนวยแล้วก็ตาม และถ้าหากเขาเคยได้รับการฝึกขับถ่ายในบ้านที่ถูกต้อง บางครั้งสุนัขวัยชราอาจจะพลั้งเผลอขับถ่ายผิดที่ไปได้บ้าง เพื่อนๆ ก็ไม่ควรจะดุเขานะคะ

ภาพ : http://www.click2vet.com

สุดท้ายแล้วเจ้าหมา แต่ละช่วงอายุก็ย่อมที่จะได้รับการดูแลที่แตกต่างกันไป แต่ถ้าเพื่อนๆ คนไหนยังคงไม่แน่ใจกับวิธีการเลี้ยงดู หรือวิธีดูช่วงวัยของเขาเมื่อรับมาเลี้ยงตอนโตแล้ว Petcitiz ขอแนะนำว่าควรปรึกษาสัตวแพทย์นะคะ เพราะคุณหมอจะให้คำแนะนำได้ดีที่สุดค่ะ

เรียบเรียงโดย : น้องแมวสีเทา "น้องแมวสีเทาชื่นชอบในการเลี้ยงดูแลแมวและรักความเป็นแมวอย่างสุดหัวใจ มีประสบการณ์ในการเลี้ยงสัตว์มามากกว่า 10 ปี ชอบค้นหาข้อมูลและเทคนิคการเลี้ยงสัตว์ เพื่อนำความรู้ที่ได้มาแบ่งปันกับเพื่อน ๆ ต่อไป"

เรื่องต้นฉบับ:petcitiz.info

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0