โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รู้จัก “5 โรคระบาด” ที่เคยรุกรานไทย อย่างเข้าใจและมีสติ - จุดประเด็น

LINE TODAY

เผยแพร่ 15 ก.ค. 2563 เวลา 17.00 น. • AJ.

ระลอกแรกเพิ่งคลี่คลาย ระลอกสองก็มาจ่อถึงหน้าประตู!

สถานการณ์ล่าสุดของ “COVID19” ได้กลับมาเขย่าขวัญคนไทยอีกครั้ง เมื่อมีข่าวการติดเชื้อจาก "ทหารอียิปต์" ที่จังหวัดระยอง เดือดร้อนถึงประชาชนคนไทยและในพื้นที่ ที่ต่างทวงถามความรับผิดชอบจาก "ทางการไทย" ว่าหรือการ "ตั้งการ์ด" อย่างอดทนจนทำให้ประเทศไทยไร้ผู้ติดเชื้อมาเกือบ 50 วันจะไร้ความหมาย?

ประกอบกับสถานการณ์ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกที่น่าหวั่นวิตกไม่ต่างกัน อย่าง ญี่ปุ่น ที่เพิ่งประกาศยกระดับการระบาดอีกครั้งฮ่องกง ที่ระบาดใหม่เป็นครั้งที่ 3 หรือประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ยอดผู้ป่วยยังไม่มีทีท่าจะลดลง

โลกทั้งใบกำลังเดือดดาลขนาดนี้ เราจึงอยากชวนทุกคนมารู้จัก “โรคระบาด” ร้ายแรงทั่วโลก โดยเฉพาะโรคที่เคยรุกรานแผ่นดินไทยตั้งแต่ครั้งอดีตกาลจนถึงปัจจุบัน วิธีการเดินทางรวมถึงจุดจบของแต่ละโรค ให้รู้และเข้าใจธรรมชาติของโรคติดต่อ จะได้หยุดตื่นตระหนกได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน พร้อมวิธีรับมือให้ทุกคนได้ปฏิบัติตามอย่างมีสติ

1.อหิวาตกโรค : โรคท้องร่วงรุนแรงที่คร่าชีวิตผู้คนนับไม่ถ้วน

สมัยก่อน “อหิวาตกโรค” ถือเป็นเชื้อโรคสุดสยองที่คร่าชีวิตคนไทยจำนวนมาก ในอดีตมีการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของอหิวาตกโรคหลายระลอก และหลายครั้งลุกลามเข้ามาในประเทศไทยด้วย

แหล่งของอหิวาตกโรคอยู่ในประเทศอินเดีย ระบาดโดยพ่อค้าจากอินเดียที่ส่งออกเชื้อโรคทั้งทางบกและทางเรือ มีการบันทึกไว้ครั้งแรกตั้งแต่ยุคพระเจ้าอู่ทอง คือประมาณ พ.ศ.2360 - 2366 มีอีกครั้งในรัชกาลที่ 2 คราวนี้มีบันทึกว่ามีคนเสียชีวิตราว 30,000 คน ครั้งต่อมาในรัชกาลที่ 3 มีคนเสียชีวิต 5,457 คน

อหิวาตกโรคยังระบาดอีกหลายต่อหลายครั้ง อีกครั้งที่ถือว่ารุนแรงที่สุดคือราว พ.ศ.2486 - 2490 ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีผู้เสียชีวิตราว 13,000 ชีวิต และมีอัตราเสียชีวิตกว่า 68 ปอร์เซ็นต์

ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาตกโรคแล้ว จึงไม่มีการระบาดรุนแรงอีก

2. ไข้ทรพิษ : โรคฝีดาษ ถ้าประมาท ถึงตาย

“ไข้ทรพิษ” หรือ “โรคฝีดาษ” เป็นโรคติดต่อร้ายแรง อาการคือมีผื่นขึ้นตามตัว ไข้สูง ปวดศีรษะ ชัก และอาจเกิดโรคแทรกซ้อนที่ทำให้เสียชีวิตได้

ในไทย ไข้ทรพิษ มีปรากฏครั้งแรกสมัยกรุงศรีอยุธยา มีพระมหากษัตริย์ไทยสวรรคตด้วยไข้ทรพิษถึง 2 พระองค์ ได้แก่พระบรมราชาที่ 4 และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

นอกจากนี้ ช่วง พ.ศ.2460 - 2504 ยังมีการระบาดของฝีดาษเกิดขึ้นทุกปี เหตุเพราะเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เริ่มระบาดจากเชลยพม่า ลุกลามไปยังกลุ่มกรรมกรไทย โดยมีผู้ป่วยมากถึง 62,837 คน และมีผู้เสียชีวิต 15,621 คน

ในปี พ.ศ.2523 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าฝีดาษได้ถูกกวาดล้างแล้ว จึงหยุดการปลูกฝีป้องกันโรค จากนั้นเป็นต้นมา โรคฝีดาษก็ไม่เคยระบาดอีกเลย

3. กาฬโรค : “มรณะดำ” ที่เคยคร่าชีวิตคนครึ่งทวีป

“กาฬโรค” เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย “เยอร์ซิเนีย เปสติส” (Yersinia Pestis) โดยมีพาหะเป็นสัตว์ฟันแทะและหมัด แต่สามารถแพร่ในอากาศได้ ผ่านการสัมผัส หรือในอาหารที่ปนเปื้อนก็ได้

ที่มาของชื่อ “มรณะดำ” (The Black Death) เกิดจากการระบาดครั้งใหญ่ช่วงยุคกลางตอนนั้น ระหว่างปี ค.ศ. 541 - 542 คาดกันว่ามีจุดตั้งต้นจากประเทศจีน ระบาดสู่กรุงคอนสแตนติโนเปิล จากธัญพืชที่นำเข้าจากอียิปต์ ด้วยลักษณะของเมืองที่มีหนูเป็นจำนวนมาก ทำให้โรคระบาดอย่างรวดเร็ว คาดกันว่าชาวเมืองคอนสแตนติโนเปิลต้องเสียชีวิตวันละ 10,000 คน ต่อมาจึงแพร่เข้าสู่เมดิเตอร์เรเนียนในปี ค.ศ. 588 นักวิจัยประเมินว่ากาฬโรคคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 100 ล้านคน และเป็นตัวการทำให้จำนวนประชากรในยุโรปลดลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

ยังไม่รวมการระบาดในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ที่อิตาลี ผลาญทำลายชีวิตผู้คนไปมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศ รวมถึงการระบาดที่ลอนดอน จนทำให้เหลือประชากร 60,000 คน จาก 450,000 คน

ในไทย ถูกลูกหลงการระบาดจากจีนในยุคพระเจ้าอู่ทอง และรัชกาลที่ 1 ตอนนั้นได้รับการเปลี่ยนชื่อจาก “โรคห่า” เป็นกาฬโรคอย่างเป็นทางการ และมีการบันทึกไว้ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2456 ที่นครปฐม ซึ่งมีคนเสียชีวิต 300 คน และครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2495 มีผู้ป่วย 2 ราย เสียชีวิต 1 ราย ที่จังหวัดนครสวรรค์

จากนั้นก็ไม่มีรายงานกาฬโรคเกิดขึ้นในประเทศไทยอีกเลย

4.ไข้หวัดใหญ่ เอช 5 เอ็น 1 : "ไข้หวัดนก"

ราวปี 2546 องค์การอนามัยโลกประกาศว่าพบไวรัส“ไข้หวัดนก” หรือ ไข้หวัดใหญ่ เอช 5 เอ็น 1 ที่ตอนนั้นเป็นสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดในทวีปเอเชีย แต่มีความรุนแรงกว่าเชื้อไข้หวัดนกที่ผ่านมา ทั้งยังมีความเสี่ยงเสียชีวิตถึงร้อยละ 60 สร้างความตื่นตระหนกระลอกใหญ่ไปทั่วโลก

โชคยังเข้าข้างมนุษยชาติที่ไวรัสเอช 5 เอ็น 1 ไม่ติดแบบคนสู่คน ทำให้เฝ้าระวังได้ง่าย แต่ก็มีการระบาดสู่หลายประเทศ ตั้งแต่ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย จีน ฮ่องกง อินเดีย ไนจีเรีย อิรัก อาเซอร์ไบจาน อียิปต์ อังกฤษ ออสเตรีย อิตาลี กรีซ สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส โครเอเชีย เยอรมนี

โรคไข้หวัดใหญ่เอช 5 เอ็น 1 คร่าชีวิตคนไปกว่า 300 ราย

5. ไวรัส COVID19 : เชื้อโรคใหม่ สายพันธุ์เดิม

เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2562 เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน หลังจากผ่านการเก็บตัวอย่างไวรัสและนำไปวิเคราะห์แล้ว องค์การอนามัยโลก ได้เปิดเผยว่าชื่อเรียกของไวรัสชนิดนี้คือ “ไวรัสโคโรน่า 2019”

ที่จริงคนไทยคุ้นเคยกับ COVID19 แล้ว เพราะไวรัสดังกล่าวมาจากต้นตระกูลเดียวกับ “โรคซาร์ส” หรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ที่เคยระบาดมาถึงไทยราวปี พ.ศ. 2545 รวมผู้ติดเชื้อ 8,098 คน และมีผู้เสียชีวิต 774 คน

ธรรมชาติของไวรัสตระกูลนี้มักมาจากสปีชีส์อื่น ก่อนจะแพร่เชื้อเข้าสู่มนุษย์ อย่างโรคซาร์สก็เกิดจากตัวชะมด เป็นต้น

สำหรับ COVID19 ถูกเชื่อมโยงและสันนิษฐานว่าอาจมาจากตลาดขายส่งปลาและอาหารทะเลในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งแม้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างวาฬเบลูก้าจะเป็นพาหะได้ แต่ในตลาดก็ยังมีการซื้อขายไก่ป่า ค้างคาว กระต่าย และงู จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่าไวรัสโคโรน่ามีที่มาจากตัวอะไรกันแน่ 

ไวรัสตัวร้ายที่เป็นอันตรายต่อปอดชนิดนี้ติดต่อได้จากคนสู่คน การไอ และจาม จะเป็นวิธีแพร่เชื้อที่รุนแรงที่สุดที่เราควรระมัดระวัง 

ล่าสุดมีผู้ป่วยสะสมทั่วโลก 13,560,683 ราย เสียชีวิตกว่า 583,523 ราย (รายงานวันที่ 15 ก.ค. 63)

คนไทยควรระมัดระวังตัวเองโดยการ :

  • หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน
  • ไม่สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีอาการไอ จาม หรือ มีน้ำมูก
  • สวมหน้ากากอนามัย
  • ล้างมือบ่อย ๆ กินอาหารปรุงสุกร้อน

เมื่อไวรัสเดินทางจากสัตว์เข้าสู่คนสำเร็จ เมื่อนั้นเป็นตอนที่เราควรระวังเป็นพิเศษ เพราะนั่นแปลว่าเจ้าเชื้อร้ายกำลังพัฒนาตัวเอง และเพื่อป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าว คนไทยควรเปิดรับข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ และปกป้องตัวเองด้วยวิธีด้านบนเมื่อโรคร้ายเข้ามาใกล้ตัว อย่าลืมแชร์วิธีป้องกันโรคจากเชื้อโรคให้เพื่อน ๆ และคนที่คุณรักด้วยนะ!

สอบถามสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

อ้างอิง

1 / 2 / 3 / 4 / 5 / 6 / 7 / 8 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0