โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

รัฐบาลผสมของไทย: ประวัติศาสตร์ฉบับย่อ - ประจักษ์ ก้องกีรติ

THINK TODAY

เผยแพร่ 28 พ.ค. 2562 เวลา 10.42 น.

ช่วงนี้คงไม่มีข่าวใดเป็นที่สนใจของคนทั้งประเทศเท่ากับข่าวคราวการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ บางคนลุ้น บางคนเครียด ในขณะที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับสภาวะที่การจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จลุล่วงเสียที ทั้งที่การเลือกตั้งผ่านไปนาน 2 เดือนแล้ว

ต้องถือว่าการตั้งรัฐบาลครั้งนี้มีความอลหม่าน สับสน และอึมครึมไม่น้อย อาจจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลที่ทุลักทุเลที่สุดครั้งหนึ่งของการเมืองสมัยใหม่เลยก็ว่าได้ มีแนวโน้มว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นรัฐบาลผสม ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า coalition government และไม่ใช่รัฐบาลผสมธรรมดา

แต่อาจจะเป็นรัฐบาลผสมถึง 20 พรรค! ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย และเท่าที่ความรู้ที่ผมมีอยู่ รัฐบาลผสมที่ใช้พรรคการเมืองจำนวนมากขนาดนี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์โลกเช่นกัน หากเกิดขึ้นจริง ประเทศไทยของเราก็จะมีสถิติ (แปลกๆ) ลงในกินเนสส์บุ๊คอีกเรื่องหนึ่ง

ลำพังการมีรัฐบาลผสมไม่ใช่เรื่องแปลกในการเมืองไทย แต่รัฐบาลผสมที่ผ่านมามักจะรวมกันแค่ 4-5 พรรค อย่างมากที่สุดก็ 8-9 พรรคเท่านั้น

การเลือกตั้งปี 2562 ทำให้หวนย้อนคิดถึงการเลือกตั้งในอดีตเมื่อปี 2518 ในแง่ที่มีพรรคการเมืองจำนวนมากพาเหรดเข้าสู่สภา ตอนปี 2518 มีพรรคการเมือง 23 พรรคมีที่นั่งในสภา

โดยในจำนวนนี้มี 5 พรรคการเมืองที่มีส.ส.ในสังกัดแค่พรรคละ 1 คนเท่านั้น ในขณะที่สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันมาแรงแซงโค้งกลายเป็นสภาที่พรรคการเมืองมากที่สุดถึง 27 พรรค และมีถึง 11 พรรคที่มีผู้แทนแค่ 1 คนเท่านั้น

พรรคเล็ก 11 พรรคนี้ ได้เข้าสู่สภา ทั้งที่มีคะแนนเสียงต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยที่พรรคพึงมี (คือ 71,000 คะแนน) อันเนื่องมาจากสูตรคำนวณที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เลือกใช้ 

จนทำให้มีเสียงวิพากษืวิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะไม่เคยมีการประกาศหรืออธิบายสูตรการคำนวณนี้มาก่อนการเลือกตั้ง ผลที่จะตามมาของการเลือกใช้สูตรคำนวณแบบพิสดารนี้ คือ จะทำให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อยจำนวนมากในการเลือกตั้งครั้งหน้า

การมีพรรคเล็กๆ ในสภาไม่ใช่เรื่องเสียหายเสมอไป ถ้าพรรคเล็กมีนโยบายที่ดีที่เป็นทางเลือกให้กับประชาชน แต่ถ้าพรรคเล็กนั้นเป็นพรรคที่ชูตัวบุคคลมากกว่านโยบาย แถมยังได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ การมีพรรคเล็กแบบนี้มากๆ ถือว่ามีประโยชน์น้อยต่อประชาชน

ครั้งนี้เราอาจจะได้เห็นการจัดตั้งรัฐบาลผสมโดยพรรคที่ไม่ได้ชนะอันดับ 1 ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ คือ ช่วงปี 2518 ที่พรรคกิจสังคมที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดเพียง 18 เสียง แต่สามารถพลิกเกมเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ 

ที่ทำเช่นนั้นได้เพราะบารมีของหัวหน้าพรรค คือ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐบาลผสมของหม่อมคึกฤทธิ์ประกอบด้วยพรรคจำนวนมาก จึงถูกขนานนามจากสื่อมวลชนว่า “รัฐบาลสหพรรค”

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหพรรคก็มีอายุสั้นมาก คือประมาณ 10 เดือนเท่านั้น (14 มีนาคม 2518 - 12 มกราคม 2519) เพราะมีการทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิงตำแหน่งระหว่างพรรคต่างๆ ในรัฐบาลด้วยกันอย่างรุนแรง แต่ละพรรคเรียกร้องอยากได้ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญๆ 

แลกกับการยกมือสนับสนุนรัฐบาล จนถึงจุดหนึ่ง นายกฯ คึกฤทธิ์ไม่สามารถบริหารจัดการความขัดแย้งให้ทุกฝ่ายพึงพอใจได้หมด ก็จำใจต้องยุบสภา และประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ในท้ายที่สุด

ประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งที่น่านำมาเป็นอุทธาหรณ์ คือ ในปี 2535 เมื่อคณะรัฐประหารที่เรียกตนเองว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ทำการยึดอำนาจและจัดให้มีการเลือกตั้ง ปรากฎว่าพรรคสามัคคีธรรมอันเป็นพรรคตัวแทนของรสช. จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ 

โดยร่วมกับอีก 4 พรรคคือ พรรคชาติไทย กิจสังคม ราษฎร และประชากรไทย และพล.อ.สุจินดา คราประยูร หัวหน้ารสช. ยอม “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ที่จะไม่รับตำแหน่งใดๆ แต่กลับก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง สุดท้ายถูกประชาชนคัดค้านขับไล่ จนพลเอกสุจินดาต้องพ้นจากตำแหน่งในเวลาอันรวดเร็ว ทำสถิติเป็นหนึ่งในนายกฯ ไทยที่อยู่ในอำนาจสั้นที่สุด เพียงแค่ 47 วันเท่านั้น

เมื่อดูจากประวัติศาสตร์แล้ว รัฐบาลผสมของไทยมักมีอายุสั้น เฉลี่ยแค่ประมาณ 1-2 ปีเท่านั้น (มาเร็วไปเร็วไม่ถึง 2 เดือนก็มีมาแล้ว) ส่วนใหญ่ล่มสลายด้วยการแพ้ภัยตัวเอง คือ การทะเลาะเบาะแว้งและเจรจาผลประโยชน์กันไม่ลงตัวภายในพรรคร่วมรัฐบาล ปัญหาเสถียรภาพจึงเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลผสม

รัฐบาลผสมที่ประกอบด้วยพรรคจำนวนมากยังมีจุดอ่อนร้ายแรงที่สำคัญอีก 2-3 ประการ คือ การคำนึงถึงปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่ามีวิสัยทัศน์ระยะยาวในการแก้ไขปัญหาประเทศ เพราะรู้ว่าอาจอยู่ไม่นาน ทุกพรรคจึงต้องเร่งหาผลประโยชน์เฉพาะหน้า 

ช่วงฮันมีมูนพีเรียดจะสั้น ทิศทางนโยบายมักจะขาดความชัดเจน เพราะต้องนำนโยบายของหลายพรรคมาผสมกัน ยังไม่ต้องพูดถึงการแย่งชิงตำแหน่ง การคอร์รัปชั่น และการ “ซื้อเสียงส.ส.”เพื่อแลกกับเสียงยกมือในสภาเพื่อจะผ่านกฎหมาย ในกรณีการเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ

 ก็น่าแปลกใจไม่น้อยที่ผ่านไป 5 ปี สังคมไทยกลับได้มาซึ่งระบบเลือกตั้งที่สร้างระบบพรรคการเมืองที่อ่อนแอกว่าเดิม จนอาจจะต้องตั้งรัฐบาลผสมถึง 20 พรรค ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปมองในประวัติศาสตร์แล้ว คงพอเห็นได้ว่าอนาคตข้างหน้านั้นไม่สดใสเท่าไหร่นัก…

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0