โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

รัฐกับความรุนแรง: จากถังแดงถึงบิลลี่ - ประจักษ์ ก้องกีรติ

THINK TODAY

เผยแพร่ 18 ก.ย 2562 เวลา 09.48 น.

หากศึกษาประวัติศาสตร์ไทยอย่างจริงจัง เราจะพบว่าประวัติศาสตร์ไทยเต็มไปด้วยความรุนแรง และความรุนแรงส่วนใหญ่ไม่ถูกบันทึกและถ่ายทอดออกมาเป็นบทเรียนให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ยกเว้นความรุนแรงในรูปแบบสงครามระหว่างรัฐที่เน้นไปที่การปลุกกระแสชาตินิยม 

แต่ความรุนแรงที่ประชาชนตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิโดยกลไกรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐนั้นมักจะถูกทำให้เลือนหายไป รัฐไทยมีแบบแผนในการกลบฝังอดีตที่ไม่สวยงาม และซุกซ่อนการกระทำที่สะท้อนด้านที่โหดร้ายไว้ใต้พรม

ด้วยเหตุนี้ ประวัติศาสตร์จึงซ้ำรอยอยู่บ่อยครั้งในสังคมไทย เพราะเราไม่เรียนรู้จากอดีต   

ในหลายสังคม ความรุนแรงทางการเมือง โดยเฉพาะความรุนแรงโดยรัฐจะถูกสอบสวนและจัดทำเป็นรายงาน บรรจุไว้ในแบบเรียนประวัติศาสตร์ มีการสร้างพิพิธภัณฑ์ จัดทำเป็นสารคดี หรือบันทึกลงบนแผ่นฟิล์มให้ประชาชนได้ศึกษา ซึมซับ เข้าใจ และเรียนรู้ 

เพราะเขามองว่าประวัติศาสตร์เหล่านี้ถือเป็นบทเรียนร่วมกันของทั้งสังคม อาจจะเจ็บปวดและไม่น่ารื่นรมย์ แต่การเรียนรู้และจดจำจะทำให้เราก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและไม่ผลิตซ้ำความผิดพลาดในอดีต  

แน่นอนว่าการเผชิญหน้ากับอดีตไม่ใช่เรื่องง่าย สังคมเยอรมันในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองต้องใช้เวลาพอสมควรในการเผชิญหน้ากับอดีตอันเลวร้ายสมัยที่ฮิตเลอร์ปกครองบ้านเมือง และใช้อำนาจรัฐสังหารพลเมืองของตนเองเสียชีวิตไปหลายล้านคน เป็นโศกนาฎกรรมครั้งยิ่งใหญ่ทั้งของประเทศเยอรมันและของโลก การเผชิญหน้ากับอดีต

ในกรณีของสังคมเยอรมันไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทั้งสังคม ผู้มีอำนาจและเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงจำนวนมากยังมีชีวิตอยู่ ที่สำคัญ ประชาชนเยอรมันบางคนก็มีส่วนสนับสนุนรัฐในการสังหารเพื่อนร่วมสังคมของตนเองด้วยแรงผลักดันจากความกลัว เกลียดชัง และอคติ  

แต่ในที่สุด หลังจากผ่านกระบวนการถกเถียงและเรียนรู้ สังคมเยอรมันก็ค่อยๆ สร้างบทเรียนทางประวัติศาสตร์ร่วมกันเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงภยันตรายของการปล่อยให้รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนของพลเมืองของตนอย่างกว้างขวาง โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่เพิกเฉยกระทั่งสนับสนุนการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมดังกล่าวของรัฐ  

ในสังคมไทย แนวคิดเรื่องความรุนแรงโดยรัฐ (state violence) หรืออาชญากรรมรัฐ (state crime) ยังเป็นแนวคิดที่คนในสังคมยังไม่คุ้นเคยนัก ซึ่งถ้าจะนิยามแบบกระชับที่สุด ความรุนแรงโดยรัฐ คือ การที่รัฐหรือเจ้าที่ของรัฐ แทนที่จะปกป้องคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน กลับใช้ความรุนแรงนอกขอบเขตของกฎหมายต่อพลเมืองของตนเองโดยมีเป้าหมายเพื่อข่มขู่ กำจัด และควบคุมประชาชน 

ข่าวคราวการค้นพบชิ้นส่วนกระดูกของบิลลี่ หรือพอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย บริเวณใต้สะพานเขื่อนแก่งกระจาน หลังจากหายตัวไปนาน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 ทำให้เกิดการถกเถียงและความสนใจจากสาธารณะในประเด็นปัญหาการอุ้มหาย การฆาตกรรมอำพรางและการทรมาน ซึ่งล้วนเป็นรูปแบบความรุนแรงและการละเมิดสิทธิที่ร้ายแรง 

แม้ว่าจนถึงตอนนี้ยังไม่มีพยานหลักฐานที่บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเสียชีวิตของบิลลี่ แต่รูปแบบการฆาตกรรมอำพรางโดยวิธีเผาศพในถังน้ำมันขนาดใหญ่ ก็ชวนให้ย้อนเปรียบเทียบกลับไปถึงเหตุการณ์ “ถีบลงเขา เผาลงถังแดง” อันเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของสังคมไทยในยุคหนึ่ง 

จนถึงทุกวันนี้ เหตุการณ์นี้ยังไม่ได้ถูกบันทึกอย่างเป็นทางการ ไม่มีในแบบเรียน ไม่อยู่ในพื้นที่ความทรงจำสาธารณะ ทั้งที่มีการประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตไปจากกรณี “ถังแดง” ถึงประมาณ 3,000 คน อาชญากรรมรัฐดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงการปกครองภายใต้รัฐบาลของจอมพลถนอม ในช่วงปี 2514-2516 ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ 

ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อคือคนที่ถูกทางการต้องสงสัยว่าเป็นแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หรือเป็นญาติของผู้ที่ทางการเชื่อว่าเป็นสมาชิกพคท. เจ้าหน้าที่จะจับญาติเพื่อรีดเค้นให้สารภาพว่าผู้ต้องสงสัยหลบอยู่ที่ใด มีการซ้อมและบังคับให้บอกข้อมูล หากไม่รับจะถูกสังหารเสียชีวิตแล้วเผาในถังน้ำมัน 

เหตุที่ต้องเผาในถังน้ำมันก็เพื่อทำลายหลักฐานศพไม่ให้เหลือร่องรอย มีการทิ้งเถ้าถ่านลงคลองหรือแม่น้ำ ทำให้โยงหลักฐานกลับมาหาคนลงมือได้ยาก  

ห้วงขณะที่เกิดเหตุการณ์ถังแดง ไม่มีใครรับทราบถึงความรุนแรงดังกล่าวเลย เนื่องจากเจ้าหน้าที่กระทำการอย่างปิดลับ และเป็นช่วงที่ประชาชนและสื่อไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเข้าถึงข้อมูล 

ในขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ที่รับทราบเหตุการณ์ดังกล่าวต่างก็หวาดกลัวที่จะเปิดเผยข้อมูลให้คนภายนอกได้รับทราบ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เมื่อบรรยากาศบ้านเมืองเริ่มเปิดขึ้น ความจริงจึงเริ่มปรากฎ และเจ้าหน้าที่จำต้องยอมรับว่ามีความรุนแรงดังกล่าวเกิดขึ้นจริง  

ที่น่าเศร้าคือ กรณี “ถังแดง” เป็นข่าวอยู่ช่วงสั้นๆ แล้วก็เลือนหายไปจากสาธารณะ ไม่มีการสอบสวนอย่างเป็นทางการเพื่อที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษนับตั้งแต่วันนั้นจนถึงปัจจุบัน… เหมือนเหตุการณ์ความรุนแรงโดยรัฐเกือบทั้งหมดในสังคมไทย ที่ปราศจากทั้งความจริงและความยุติธรรม 

อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือ จากงานศึกษาเรื่อง “ถังแดง: การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอนในสังคมไทย” (สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ของจุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม พบว่าชุมชนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตการณ์ถังแดงในบางพื้นที่ได้สร้างอนุสรณ์สถานในที่เกิดเหตุเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิต เช่นที่ชุมชนลำสินธุ์ อ.ศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง 

ทั้งยังมีการจัดงานรำลึกถังแดง มีการทำบุญไว้อาลัยให้ผู้เสียชีวิต มีการเสวนาและแสดงดนตรี ก่อเกิดเป็นประวัติศาสตร์ของชุมชน โดยคนในชุมชนเอง ในวันที่รัฐยังกลบฝังและลบเลือนเรื่องราวเหล่านี้ 

สังคมไทยควรเก็บรับบทเรียนจากกรณีถังแดงเมื่อครั้งอดีต ทั้งนี้ หวังว่ากรณีโศกนาฎกรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับบิลลี่และครอบครัวของเขาจะไม่ถูกทำให้เลือนหายไปจากสังคมแบบเดียวกับกรณีถังแดง โดยวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยคือ การทำความจริงและความยุติธรรมให้ปรากฏ 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0