โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ฟังเสียงหัวใจคนจน สิ่งที่อยากได้ไม่ใช่เงิน ขอเพียงโอกาส และชีวิตที่มีอนาคต

ไทยรัฐออนไลน์ - Economics

อัพเดต 01 ก.ย 2563 เวลา 03.52 น. • เผยแพร่ 31 ส.ค. 2563 เวลา 23.20 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทั่วโลกได้ระดมความคิดเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด หากคิดในมุมเศรษฐศาสตร์ก็จะพบว่า ความเหลื่อมล้ำทำให้ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยกว้างขึ้น และหากมองในมุมของสังคมจะพบว่า ความเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในทุกๆ มิติ 

เมื่อหันหลังกลับมามองประเทศไทย หลายๆ ครั้งที่เราจะเห็นช่องว่างของสังคม และจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าเขาต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และหลายๆ ครั้งก็จะมีคำถามของกลุ่มคนชนชั้นกลาง และกลุ่มคนร่ำรวยว่า "แจกเงินคนจนทำไม ให้จนเคยตัว ให้จนไม่ยอมทำมาหากิน"

ทั้งนี้ เชื่อว่าหลังจากได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ ผู้เชี่ยวชาญด้านความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย อย่าง ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย หรือ TDRI ซึ่งคลุกคลีกับงานวิจัยความเหลื่อมล้ำมาแล้วทุกมิติ เราอาจจะเปลี่ยนความคิดก็ได้ 

 คนจนเรื้อรัง 

ดร.สมชัย อธิบายว่า ตัวเลขคนจนนั้นขึ้นๆ ลงๆ แต่ถ้าหากย้อนหลังไปประมาณ 3-4 ปี คนจนในประเทศไทยจะเฉลี่อยู่ที่ 5-7 ล้านคน แต่ล่าสุดเมื่อปี 2562 คนจนเฉลี่ยอยู่ที่ 5 ล้านคน แต่ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขก่อนเกิดโควิด-19 แต่หากนับในปี 63 ซึ่งเป็นช่วงหลังมีโควิด คาดว่าคนจนน่าจะมากกว่า 5 ล้านคน แต่ตอนนี้ตัวเลขประมาณการณ์ยังไม่ออกมา ก็ยังคิดเฉลี่ยไม่ได้

ดร.สมชัย จิตสุชน
ดร.สมชัย จิตสุชน

"แต่ถ้าให้ผมอนุมานนะ ผมคิดว่าน่าจะคูณสองเป็นอย่างน้อย ถ้าคิดแบบนี้จาก 5 ล้านคนคูณสองก็น่าจะเฉลี่ย 10-15 ล้านคน เพราะอยู่ๆ คนที่เคยมีรายได้ก็กลายเป็นว่ารายได้หายไป 40-50% บางคนมีรายได้ใกล้ศูนย์เลยก็มี เพราะบางอุตสาหกรรม เช่น ท่องเที่ยว และการบิน นั้นยังอยู่ในช่วงล็อกดาวน์อยู่"

อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 และปี 2561 มีความน่าสนใจอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ มีคนจนเพิ่มขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในช่วงภาวะวิกฤติ โดยใน 2 ปีนั้นเศรษฐกิจเติบโตได้ราว 2-3% แต่กลายเป็นว่าคนจนเพิ่มขึ้น จากการตีความนั้นเราเข้าใจได้ว่า ประเทศไทยน่าจะมีความเสี่ยงที่เขาเรียกว่า "คนจนเรื้อรัง" ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่แค่ของไทยที่ประสบปัญหา ต่างประเทศก็มีปัญหานี้เหมือนกัน

คนจนเรื้อรัง คือ คนจนที่ไม่ได้ประโยชน์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมี แต่ 2-3 ปีหลังนี้เราเจอแบบนี้ และตอนนี้ประเทศไทยกำลังเจอภาวะโควิด-19 ทำให้เรามาคิดต่อว่า สถานการณ์แบบนี้ คนจนเรื้อรังจะเป็นอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าคนกลุ่มนี้จะเจ็บหนัก และมีโอกาสที่จะฟื้นยาก หรือออกจากการเป็นคนจนเรื้อรังได้ยากขึ้น 

เส้นความยากจน

ดร.สมชัย กล่าวว่า ถ้าถามว่าเราใช้อะไรเป็นตัวแบ่งความยากจนที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้คือ "เส้นความยากจน" เป็นตัวชี้วัด จากข้อมูลเมื่อปี 2562 จะแบ่งดังนี้

- มีรายได้ 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน ในเมือง 
- มีรายได้ 2,500 บาทต่อคนต่อเดือน ในเขตชนบท 
- เฉลี่ยทั้งประเทศ 2,800 บาท

ถ้าให้ยกตัวอย่างก็เช่น ครอบครัว A อยู่ในเขตเมือง 5 คน มีรายได้คนละ 3,000 บาทต่อเดือน เท่ากับครอบครัว A มีรายได้ 15,000 บาท ซึ่งพวกเขาก็อยู่กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย น้ำไฟใช้ร่วมกัน  เช่าบ้านหลังเดียวเฉลี่ยไม่เกิน 2,000 บาท ค่ากินค่าอยู่ก็อาศัยประหยัดเอา ส่วนชนบท ส่วนใหญ่มีบ้านและที่ดินเป็นของตัวเอง ซึ่งค่าใช้จ่ายถูกกว่าในเมือง

ทั้งนี้ ในปี 2552 เราจะพบตัวเลขคนจนอยู่ในเขตชนบทประมาณ 90% แต่ในปี 2560 เรากลับพบคนจนในเขตชนบท 70% เขตเมืองประมาณ 30% นั่นแสดงให้เห็นว่า มีการเคลื่อนย้ายจากคนจนในชนบทไปสู่เขตเมือง หรือในเขตเมืองมีรายได้เพิ่มช้า และตามไม่ทันเส้นความยากจนที่ขยับขึ้นตามค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากเขามีรายได้ทันเส้นความยากจน เขาก็จะกลายเป็นคนยากจนไป 

สำหรับรายได้ต่อหัวที่นักเศรษฐศาสตร์ชอบใช้นั้นเรียกว่า รายได้ครัวเรือน (Household Income) จากการสำรวจ 117,505 บาท เป็นตัวเลขได้จากการสำรวจครัวเรือน ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าตัวเลขนี้จะต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะว่าเข้าถึงครอบครัวที่ร่ำรวยไม่ได้

คนจนทำอาชีพอะไร

ดร.สมชัย กล่าวว่า ถ้าเราใช้นิยามตามเส้นความยากจน ก็คือ คนจนจริงๆ ไม่ได้ทำอาชีพอะไร หรือว่างงานนั่นเอง แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่งซึ่งทำการเกษตรแบบเล็กๆ ที่ขนาดเล็กมาก ไม่เกิน 5 ไร่ หรือทำนาได้ครั้งเดียว ส่วนใหญ่จะพบในเขตภาคอีสาน ภาคเหนือ และช่วงหลังจริงๆ ก็เริ่มเห็นในภาคใต้ และภาคกลาง แต่น้ำหนักส่วนใหญ่คืออยู่ที่ภาคอีสาน แต่ก็เริ่มเห็นในภาคอื่นๆ มากขึ้นด้วย  

อย่างไรก็ตาม เราก็จะพบลักษณะคนจนอื่นๆ เช่น ครอบครัวที่มีเด็กและคนแก่เยอะ ซึ่งมีลักษณะครอบครัวใหญ่กว่าครอบครัวฐานะปานกลาง พวกเขามักมีการศึกษาไม่สูงประมาณ 50% มีระดับการศึกษาสูงสุดคือ ชั้นประถม และอีก 40% อยู่ระหว่างประถมและมัธยม

ถ้าถามว่า เรื่องการศึกษาสำคัญแค่ไหน ผมมองว่าประเด็นนี้เป็นทั้งเหตุและผล เช่น พวกเขามีการศึกษาไม่สูงทำให้เขาหลุดพ้นจากความยากจนไม่ค่อยได้ ส่วนประเด็นที่ว่ามีเด็กและคนแก่มากขึ้นทำให้ครอบครัวยากจน ประเด็นนี้ก็เป็นทั้งเหตุและผลเหมือนกัน 

เราลองมองภาพตาม เมื่อมีคนมากขึ้น มีหลายปาก มีหลายท้องที่ต้องเลี้ยงดู ตัวหารมากขึ้นในขณะที่คนทำงานมีแค่ 1-2 คน พอมีเด็กมีคนแก่ ครอบครัวนี้ก็กลายเป็นคนจนเพราะครอบครัวขนาดใหญ่เลยทำให้จน แต่ก็มีอีกอย่างที่ว่า เพราะจนเลยมีขนาดใหญ่

หากย้อนกลับไปเมื่อสมัยก่อน เราจะเห็นภาพคำว่า เพราะจนเลยต้องมีขนาดใหญ่ชัดขึ้น คนจนมีลูกเยอะ 5-10 คน เพราะเผื่อลูกตาย สมัยก่อนการแพทย์ยังไม่ทั่วถึง และครอบครัวคนจนต้องการแรงงาน แต่สมัยนี้ไม่มีแบบนั้นแล้ว คงจะมีเหตุผลอื่นๆ เช่น ถ้าเป็นคนจนอาจจะวางแผนครอบครัวไม่ดี หรือไม่มีสิ่งจะบันเทิงที่ไหน อยู่บ้านก็ผลิตลูกเมื่อเทียบกับคนฐานะดีกว่า และนี่ไม่ใช่โมเดลของประเทศไทยอย่างเดียว เพราะต่างประเทศก็เป็นเช่นกัน   

 ขอแค่โอกาส และชีวิตที่มีอนาคต

หากถามว่า คนจนต้องการอะไรมากที่สุด ดร.สมชัย บอกอย่างเสียงดังฟังชัดว่า พวกเขาต้องการ ชีวิตที่มีอนาคต นี่คือสิ่งที่คนจนอยากได้มากที่สุด ตอนนี้ปัจจัย 4 คือ ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ไม่ใช่ปัญหาแล้ว ในความเป็นจริงแล้วคนจนในประเทศไทยดีกว่าหลายๆ ประเทศ ที่สำคัญเส้นความยากจนของไทยสูงกว่าประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย ภูฏาน ซึ่งเส้นความยากจนเขาต่ำกว่าเรามาก เนื่องจากเพราะปัจจัย 4 ของเขาไม่เพียงพอเหมือนของไทย

"นิยามชีวิตที่มีอนาคตที่ว่า คือ การให้ลูกหลานของเขาโตขึ้นแบบมีการศึกษา มีงานทำที่เป็นหลักเป็นฐาน หากย้อนไปเมื่อ 40-50 ปีก่อน เราจะเห็นว่าจำนวนคนจนเริ่มลดลง เพราะลูกหลานของคนจนเริ่มไม่จน และขยับมาเป็นคนชนชั้นกลางมากขึ้น หากลูกหลานมั่นคง สร้างตัวได้ มาดูแลพวกเขาในยามแก่เฒ่า นี่คือสิ่งที่เขาอยากได้ และหวังมากที่สุด"

ถ้าเป็นเมื่อ 30-40 ปี พวกเขาต้องการปัจจัย 4 แต่สิ่งที่กังวลตอนนี้ คือ คนจนเรื้อรัง อาจจะมีปัญหาปัจจัย 4 โดยเฉพาะช่วงหลังโควิด-19

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาตนขึ้นมาเป็นชนชั้นปกติได้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจไทยโตได้ดี สร้างโอกาสในชีวิตหลายคนให้สามารถสร้างเนื้อสร้างตัว ส่งลูกเรียนได้ ก็หายจน เพราะทุกคนพัฒนาตัวเองได้

ความเหลื่อมล้ำจากสวัสดิการรัฐ

ดร.สมชัย มองว่า สวัสดิการรัฐตอบโจทย์พวกเขาได้ในระดับหนึ่ง รัฐบาลให้หลายสิบโครงการ แต่ถามว่ามีปัญหาไหม ก็มีอยู่บ้าง เช่น การตกหล่น ความไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะการสำรวจ หรือตกหล่นในหลายๆ โครงการ เช่น บัตรคนจน หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ตกหล่นประมาณ 50% ซึ่งคนจนจริงๆ ที่ควรได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐจำนวน 100 คน มีคนจนจริงๆ ที่ได้คือ 50 คน หรือคิดเป็น 52% เท่านั้น

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ตกหล่น คือ 1.ไม่รู้ข่าว 2.ไม่รู้ว่าโครงการมีอยู่ 3.กระบวนการวุ่นวายเกินไป เช่น รัฐบาลบอกว่าต้องมาทำเรื่องที่ธนาคาร แต่คนจนเขาก็กลัวการเข้าแบงก์ หรือรู้ข่าวแล้ว แต่เดินทางไม่ได้เพราะป่วยติดเตียงอยู่ หรือบ้านอยู่บนเขาลำบากต่อการเดินทาง เช่น ภาคเหนือ ธนาคารรัฐส่วนใหญ่อยู่ในเมือง เป็นต้น

ส่วนโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดนั้นตกหล่นประมาณ 30% ซึ่งเด็กที่เกิดในครอบครัวยากจนที่ควรได้รับเงินอุดหนุน 600 บาทต่อเดือน ใน 100 คนก็ไม่ได้ 30 คน ที่เป็นแบบนี้เพราะกระบวนการค่อนข้างวุ่นวาย ต้องมีคนรับรอง ต้องมีติดประกาศ ทำให้คนจนจำนวนหนึ่งเข้าไม่ถึง

นอกจากนี้ ยังมีบางกลุ่มของประชากรไม่ครอบคลุมและตกหล่น เช่น ประกันสังคมยังไม่จูงใจเพียงพอในการสมัครเข้า ม.40 เพราะโครงการไม่จูงใจเพียงพอ ส่วนเบี้ยผู้สูงอายุมีตกหล่นบ้าง แต่ไม่เยอะ แต่ถามว่าเงินเดือนละ 600 บาทพอกินไหม อันนี้ก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐต้องเข้าไปดูแลการจัดสวัสดิการอย่างไรให้ครอบคลุม ไม่ตกหล่น และมีความเพียงพอ

รัฐต้องช่วยให้เขามีอนาคตที่ดี มีโซเชียลโพรเท็กชัน คือ การเอาความเสี่ยงออกไปจากชีวิตเขา ให้เขาเงยหน้าเงยตาได้ ลูกหลานมีการศึกษาที่ดี ซึ่งเรื่องการศึกษาก็เป็นอะไรที่พูดได้อีกยาว เพราะโรงเรียนที่เด็กยากจนไปเรียนก็คนละเรื่องกับลูกคนรวย

แม้จะเรียนเหมือนกัน หลักสูตรเหมือนกัน แต่เรียนออกมาคือคนละเรื่องเลย เช่น เด็กเรียน ป.4 ป.6 ยังอ่านหนังสือไม่ออกเลย เพราะคุณภาพการศึกษาต่างกันเยอะ นั่นคือโจทย์ที่รัฐบาลต้องไปทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน ไม่ใช่แค่มีโรงเรียนก็พอแล้ว

จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

ดร.สมชัย กล่าวอีกว่า ประเทศที่รัฐบาลดูแลประชาชน และจัดการความเหลื่อมล้ำได้เป็นอย่างดี คือ สแกนดิเนเวีย เขามีความเป็นรัฐสวัสดิการสูง และหลายคนก็บอกว่า ประเทศไทยเป็นไม่ได้หรอก เพราะเราไม่ได้รวยขนาดนั้น แต่ผมมองว่ามันเป็นที่ว่า คุณอยากเป็นหรือเปล่า นั่นหมายความว่า คุณก็เป็นได้ และมันก็เป็นไปได้ 

ย้อนกลับไปเมื่อ 40-50 ปีก่อน เราอาจจะเคยได้อ่าน หรือได้ยินบทความ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" นี่ถือเป็นความฝันของ ดร.ป๋วย ที่อยากเห็นสวัสดิการประเทศไทยเป็นแบบนี้คือ "ถ้วนหน้า ทั่วถึง ครอบคลุมทุกคน" เรียกได้ว่าดูแลทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย 

ชาวสแกนดิเนเวียต้องจ่ายเก็บภาษีให้รัฐราวๆ 40-50% ของรายได้ เช่นมี 100 บาท ต้องจ่ายภาษีประมาณ 40-50 บาท  แต่ของไทยเก็บแค่ 10% ของรายได้ ซึ่งเราเก็บภาษีไม่เพียงพอ จึงเป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำ เพราะเราเก็บภาษีจากคนรวยน้อยไป เช่น ภาษีทรัพย์สิน ทำให้รัฐบาลถึงไม่มีเงินมากพอที่จะมาสร้างรัฐสวัสดิการ

อย่างไรก็ตาม สแกนดิเนเวีย ยังช่วยประชากรพวกเขาให้ตั้งตัวได้อีกด้วย เราลองคิดตามจะได้เห็นภาพ หากเราได้รับความคุ้มครองสิทธิ์ต่างๆ จากรัฐ เช่น สิทธิ์รักษาฟรี ดูแลตอนตกงาน ให้ค่าใช้จ่ายตอนคลอดลูก อุดหนุนเงินในเรื่องต่างๆ และได้รับการคุ้มครองเป็นหลักประกัน เราก็มีความสบายใจที่จะไปลงทุนในด้านต่างๆ

ทั้งนี้ เพราะความเสี่ยงพื้นฐาน เช่น สุขภาพ และครอบครัว รัฐบาลดูแลให้แล้ว สิ่งเดียวที่เหลือคือ ความเสี่ยงในการทำธุรกิจนั่นเอง สิ่งเหล่านี้จะช่วยพัฒนาให้เศรษฐกิจดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ฟินแลนด์ สวีเดน ถึงเขาจะจ่ายภาษีแพง รัฐบาลก็ไม่ถังแตก เพราะเศรษฐกิจโตเร็ว รัฐจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น ถ้าไทยทำแบบสแกนดิเนเวีย ต้องส่งเสริมมิติให้คนไปประกอบธุรกิจด้วย ทำ SME แบบเจ๋งๆ แบบไฮเทคก็ได้

"การที่คนจนได้รับการดูแลแบบที่ดีเหมือนเป็นการอันล็อกศักยภาพเขา ผมเจอคนจนที่โคตรฉลาด ไอคิวสูงมาก ศักยภาพสูงมาก แต่พวกเขาไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ไม่ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน สุดท้ายก็กลายเป็นแรงงานตลอดชีวิต บางคนก็ติดเหล้าติดยา ส่วนตัวผมเสียดายมาก เพราะถ้าเขามีโอกาส เขาอาจจะได้เป็นวิศวกรชั้นดี เป็นหมอชั้นดี เป็นนักการเมืองชั้นดี เป็นนายพลชั้นดี นี่แหละประเทศชาติจะได้ประโยชน์"

ไทยทำได้ แต่ต้องปรับทัศนคติ

เราจะทำอย่างไรให้ "คนรวยต้องไม่รู้สึกว่า ฉันจะหลีกเลี่ยงภาษีทุกวิธีที่ฉันทำได้" ที่สำคัญไม่ใช่แค่เลี่ยงอย่างเดียว บางครั้งก็เข้าไปก้าวก่ายกระบวนการของกฎหมายภาษีที่ควรจะเก็บคนรวย เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กว่าจะออกมาบังคับใช้ได้ก็ใช้เวลา 1 ชั่วอายุคน ซึ่งที่ผ่านมามีการผลักดันเกือบทุกรัฐบาล แต่ก็ถูกบล็อกตลอด

ไม่ว่าจะเป็นทั้งนายทุนในสภา นายทุนนอกสภา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร กี่ชุดต่อกี่ชุด ไม่เคยอนุญาตให้กฎหมายเหล่านี้ออกมาได้เลย เพราะเป็นกฎหมายที่จะไปเก็บภาษีเขา สุดท้ายรัฐบาล (ประยุทธ์) ออกมาได้

แต่เวอร์ชันนี้ก็เก็บภาษีได้นิดเดียว ซึ่งมีรายงานวิจัยล่าสุดที่ผมเห็นมา เขาว่า ถ้าเก็บภาษีตามนี้จริงรัฐบาลจะมีรายได้มากกว่าการเก็บภาษีโรงเรือน 5,600 ล้านบาท ซึ่งอาจจะเก็บได้น้อยก็เท่ากับคนรวยจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นแค่ 5,600 บาท ถือว่าน้อยมาก ไม่พอยาไส้แน่ๆ และไม่ทำให้ความเหลื่อมล้ำน้อยลง เพราะการเก็บภาษีไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ผมอยากปรับทัศนคติของสังคม และผมต้องเรียกร้องต้องให้นายทุนรับผิดชอบสังคม

ที่สำคัญไม่ใช่แค่คนรวยนะ แต่คนชนชั้นกลางก็เป็น คือ การดูถูกคนจน เพราะความไม่ไว้ใจ ซึ่งบางคนไม่ได้ดูถูก แต่ไม่ไว้ใจ เช่น มีชุดความคิดที่ว่า"ไปช่วยทำไมคนจน ช่วยมากๆ ก็มัวแต่งอมืองอเท้า ขอเงินอย่างเดียว" เพราะทัศคติแบบนี้ทำให้รัฐสวัสดิการเกิดไม่ได้ เพราะพวกเขาเหล่านี้ค้านหัวชนฝา

จากสถิติที่ผมทำงานวิจัยเรื่องความยากจนมาหลายสิบปี ผมบอกได้เลยว่า คนจนที่แบมือของเงินอย่างเดียวนี่นับหัวได้จริงๆ เพราะส่วนใหญ่ก็ปากกัดตีนถีบทั้งนั้น การที่รัฐบาลให้เงินช่วยเขาไปเนี่ย ถามว่าเขาหยุดทำงานไหม เขาก็ไม่หยุดนะ เขายังคงทำงานต่อ แบมือไม่ทำมาหากิน เป็นความเชื่อแบบเก่าๆ

"การให้รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน จะทำให้ประเทศชาติปลดล็อกศักยภาพของคนเหล่านี้มาด้วย มองดูทุกวันนี้ คนเก่งๆ ที่เกิดผิดที่ตายไปแล้วตายไปกี่รุ่น ก็ไม่เคยทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ หรือต้องเป็นคนลูกคนรวยถึงจะมีหน้ามีตาในสังคม ถ้าเราสร้างโอกาสให้คนจน เราก็จะได้โอกาสกับเขา และประเทศชาติก็ได้ประโยชน์ด้วย ถึงแม้ว่าเราจะเสียภาษีแพง แต่การเสียภาษีนี้ทำให้คนจนอีกเป็นร้อยเป็นพันคนช่วยกันผลักดันประเทศชาติให้มีรายได้มากขึ้น พวกคุณก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน"

กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

ดร.สมชัย กล่าวว่า การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นมากๆ นี่คือสิ่งสำคัญ การให้สิทธิ์องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบจ., เทศบาล, อบต. มาร่วมรับผิดชอบในท้องถิ่นให้มากขึ้น จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ดีกว่า เหตุผลที่เชื่อแบบนี้เพราะพวกเขาต้องรับผิดชอบคนในท้องถิ่น คนในพื้นที่ของเขา เช่น ถ้ามีการเลือกตั้ง พวกเขาก็ต้องหาเสียง เขาก็ต้องทำสิ่งดีๆ ให้กับคนในพื้นที่ ซึ่งหากการเลือกตั้งบริสุทธิ์ ได้คนที่ตั้งใจทำงานเพื่อท้องถิ่นจริงๆ เมื่อเทียบกับการรวบอำนาจไว้ศูนย์กลาง งบประมาณที่อยู่ในรัฐบาลกลาง 70-80% ค่อนข้างมากเกินไป เพราะบางครั้งรัฐบาลกลางก็ออกแบบนโยบายเอื้อต่อนายทุน และไม่มีการกระจายงบประมาณไปพัฒนาคน พัฒนาพื้นที่

แน่นอนต้องมีคำถามตามมาว่า ถ้ากระจายอำนาจลงท้องถิ่นมากๆ จะต้องมีการคอร์รัปชันเกิดขึ้นแน่ จุดนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความเชื่อ ผมถามกลับว่า หากอำนาจและงบประมาณที่อยู่ในส่วนกลางจะไม่มีคอร์รัปชันหรือ แล้วแบบไหนจะมากน้อยกว่ากัน หรืออย่างน้อยก็สูสีกัน เช่น ในท้องถิ่นมีคอร์รัปชัน 10 ล้าน 100 ล้าน แต่ส่วนกลางอาจจะคอร์รัปชันเป็นแสนล้านก็ได้

"คิดในแง่ดีนะ ถ้าเป็นการคอร์รัปชันในท้องถิ่น คือ การกระจายเงินแบบเป็นเงินสกปรกนะ แต่ท้องถิ่นก็เจริญด้วย แต่หากเป็นการคอร์รัปชันส่วนกลาง เขาก็จะเอาเงินไปเที่ยวต่างประเทศ ไปสร้างคฤหาสน์ที่เมืองนอก ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่ผมชอบการทุจริตนะ ผมก็ไม่ชอบเหมือนกัน แต่คิดในอีกแบบ คือ not so bad"

ทั้งนี้ การคอร์รัปชันเนี่ยเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้ดูแลต้องกำกับกันให้ดี อีกอย่างหนึ่งถ้าท้องถิ่นมีการคอร์รัปชัน คนที่จะสอดส่องดูแลเอง คือ ประชาชนคนในพื้นที่ ซึ่งพื้นที่เล็กกว่า และคนรู้จักกัน เห็นหน้ากันโดยตลอด แต่ถ้าเป็นส่วนกลาง หากรัฐมตรีทุจริต คนทั้งประเทศจะมาสอดส่องก็คงยาก เช่น รัฐมตรีทุจริต 10 คน มาแฉกันจริงได้ 1-2 คน เพราะการทุจริตในลักษณะนี้เงินก้อนใหญ่มาก ก็จะมีการลงทุนในการซ่อนความผิด เช่น มีจ้างทนายความ การปิดกั้นขบวนการต่างๆ สร้างระบบซับซ้อน

อย่างไรก็ตาม การทุจริตคอร์รัปชันใน อปท. เงินมันน้อยจึงไม่มีการจ้างกระบวนการปิดกั้นต่างๆ การตรวจสอบก็เจอได้ง่ายมาก ที่สำคัญคนในท้องถิ่นก็อยากตรวจสอบ เพราะมันคือเงินของเขาจริงๆ และเป็นเรื่องใกล้ตัว พวกเขาตรวจสอบการทำงานในท้องถิ่น และนี่คือการต่อสู้ที่ถูกต้องของประชาธิปไตยในท้องถิ่นที่แท้จริง.

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0