โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ประวัติศาสตร์เดือนตุลาฯ คนหนุ่มสาว และแบบเรียน - ประจักษ์ ก้องกีรติ

THINK TODAY

เผยแพร่ 07 ต.ค. 2562 เวลา 17.00 น. • ประจักษ์ ก้องกีรติ

เดือนตุลาคมของทุกปีมีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ 2 เหตุการณ์ในปฏิทินการเมืองไทย 

เหตุการณ์หนึ่ง คือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือที่เรียกขานกันสั้นๆ ว่า “14 ตุลา”  ซึ่งหมายถึงการเดินขบวนของประชาชนที่นำโดยนิสิตนักศึกษาราว 5 แสนคนเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญและโค่นล้มรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ที่ปกครองประเทศยาวนานกว่า 10 ปี เป็นรัฐบาลเผด็จการทหารที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ  

มองในแง่นี้ เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ จึงเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่มีคนเข้าร่วมมหาศาลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และที่สำคัญการเดินขบวนประท้วงที่นำโดยคนหนุ่มสาวได้รับชัยชนะ ทำให้ระบอบเผด็จการสิ้นสุดลง และเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ฟื้นคืนสิทธิเสรีภาพ กระบวนการเลือกตั้ง และก่อเกิดรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างสูง (ฉบับ 2517) ที่สำคัญทำให้การเมืองแบบชนชั้นนำ (elite politics) ที่อำนาจผูกขาดในมือคนกลุ่มเล็กๆ เปลี่ยนมาเป็นการเมืองแบบมวลชน (mass politics) ที่ประชาชนทุกกลุ่มทุกวัยเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างกว้างขวาง ช่วงหลัง 14 ตุลาฯ กระแสสิทธิเสรีภาพแพร่ขยายออกไปถึงชนบทที่ห่างไกล ชาวนาชาวไร่รวมกลุ่มจัดตั้งสหภาพ กระทั่งนักเรียนมัธยมก็ตื่นตัวไปพร้อมกับบรรยากาศของยุคสมัย ตั้งกลุ่มและชมรมเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษา และประเด็นต่างๆ อีกมากมาย

บางคนจึงเรียกเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ว่า “การปฏิวัติ” เพราะมันไม่ใช่แค่การเปลี่ยนรัฐบาล แต่มีความสำคัญถึงขั้นเป็นการเปลี่ยนระบอบการเมืองเลยทีเดียว

ในยุคนั้นตรงกับยุคแห่งการปฏิวัติของคนหนุ่มสาวทั่วโลก เป็นยุคสมัยแห่งตื่นรู้ของคนรุ่นใหม่ (youth awakening) คนหนุ่มสาวทั่วโลกหันมาตั้งคำถามกับสภาพสังคมของตนเอง ทั้งปัญหาสงคราม ความเหลื่อมล้ำ การขาดสิทธิเสรีภาพ ความไม่เท่าเทียม ไล่ตั้งแต่ปารีส ลอนดอน นิวยอร์ค โตเกียว นิวเดลี มะนิลา จาร์กาตา มาถึงเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ

14 ตุลาฯ ได้รับการบันทึกไว้ให้มีความสำคัญในระดับโลก เพราะมีแค่ไม่กี่ประเทศที่พลังของคนหนุ่มสาวโค่นล้มระบอบเผด็จการลงได้สำเร็จแบบที่เกิดขึ้นใน 14 ตุลาฯ เรื่องราวการลุกขึ้นสู้เพื่อประชาธิปไตยของคนหนุ่มสาวในไทยสร้างแรงบันดาลใจให้กับขบวนการคนหนุ่มสาวหลายประเทศในช่วงเวลาเดียวกัน

เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ได้รับการถ่ายทอดเป็นบทเรียนประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้อยู่บ้างพอสมควร ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่ถูกหลงลืมหรือถูกทำให้เงียบหาย ในหลักสูตรการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ มีการพูดถึง 14 ตุลาฯ ในตำราเรียน โดยมีความละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละเล่ม แต่อย่างน้อยก็มีการให้ข้อเท็จจริงพื้นฐาน มีลำดับความเป็นมา พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ และคำอธิบายๆ ว่าเหตุการณ์นี้คือ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยครั้งสำคัญของนักศึกษาและประชาชน

แต่ประวัติศาสตร์เดือนตุลา ฯ อีกเหตุการณ์ ตกอยู่ในสถานะที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง นั่นคือ เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เพราะไม่ได้รับการเอ่ยถึงในแบบเรียน แบบเรียนในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาเกือบจะทุกเล่มไม่พูดถึงเหตุการณ์นี้แม้แต่บรรทัดเดียว แบบเรียนหลายเล่มพูดถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ แล้วก็ข้ามไปที่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 โดยตัดทิ้งเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ออกไป ราวกับ 6 ตุลาฯ ไม่เคยเกิดขึ้น ในขณะที่มีแค่ 1-2 เล่มเท่านั้นในบรรดาแบบเรียนทั้งหมดที่กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ แต่ก็สั้นเพียง 2-3 บรรทัด โดยไม่ได้อธิบายที่มาที่ไป และนักศึกษาถูกบรรยายให้กลายเป็นผู้ร้ายที่สร้างปัญหาให้กับบ้านเมือง

ทำให้นึกถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับอุดมการณ์ในแบบเรียนของไทยที่สรุปไว้อย่างคมคายว่า หน้าที่ของแบบเรียนของไทยคือ “จำกัดเพดานการรับรู้ของผู้เรียน” แบบเรียนเลือกสรร ตัดทอน และขจัดเรื่องราวที่รัฐไม่ต้องการให้เยาวชนรับรู้ออกไป (นฤมล นิ่มนวล, การเมืองในแบบเรียนชั้นมัธยมศึกษาของไทย ระหว่างปีพ.ศ. 2503-2551, วิทยานิพนธ์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2559) ดังนั้นต่อให้คุณเป็นเด็กเก่งและตั้งใจเรียนในห้องเรียนมากที่สุด ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยของคุณก็จะไม่ได้ดีกว่าเพื่อนเท่าไหร่ เพราะคุณรู้เท่าที่แบบเรียนตีกรอบให้คุณรู้ เผลอๆ ยิ่งตั้งใจเรียนในระบบมาก ยิ่งถูกกล่อมเกลามากเป็นพิเศษ

ฉะนั้นประเด็นคำถามสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าอะไรอยู่ในแบบเรียนบ้าง? ประเด็นสำคัญที่เราต้องถามคือ อะไรบ้างที่ไม่อยู่ในแบบเรียน? และเพราะอะไร?

6 ตุลาคมปีนี้ ครบรอบ 43 ปีของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นักวิชาการบางท่านเรียกเหตุการณ์นี้ว่า “ประวัติศาสตร์บาดแผล” บางท่านเรียกว่า “โศกนาฏกรรมของชาติ” อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล อดีตผู้นำนักศึกษาที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์นี้และปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงด้านประวัติศาสตร์ กล่าวว่า 6 ตุลาฯ คือ ประวัติศาสตร์อิหลักอิเหลื่อของสังคมไทย เพราะลืมก็ไม่ได้ จำก็ไม่ลง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ คือ เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ทารุณโหดร้ายที่สุดเหตุการณ์หนึ่ง

นักศึกษาที่เคลื่อนไหวร่วมกับชาวนาและกรรมกรอย่างต่อเนื่องหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เรียกร้องให้ประเทศมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และมีความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ขจัดความเหลื่อมล้ำและทุนผูกขาด ต่อสู้เรื่องการปฏิรูปที่ดิน สวัสดิภาพของแรงงานและค่าแรงที่เป็นธรรม ฯลฯ โดนผู้มีอำนาจรัฐ หน่วยงานความมั่นคง และกลุ่มอนุรักษ์นิยมกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ผู้คิดร้ายทำลายชาติ มีการปลุกระดมผ่านสื่อของรัฐ สร้างข่าวเท็จมากมาย เช่น นักศึกษาไม่ใช่คนไทย เป็นสปายต่างชาติ มีการซ่องสุมอาวุธและอุโมงค์ลับในธรรมศาสตร์ (ถ้าใช้ภาษาปัจจุบันก็คือ รัฐเป็นผู้ผลิต fake news อย่างจงใจ) และมีการใช้วาทกรรมสร้างความเกลียดชัง (hate speech) ให้ประชาชนทั่วไปรู้สึกเกลียดชังนักศึกษา กระทั่งมีพระสงฆ์บางรูปกล่าวว่า *“ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” *เพราะคนที่มีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์นั้นไม่มีความเป็นมนุษย์

ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่เพียงถูกปราบปรามโดยรัฐ แต่ถูกปราบปรามด้วยอาวุธสงครามเต็มรูปแบบราวกับเป็นข้าศึกศัตรูของชาติ และยังตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากมวลชนจัดตั้งของรัฐ เช่น กลุ่มกระทิงแดง นวพล และลูกเสือชาวบ้าน ที่กระทำทารุณนักศึกษาในรูปแบบที่โหดร้ายแบบที่ไม่เคยพบเห็นในเหตุการณ์ทางการเมืองอื่นๆ

จนถึงวันนี้เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ยังเป็นโศกนาฏกรรมและประวัติศาสตร์บาดแผลของสังคมไทยที่ไม่ได้รับเยียวยา ทั้งความจริงและความยุติธรรมยังไม่ปรากฏ

ผู้มีอำนาจในสังคมไทยใช้กลวิธีมากมายในการจัดการกับเหตุการณ์การสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 วิธีการหลักคือ ความเงียบและการหลงลืม ทำให้เหตุการณ์นี้ถูกลบเลือนจากความทรงจำของสังคม ไม่ถูกพูดถึง ไม่ถูกจดจำ

ในแบบเรียนของกระทรวงศึกษาเกือบทุกเล่ม ไม่มีพื้นที่ให้ 6 ตุลาฯ ในขณะที่ 14 ตุลาฯ ยังพอมีพื้นที่อยู่บ้าง เพราะเป็นประวัติศาสตร์ของชัยชนะและการร่วมมือกันระหว่างฝ่ายต่างๆ เพื่อยุติความขัดแย้งและต่อสู้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยโดยไม่ได้ท้าทายอุดมการณ์หลักของความเป็นไทย (ผู้ร้ายมีกลุ่มเดียวคือ จอมพลถนอมและจอมพลประภาส จารุเสถียร) ในขณะที่เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เปิดเผยให้เห็นด้านที่อัปลักษณ์ของสังคมไทยที่ชนชั้นนำทุกกลุ่มร่วมมือกันใช้ความรุนแรงกับพลเมืองและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติอย่างทารุณโหดร้าย ซึ่งไม่สอดคล้องกับภาพลักษณ์ “สยามเมืองยิ้ม” “สังคมไทยรักสามัคคี” และ “รัฐไทยมีเมตตาโอบอ้อมอารี” ที่ชนชั้นนำพยายามสร้างขึ้นมากล่อมเกลาประชาชนมาตลอดตั้งแต่เด็กในรั้วโรงเรียน

ความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชนในเช้าวันที่ 6 ตุลาฯ ดำเนินต่อเนื่องยาวนานหลายชั่วโมงอย่างเปิดเผยใจกลางพระนคร โดยที่มิได้มีบทจบสวยงามแบบในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ไม่มีใครยื่นมือช่วยเหลือนักศึกษาประชาชนในเช้าวันนั้น ทั้งที่มีประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุจำนวนมากมาย แต่หลายคนกลับยิ้ม ปรบมือ และหัวเราะไปพร้อมกับภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นตรงหน้า แทนที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยยุติความขัดแย้ง

6 ตุลาฯ จึงยากแก่การจดจำ เพราะการจดจำ 6 ตุลาฯ มีผลต่อการท้าทายอุดมการณ์ของรัฐไทย และอัตลักษณ์ของสังคมไทยไปพร้อมๆ กัน และนี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไม 6 ตุลาฯ จึงไม่สามารถมีพื้นที่อยู่ในแบบเรียนและความทรงจำอย่างเป็นทางการในสังคมไทย.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0