โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

#ประชุมสภายุคโซเชียลมีเดีย - ประจักษ์ ก้องกีรติ

THINK TODAY

เผยแพร่ 06 ส.ค. 2562 เวลา 09.02 น.

รัฐสภาชุดปัจจุบันกำลังเป็นที่จับตาและติดตามจากประชาชนอย่างใกล้ชิดและมีอารมณ์ร่วมอย่างสูงชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นปรากฎการณ์ที่ประชาชนทุกเพศทุกวัยทุกสาขาอาชีพเฝ้าติดตามการถ่ายทอดสดการประชุมรัฐสภาต่อเนื่อง 2 วัน ในวาระการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อที่ประชุมสภา 

ไม่ว่าจะผ่านทางจอโทรทัศน์หรือผ่านทางจอคอมพิวเตอร์และมือถือ หลายคนเฝ้าติดตามตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้าจนถึงช่วงปิดประชุมสภาตอนค่ำคืนดึกดื่น ดูไปคอมเมนท์ไปอย่างดุเดือดและ “อิน”

ที่น่าสนใจคือ ผมสังเกตว่ามีคนรุ่นใหม่หรือเยาวชนจำนวนมากสนใจติดตามการประชุมสภาครั้งนี้อย่างชนิดที่เรียกว่าเกาะติดขอบจอ และไม่ได้ดูเฉยๆ แต่ถกเถียงแลกเปลี่ยนกับคนอื่นถึงเนื้อหา ลีลา และข้อมูลการอภิปรายของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านอย่างแข็งขันในโลกออนไลน์

ไม่ว่าจะในเฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์ กระทั่ง #การประชุมสภา กลายเป็นเทรนด์อันดับหนึ่งในโลกทวิตเตอร์ตลอด 2 วันของการแถลงนโยบายรัฐบาล และมีจำนวนทวิตสูงเกิน 1 ล้านทวิต!   

ใครที่บอกว่าเยาวชนไม่สนใจการเมืองหรือสนใจการเมืองแค่เป็นแฟชั่นคงต้องคิดทบทวนใหม่ เราได้เห็นกระแสความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่การไปใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม จนมาถึงการประชุมสภา ความตื่นตัวนี้ก็ยังไม่จางหายไปไหน 

ฉะนั้น เทรนด์ความสนใจการเมืองของคนรุ่นใหม่อาจจะไม่ใช่เพียงกระแสวูบวาบดังที่นักวิจารณ์บางคนตั้งข้อสังเกต แต่อาจจะเป็นเทรนด์ระยะยาวที่จะอยู่กับสังคมไทยไปอีกพักใหญ่หลังจากนี้  

อันที่จริงเราเห็นเทรนด์ความตื่นตัวในเรื่องการเมืองผ่านโซเชียลมีเดียมาตั้งแต่ช่วงการหาเสียงเลือกตั้งแล้ว   

ดังที่พบว่าประเด็นข่าวการเมืองกลายเป็นข่าวที่คนในโลกออนไลน์ให้ความสนใจติดตามอย่างสูง ข่าวการเมืองกลายเป็นข่าวกระแสหลัก มิใช่ข่าวสำหรับ “คอการเมือง” หรือ “เนิร์ดการเมือง” ที่เสพกันในกลุ่มเฉพาะแบบสมัยก่อน 

#ในประเด็นการเมืองจำนวนไม่น้อยกลายเป็น #ยอดนิยมอันดับต้นๆ ซึ่งบางครั้งแซงหน้าประเด็นข่าวดารา กีฬา บันเทิง เสียด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่มีเหตุการณ์การเมืองสำคัญๆ อย่างการเลือกประธานสภาฯ หรือเลือกนายกฯ หรือมีคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

เทคโนโลยีการสื่อสาร โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียและดิจิทัลแพลตฟอร์มกำลังมีบทบาทสูงขึ้นเรื่อยๆ และกำลังเปลี่ยนการเมืองไทยไปอย่างมีนัยสำคัญ และการเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงระยะยาวชนิดที่ไม่หวนกลับไปเหมือนอดีต (คนใช้และเข้าถึงช่องทางนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต) 

นักการเมือง พรรคการเมือง หรือตัวละครทางการเมืองอื่นๆ ที่ปรับตัวไม่ทันกับคลื่นการเปลี่ยนแปลงนี้ก็มีโอกาสจะตกขบวน เสื่อมความนิยม ตัดสินใจผิดพลาด เพลี้ยงพล้ำ หรือเผชิญหน้ากับแรงเสียดทานสูงในการทำงาน  

โซเชียลมีเดียเปลี่ยนการเมืองในมิติสำคัญ คือ ทำให้การเมืองแทนที่จะเป็นการสื่อสารทางเดียวและมีลักษณะ “บนลงล่าง” กลายเป็นการสื่อสารสองทาง และมีลักษณะ “ล่างขึ้นบน” มากขึ้น 

หรือกล่าวได้ว่าโซเชียลมีเดียและดิจิทัลแพลตฟอร์มทำให้ประชาชนมีฟีดแบคกลับไปที่นักการเมืองมากขึ้น และนักการเมืองต้องใส่ใจหรือพยายามสนองตอบความต้องการและความรู้สึกของประชาชนมากขึ้น

ตลอด 87 ปีที่ผ่านมา รัฐสภาไทยมีพัฒนาการเปลี่ยนมาหลายยุคในแง่ของรูปแบบการสื่อสาร จากยุคที่การประชุมเป็นแบบปิดในสมัยแรกๆ ประชาชนไม่มีโอกาสรับรู้เลยว่าผู้แทนคุยและเถียงอะไรกันในสภา ในยุคแรกนี้ การประชุมสภาเป็นเรื่องของคนที่อยู่ในสภาเท่านั้น  

มาถึงยุคที่สองที่เริ่มมีการถ่ายทอดการประชุมสภาทางโทรทัศน์ ซึ่งตอนนั้นก็ถือว่าตื่นเต้นกันพอสมควรที่ประชาชนมีโอกาสได้ฟังการอภิปรายสดๆ   

พร้อมกับการถ่ายทอดสดนี้เองที่ประชาชนและสื่อมวลชนเริ่มให้ฉายา “ดาวสภา” กับคนที่อภิปรายโดดเด่นเป็นที่ประทับใจของผู้ชมทางบ้าน แต่การถ่ายทอดทางโทรทัศน์ก็ยังเป็นการสื่อสารทางเดียวเป็นหลัก ผู้ชมทางบ้านไม่มีโอกาสติชมแสดงความคิดเห็นสื่อสารกลับไปยังบรรดาผู้แทนในสภาได้ 

ทำได้อย่างมากก็คือบ่นในใจหรือบ่นกับคนที่นั่งดูอยู่ด้วยกัน ข้อจำกัดอีกประการที่สำคัญคือ ถ้าใครพลาดดูสดขณะที่ถ่ายทอด ก็เท่ากับอดดู หาดูซ้ำไม่ได้ เราจึงได้เห็นปรากฎการณ์ที่บรรดาดาวสภาหรือประเด็นการอภิปรายเด็ดๆ จะโผล่มาในช่วงไพรม์ไทม์เป็นหลักเท่านั้น ส่วนช่วงอื่นก็จะเงียบเหงากระทั่งส.ส.จำนวนมากพากันโดดประชุม 

การเข้ามาของโซเชียลมีเดียเปลี่ยนการประชุมสภาไปสู่ยุคใหม่ ซึ่งอาจจะเรียกว่ายุคที่ 3 ซึ่งการประชุมสภาไม่ใช่เรื่องของคนในสภาเท่านั้น และไม่ใช่เรื่องของการฟังผู้แทนพูดอย่างเดียว แต่เราเข้าสู่ยุคที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมอย่างคึกคักแข็งขัน ทั้งในฐานะผู้ฟังและผู้วิจารณ์ จะเรียกว่าเป็นการประชุมสภาในยุค 4.0 ก็ว่าได้ 

ผมเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเฟซบุ๊คเพจของ “วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา” เองก็คงตกใจและแปลกใจไม่น้อยที่การถ่ายทอดประชุมรัฐสภาทางเฟซบุ๊คไลฟ์มีคนดูเป็นหลักหมื่นหลักแสน เรตติ้งราวกับรายการคอนเสริ์ตหรืออีเวนท์บันเทิงยอดนิยม  

เราได้เห็นปรากฎการณ์ที่ผู้แทนในสภาต้องคอยมอนิเตอร์โพสต์เฟซบุ๊คและทวิตของประชาชนทางบ้านว่าคอมเมนต์การอภิปรายของพวกเขาอย่างไรบ้าง มีส.ส. หลายคนหยิบยกทวิตของชาวเน็ตไปอภิปรายอ้างอิงในสภา บางคนยืมข้อความเด็ดๆ ของประชาชนไปใช้สนับสนุนประเด็นของตน 

และสังเกตได้ว่า การอภิปรายในครั้งนี้ บรรดาส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านทำการบ้านมาอย่างดี รู้ว่าประเด็นไหนที่กำลังได้รับความสำคัญในโลกโซเชียลก็จะผนวกประเด็นเหล่านั้นเข้ามาในเนื้อหาการพูดของตน เพื่อที่จะได้ไม่ตกขบวนหรือหลุดกระแส 

นอกจากนี้ เรายังพบปรากฎการณ์ที่ภาพ เสียง และข้อมูลในการประชุมสภาถูกชาวเน็ตนำไปตัดต่อ ผลิตซ้ำ ทำเป็น “มีม” ออกมามากมาย หลายอันตลกขบขัน หลายอันดุเดือดเลือดพล่าน และหลายอันกระตุ้นต่อมโกรธ 

นอกจากมีมแล้ว คลิปการอภิปรายที่โดนใจ (อาจจะในแง่ลีลาหรือเนื้อหา หรือทั้งสองอย่างผสมกัน) ก็ถูกส่งต่อและเผยแพร่อย่างกว้างขวาง และนำไปสู่การถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนในหมู่ประชาชนที่ต่างอุดมการณ์และจุดยืน 

ว่าการอภิปรายดังกล่าวมีแต่โวหารหรือไม่ ตรรกการวิเคราะห์ปัญหามีจุดอ่อนตรงไหน ข้อมูลผิดหรือไม่ ใช้ข้อมูลเก่าและนำเสนอด้านเดียวหรือไม่ ฯลฯ ซึ่งปรากฎการณ์เช่นนี้ ต้องถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีและเป็นเรื่องที่น่าดีใจ แสดงถึงความใส่ใจและความคาดหวังของประชาชนต่อการเมืองในระบบรัฐสภา 

ดีกว่าประชุมแล้วจบกันไป ไม่มีใครสนใจ ไม่มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในสังคม (แบบที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาในยุคของการประชุมสนช.) 

ในยุคนี้ พฤติกรรมและคำพูดทั้งหมดในการประชุมสภาฯ ถูกบันทึกไว้ในไซเบอร์สเปซและประชาชนย้อนกลับไปดูได้เสมอ 

ต่อไปนี้ ประชาชนไม่ต้องไปที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อยื่นเอกสารขออนุญาตอ่านบันทึกการประชุมสภาแบบสมัยก่อน เพราะโลกออนไลน์เป็นเสมือนคลังหอจดหมายเหตุที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนและบันทึกข้อมูลแบบเรียลไทม์ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ  

ฉะนั้น ใครฟิวส์ขาด ใครน็อตหลุด ใคร “ท้าตีท้าต่อย” ใครเผลอพูดว่าประเทศควรต้องมีปฏิวัติอีก 20 ปีถึงจะเจริญ ก็จะถูกบันทึกและจดจำไว้ในพื้นที่ออนไลน์ โดยที่ผู้พูดไม่สามารถตามไปลบหรือปิดกั้นการเข้าถึงได้ 

และสิ่งเหล่านี้อาจจะตามไปส่งผลกระทบกับบรรดาผู้พูดได้ในภายหลัง เมื่อข้อมูลและพฤติกรรมเหล่านั้นถูก “ขุด” ขึ้นมาอีกครั้งโดยประชาชน 

การประชุมสภาในยุคโซเชียลมีเดียจึงไม่ได้จบที่ในสภา และไม่ได้จบที่วันประชุม   

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0