โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

บุหรี่มือสาม ภัยเงียบจากสารพิษตกค้างที่เราอาจไม่รู้ตัว

LINE TODAY

เผยแพร่ 25 มิ.ย. 2563 เวลา 17.00 น.

11 ล้านคน คือจำนวนผู้สูบบุหรี่ในไทย เฉลี่ยจากคนทั้งหมด 55 ล้านคนในช่วงวัยตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป นับว่าเป็นปริมาณที่สูงมาก (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เรื่องพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มสุรา ปี 2560) แม้ว่าคนจำนวนที่เหลือจะไม่ได้เป็นผู้สูบโดยตรง แต่อาจได้รับอันตรายจากควันพิษเหล่านี้ หรือที่เรารู้จักกันในนามของ ควันบุหรี่มือสอง

แต่รู้หรือไม่ว่าสิ่งที่สร้างความเจ็บป่วยได้ไม่แพ้กันคือ บุหรี่มือสาม หลายคนอาจจะไม่คุ้นกับคำนี้เท่าไหร่ งั้นเรามาทำความรู้จักกับเจ้าควันบุหรี่มือสามกันดีกว่า

ควันบุหรี่มือสามคืออะไร

บุหรี่มือสาม หรือควันบุหรี่มือสาม (Third-hand Smoke) นับว่ายังเป็นเรื่องใหม่ แม้กระทั่งองค์การอนามัยโลกเองก็เพิ่งนิยามความหมายของ ควันบุหรี่มือสาม ไว้เมื่อปี 2558 นี้เอง 

ควันบุหรี่มือสามก็คือ สารพิษจากควันบุหรี่ที่เราหรือคนรอบข้างสูบ ที่ยังตกค้างตามพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเส้นผม เสื้อผ้า ผิวหนัง ที่นอน ที่อยู่อาศัย หรือสิ่งรอบตัวทุกอย่างที่สามารถดูดซับควันเหล่านี้ไว้ได้ แม้ว่ากลุ่มควันจะสลายหายไปแล้ว แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือสารพิษจากบุหรี่ ว่ากันว่าอาจอยู่ได้นานถึง 6 เดือนถึงเป็นปีเลยทีเดียว แถมสารบางชนิดก็ไม่สามารถทำความสะอาดให้หมดไปได้

สารตกค้างจากควันบุหรี่หรือยาสูบ ไม่ว่าจะเป็นนิโคติน ตะกั่ว สารก่อมะเร็งต่าง ๆ เมื่อถูกผสมรวมกับสารก่อมลพิษอื่น ๆ เช่น โอโซน กรดไนตรัส หรือแม้แต่ฝุ่น อาจกลายร่างเป็นสารอันตรายตัวใหม่ ที่ส่งผลร้ายต่อร่างกายเราได้มากพอ ๆ กับควันบุหรี่มือหนึ่ง และมือสอง

ใครคือผู้ได้รับความเสี่ยง

นอกจากคนทั่วไปที่อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ต้องพบเจอควันบุหรี่แล้ว บุคคลที่ได้รับความเสี่ยงมากที่สุดที่จะได้รับควันบุหรี่มือสามก็ยังหนีไม่พ้น ทารก และเด็กเล็ก ซึ่งสามารถดูดซับสารพิษได้มากกว่าผู้ใหญ่แบบเราถึง 2 เท่า! 

แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะสูบบุหรี่และดับมวนบุหรี่ไปแล้วก็ตาม แต่สารพิษที่ยังติดอยู่ตามร่างกาย ผิวหนัง แม้กระทั่งเล็บ ก็ยังส่งผลต่อสุขภาพของลูก ๆ ได้เหมือนเดิม โดยเฉพาะการเกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ยิ่งเด็กน้ำหนักตัวน้อย ก็ยิ่งได้รับอันตรายมากขึ้นเป็น 20 เท่าเลยทีเดียว

หลีกเลี่ยงอย่างไรได้บ้าง

หากคุณเป็นผู้สูบบุหรี่อยู่แล้ว ควรล้างมือ ทำความสะอาดร่างกายก่อนจับต้อง สัมผัสบุคคลหรือสิ่งของอื่น, ไม่ควรสูบบุหรี่ในที่อับ เพราะจะทำให้สารพิษตกค้างอยู่นานยิ่งขึ้น หรือหากคุณมีความเสี่ยงจะได้รับควันบุหรี่จากบุคคลอื่น ควรเลี่ยงพื้นที่ที่มีการสูบบุหรี่ให้มากที่สุด และทางออกเดียวในการกำจัดภัยบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาดคือ ต้องเลิกสูบเท่านั้น! 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0