โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธรรมะ

ธรรมะสวัสดี: ไม่มีเงินทำบุญ แต่อยากได้บุญ จะทำอย่างไร

LINE TODAY

เผยแพร่ 19 ก.พ. 2562 เวลา 08.49 น. • พระมหาทรงศักดิ์ จิรสุโภ

ถาม: ไม่มีเงินทำบุญ จะได้บุญได้อย่างไร ทำน้อยได้มาก เป็นไปได้หรือไม่

ตอบ: ต้องเข้าใจความหมายของบุญก่อนว่า.. บุญคือเครื่องชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส บริสุทธิ์จากอะไร? ก็บริสุทธิ์จากความเห็นแก่ตัว จากความมีจิตใจคับแคบ ความตระหนี่ถี่เหนียว ความหลงใหลได้ปลื้ม ความอยากได้ใคร่มีในอะไรต่าง ๆ

การประพฤติธรรมในทางพุทธศาสนานั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญให้ทาน การรักษาศีล การเจริญจิตภาวนา ต้องทราบก่อนถึงแนวทางปฏิบัติบนหลักคำสอน (จากพุทธดำรัส) ที่ว่า.. "ในกาลก่อนก็ตาม ในกาลบัดนี้ก็ตาม เราบัญญัติสอนแต่เรื่องความทุกข์ และความดับสนิทไม่มีเหลือของความทุกข์เท่านั้น" (อลคัททูปมสูตร มู.ม. ๑๒/๒๗๘/๒๘๖.)

นี่คือพุทธวจนะที่ยืนยันว่า การทำอะไรก็ตาม ที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ นั่นไม่ใช่คำสอนของพระองค์ แม้แต่เรื่องของการทำบุญ ถ้าทำตามแนวทางของพระพุทธเจ้าแล้ว จะต้องเป็นการปฏิบัติ ที่ชักจูงให้จิตใจจางคลายจากตัณหา (ความอยาก) อันเป็นเส้นทางไปสู่ความดับทุกข์ในท้ายที่สุด

ดังนั้น.. คำถามนี้ จึงผิดตั้งแต่ที่ผู้ตั้งคำถาม ไปคิดถึงผลอันจะมีแก่ตน

บุญในพุทธศาสนานั้น จะต้องเป็นการทำเพื่อหวังผลอันจะมีต่อผู้อื่นเท่านั้น ไม่ใช่ทำเพื่อที่ตนจะได้อะไรตอบแทนกลับมา พุทธศาสนาสอนให้ทำอย่างชนิดที่เรียกว่าไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทำแบบปิดทองหลังพระ ไม่หวังผลตอบแทน ไม่ทำเอาหน้า นี่จึงจะเป็นบุญที่บริสุทธิ์อย่างแท้จริง

แต่คำถามลักษณะนี้ ก็มีถามกันมาก ถามกันบ่อย และมักจะไปถามกับพระท่าน คำตอบที่ได้รับ ส่วนมากก็จะไปในทิศทางส่งเสริมกิเลส ให้เกิดความโลภในบุญ "เกิดความอยากได้ อยากมี อยากเป็น" ซึ่งสวนทางกับคำสอนของพระพุทธเจ้า

การจะเดินตามรอยพระพุทธเจ้า เราจะต้องทำเพราะอยากให้ ไม่ใช่ทำเพราะอยากได้ เพราะจิตที่คิดจะให้นั้น คือการทำลายความเห็นแก่ตัว ซึ่งสูงส่งกว่าจิตที่คิดจะเอาอย่างชนิดที่เทียบกันไม่ได้เลย ความดีก็คือความดี ธรรมะต้องตรงไปตรงมา ถ้าการกระทำใดมีกิเลสสอดแทรกอยู่เบื้องหลังการกระทำ แบบนั้นต้องเรียกเป็นอย่างอื่น ไม่เรียกว่าความดี

แก่นของพุทธศาสนาอยู่ที่เรื่องการดับทุกข์ ทุกคำสอนของพระพุทธองค์ จะต้องนำพามาสู่จุดนี้ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

การทำบุญให้ทานก็จะต้องทำ เพื่อนำไปสู่จุดหมายปลายทางนี้เช่นกัน ส่วนเรื่องของปริมาณ จะทำน้อยหรือทำมาก ไม่ใช่สาระ แต่สาระที่แท้จะอยู่ที่ความเข้าใจ และเข้าถึงการตัดวงจรของกิเลส (การให้เงินหรือสิ่งของ ถือเป็นบุญเริ่มต้น เป็นบุญกริยาวัตถุ มีจาคะ คือจิตที่คิดจะให้ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับจำนวนหรือมูลค่าว่าจะมากหรือน้อย)

พระพุทธเจ้าท่านสอนทางพ้นทุกข์ด้วยวิธีการให้พัฒนาตนเอง โดยมีเป้าหมายคือนิพพาน เริ่มตั้งแต่ทาน ศีล ภาวนา ไล่ไปตามลำดับ การทำบุญให้ทาน คือการทำความดีพร้อม ๆ กับขูดเกลากิเลสในใจไปด้วย ชะล้างความโลภ ความโกรธ ความหลง ออกจากจิตใจ เกิดเป็นใจที่สะอาดบริสุทธิ์ (สะจิตตะปะริโยทะปะนัง) จากการกระทำที่ค่อยเป็นค่อยไป จนสู่จุดที่ทุกการกระทำนั้นปราศจากความอยากเป็นมูล สะอาดบริสุทธิ์เป็นนิรูปธิ (ภาวะที่ไร้ปรุงแต่ง บริสุทธิ์ ปลอดโปร่ง โล่ง ว่าง เป็นอิสระ) นี่เรียกว่าเป็นทั้งบุญและกุศล (กุศล แปลว่าฉลาด) โดยมีตัวบุญเป็นเครื่องกีดกั้นกิเลสไม่ให้งอกงามหรือปรากฏ มีกุศลเป็นเครื่องตัดรากเหง้าของกิเลสอยู่เรื่อยไป จนมันเหี่ยวแห้งหมดกำลัง (ความหมายของบุญที่แท้ คลิก)

การทำบุญ จะมีลักษณะเป็นความเห็นพ้องกับสิ่งที่ทำ ถ้าความเห็นพ้องนั้นถูก ก็จะเป็นทั้งบุญและกุศล เช่น เมื่อทำบุญแล้ว มีความปิติ อิ่มใจ ก็รู้ว่านี่เป็นของชั่วคราว เป็นลักษณะไตรลักษณ์ เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย คือรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ทำบุญไปด้วยพร้อมกับเจริญปัญญาไปด้วย อย่างนี้เป็นต้น

แต่หากความเห็นพ้องนั้นผิด (ตามความเชื่อที่ผิด ๆ) เช่น ทำเพื่อหวังให้ตนเองได้สวรรค์สมบัติ ได้ไปอยู่ดุสิตบุรี เพื่อให้ได้มหาจักรพรรดิสมบัติ มีนางฟ้า ๕๐๐ เป็นบริวาร เพื่อให้ได้เสพย์กามคุณบนวิมานอย่างอิ่มหนำสำราญหลายหมื่นหลายแสนปี ฯลฯ

แบบนี้เป็นการทำบุญโดยมีกิเลสเป็นตัวชักนำ ทำไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเรา เป็นของ ๆ เรา เป็นตัวตนของเรา เจริญสักกายทิฐิอยู่ทุกการกระทำ อย่างนี้เป็นโลกิยะธรรมที่ผูกสัตว์ให้วนเวียนในสังสารวัฏ ไม่ใช่แนวทางพระพุทธศาสนา

(ทุกวันนี้พระตามวัด มักชักชวนให้ญาติโยมทำบุญมาก ๆ เพื่อจะได้ไปสวรรค์ สอนให้โลภในบุญ อันเป็นกิเลสล้วน ๆ สอนกันแบบนี้เพียงเพื่อหวังเงินบริจาคของชาวบ้าน ไม่สอนเรื่องปัญญากันเท่าไหร่)

เมื่อกล่าวถึงบุญแล้ว ก็จะกล่าวถึง "ศีล" ไว้ด้วยเลย การรักษาศีลที่ถูกต้อง จะต้องไม่ใช่เป็นการรักษาศีลเพื่อแลกเอาสวรรค์ตามที่นักพรรณนาอานิสงส์เขาพรรณนากันไว้ อย่างนั้นส่อถึงความเห็นแก่ตัว ที่ถูกคือรักษาศีลเพื่อให้เกิดการบังคับตัวเอง สำหรับจะเป็นทางให้เกิดความบริสุทธิ์ เกิดความสงบแก่จิตใจ เป็นไปเพื่อความเป็นปกติสุข ทั้งแก่ตัวเองและคนอื่น ๆ ในสังคม รวมถึงสำหรับให้เกิดปัญญาในขั้นสูงต่อไป

เรื่องการทำสมาธิ นี่ก็เช่นเดียวกัน คือทำเพื่อการบังคับใจตนเองให้อยู่ในอำนาจ สำหรับกวาดล้างกิเลสที่ครอบงำจิตใจ เพื่อให้จิตผ่องใสสะอาด เป็นทางให้เกิดปัญญา (วิปัสสนาญาณสู่ความดับทุกข์) ไม่ใช่นั่งภาวนาเพื่อไปดูนั่น ดูนี่ ไปติดต่อกับคนโน้น คนนี้ ตามที่ตนกระหายจะทำให้เก่งกว่าคนอื่น หรือทำเพื่อตัวเอง เมื่อตายแล้วจะได้ไปเกิดในภพนั้น ภพนี้ (มีนักปฏิบัติไม่น้อยที่มุ่งสู่ทางเหล่านี้ ผู้ที่ทุ่มเทถอนตัวไม่ได้ สุดท้ายก็มักจะวิกลจริต) นี่ก็เพราะมีทิฏฐิและตัณหาเป็นมูลเหตุ ซึ่งต่อให้ได้ผล ก็เพียงได้สมใจในวัฏสงสารตามที่ตนปรารถนาเท่านั้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อพ้นทุกข์

พุทธศาสนาสอนให้เราใช้ปัญญา เพื่อให้รู้ในสิ่งทั้งปวงได้ถูกต้องตามที่เป็นจริง จนปฏิบัติต่อสิ่งทั้งปวงนั้นได้ถูกต้อง และเป็นศาสนาแห่งเหตุผลที่มีความชัดเจน คือเป็นสันทิฏฐิโก ไม่มีการคาดคะเนหรือทำอย่างชนิดที่เรียกว่า เผื่อจะเป็นอย่างนั้น เผื่อจะเป็นอย่างนี้ แต่ให้เห็นได้ด้วยตนเอง และให้ทำลงไปตรง ๆ ตามที่มองเห็นด้วยปัญญาจากการพิจารณาจนเห็นจริงแล้วว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ (จึงเชื่อ) แล้วทำให้ปรากฏผลด้วยตนเอง

ทุกวันนี้ ในแต่ละวาระกาล วัดต่าง ๆ มักโฆษณาเชิญชวนให้ผู้คนเข้าวัด เพื่อ "ทำบุญ" และเน้นแต่เรื่องการบริจาคด้วยวิธีการต่าง ๆ เดินไปมุมไหนของวัดก็มีแต่เครื่องหลอกล่อให้ผู้คนควักเงินจากกระเป๋า บางวัดก็จัดมหรสพ จัดการละเล่นในเชิงการพนัน (ชิงรางวัล) วัดที่มีเชิญชวนมาสวดมนต์ปฏิบัติธรรม ก็มักจะมีเจตนาแอบแฝงเพื่อเงิน เพื่อชื่อเสียง หลักธรรมคำสอนแท้ ๆ แทบไม่มีเอ่ย เรื่องความดับทุกข์เกือบจะไม่มีการพูดถึงกันอีกแล้ว อริยสัจ 4 ปฏิจสมุปบาท เหลือกล่าวกันแค่ในบทสวด

อีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ไม่แน่ว่าตามวัดจะมีพูดถึงเรื่องทุกข์และความดับสนิทไม่เหลือของทุกข์อยู่อีกหรือไม่ ทุกวันนี้มองไปทางไหน เห็นแต่โฆษณาสะเดาะเคราะห์ แก้ปีชง ล้างบาป ต่ออายุนอนโลงศพ เชิญชวนซื้อบุญเพื่อสวรรค์และความร่ำรวย ขายวัตถุมงคล สร้างรูปเคารพเทพเจ้าต่างศาสนามาล่อกิเลสผู้คนให้เข้าวัด ฯลฯ ทั้งหลายทั้งมวลนี้ เพียงเพื่อให้ได้เงินเข้ามาเท่านั้น

ขอให้พุทธศาสนิกทั้งหลาย เร่งหาโอกาสที่จะศึกษาคำสอนอันเป็นแก่นของพระศาสนา เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดคือ “การดับทุกข์” ให้แก่ตนเอง และให้เกิดการสืบต่อคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อชนรุ่นหลังได้มีโอกาสเรียนรู้ อันจะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่เขาสืบไป

เจริญพร

พระมหาทรงศักดิ์ จิรสุโภ

วัดปากน้ำ นนทบุรี

สำหรับผู้มีคำถามธรรมะ อยากไขข้อข้องใจทางธรรม สามารถส่งคำถามมาได้ที่อีเมล: dhammaboxes@gmail.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0