โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ทางการสหรัฐฯฟ้องเฟซบุ๊กกีดกันคู่แข่ง อาจบีบให้ขายอินสตาแกรม-วอตส์แอป

Manager Online

เผยแพร่ 10 ธ.ค. 2563 เวลา 12.47 น. • MGR Online

รอยเตอร์ - คณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ (US Federal Trade Commission - FTC) และรัฐต่างๆ ทั่วอเมริกาได้ยื่นฟ้องบริษัท เฟซบุ๊ก อิงค์ ในข้อหาผูกขาดตลาดโซเชียลมีเดีย โดยใช้กลยุทธ์เข้าซื้อกิจการเพื่อกำจัดคู่แข่ง ซึ่งเป็นคดีใหญ่ที่อาจจะทำให้เฟซบุ๊กถูกศาลบังคับขายกิจการ WhatsApp และ Instagram อย่างไรก็ตาม หากเป็นเช่นนั้นจริงคาดว่า จะมีการต่อสู้ในศาลอีกนานหลายปี

การฟ้องร้องสองคดีพร้อมกันนี้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันพุธ (9 ธ.ค.) ทำให้เฟซบุ๊กกลายเป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่แห่งที่ 2 ที่เผชิญความท้าทายทางกฎหมายครั้งสำคัญในรอบปีนี้ หลังจากที่กระทรวงยุติธรรมฟ้องกูเกิลของอัลฟาเบตเมื่อเดือนตุลาคม กล่าวหาว่า บริษัทที่มีมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์แห่งนี้ใช้อำนาจในตลาดกีดกันคู่แข่ง

คดีความเหล่านี้ยังสะท้อนว่า พรรคเดโมแครตและคณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เห็นพ้องต้องกันมากขึ้นในการทำให้ยักษ์ใหญ่ไฮเทครับผิดชอบแนวทางธุรกิจของตนเอง และบางคนถึงขั้นสนับสนุนให้ทั้งกูเกิลและเฟซบุ๊กแตกกิจการ

การร้องเรียนเมื่อวันพุธกล่าวหาเฟซบุ๊กฮุบกิจการคู่แข่ง โดยพุ่งประเด็นที่การซื้ออินสตาแกรม (Instagram) ในราคา 1,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2012 และวอตส์แอป (WhatsApp) ในราคา 19,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2014

ผู้คุมกฎของรัฐบาลกลางและของรัฐระบุว่า ควรยกเลิกการซื้อกิจการเหล่านั้น ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่มีแนวโน้มนำไปสู่การฟ้องร้องยืดเยื้อเนื่องจากคณะกรรมาธิการการค้าของสหรัฐฯ (เอฟทีซี) เองที่อนุมัติข้อตกลงเหล่านั้นตั้งแต่เมื่อหลายปีมาแล้ว

เลทิเทีย เจมส์ อัยการสูงสุดรัฐนิวยอร์ก กล่าวในนาม 46 รัฐ อาทิ วอชิงตัน ดีซี, เซาธ์แคโรไลนา และเซาธ์ดาโกตา ที่ร่วมกันฟ้องในคดีนี้ว่า เฟซบุ๊กใช้อำนาจการผูกขาดตลาดกำจัดคู่แข่งที่เล็กกว่าออกจากการแข่งขัน โดยผู้ที่เสียผลประโยชน์จากการกระทำนี้คือผู้ใช้ และสำทับว่า ยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียแห่งนี้เข้าซื้อกิจการก่อนที่คู่แข่งจะคุกคามการครอบงำของตน

เจนนิเฟอร์ นิวสเตด ที่ปรึกษาทั่วไปของเฟซบุ๊ก ตอบโต้ว่า การฟ้องร้องนี้ถือเป็นการตีความประวัติศาสตร์ใหม่ อีกทั้งเป็นการส่งสัญญาณเตือนธุรกิจอเมริกันว่า การขายกิจการไม่มีวันเสร็จสิ้นสมบูรณ์อย่างแท้จริง

นิวสเตดเสริมว่า ไม่มีกฎหมายต่อต้านการผูกขาดที่กำหนดบทลงโทษบริษัทที่ประสบความสำเร็จ พร้อมแจงว่า วอตส์แอปและอินสตาแกรมประสบความสำเร็จหลังจากเฟซบุ๊กอัดฉีดเงินให้หลายพันล้านดอลลาร์เพื่อปรับปรุงแอปเหล่านี้

ขณะเดียวกัน มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ประธานบริหารเฟซบุ๊ก โพสต์บนแพลตฟอร์มภายในของบริษัทโดยยืนยันกับพนักงานว่า การฟ้องร้องที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการอันยาวนานนับปี จะไม่ส่งผลกระทบต่อทีมงานหรือบทบาทการทำงานใดๆ

ทั้งนี้ เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซัคเคอร์เบิร์กบอกกับพนักงานว่า เฟซบุ๊กจะต่อสู้จนถึงที่สุดกับการฟ้องร้องทางกฎหมายเพื่อบีบให้บริษัทแตกกิจการ ซึ่งถือเป็นการคุกคามต่อการดำรงอยู่ของบริษัท

แม้คำสั่งแตกกิจการไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการผูกขาดบางคนมองว่า คดีนี้มีน้ำหนักจากคำพูดของซัคเคอร์เบิร์กที่ปรากฏอยู่ในเอกสารของเฟซบุ๊ก เช่น ในอีเมลปี 2008 ที่เขาระบุว่า “การซื้อดีกว่าการแข่งขัน”

ผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ เช่น เซธ บลูม จากบลูม สเตรททีจิก เคาน์ซิล แสดงความเห็นว่า ข้อร้องเรียนของเอฟทีซีอ่อนกว่าของกระทรวงยุติธรรมที่ฟ้องกูเกิล เนื่องจากพุ่งเป้าการซื้อกิจการที่ผ่านมาแล้ว 6 หรือ 8 ปี และคงยากที่ศาลจะมีคำสั่งให้ถอนทุนที่ลงไปตั้งแต่เมื่อหลายปีที่แล้ว

การฟ้องร้องเหล่านี้ถือเป็นคดีต่อต้านการผูกขาดครั้งใหญ่ที่สุดในหนึ่งชั่วอายุคน เทียบกับการฟ้องไมโครซอฟท์ในปี 1998 ซึ่งแม้สุดท้ายรัฐบาลทำข้อตกลงยอมความ แต่การต่อสู้ในศาลนานหลายปีและการขยายผลการตรวจสอบทำให้ไมโครซอฟต์หมดโอกาสขัดขวางคู่แข่ง รวมทั้งไม่มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเติบโตของอินเทอร์เน็ต

เมื่อเดือนที่แล้ว เฟซบุ๊กเพิ่งเข้าซื้อ คัสโตเมอร์ สตาร์ทอัพบริการลูกค้า ซึ่งหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลระบุว่า มีมูลค่าถึง 1,000 ล้านดอลลาร์

นอกจากนั้นในเดือนพฤษภาคม เฟซบุ๊กยังซื้อจิฟฟี เว็บไซต์ยอดนิยมสำหรับการสร้างและแชร์ภาพเคลื่อนไหวหรือ GIF ซึ่งข้อตกลงนี้ถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันทางธุรกิจของสหราชอาณาจักร

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0