จากกรณีกรมทางหลวง (ทล.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ออกมาตรการแก้ปัญหาจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางด่วน และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) โดยให้ยกไม้กันที่ด่านเก็บค่าผ่านทางขึ้นตลอดเวลาทั้งในช่องทาง อีซี่พาส-เอ็มพาส และ ช่องชำระเงินสด ซึ่งจะเริ่มนำร่องในวันที่ 25 ส.ค.ก่อนประเมินผลพร้อมปรับปรุงและดำเนินการครอบคลุมทั่วประเทศภายในสิ้นปี 2562 ตามที่เสนอข่าวแล้วนั้น ในเรื่องนี้ วันที่ 25 ส.ค. ที่ ศูนย์ควบคุมทางพิเศษฉลองรัช(CCB 3) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมมอบนโยบายการจัดเก็บค่าผ่านทางและการควบคุมการจราจรและ ตรวจการแก้ไขปัญหาการจราจรแออัดบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางอโศก 3 ว่า วันนี้เริ่มทดสอบภาคสนามการยกไม้กั้นสำหรับช่องทางอีซี่พาสและช่องทางชำระเงินสดพบยังไม่ใช่เวลาการจราจรคับคั่งจึงไม่เห็นสภาพจริง แต่จากการทดสอบเมื่อยกไม้กั้นค้างผู้ใช้ทางไม่ทราบทำให้จอดแช่นึกว่าระบบมีปัญหา เมื่อรถวิ่งผ่านช่องแล้วไม้กั้นอาจจะลงมาฟาดรถทำให้เสียหายได้ ส่วนช่องทางชำระเงินสดมีปัญหาจราจรเคลื่อนตัวช้ามากกว่า ซึ่งการขายคูปองหน้าด่านทำให้การจราจรสะดวกคล่องตัวขึ้น นอกจากนี้พบปัจจัยภายนอกที่เป็นการจราจรด้านล่างทางด่วนที่ต้องประสานหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น กทม.เพื่อวางแผนบริหารการจราจรไม่ให้ติดขัด ทั้งนี้ สำหรับช่องทางอีซี่พาสสามารถให้บริการได้15 คันต่อนาที ส่วนช่องชำระเงินสด 12 คันต่อนาที คาดหวังว่าการทดสอบในระยะเร่งด่วนจะใช้เวลาเร็วกว่าวิธีปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่อำนวยการจราจร และสร้างความเข้าใจกับผู้ใช้ทางด่วน ตลอดจนสร้างแถบชะลอความเร็วเพื่อไม่ให้รถที่วิ่งเข้าสู่ด่านใช้ความเร็วมากเกิน80 กม.ต่อชม. อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าวจะใช้เวลา 1 สัปดาห์ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในอนาคตได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า มอบให้ กทพ. ในสัปดาห์หน้าต้องทดสอบในห้องปฏิบัติการเพื่อให้เจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมรวมทั้งใช้การประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้ทางด่วนได้ทราบถึงแนวทางทดสอบต่างๆเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและเข้าใจในการทำงาน หลังจากนั้นสัปดาห์ถัดไปหรือช่วงต้นเดือน ก.ย.จะทดสอบภาคสนามในช่องทางชำระเงินสดและช่องทางอีซี่พาส โดยจะทดสอบนำร่องที่ด่านอโศก 3 และ 4ทั้งขาเข้าและขาออกช่วงเร่งด่วนเช้าเวลา 06.00-09.00 น. และเร่งด่วนเย็น15.00-20.00 น. ซึ่งการนำร่องด่านดังกล่าวเนื่องจากมีการจราจรหนาแน่นที่สุด และตนใช้บริการประจำเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลด้วย นอกจากนี้จะใช้โดรนขึ้นถ่ายภาพมุมสูงประกอบเพื่อประมวลผลหากได้ผลสำเร็จจะขยายพื้นที่ใช้มาตรการนี้ต่อไป และในอนาคตต้องใช้กล้องอัจฉริยะ หรือ เอไอ เข้ามาบริหารจัดการเพื่อสะดวกในการใช้ทางด่วนและไม่ต้องชะลอรถ รวมทั้งตรวจสอบรถที่อาจมีความเสี่ยงต่อการก่ออาชญากรรมเพื่อใช้ข้อมูลเชื่อมต่อกับกรมการขนส่งทางบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หากการนำระบบเอไอมาใช้บริหารจัดการทางด่วนได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีระบบจ่ายค่าผ่านทางเงินสดและอีซี่พาส เพราะมีซอฟแวร์ช่วยคำนวณค่าผ่านทางได้ทันทีเมื่อมีการเข้าออกจากด่านและออกบิลชำระเงิน ทั้งนี้ กทพ.ตั้งข้อสังเกตหากไม่ชำระเงินต้องทำอย่างไร เนื่องจากการสอบถามผู้ให้บริการชำระเงินช่องเงินสด พบมีอัตราสูญเสียที่ผู้ใช้ทางไม่ชำระเงินประมาณ 0.01% ซึ่งไม่ใช่จำนวนมาก แต่ต้องการให้ผู้ใช้ทางด่วนให้ความร่วมมือปฏิบัติในการชำระค่าผ่านทางเพื่อนำรายได้มาพัฒนาประเทศต่อไป
ต่อมา นายศักดิ์สยาม เดินทางไปที่แขวงทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข7 กม.19+000 ทางขนานด้านซ้ายมอเตอร์เวย์ เพื่อประชุมมอบนโยบายกับเจ้าหน้าที่ จากนั้นได้ลงพื้นที่ตรวจการแก้ไขปัญหาจราจรแออัดบริเวณหน้าด่านทับช้าง1 กม.51+000ขาเข้ามุ่งหน้าบางนา โดยสังเกตการทดสอบวิธีขายคูปองหน้าด่านให้กับผู้ใช้บริการในช่องทางชำระเงินสดและยกไม้กั้นในช่องทางเอ็มพาส ก่อนกล่าวว่า สำหรับมอเตอร์เวย์มอบหมายให้ทล.แก้ไขปัญหาความแออัดลักษณะเช่นเดียวกับกทพ.โดยต้องทดสอบในห้องปฏิบัติ 1 สัปดาห์เพื่อประมวลผล และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบหลังจากนั้นสัปดาห์ถัดไปต้องทดสอบภาคสนามจริง 2สัปดาห์ก่อนสรุปผลและหารูปแบบดีที่สุดขยายผลไปใช้ทุกด่าน มอเตอร์เวย์พบปัญหาส่วนใหญ่ประชาชนนิยมใช้บริการช่องเงินสด 73% ช่องเอ็มพาส27% ซึ่งจากสมมุติฐานการจำหน่ายคูปองหน้าด่านช่องทางเงินสดสำหรับมอเตอร์เวย์จากการทดลองวันนี้สามารถปล่อยรถได้เร็วขึ้น แต่การดำเนินงานยังไม่นิ่งและอาจจะจำหน่ายคูปองได้มากกว่านี้ ขณะที่จุดพื้นที่แคบไม่สามารถใช้เจ้าหน้าที่จำหน่ายคูปองหน้าด่านได้อาจทำให้ไม่สามารถประหยัดเวลา ส่วนช่องเอ็มพาสถือว่าดำเนินการได้ดีไม่พบปัญหาเพราะยกไม้กั้นทันเวลา ดังนั้นจึงมอบหมายให้ ทล.หาแนวทางจูงใจให้ประชาชนใช้เอ็มพาสมากขึ้น เบื้องต้นจะลดค่าผ่านทางให้ 10% โดยให้หารือร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเร็วที่สุด
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีทล.กล่าวว่า การลดค่าผ่านทาง 10% ทางทล.ได้เสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบสามารถดำเนินการได้ทันที แต่ถ้าคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าไม่สามารถดำเนินการได้ ทล.จะขอแก้ไขปรับปรุงพ.ร.บ.อัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางที่อยู่ระหว่างการพิจารณาต่อไป