โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ถุงผ้าและหลอดเหล็กเข้ามาเพื่อจากไป...หรือกระแส “รักษ์โลก” จะเป็นแค่เทรนด์?

LINE TODAY

เผยแพร่ 15 มิ.ย. 2561 เวลา 10.52 น. • @mint.nisara

ในยุคที่ทุกคนหิ้วถุงผ้าแทนถุงก๊อบแก๊บไปซูเปอร์เพื่อแลกกับส่วนลด ในช่วงที่ทุกคนจูงมือกันไปซื้อหลอดโลหะด้วยใจที่หวังว่าจะช่วยลดการใช้พลาสติกได้บ้าง แต่อีกใจนึงก็คืออยากลองใช้ตามเพื่อนๆ ดูสักตั้ง ในเวลาที่การปลูกป่าชายเลนคือกิจกรรม CSR เพื่อสังคม เทียบเท่ากับการทำความดี ตัวอย่างเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของกระแส “รักษ์โลก” ที่ทุกคนกำลังตื่นตัว ผ่านการปลุกปั้นของสื่อต่างๆ ผ่านวีดีโอไวรัลบนโลกโซเชียลมีเดีย และผ่านแฮชแท็กที่ใครๆ ก็อยากติดบนรูปของตัวเอง แสดงตัวว่าฉันก็เป็นประชากรของโลกนะ แต่ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว การ “รักษ์โลก” นี้เป็นแค่อีกเทรนด์ที่กำลังมาและอาจจากไปในไม่ช้าหรือเปล่า?

ถ้ามองในเชิงประวัติศาสตร์ การอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นอะไรที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นร้อยๆ ปี มีกลุ่มที่ออกเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นจริงเป็นจังเกิดขึ้นครั้งแรกหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ต้นศตวรรษที่ 20 ในช่วงเวลาที่โรงงานผุดขึ้นมาเต็มเมืองใหญ่และระดับมลพิษอยู่ในขั้นวิกฤต เลยทำให้มีกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและจำกัดการปล่อยของเสียจากโรงงานตัวแรกที่ถูกผ่านออกมาในประเทศอังกฤษ มีขบวนการ Back to Nature ที่เกิดขึ้นในฝั่งยุโรปหลังจากนั้น นำโดยนักวิชาการเพื่อต่อต้านระบบบริโภคนิยมที่ทำลายธรรมชาติ มียุคที่การใช้ยาฆ่าแมลงถูกแบนหลังจากที่ได้รับความนิยมมากในช่วงปฏิวัติเกษตรกรรม มีขบวนการที่ประท้วงเรื่องสัมปทานพื้นที่ป่าด้วยวิถีสันติ ใช้การโอบกอดต้นไม้แทนเสียงของตัวเอง ขบวนการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าที่กลายเป็นจุดกำเนิดขององค์กรอย่างเช่น WWF ไล่มาถึงการก่อตั้ง Earth Day วันคุ้มครองโลกในปีพ.ศ. 2513 

จะเห็นว่าการรักษ์โลกไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นปุบปับแต่เป็นแนวคิดที่เติบโต จนมาถึงในช่วง 10 ปีหลังนี้ การเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมชัดเจนมากขึ้นเนื่องจากสถานการณ์รอบโลกเริ่มบีบบังคับให้เราต้องเห็นความสำคัญของมัน ในเวทีโลกมีการถกถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมที่กลายเป็นวาระสำคัญ มีการทำสนธิสัญญาในกลุ่มประเทศเพื่อทำข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับความร่วมมือด้านนี้มากขึ้น มีการผ่านร่างกฎหมายที่ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์เข้าช่วยการปกป้องสิ่งแวดล้อมอีกหนึ่งแรง และการอัดฉีดของสื่อก็ทำให้เรื่องนี้แทรกซึมไปยังบุคคลทั่วไปในภาคประชาชนได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ที่ทุกคนตื่นตัวเพราะเราเห็นถึงอนาคตว่าหากเราใช้ทรัพยากรธรรมชาติกันแบบไม่ยั้งคิด วันหนึ่งป่าก็จะหมด น้ำจืดที่ตอนนี้ยังมีอยู่เหลือเฟือ สักวันจะร่อยหรอ ผืนดินที่เราอยู่อาศัยก็จะถูกทำลายโดยมลพิษ ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงของอากาศ ทุกอย่างจะย้อนกลับมาที่ตัวของมนุษย์เองทั้งสิ้น

“รักษ์โลก” ไม่ใช่เรื่องใหม่ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องเก่า แนวคิดนี้ควรอยู่ในบรรทัดฐานการใช้ชีวิตของมนุษย์ทุกคนอย่างยั่งยืน ไม่ใช่สิ่งที่ “ฮิตทำ” กันเป็นครั้งคราว แต่มันควรเป็นสิ่งที่เรา “คิดทำ” กันจนเป็นเรื่องธรรมดา 

เพื่อโลก…หรืออย่างน้อยก็เพื่อความอยู่รอดของเราเอง 

คุณเห็นด้วยหรือไม่?

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0