โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

'คนรวย-คนจน'เหลื่อมล้ำทุกหย่อมหญ้า

เดลินิวส์

อัพเดต 13 ธ.ค. 2561 เวลา 01.47 น. • เผยแพร่ 11 ธ.ค. 2561 เวลา 06.08 น. • Dailynews
'คนรวย-คนจน'เหลื่อมล้ำทุกหย่อมหญ้า
สัปดาห์นี้ถ้าจะบอกว่า…คนไทยมีความเหลื่อมล้ำอันดับ 1 ของโลก ทั้งการศึกษา สาธารณสุข การทำมาหากิน รวมถึงกระบวนการยุติธรรม จะจริงหรือไม่??

วิวาทะความเหลื่อมล้ำที่ตกเป็นข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจาก Credit Suisse ได้เผยแพร่รายงานThe Credit Suisse Global Wealth Report 2018 ระบุว่าคนไทย 1% ถือครองความมั่งคั่งหรือทรัพย์สินรวม 66.9% ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ…มีความเหลื่อมล้ำอันดับ 1 ของโลกแซงหน้ารัสเซียและอินเดียค่อนข้างห่าง

จากนั้นก็มีผู้นำข้อมูลจากผลสำรวจไปเผยแพร่ต่อในโลกโซเชียลฯ อย่างรวดเร็วกลายเป็นไฟลามทุ่ง ร้อนถึงรัฐบาลและกองเชียร์ที่ออกมาตอบโต้รายงานฉบับดังกล่าวทันควัน ขืนปล่อยไว้ย่อมไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล ยิ่งใกล้เลือกตั้งข้อมูลชิ้นนี้อาจกลายเป็นอาวุธแหลมคม ที่จะกลับมาทิ่มแทงรัฐบาลได้

หนีไม่พ้นสภาพัฒน์ และ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องรับบทหนังหน้าไฟออกมาอรรถาธิบายให้สังคมรับรู้ แต่ดูเหมือนจะอธิบายคนละประเด็นที่ถูกกล่าวหา แถมบอกว่าข้อมูลในรายงานเป็นข้อมูลเก่าตั้งแต่ปี 49 สมัยรัฐบาลทักษิณ

โบราณว่า…จิ้งจกทัก ยังต้องฟัง!! นับประสาอะไรกับ Credit Suisse ธนาคารใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสวิสเซอร์แลนด์ มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่กว่าธนาคารบ้านเราชนิดไม่เห็นฝุ่น ฝ่ายวิจัยก็มีระดับศาสตราจารย์ถึง 2 ท่าน คงไม่ปล่อยข้อมูลออกมามั่วๆ แบบสุกเอาเผากินให้เสียชื่อแน่ๆ

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้นึกถึงสมัยก่อน“วิกฤติต้มยำกุ้ง” ที่เครดิตลียองแนร์ เคยเตือนไทยว่าจะต้องเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งออกมาตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนหาว่า รู้ไม่จริง ไม่รู้จักประเทศไทย แต่ในที่สุดก็เป็นอย่างที่เครดิตลียองแนร์วิเคราะห์ ตอนนั้นถ้าฟังแล้วรีบแก้ไขน่าจะผ่อนหนักเป็นเบา

คราวนี้ก็เช่นกัน Credit Suisse พูดถึงความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน หรือความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง ที่ประเทศไทยไม่ค่อยเปิดเผย แต่สภาพัฒน์กลับหยิบประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มาตอบโต้ว่าสถานะดีขึ้น โดยอ้างมาตรฐานธนาคารโลกทั้งที่เป็นคนละเรื่องเดียวกัน

กลายเป็นว่าสภาพัฒน์ฯ ตอบไม่ตรงคำถาม อันที่จริงที่ไม่ว่ามุมมองของ Credit Suisse กับมุมมองสภาพัฒน์ยกขึ้นมาสะท้อนว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำจริงๆ เพียงแต่หยิบคนละประเด็น อย่างไรก็ตามแม้สภาพัฒน์จะชี้แจงประเด็นความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้ว่าดีขึ้น แต่ไม่แน่ใจว่าจะดีขึ้นจริงๆ อย่างที่อ้างหรือไม่

แต่ถ้าจะถามว่าอันไหนน่าห่วงกว่า…ก็น่าจะเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งหรือทรัพย์สิน เพราะทุกวันนี้ช่องว่าด้านความมั่งคั่งระหว่างคนจนห่างกันถึง 70 เท่า แต่ช่องว่ารายได้ระหว่างคนจนกับคนรวยห่างกันแค่ 12-13 เท่าเท่านั้น ดังนั้นความเหลื่อมล้ำด้านมั่งคั่งหรือทรัพย์สินน่าห่วงและมีผลกระทบรุนแรง เช่น คนมีที่ดินอยู่สีลม ย่อมแสวงหารายได้ดีกว่าคนที่ไร้ที่ดิน และจะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

อันที่จริงอาจจะพูดว่า มีความเหลื่อมล้ำในบ้านเราไม่ใช่แค่ด้านความมั่งคั่งกับเรื่องรายได้เท่านั้น ยังมีอีกหลายด้านหลายมิติ ไม่ว่าเหลื่อมด้านการถือครองที่ดิน รู้ๆ อยู่ว่าทุกวันนี้กลุ่มทุนที่รวยที่สุดอันดับ1 หรือ 2และ 3 ของประเทศมีที่ดินรวมกันมากกว่าพื้นที่จังหวัดอีกหลายจังหวัด หรือคนรวยสุด 1% ครอบครองที่ดินแสนๆ ไร่ และครอบครองทรัพย์สินของประเทศในสัดส่วนที่สูง ขณะที่คนจนส่วนใหญ่ไร้ที่ดินทำกิน

นอกจากนี้ยังมีความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา การเข้าถึงระบบสาธารณสุข เรื่องทำมาหากิน รวมถึงด้านสังคม เพราะกระบวนการยุติธรรมที่วิ่งคดีและบิดเบือนได้ และไม่สามารถใช้คุกขังคนรวยได้ ขังก็แต่คนยากคนจน

กล่าวสำหรับความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษายิ่งเห็นชัด ทุกวันนี้โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนสองภาษาที่เรียนเป็นภาษาต่างประเทศ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด มีทั้งของรัฐและเอกชน ค่าเทอมแพงลิบลิ่ว ลูกคนชั้นกลางค่อนข้างสูงจนถึงลูกเศรษฐีเท่านั้นที่มีโอกาสเรียน เพื่อจะเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ทั้งในและต่างประเทศ เมื่อจบออกไปทำงานก็จะได้ทำงานดีๆ ส่วนลูกชาวบ้านที่เรียนโรงเรียนวัด โรงเรียนทั่วๆ ไป โอกาสที่จะเข้ามหาวิทยาลัยดังๆ ดีๆ ก็ย่อมน้อยกว่า โอกาสที่จะทำงานดีๆ ก็น้อยตามลงไปด้วย

ทุกวันนี้แม้แต่เรื่องการทำมาหากินยังเกิดความเหลื่อมล้ำ จะเห็นข่าวบ่อยๆ ว่าร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ หันมาทำข้าวกะเพรา กล้วยปิ้ง ขายแข่งแย่งอาชีพพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของข้างทาง บริษัทน้ำมันขายกาแฟนอกปั๊มจนร้านกาแฟรายเล็กๆ อยู่ไม่ได้

ที่ยกตัวอย่างมานี่ “แค่น้ำจิ้มของความเหลื่อมล้ำ”ที่เป็นหน้าที่ของผู้บริหารประเทศต้องบริหารจัดการ ก่อนที่จะเป็นระเบิดเวลาที่รอวันระเบิดไม่วันใดวันหนึ่ง.

…………………………………………

คอลัมน์ :เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย“ทวี มีเงิน”

ขอบคุณภาพจาก : Pixabay, kcproperty ,khonphutorn

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0