โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

กิน "มัง" แบบไหนถึงถูกวิธี? กินแล้วดียังไง? ไขทุกข้อข้องใจเกี่ยวกับ "มังสวิรัติ"

LINE TODAY

เผยแพร่ 31 ต.ค. 2563 เวลา 17.00 น. • @mint.nisara

เทรนด์ที่กำลังมาแรงในโลกของโภชนาการและสุขภาพในช่วง 2-3 ปีมานี้ คงต้องหลบให้กระแสของ Vegan/Vegetarian หรือการทานมังสวิรัติจริง ๆ จากที่นิยมภายในกลุ่มคนเล็ก ๆ ตอนนี้อาหารมังสวิรัติกลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่ร้านอาหารหลาย ๆ เจ้าจะต้องมี หรือแม้แต่ร้านฟาสต์ฟู้ดต่าง ๆ เองก็เริ่มที่จะมีตัวเลือกเป็น Plant-Based Meat (เนื้อสัตว์สังเคราะห์ที่ทำจากพืช) เพิ่มเข้ามาแล้ว 

พูดได้เต็มปากอยู่ว่าแนวโน้มของการทานมังสวิรัติจะเริ่มผันตัวจากเทรนด์เป็นวัฒนธรมอาหารแขนงหนึ่ง และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง World Vegetarian Day หรือวันมังสวิรัติโลก เราเลยอยากเขียนบทความนี้เพื่อไขข้องใจเกี่ยวกับการทานมังสวิรัติที่หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยอยู่ กินแล้วดีจริงไหม กินแล้วชีวิตจะน่าเบื่อไปเลยหรือเปล่า คำตอบรออยู่ที่ด้านล่างนี้เลย!

“กินมังหมายถึงกินแต่ผักและธัญพืชทั้งชีวิต?”

เป็นคำถามที่มักจะเบรกความตั้งใจในการทานมังสวิรัติของหลาย ๆ คน เพราะเมื่อคิดว่าจะต้องล้มเลิกการทานอาหารหลาย ๆ อย่างเพื่อผักและธัญพืชอย่างเดียว ก็ทำให้รู้สึกลำบากใจอยู่เบา ๆ แต่ความจริงแล้ว การทานมังสวิรัติมีหลายแขนงมาก ๆ ซึ่งวิธีการกินและอาหารที่ต้องละเว้นในแต่ละรูปแบบก็ไม่เหมือนกัน เราขอเริ่มต้นจาก…

Vegan (วีแกน) VS. Vegetarian (เวเจเทเรียน)

ในภาษาอังกฤษจะมีสองคำหลัก ๆ ที่ใช้เรียกคนที่ทานมังสวิรติ ถ้ามีคนเดินมาบอกคุณว่า “I’m a vegan” ฉันเป็นวีแกน นั่นหมายถึงว่าคน ๆ นั้นไม่กินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่ทำจากสัตว์ (อย่างเช่น นม, ไข่, ชีส, โยเกิร์ต รวมไปถึงการสวมใส่เสื้อขนสัตว์หรือโปรดักต์ทุกอย่างที่ได้มาจากการเบียดเบียนสัตว์ด้วย) เลย ซึ่งนั่นหมายความว่าการเป็น Vegan คือการทานมังสวิรัติอย่างบริสุทธิ์ 100%

ในทางกลับกัน ถ้ามีคนเดินมาบอกคุณว่าฉันน่ะเป็น Vegetarian นะ นั่นหมายความว่าคน ๆ นั้นอาจจะกินไม่กินเนื้อสัตว์ทั้งหมดแต่กินผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ได้จากสัตว์ก็ได้ หรือบางคนก็อาจจะไม่กินเนื้อสัตว์บางประเภทแต่ยังกินบางประเภทอยู่ ซึ่งวิธีปฏิบัติก็จะแยกย่อยออกไปตามชนิดต่าง ๆ ของ Vegetarian ดังนี้

1. Lacto Vegetarian (แลกโต เวเจเทเรียน) คือไม่ทานเนื้อสัตว์ ไม่ทานไข่ แต่ดื่มนมและทานผลิตภัณฑ์ที่ได้จากนม

2. Ovo vegetarian (โอโว เวเจเทเรียน) คือไม่ทานเนื้อสัตว์ ไม่ดื่มนมและทานผลิตภัณฑ์ที่ได้จากนม แต่ทานไข่

3. Lacto-Ovo Vegetarian (แลกโต โอโว เวเจเทเรียน) คือไม่ทานเนื้อสัตว์ แต่ดื่มนม ทานผลิตภัณฑ์ที่ได้จากนมและไข่ได้

4. Pescetarian (เพสเคเทเรียน) คือไม่ทานเนื้อสัตว์ใหญ่ แต่ทานปลาอย่างเดียว

5. Pollotarian (พอลโลเทเรียน) คือไม่ทานเนื้อสัตว์ใหญ่ แต่ทานสัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ ห่าน

6. Flexitarian (เฟลกซิเทเรียน) คือทานเนื้อสัตว์ใหญ่และปลาบ้างตามโอกาส แต่ไม่ซื้อไม่ทำเอง และประเภทสุดท้าย

7. Part-time Vegetarian (พาร์ทไทม์ เวเจเทเรียน) คล้าย ๆ กับเฟลกซิเทเรียน แต่มีระยะเวลากำหนดที่แน่นอนมากกว่า เช่น ยกเว้นตัวเองให้ทานเนื้อสัตว์ได้สามวัน แล้วกลับมาทานมังสวิรัติแบบอื่น ๆ ต่อ

เพราะฉะนั้นการทานมังสวิรัติไม่ได้หมายถึงการล้มเลิกการทานเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต แต่เราสามารถเลือกประเภทของ “มังสวิรัติ” ที่เข้ากับไลฟ์สไตล์และความตั้งใจของตัวเองได้

“กินมังมีกฎที่เข้มงวด?”

ทั้งใช่และไม่ใช่ ข้อปฏิบัติที่เข้มงวดส่วนใหญ่จะอยู่ที่กลุ่ม Vegan ซึ่งนอกจากการละเว้นเนื้อสัตว์ทั้งหมดแล้ว บางคนยังมีกฎที่เพิ่มเติมเข้ามาอีกด้วย อย่างเช่น “Whole Foods, Plant-based Vegan” เป็นประเภทที่ไม่ทานเนื้อสัตว์ทุกชนิดและไม่ทานอาหารที่ผ่านการแปรรูปหรือสภาพ อย่างเช่นอาหารสำเร็จรูป สารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือแม้กระทั่งข้าวขัดสี, “Raw Vegan” หรือกลุ่มคนที่ไม่ทานเนื้อสัตว์และไม่ทานอาหารที่ปรุงด้วยความร้อนกว่า 45 องศาเซลเซียส และ “Fruitarian” แขนงของมังสวิรัติที่จะทานผักและผลไม้ที่ตกมาจากต้นเท่านั้น 

“กินมังแล้วไม่มีโปรตีน ขาดสารอาหาร”

เนื้อสัตว์ไม่ได้เป็นแหล่งโปรตีนเดียวเสมอไป ในชาร์ตโภชนาการยังคงมีพืชตระกูลถั่ว ธัญพืช เมล็ดเจีย ไข่ และผลิตภัณฑ์จำพวกนมที่มีโปรตีนสูงไม่แพ้กัน 

"การขาดโปรตีนไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลสำหรับคนที่ทานอาหารมังสวิรัติ ตราบใดที่เขาคนนั้นไม่ได้กินแค่ข้าวขาวกับแตงกวา" ด็อกเตอร์วินสตัน เคร็ก ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมิชิแกนกล่าว สิ่งที่เขาแนะนำคือการทานโปรตีนให้เพียงพอในแต่ละวัน โปรตีน 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม พยายามเลือกทานอาหารที่หลากหลายและเน้นจานที่มีถั่วเยอะ ๆ โดยเฉพาะถั่วเหลืองที่ให้กรดอะมิโนสูง แค่นี้ก็ไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วงแล้ว

แหล่งที่มา

https://www.everydayhealth.com/diet-nutrition/diet/vegetarian-diet-myths-debunked/

https://thehappypear.ie/the-difference-between-whole-food-plant-based-and-vegan/

https://blog.bluebasket.market/2018/11/26/vegetarian-2/

https://scrubbing.in/confused-about-vegetarian-diets-we-got-you-covered/

https://blackdoctor.org/521773/vegan-vegetarian-fruitarian-whats-the-difference/

https://brendadegroot.com/en/types-vegans/

https://brendadegroot.com/en/fruitarian/

http://www.eatingwell.com/article/17214/can-i-get-enough-protein-if-i-eat-a-vegetarian-diet/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0