โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

การศึกษา / เปิดสารพัด..ข้อเรียกร้อง ปิดช่อง 'ครู-พี่เลี้ยง' ทำร้าย 'น.ร.'

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 22 ต.ค. 2563 เวลา 13.05 น. • เผยแพร่ 24 ต.ค. 2563 เวลา 10.30 น.
การศึกษา

การศึกษา

 

เปิดสารพัด..ข้อเรียกร้อง

ปิดช่อง ‘ครู-พี่เลี้ยง’ ทำร้าย ‘น.ร.’

 

แม้เหตุการณ์ต่างๆ จะเริ่มคลี่คลาย สำหรับเหตุสะเทือนขวัญพ่อ-แม่ และผู้ปกครองทั่วประเทศ หลัง “ครูจุ๋ม” น.ส.อรอุมา ปลอดโปร่ง พี่เลี้ยงเด็ก ของโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ จ.นนทบุรี รวมถึงครูและพี่เลี้ยงเด็กกว่า 10 คน ถูกผู้ปกครองแจ้งความดำเนินคดีกรณีทำร้ายร่างกายบุตร-หลาน หลังภาพจากคลิปวงจรปิดของโรงเรียนแสดงให้เห็นครูและพี่เลี้ยงเด็กทำร้ายนักเรียนชั้นอนุบาล

แม้เบื้องต้น “ทายาท” ของนายพิบูลย์ ยงค์กมล ประธานอำนวยการโรงเรียนในเครือโรงเรียนสารสาสน์ ซึ่งรับมอบอำนาจให้มาเจรจากับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และผู้ปกครองจะ “ยอมรับ” ข้อเสนอกว่า 10 ข้อ ในการ “เยียวยา” นักเรียน และผู้ปกครองแล้วก็ตาม

แต่ดูเหมือนการจะ “ฟื้น” ความเชื่อมั่นของโรงเรียนให้กลับคืนมา คงต้องใช้เวลาอีกยาวนาน

อีกทั้งปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ “ทัศนคติ” ของผู้ปกครองหลายๆ คนเปลี่ยนไป จากที่เคยคิดว่า “ยอมจ่ายค่าเทอมโรงเรียนแพงๆ เพื่อแลกกับการให้ลูกหลานได้รับการดูแลอย่างดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี” แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นความจริงอีกต่อไปแล้ว

 

ดังนั้น เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็น เพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาเอกชน และสร้างมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภค บนพื้นฐานที่ผู้เรียนต้องได้รับบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพ มีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบการจัดการศึกษาเอกชน

ซึ่งผู้ปกครองมีข้อเสนอแนะในด้านต่างๆ อาทิ ด้านการจัดการเรียนการสอน จัดให้มีระบบการแนะแนว และให้คำปรึกษาหลากหลายช่องทาง พัฒนาครูแนะแนว เพื่อให้คำปรึกษากับนักเรียนและผู้ปกครอง โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย พัฒนาสื่อการเรียนการสอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศีลธรรม จริยธรรม พระพุทธศาสนา ให้ทันสมัย ให้โรงเรียนเอกชนทั้งในและนอกระบบ ผ่านการรับรองจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ

ด้านครูผู้สอน และบุคลากรทางการศึกษา ให้มีกระบวนการคัดเลือกครูผู้สอน และบุคลากรทางการศึกษา ที่มีคุณภาพ ตรวจสอบการบรรจุครูโรงเรียนเอกชนให้มีวุฒิการศึกษา และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

ส่วนการบริหารจัดการ ความสะอาด สุขอนามัย ความปลอดภัย ให้ดูแลการจัดหา จัดทำอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ถูกสุขลักษณะ ให้นักเรียน หน่วยงานของรัฐควรเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกับโรงเรียน รวมถึงติดตามประเมินผลการแก้ไขปัญหา และปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

และด้านการจัดการเรื่องความปลอดภัยภายในโรงเรียนเอกชน เช่น ติดตั้งกล้องวงจรปิดแบบเรียลไทม์ ให้ผู้ปกครองตรวจสอบความปลอดภัยของนักเรียน กำหนดเป็นมาตรฐานให้ทุกโรงเรียนปฏิบัติ มีช่องทางการสื่อสารร้องเรียนระหว่างผู้บริหารโรงเรียน ครู และผู้ปกครอง ที่สะดวกและรวดเร็ว ให้จัดตั้งกลุ่มเครือข่ายผู้ปกครองทั่วประเทศ

และมีทีมงานของ ศธ.เข้าไปร่วมรับฟังปัญหา และหาแนวทางแก้ไข ฯลฯ

 

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเครือข่ายต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสกัดการทารุณกรรมเด็กในโรงเรียนอนุบาล ได้ยื่นข้อเสนอต่อนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. อาทิ น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายภาคีสร้างสุขภาวะเด็ก เพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างยั่งยืน ดังนี้

  • เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องประกาศตนเป็นพื้นที่ปลอดพฤติกรรมรุนแรงต่อเด็ก ด้วยกาย วาจา อารมณ์ และแสดงมาตรการในการดำเนินงานให้สอดคล้อง
  • กำหนดมาตรฐาน และแนวปฏิบัติที่ดี โดยให้ผู้รับใบอนุญาต ผู้บริหารสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และครู จะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรที่สำคัญ
  • กำหนดมาตรฐาน และแนวปฏิบัติที่ดีด้านความรับผิดชอบในความปลอดภัย ทั้งทางกาย และใจ รวมถึงสิทธิของเด็ก หากขาดความรับผิดชอบ จะต้องมีผลต่อการเป็นผู้รับใบอนุญาต
  • ส่งเสริมให้มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์

และ 5. ส่งเสริมให้มีระบบฐานข้อมูลเพื่อตรวจสอบประวัติของบุคลากรทางการศึกษา และผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ

ส่วนข้อเสนอเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัยสำหรับเด็กปฐมวัย อาทิ จัดทำนโยบายระดับชาติด้านการจัดการศึกษาปฐมวัยที่สอดคล้องกับพัฒนาการตามธรรมชาติของเด็ก คำนึงถึงเด็กที่มีความต้องการพิเศษฯ, ยกเลิกการสอบแข่งขันเข้าชั้น ป.1 และการทดสอบการอ่าน, ส่งเสริมให้ผู้ดูแลเด็กปฐมวัย และครูอาจารย์ ได้รับการฝึกอบรมหลักสูตรส่งเสริมทักษะอารมณ์ และสังคม และนำไปใช้อย่างจริงจังในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย, ส่งเสริมการพัฒนารูปแบบการมีส่วนร่วมของครอบครัวในการพัฒนาเด็กปฐมวัยร่วมกับครูอาจารย์ เป็นต้น

รวมถึงให้ตัดคำว่า “โรงเรียน” ออกจาก “อนุบาล” เพราะสร้างความเข้าใจผิดว่าเด็กต้องอ่านออก เขียนได้ ควรใช้คำว่าอนุบาล ซึ่งหมายความว่า “ตามเลี้ยงดู”, “ตามระวังรักษา”!!

 

ขณะที่ พญ.วนิดา เปาอินทร์ หัวหน้าหน่วยดูแลเด็กถูกทำร้าย โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และตัวแทนจากภาคประชาชน ได้เสนอมาตรการ “หยุดการใช้ความรุนแรงเพื่ออบรมนักเรียน” อาทิ ประกาศให้โรงเรียนไม่ใช้พฤติกรรมรุนแรงต่อเด็ก ด้วยกาย วาจา อารมณ์ เพื่อการอบรมสั่งสอน, แจ้งกับครู และเจ้าหน้าที่ทุกคน ว่าเรื่องความรุนแรงห้ามเกิดขึ้นในโรงเรียน โดยให้เซ็นรับทราบเป็นลายลักษณ์อักษร, ถ้าพิสูจน์ว่ามีครูหรือบุคลากรกระทำจริง จะไม่มีโอกาสได้ทำงานในโรงเรียนอีก

เจ้าหน้าที่ และครูที่เห็นเหตุการณ์ และไม่เข้าช่วยเหลือ รวมถึงไม่แจ้งเหตุแก่ผู้บริหารโรงเรียน จะถือเป็นความผิด, อบรมเด็กทุกคนให้เป็นผู้แจ้งเหตุโดยทันที, เมื่อรับแจ้งเหตุแล้ว ให้ผู้ที่มีพฤติกรรมรุนแรงหยุดปฏิบัติงานในโรงเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้ครูเอาคืนกับเด็ก เกลี้ยกล่อม หรือใช้อิทธิพล, ติดวงจรปิดตามที่ต่างๆ ที่นักเรียนอยู่, ผู้บริหารโรงเรียนที่ไม่สามารถดูแล ถือว่าละเลยต่อหน้าที่ และนับเป็นความผิด

และเพิ่มทักษะครูให้มีวิธีการทางบวกในการอบรมเด็ก โดยเฉพาะครูฝ่ายปกครองและครูที่เชื่อว่าจำเป็นต้องลงโทษด้วยการตี หรือดุด่าเท่านั้นจึงจะได้ผล!!

 

ด้านนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ซึ่งเป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่มี 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ ศธ., กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้อนุมัติร่างแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2563-2570 เพื่อเสนอที่ประชุม ครม.เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มองว่าเด็กปฐมวัยอาจไม่ได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้อง

รวมถึงอนุมัติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 6 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการบูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัย คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลเด็กปฐมวัย คณะอนุกรรมการวิจัยพัฒนา และจัดการความรู้ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย คณะอนุกรรมการกฎหมายและการคุ้มครองสิทธิ คณะอนุกรรมการด้านสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย และคณะอนุกรรมการพัฒนาเด็กพิเศษและด้อยโอกาส

ที่ประชุมยังหารือถึงปัญหาเด็กปฐมวัยว่าต้องได้รับการแก้ไขเรื่องใดบ้าง เพราะแม้กระบวนการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ผ่านมาอาจเชื่องช้า แต่ ศธ.จะพยายามผลักดันให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกัน แก้ไข และพัฒนาการศึกษาให้เด็กปฐมวัย หากแผนพัฒนาเด็กปฐมวัยบังคับใช้ จะเป็นการยกระดับพัฒนาการศึกษาเด็กปฐมวัยทั่วทั้งประเทศ

     ต้องติดตามว่า เมื่อ ครม.ไฟเขียวร่างแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2563-2570 แล้ว จะเกิดการพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างจริงจังอย่างที่คาดหวังไว้หรือไม่!!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0