โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

การรักษาแรงจูงใจให้งานและชีวิตในยุค Covid - 19 - หมอเอิ้น พิยะดา

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 22 เม.ย. 2563 เวลา 10.27 น. • หมอเอิ้น พิยะดา

ช่วงนี้หมอมีโอกาสได้ให้สัมภาษณ์ผ่านทาง Live ในหลายสื่อ นอกจากคำถามโดยปกติหน้างานเกี่ยวกับสุขภาพจิตแล้ว มีคำถามหลังบ้านที่ทีมงานมักถามหลังจากจบการสัมภาษณ์คือ

เราจะมีวิธีการรักษาแรงจูงใจในการใช้ชีวิตและงานอย่างไรคะ?

ตอนนี้แม้จะมีงานทำอยู่แต่ก็อยู่อย่างหวั่นไหวว่าจะถูกลดเงินเดือนหรือเลิกจ้างหรือป่าว การทำงานทุกอย่างที่บ้านก็อยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยม ตอนนี้เริ่มรู้สึกไม่มีแรงจูงใจทั้งในการใช้ชีวิตและงานจะทำอย่างไรดี

การเริ่มหมดแรงจูงในชีวิตและงาน กำลังจะเป็นผลกระทบทางด้านจิตใจที่จะตามมา หลังจากวิถีชีวิตเปลี่ยนไปได้สักระยะ และปัญหานี้ก็น่าเป็นห่วงมาก เพราะสุดท้ายอาจทำให้หลายคนกลายเป็นโรคซึมเศร้า

หรือเริ่มมีความคิดฆ่าตัวตายได้ อย่างที่เราจะเห็นการนำเสนอข่าวเรื่องการฆ่าตัวตายจากการได้รับผลกระทบจาก Covid-19 มากขึ้น

โชคดีที่หมอได้รับคำถามนี้หลังจากตัวเองก็ได้มีประสบการณ์ในการปรับตัวและได้มีโอกาสอ่านหนังสือที่ชื่อว่า “ความสำเร็จสร้างได้ด้วยสมาธิ” การที่เราจะมีแรงจูงใจและรักษาแรงจูงใจนั้น สิ่งสำคัญต้องเริ่มจากการมีเป้าหมายที่ดีและถูกทิศทาง ในวันนี้ที่งานเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน เศรษฐกิจเปลี่ยน โลกเปลี่ยน เราก็จำเป็นที่จะต้องเริ่มปรับตัวด้วยการเปลี่ยนเป้าหมายให้สอดคล้องกับ 4 S คือ

  • Simple : ทำเป้าหมายให้เล็กและง่าย ด้วยการละทิ้งสิ่งที่เกินความจำเป็นออกไป ในวันนี้ชีวิตอาจจะจำเป็นแค่ ยังมีอาหารทาน ยังมีบ้านให้นอน ยังมีงานให้ทำ สุขภาพยังแข็งแรง

  • Small : ตั้งเป้าหมายให้เล็กและทำสำเร็จได้ง่าย วันนี้แค่เราลองจัดตารางเวลาในการทำงานและพักผ่อนให้ตัวเองที่บ้านแล้วทำได้สำเร็จ ก็น่าชื่นใจแล้ว

  • Single : ทำครั้งละ 1 เรื่อง การทำงานที่บ้านแม้ว่าเราจะไม่เสียเวลาเดินทาง แต่เราจะเสียเวลากับการตามใจตัวเองได้ง่าย การดึงความสนใจจากสมาชิกในบ้าน เช่นลูกหรือพ่อแม่ เพราะไม่ได้เข้าใจว่าเรากำลังทำงาน การตั้งเป้าเรื่องที่จะทำให้น้อยแต่จดจ่อกับช่วงเวลานั้นให้มากจะยังทำให้เรารู้สึกว่าเรายังคงมีประสิทธิภาพ

  • Smile : สนุกกับสิ่งที่ทำและมีทัศนคติเชิงบวก เพราะในสถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้มีแค่เราคนเดียวที่เป็นทุกข์

เมื่อเราตั้งเป้าหมายใหม่ได้สอดคล้องกับความเปลี่ยนไปของชีวิตแล้ว

เราจะขับเคลื่อนและรักษาแรงจูงใจอย่างไร?

เรื่องนี้เป็นหัวข้อสนทนาสำคัญของหมอและพี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง ใน Live จาก หมอเอิ้น พิยะดา Unlocking Happiness

พี่จุ้ยก็เป็นศิลปินที่ได้รับผลกระทบกับเรื่องนี้ ตอนนี้พี่จุ้ยเองตัดสินใจเดินทางกลับไปใช้ชีวิตที่สมุยบ้านเกิด การกลับไปบ้านเกิดในช่วงแรกก็ไม่ต่างจากผู้คนทั่วไปที่ต้องใช้เวลาในการปรับตัว

แม้ว่าจะตั้งเป้าหมายไว้แล้วว่าจะกลับมาเพื่อเขียนหนังสือเล่มใหม่ แต่ก็ไม่มีแรงจูงใจในการที่จะลุกขึ้นมาเขียน

จนต้องตั้งคำถามใหม่กับตัวเองว่า ทำอย่างไรจะปลุกให้แรงจูงใจกลับคืนมา?

พี่จุ้ย ได้ข้อสรุปกับตัวเอง 3 ข้อคือ

1.ทบทวนแรงจูงใจภายในและภายนอก

พี่จุ้ยยกตัวอย่างเรื่องนี้กับการเล่นดนตรี ศิลปินคนหนึ่งรักในการเล่นดนตรี ความรักในการเล่นดนตรีคือแรงจูงใจภายใน วันหนึ่งเล่นดนตรีแล้วได้เงิน จากร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น เงินกลายมาเป็นแรงจูงใจภายนอก

หลายครั้งเราจะเผลอไปให้ความสำคัญกับแรงจูงใจภายนอก ดังนั้นในสถานการณ์วันนี้ถ้านักดนตรีให้ความสำคัญกับเงิน(จูงใจภายนอก) แล้วลืมแรงจูงใจภายใน คือความรักในดนตรีของตัวเอง เขาจะกลายเป็นนักดนตรีที่จมอยู่กับความทุกข์ การกลับมาทบทวนถึงแรงจูงใจภายในของตัวเองจึงสำคัญ (แล้วพี่จุ้ย ก็หยิบอูกูเลเล่ตัวโปรดขึ้นมาร้องเพลงให้ฟัง)

2.เริ่มปลูกดอกไม้ให้ความคิด

ต่อให้เราได้ทำงานในสิ่งที่เราชอบแค่ไหน เราก็ยังเบื่อได้ ยังเครียดได้ ไม่อยากทำได้ การยอมรับสภาวะที่เกิดขึ้นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา แล้วพาตัวเองไปเติมความคิดสร้างสรรค์ในงาน เช่น ทำงานเขียนก็ไปอ่านงานเขียนคนอื่นบ้าง คุยกับนักเขียนคนอื่นบ้าง เพื่อเป็นการปลูกความคิดใหม่ในงาน

3.เติมแบตเตอรี่ให้ชีวิตตัวเองอย่างสม่ำเสมอ

ภาวะหมดพลังเกิดขึ้นได้กับทุกคน แล้วแต่ ๆ ละคนจะมีวิธีในการชาร์ตพลังแตกต่างกัน บางคนต้องอยู่นิ่งๆ แต่บางคนต้องทำตัวเหมือนรถที่ต้องออกแรงเข็นก่อนไฟจึงจะเริ่มชาร์ต การพาตัวเองออกไปทำสิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นเคยอาจจะรู้สึกเหนื่อยและยากลำบากในช่วงแรกแต่สิ่งนั้นก็เป็นการเก็บพลังให้ชีวิตได้พุ่งทยานต่อได้เช่นกัน

วันนี้บอกได้เต็มปากว่าไม่มีใครไม่ต้องปรับตัวและเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ที่เราอาจจะต้องมีชีวิตปกติในรูปแบบใหม่ไปอีกนานแค่ไหนก็ไม่มีใครรู้เช่นกัน

การตั้งเป้าหมายของชีวิตและงานให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง

และการรักษาแรงจูงใจให้เดินไปถึงเป้าหมายที่นั้นได้

แม้สิ่งที่ทำจะไม่ได้ยิ่งใหญ่แต่เราอาจได้ความสุขในรูปแบบใหม่ๆกลับคืนมา

ใช้ชีวิตช้าๆอย่างไร ให้มีประสิทธิภาพ

--

ติดตามบทความดี ๆ จาก หมอเอิ้น พิยะดา ได้ทุกวันพุธ บน LINE TODAY

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0