ในรอบปีที่ผ่านมาการแข็งค่าของ‘เงินบาท’ เป็นหนึ่งในหัวข้อสนทนาในแวดวงเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง มองข้ามไปในปี2020 มีหลายค่ายออกมามองแนวโน้มยังเดินหน้า ‘แข็งค่า’ ต่อเนื่อง และมีโอกาสลงไปต่ำกว่า30 บาทต่อดอลลาร์ ได้เช่นกัน
แต่นี่คือโอกาสที่จะพาเงินลงทุนของคุณ‘ติดปีก’ บินลัดฟ้าไปลงทุนในต่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง
ปัจจุบัน‘การลงทุนต่างประเทศ’ เรียกว่า…ใครก็สามารถไปได้ ไม่ใช่เรื่องของกลุ่มคนที่มีความมั่งคั่งระดับสูงเท่านั้นที่สามารถทำได้เช่นในอดีต เพราะ ‘ช่องทางการลงทุน’ ก็เปิดกว้างมากขึ้นเช่นเดียวกัน
ส่วนจะมีช่องทางไหนบ้างที่จะพาเงินลงทุนของคุณบินลัดฟ้าไปลงทุนในต่างประเทศกันได้บ้างทีมงาน‘Wealthythai’ ยังคงมีเรื่องราวดีๆ ที่น่าสนใจมาฝากกันเช่นเคย
ลงทุนผ่าน…‘กองทุนรวม’
ช่องทางการลงทุนแรกนั้นเป็นการลงทุนผ่านเครื่องมือที่ถูกสร้างมาเพื่อตอบโจทย์นักลงทุนทั่วไปโดยเฉพาะ‘รายย่อย’ อย่าง‘กองทุนรวม’ นั่นเอง ซึ่งสามารถทำได้ 2 ช่องทาง คือ
1.‘กองทุนรวมที่ไปลงทุนในต่างประเทศ(FIF)’ ซึ่งเป็นรูปแบบของกองทุนรวมต่างประเทศที่บลจ.ต่างๆ นำเสนออยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีให้เลือกทั้งระดับสินทรัพย์ ภูมิภาค ประเทศ หรือกลยุทธ์การลงทุนให้เลือกสรรกันตามอัธยาศรัยเลยทีเดียว
‘กองFIF’ แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่
-‘Fun of Funds’ เป็นกองทุน FIF ที่มีนโยบายลงทุนในกองทุนต่างประเทศ ‘หลายกองทุน’
-‘Feeder Funds’ เป็นกองทุน FIF ที่มีนโยบายลงทุนในกองทุนหลักในต่างประเทศเพียง‘กองทุนเดียว’ ไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุน
“บลจ.ส่วนใหญ่เกือบจะ 100% มี ‘กองFIF’ เป็นหนึ่งในโพรดักต์ที่มีไว้เป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุนที่สนใจอยู่แล้ว เลือกให้ตอบโจทย์การลงทุนและความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเองก็พอ”
2. ‘กองทุนETF : Exchange Traded Fund’ ที่มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ เช่น หุ้นจีน, ทองคำ เป็นต้น แต่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นไทย สำหรับนักลงทุนที่มีพอร์ตหุ้นสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยอยู่แล้ว ก็สามารถทำการซื้อขาย ‘กองETF’ ดังกล่าวได้เสมือนหนึ่งเป็นหุ้นตัวหนึ่งนั่นเอง เพียงแต่เป็นเสมือนหุ้นที่ลงทุนในต่างประเทศเท่านั้นเอง ไม่ใช่แค่หุ้นในกระดานตลาดหุ้นไทยแต่ประการใด
“ข้อดี ของช่องทางการลงทุนต่างประเทศผ่าน ‘กองทุนรวม’ นั้น คือ ใช้เงินลงทุนน้อย เพียงหลักร้อย หรือหลักพันก็สามารถลงทุนได้แล้ว แต่ก็มีข้อเสีย คือ ค่าบริหารจัดการที่อาจจะสูงกว่ากองทุนในประเทศทั่วไป และในกรณีของ ‘กองETF’ ในไทยนั้น ปัจจุบันทางเลือกของนโยบายยังมีจำกัด อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องในการซื้อขายอีกด้วย”
ลงทุนผ่าน… ‘ตัวแทนการลงทุน’
เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ผู้ลงทุนที่สนใจสามารถทำได้แต่ก็ไม่ได้เหมาะกับนักลงทุนรายย่อยทั่วไปแต่ประการใดหากแต่เหมาะกับกลุ่มนักลงทุนที่มี‘ความมั่งคั่ง’ เป็นสำคัญ ได้แก่
- ‘กลุ่มนักลงทุนสถาบัน' เช่น ธนาคาร, บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทประกัน เป็นต้น
-‘กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่’ ในกรณีของ ‘นิติบุคคล’ จะต้องมีส่วนของของผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 100 ล้านบาท หรือมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตั้งแต่ 20 ล้านบาท
หรือในกรณีของ‘บุคคลธรรมดา’ ซึ่งนับรวมคู่สมรส จะต้องมีสินทรัพย์สุทธิ (ไม่นับรวมอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่อยู่อาศัย) ตั้งแต่ 50 ล้านบาท หรือมีรายได้ตั้งแต่ 4 ล้านบาทต่อปี หรือมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์หรือสัญญาล่วงหน้าตั้งแต่ 10 ล้านบาท
“โดยสินทรัพย์ที่สามารถลงทุนผ่านตัวกลางการลงทุนนั้นก็เป็นสินทรัพย์ที่ไม่ต่างกับการลงทุนผ่าน‘กองทุนรวม’ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น, ตราสารหนี้ (ทั้งรัฐและเอกชน), กองทุนรวม, อนุพันธ์ในตลาด Exchange นอกจากนี้ยังสามารถจะลงทุนในสินทรัพย์ที่นักลงทุนทั่วไปลงทุนไม่ได้ เช่น Unrated Bond หรือ Private Equity เป็นต้น”
โดยนักลงทุนที่สนใจสามารถทำผ่าน‘ตัวกลางต่างประเทศ’ ไม่ว่าจะเป็น ‘บริษัทหลักทรัพย์ (Broker)’ หรือ‘ธนาคารในประเทศ’ หรือ ‘กองทุนส่วนบุคคล’ กับตัวกลางที่คุณใช้บริการอยู่หรือมีบริการในด้านนี้เปิดให้บริการนั่นเอง
ลงทุน… ‘ด้วยตัวเอง’ โดยตรง
เป็นการลงทุน‘โดยตรง’ ของผู้ลงทุนเอง ในยุคโลกไร้พรมแดนตลาดการลงทุนเชื่อมถึงกันหมด การเดินทางไปต่างประเทศง่ายเพียงลัดนิ้วมือเดียว เรียกว่า…อยากลงทุนที่ไหนก็ไปเปิดการลงทุนในประเทศนั้นโดยตรงเลย เพราะบางทีอาจจะไปทำงาน หรือไปเรียน หรือไม่ลำบากที่จะทำ เป็นต้น ก็มีนักลงทุนที่ไปเปิดพอร์ตเพื่อลงทุนในตลาดต่างประเทศโดยตรง เช่น สิงคโปร์, เวียดนาม หรือ สหรัฐ เป็นต้น ‘ข้อดี’ คือ เพิ่มช่องทางการลงทุนให้กับตัวเองในต่างประเทศ ลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนผ่าน ‘ตัวกลาง’
แต่ก็มี ‘ข้อเสีย’ ในหลายเรื่องเช่นกัน เฉพาะการติดตามข้อมูลการลงทุน ตลอดจนกฎหมายต่างๆ ในต่างประเทศก็ไม่ง่ายแล้ว ไม่เพียงเท่านี้ยังต้องใช้เงินจำนวนมากในการกระจายความเสี่ยง ผู้ลงทุนต้องดำเนินการเรื่องการลงทุนด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน การฟ้องร้องเมื่อเกิดปัญหา
“บุคคลธรรมดายังมีภาระภาษีที่เกิดขึ้นจากกำไร เงินปันผล ดอกเบี้ย รวมถึงกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ถ้านำกลับมาในปีภาษีเดียวกันกับปีภาษีที่เกิดรายได้ เป็นต้น”
สำหรับ‘การลงทุนในต่างประเทศ’ นั้น ไม่เพียงจะเป็นการช่วย‘กระจายความเสี่ยง’ เท่านั้น ยังช่วย‘เพิ่มโอกาส’ ในการสร้างผลตอบแทนให้กับพอร์ตการลงทุนของคุณอีกด้วย ปัจจุบัน‘ช่องทาง’ ก็เปิดกว้างพร้อมให้คุณที่มีความพร้อมนำเงิน‘ติดปีก’ ไปลงทุนอย่างถูกต้องได้ทันที นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยสร้าง‘สมดุล’ ให้กับเงินบาทในทางอ้อมอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน