โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

กระเป๋าใบนี้มีความหมาย! ทำความรู้จักกับ 2 แบรนด์กระเป๋าเพื่อสังคมและ 2 ผู้หญิงที่อยู่เบื้องหลัง

LINE TODAY

เผยแพร่ 04 มี.ค. 2564 เวลา 04.57 น. • @mint.nisara

เราขออุทิศพื้นที่คอลัมน์พิเศษของ LINE TODAY ให้กับเหล่าผู้หญิงหัวใจสวย พวกเธอคือคนที่ริเริ่มโปรเจคท์เพื่อสังคมและแลกแรงกายกับพลังใจเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนอื่น ๆ ขอเริ่มต้นด้วยเรื่องราวจาก 2 สาวที่ถ้ามองแบบเผิน ๆ พวกเธอก็คือแม่ค้าขายกระเป๋าสองคน แต่ถ้าได้ทำความรู้จักเกี่ยวกับแบรนด์กระเป๋าและที่มาของแต่ละใบที่พวกเธอหยิบมาขายแล้ว มันคือเรื่องราวที่แสนพิเศษและอบอุ่นหัวใจมากจริง ๆ

กระเป๋าใบที่ 1 : ทุกใบมีแค่แบบเดียวในโลก! “Heartist” กระเป๋าผ้าทอมือจากบุคคลพิเศษ

โลกของเด็กพิเศษฟังดูอาจจะเป็นเรื่องไกลตัวแต่หลังจากที่เราได้คุยกับ โปสเตอร์-วริศรุตา ไม้สังข์ หนึ่งในทีมผู้สร้างสรรค์ Minutevideos และเจ้าของแบรนด์กระเป๋าผ้าทอจากบุคคลพิเศษที่ชื่อว่า Heartist เราก็ได้เปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ใหม่ทั้งหมด และรู้สึกว่าโลกของพวกเขาเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และความสามารถที่ไม่ธรรมดาเลยจริง ๆ 

“ก่อนที่เราจะได้รู้จักกับน้อง ๆ เราก็รู้สึกมาตลอดเหมือนกับคนทั่ว ๆ ไปว่าเรื่องนี้มันไกลตัว แต่พอเริ่มอิน เริ่มเข้าใจ พอคุยกับใคร ๆ ก็กลายเป็นว่าเราเจอคนที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษเยอะมาก ๆ และส่วนใหญ่ไม่กล้าที่จะยอมรับ ล่าสุดมีเพื่อนสนิทคนนึงที่เพิ่งเล่าให้ฟังว่ามีน้องชายเป็นเด็กพิเศษและไม่เคยยกเรื่องนี้มาพูดเลยเพราะที่บ้านรับไม่ได้” นี่คือแรงกระตุ้นที่ทำให้โปสเตอร์คิดโปรเจคท์ Heartist ขึ้นมาทั้งหมดเพื่อสร้างงานศิลปะชิ้นพิเศษจากกลุ่มบุคคลที่ไม่ธรรมดา

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นจริง ๆ โปสเตอร์เคยไปเป็นอาสาสมัครที่ “อรุโณทัย” ที่นี่คือกลุ่มของคุณแม่ที่มีลูกเป็นบุคคลพิเศษแล้วมารวมตัวกัน ทำกิจกรรมบำบัดเด็ก ๆ ซึ่งหนึ่งในวิธีการบำบัดที่ใช้ก็คือการทอผ้า “ตอนนั้นเราเห็นเพื่อนในเฟซบุ๊กแชร์มาว่าเขาต้องการอาสาสมัครไปทอผ้าร่วมกับเด็กพิเศษพอดี เราเองก็สนใจเพราะอยากรู้เกี่ยวกับเรื่องเด็กพิเศษด้วยว่าพวกเขาเป็นอย่างไร ก็เลยสมัครไป” ขั้นตอนของการไปเป็นจิตอาสาของที่นี่ไม่ใช่แค่การสมัคร แต่ที่อรุโณทัยจะมีการสัมภาษณ์ที่เข้มข้นเพื่อคัดเลือกคนที่สามารถอยู่กับเด็กพิเศษได้โดยไม่ทำร้ายพวกเขา “โลกของเขาที่เราเห็นกับโลกที่เราอยู่มันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กลุ่มบำบัดที่นี่เป็นกรุ๊ปปิดเพราะเขาเคยถูกกระทำจากสังคมในรูปแบบที่ว่าเด็ก ๆ โดนแกล้ง แม่ ๆ ก็โดนพูดจาใส่มา หรือแม้แต่การถูกโกงโดยคนที่อาสามาช่วย เขาเลยหันหลังให้กับสังคม” 

“มีอยู่วันนึง เราก็ได้คุยกับคุณแม่ของน้องคนนึง เราก็สะดุดกับประโยคที่ว่าที่เขาให้ลูกทอผ้าน่ะ เพราะอยากให้ลูกมีคุณค่าความเป็นมนุษย์” โปสเตอร์เล่าให้ฟังว่าเธอหยุดกึกทันทีที่ได้ฟังประโยคนี้ “เราช็อกไปเลย เพราะการทอผ้าของเขามันมีความหมายมาก ๆ เหมือนตัวเรามองข้ามความสำคัญอะไรไปเยอะมาก สำหรับเขา แค่ลูกเขาขยับนิ้ว ผูกปมเป็น แก้ไหมได้ มันคืออะไรที่วิเศษสำหรับเขาแล้ว และเขาก็อยากให้ลูกตัวเองมีคุณค่าแบบที่คนอื่นเป็น การทอผ้าก็คือการทำงาน และพอเขามานั่งทำงานได้ เขาก็จะถูกปฏิบัติเป็นมนุษย์ปกติคนนึง มันเลยทำให้เรารู้สึกว่าอยากทำอะไรสักอย่าง แล้วในตอนนั้นเราคิดแค่ว่าเรามีเสียง เรามีเอเนอร์จีอยู่ เราจะช่วยเขายังไงได้”

โปสเตอร์เล่าให้ฟังว่าความคิดเธออาจจะฟังดูเป็นอะไรที่ง่ายสำหรับคนทั่ว ๆ ไป แต่สำหรับคุณแม่ในกลุ่มอรุโณทัย พวกเขามีปัจจัยอื่น ๆ ที่ต้องรับผิดชอบอีกมากมาย “การมีลูกเป็นเด็กพิเศษ ในหลายเคสที่น้อง low function ไม่พ่อหรือแม่จะต้องลาออกจากงานมาเพื่ออยู่กับน้องตลอดเวลาเลย มีอีกหลายเคสที่เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวเพราะพ่อทิ้ง เกิดความรับไม่ได้ เพราะฉะนั้นการเลี้ยงลูกทั้งวันมันก็เหนื่อยแล้ว การที่ต้องไปดีลกับช่างหรือเอาโปรดักท์ไปขายต่อนั้น เป็นอะไรที่ค่อนข้างยากสำหรับคุณแม่ วิธีที่เขาทำกันก็คือปีนึงจะเปิดรับบริจาค คือให้คนในกลุ่มนี่แหละที่ช่วยเอาผ้าไปขายญาติพี่น้องแล้วเอาเงินที่ได้มาเข้ากลุ่ม อยู่กันแบบระบบเกื้อกูลคล้าย ๆ กับสหกรณ์ ถ้าใครมีเงินมากกว่าก็ช่วยออกค่าใช้จ่ายสำหรับการบำบัดมากหน่อย ใครมีน้อยก็จ่ายน้อย ใครไม่มีเลยก็ฟรี”

“เราเชื่อว่าบนโลกนี้ไม่มีใครที่ปกติ มันต้องมีโมเมนต์ใดโมเมนต์นึงที่เรารู้สึกพิการ เราทำนู่นไม่ได้ทำนี่ไม่ได้ หรือโมเมนต์ที่เราโดนลืม ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ถูกแฟน ignore ความรู้สึกพวกนั้นคือเศษเสี้ยวหนึ่งแต่มันคือทั้งชีวิตของน้อง ๆ และกลุ่มนี้ก็พยายามอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพวกเรามาโดยตลอด”

เริ่มต้นทำแบรนด์ ประสบการณ์ = 0, พลังใจ = 100 

คิดแค่ว่ามันก็เหมือนการโพสต์ขายของออนไลน์ที่ใคร ๆ ก็ทำได้ “เราซื้อผ้าของน้องลอตแรกประมาณ 50,000 กว่าบาท ที่ราคาแพงเพราะว่าผ้าแต่ละผืนใช้เวลาทอนาน ประมาณ 4-6 เดือนถึงจะเสร็จ แต่เราไม่เคยมีความรู้ด้านการผลิตใด ๆ ทั้งสิ้น มีแค่จินตนาการว่าง่าย คิดแค่ว่าการเป็นแม่ค้าขายของออนไลน์น่ะมันง่าย ออกแบบดีไซน์กระเป๋าคร่าว ๆ แล้วไปตามหาช่างให้เย็บกระเป๋าขึ้นมาเลย” โปสเตอร์ผลิตกระเป๋าโดยที่ไม่ได้ขึ้นแบบและทดสอบความแข็งแรงก่อน ผลที่ได้ก็คือลอตแรกเสียทั้งหมด “เราทำเป็นกระดุมแป๊กแล้วดีไซน์ข้างในให้เป็นผ้ากำมะหยี่ พอใช้จริง ปรากฏว่ากระดุมดึงผ้าขาดหมดเลย เท่ากับว่าเสียทั้งลอต แล้วตอนนั้นดีไซน์กระเป๋าก็เล็กสำหรับให้ใส่โทรศัพท์ วัดขนาดจาก iPhone 5S กว่าเราจะดีไซน์กระเป๋าเสร็จ ผลิตมาพร้อมขายแล้ว ก็เป็นช่วงที่ 5s ตกรุ่นไปแล้ว พอกระเป๋าใส่มือถือไม่ได้ คนก็จะไม่ค่อยใช้ สรุปคือขายไม่ค่อยได้”

เส้นทางในการปั้นแบรนด์ดูจะขรุขระเอาซะทีเดียว จนมาถึงจุดที่เธอยอมถอยแล้วและตั้งใจจะกลับไปเป็นอาสาสมัครแบบเดิม แต่นั่นคือตอนที่เธอดันไปรู้จักกับโครงการ SET Social Impact ของตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เป็นโปรแกรมที่ช่วยให้เธอเริ่มวางแผนโมเดลธุรกิจอย่างจริงจังและเปลี่ยนแนวคิดในการทำธุรกิจเพื่อสังคมของโปสเตอร์ไปอย่างสิ้นเชิง “เค้าบอกว่าถ้าเราจะช่วยคน เราต้องมีกำไร ถ้ามันไม่มีกำไร เราจะช่วยใครไม่ได้ ตอนแรกที่ฟังเราก็ค้านในใจแหละ เพราะเราไม่อยากทำเพื่อเงินและตอนนั้นก็ยังคิดว่ายังไงเราก็ทำงานประจำอยู่แล้ว เราก็เอาเงินที่ได้ แบ่งส่วนหนึ่งมาช่วยซัพพอร์ตน้อง ๆ ไปก่อน พอทำไปทำมา สุดท้ายก็ไม่ไหวจริง ๆ เพราะเงินในบัญชีหมดไปแล้ว เราเลยรู้ว่าคำพูดนั้นถูกต้อง ถ้าไม่มีกำไร เราจะช่วยคนเพิ่มไม่ได้ หลังจากที่ได้เข้าอบรมเราก็เลยเปลี่ยนแนวคิดว่าหลังจากนี้เราจะทำเพื่อเงิน ทำยังไงก็ได้ให้ได้เงินเยอะที่สุด เพราะเรามีแพลนแล้วว่าเงินมันต้องไปตรงไหนอีก ถ้าเราไม่มีเงิน เราจะช่วยเขาไม่ได้เลย”

ขายผลงานศิลปะ แต่ไม่ได้ขาย ‘ความน่าสงสาร’

จากทฤษฎีที่ได้เรียนรู้มากับความมุ่งมั่นทำให้ Heartist เข้าสู่ปีที่ 3 ปีด้วยน้ำแรงของเธอแบบลุยเดี่ยว ผลิตกระเป๋าได้ 200-300 ใบต่อเดือนจากนโยบายการรับซื้อผ้าทอทุกผืนจากโครงการอรุโณทัยและโรงเรียนอุบลปัญญานุกูลในจังหวัดอุบลราชธานี สิ่งหนึ่งที่โปสเตอร์ยึดมั่นมาโดยตลอดก็คือเธออยากให้ทุกคนมองว่ากระเป๋าที่ซื้อกลับไปก็เหมือนกับเวลาเราไปเลือกซื้อผลงานศิลปะของศิลปินสักคน “เคยมีคนมาถามทางเพจว่าขอดูรูปคนทอผ้าหน่อยได้มั้ย ซึ่งการจะใช้รูปน้องจะต้องได้รับการอนุญาตจากทางคุณพ่อคุณแม่น้องก่อน พอเราส่งไป บางคนก็ตอบกลับมาว่า ‘ไม่เห็นเอ๋อเลย อยากได้รูปที่ดูเอ๋อ ๆ’ เราก็ตอบกลับไปว่าที่นี่ไม่มีใครที่เป็นเอ๋อ มีแต่น้องที่มีความสามารถ เราไม่อยากให้ Heartist เป็นเหมือนมูลนิธิที่คนมาซื้อของด้วยความสงสาร เราไม่อยากได้การทำบุญเพราะเราไม่ใช่วัด แต่เราอยากให้คนมาซื้อของเพราะเห็นว่ามันสวยจริง ๆ อยากให้ซื้อเพราะศิลปินเขาพยายามโคตร ๆ กว่าจะทอผ้าออกมาได้ และนี่แหละคือสิ่งที่ทำให้เราแฮปปี้มาก ๆ พอเอาไปเล่าให้คนทอ เขาก็ภูมิใจ”

“Heartist จะต้องรันต่อไปได้ในวันที่ไม่มีเรา”

ถามถึงอนาคตที่วางไว้ให้กับ Heartist โปสเตอร์บอกว่าเธออยากให้ Heartist เป็นมากกว่าแบรนด์ แต่เป็นเหมือนพื้นที่ของคนที่อยากเรียนรู้เรื่องราวของซึ่งกันและกัน “อยากให้ Heartist เป็นสถานที่ ๆ ให้น้อง ๆ ที่บำบัดจนพร้อมปะทะกับโลกภายนอกแล้วมาลองใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น ๆ ดู มีคาเฟ่ มีที่โชว์ผลงาน อยากให้มันเป็นที่ ๆ เขาได้รับการยอมรับจากคนอื่น และเป็นตัวบอกเล่าเรื่องราวว่ายังมีคนกลุ่ม ๆ นี้อยู่นะ ถ้าคนเข้าใจเขามากขึ้น ยอมรับมากขึ้น มันมีโอกาสที่เขาจะสามารถเข้ามาใช้ชีวิตกับคนทั่ว ๆ ไปได้” 

คำถามทิ้งท้ายที่เรามีให้โปสเตอร์ก็คือทำ Heartist มาหลายปี อะไรคือพลังใจที่เธอได้รับกลับมาบ้าง เธอตอบเราว่า “มันคือความรู้สึกที่ว่าอย่างน้อยเราก็มีประโยชน์ อย่างน้อยเราก็มีความสำคัญกับใครสักคน คือเรารู้สึกว่าเราได้รับมาทั้งชีวิตแล้ว อย่างน้อยเราก็ได้ส่งต่อที่เรามีมากกว่าให้คนอื่น แค่ประโยคที่ว่า ‘เราจะทอผ้าเก็บไว้ให้โปสเตอร์ เพราะโปสเตอร์จะได้เอาไปทำกระเป๋าสวย ๆ’ หรือการที่พ่อน้องที่ไม่เคยยอมรับในตัวเขาเลย มาส่งน้องไว้กับเราแล้วบอกว่า ‘อยู่กับพี่เขา พี่เขาดี’ อย่างน้อยก็คือเราได้ทำให้ชีวิตคน ๆ นึงดีขึ้นโดยการมีอยู่ของเรา และแค่นี้ก็คือความสุขมาก ๆ ของเราแล้ว”

สนับสนุนผลงานของ Heartist หรือติดต่อเพื่อร่วมงาน คลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.heartistdid.com, เฟซบุ๊กเพจ Heartistdid  และอินสตาแกรม @heartistdid (โปสเตอร์บอกว่าเธอต้องการดีไซเนอร์หรือร้านค้าที่อยากทำโปรเจคท์ร่วมกัน และทีมที่ช่วยปั้นแบรนด์ ถ้าสนใจลองติดต่อเธอไปคุยกับเธอได้เลยจ้า)

กระเป๋าใบที่ 2: กระเป๋าต่อทุนการศึกษาเด็ก ๆ จากชายขอบ อำเภอสังขละบุรี

กระเป๋าผ้ากับลายเพ้นท์รูปตัวการ์ตูนสีสดใสเหล่านี้ถูกบรรจงวางบนโต๊ะในห้องประชุมซึ่งเป็นสถานที่ที่ LINE TODAY นัดสัมภาษณ์กับ

น้องจีน-จิรสิริ กังวานนวกุล ในวันนั้น เธอคือนักดนตรีด้วยหัวใจและสายเลือดที่เป็นทั้งคุณครูสอนฟลุตที่โรงเรียนสาธิตรามฯ สมาชิกประจำวง Thai Youth Orchestra และผู้จัดการโรงเรียนดนตรี Viemus นอกเหนือจากนั้น เธอยังเป็นผู้ก่อตั้งและริเริ่มแบรนด์กระเป๋าที่มีชื่อว่า PaintJai และนี่คือสิ่งที่นำพาให้เราได้มารู้จักกับเรื่องราวของเธอในบทบาทนี้มากยิ่งขึ้น

จุดเริ่มต้นเกิดจากการตามคุณแม่ไปทำงาน

จีนเล่าถึงจุดเริ่มต้นไอเดียของ PaintJai ว่ามาจากการที่เธอตามคุณแม่ไปทำงานจิตอาสาด้วยตั้งแต่เด็ก ๆ "เริ่มจากคุณแม่ของจีนอยู่ฝ่ายที่ดูแลเรื่องโปรเจคท์ CSR ของบริษัท ตอนนั้นคุณแม่เริ่มมาทำกิจกรรมกับที่โรงเรียนบ้านห้วยมาลัยในอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และมันเป็นโปรเจคท์เกี่ยวกับศิลปะที่ให้เด็ก ๆ ฝึกวาดรูปแล้วเอาผลงานไปขายหารายได้ซึ่งก็ทำมาเรื่อย ๆ ได้ประมาณ 8 ปี 

ตอนนั้นเป็นช่วงที่คุณแม่จะเกษียณบวกกับจำนวนเด็กที่เพิ่มขึ้น อาจจะทำให้โปรเจคท์ต้องหยุดชะงัก ตัวเราเองก็ไม่อยากเห็นมันล่มไปต่อหน้าต่อตา เพราะเราก็ทำมานาน ผูกพันกับเด็ก ๆ และบางคนก็โตมาพร้อม ๆ กัน เราทิ้งพวกเขาไปไม่ได้ จีนเลยมานั่งลองคิดหาวิธีที่ช่วยให้พวกเขาสามารถหารายได้ด้วยตัวเอง น่าจะเป็นอะไรที่ดีกว่า"

ปิ๊งไอเดียกระเป๋าเพราะอยากเห็นศิลปะที่เคลื่อนที่ได้

"แต่ก่อนเวลาให้น้อง ๆ ทำงานศิลปะ เราก็จะให้เขาวาดบนกระดาษ วาดบนเฟรมผ้าใบ ซึ่งพอเอาไปขาย บางทีคนก็ไม่ได้อยากได้รูปไปติดผนัง เพราะทุกวันนี้บ้านคนก็เล็กลง ๆ ทุกวัน จีนเลยคิดว่าถ้าเป็นกระเป๋า คนก็ได้ถือและได้ใช้ในชีวิตประจำวัน พอเป็นของที่ได้ใช้ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนซื้อ และก็ไม่ได้จำกัดว่าศิลปะต้องอยู่บนผนังเท่านั้น มันอยู่ที่ไหนก็ได้" 

จีนเล่าให้ฟังถึงไอเดียการเพ้นท์กระเป๋าที่เกิดขึ้นและเล่ากระบวนการต่อว่า "จีนจะโคกับคุณครูสอนศิลปะที่สังขละว่าแต่ละช่วงมีออเดอร์เท่าไหร่ สมมติว่าอยากได้ 20 ใบ อยากสต็อกอีก 20 ใบ เอาลายไหนบ้าง เราก็จะไกด์ไอเดียคร่าว ๆ แล้วให้เขาลองวาดดู พอน้องๆ ทำเสร็จก็จะส่งรูปถ่ายของงานเขามาให้ งานมีทั้งแบบที่ทำสต็อกเอาไว้กับแบบพรีออเดอร์ เพราะบางคนก็อยากได้รูปวาดของตัวเองอยู่บนกระเป๋า เราก็สามารถทำให้ได้เหมือนกัน"

ศิลปินประจำโปรเจคท์ PaintJai มีตั้งแต่น้อง ๆ ป.1 ถึงระดับปริญญาตรี

"เด็ก ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กชายขอบ บางคนมีสัญชาติ บางคนไม่มี ไม่ได้ลี้ภัยมานะแต่ตอนเกิดพ่อแม่เขาไม่ได้ไปแจ้ง" จีนเล่าถึงปัญหาของเด็กในสังขละบุรีที่เธอได้ไปสัมผัสมาจากการใช้เวลากับพวกเขาเป็นเวลาหลายปี "พวกเขาเป็นเด็กใส ๆ มาก ไม่มีพิษมีภัยอะไรเลย ซึ่งบางทีก็ทำให้เขาถูกใช้เป็นเครื่องมือ เด็กหลายคนไม่ได้เรียนหนังสือเพราะว่าต้องช่วยที่บ้านทำงานหาเงิน เคสที่จีนเจอก็คือมีอยู่ครอบครัวหนึ่งติดหนี้ 7 พันบาท พ่อแม่ก็บอกลูกว่าไม่ต้องไปเรียนหรอก ลาออกมาช่วยพ่อแม่ทำงานใช้หนี้ดีกว่า คือเงินจำนวนนั้นสำหรับเรามันอาจจะเล็กน้อยมากเลยนะ แต่มันก็ทำให้น้อง ๆ หลายคนไม่ได้มีโอกาสเรียนหนังสือต่อ"

กระเป๋าหนึ่งใบช่วยต่อโอกาสทางการศึกษาให้เด็กหลาย ๆ คน

มีน้องที่เรียนจบเพาะช่าง มีเด็กหลาย ๆ คนที่มีเงินเก็บจากการขายกระเป๋า PaintJai กลายเป็นอีกแหล่งที่ช่วยเติมทุนการศึกษาให้น้อง ๆ สามารถเอาไปจุนเจือครอบครัวตัวเองได้จริง ๆ "เด็กๆ มีความรับผิดชอบมากขึ้น ช่วยเรื่องการเข้าสังคมของพวกเขามากขึ้น มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เพราะโมเดลของเราไม่ใช่แค่ครูสอนนักเรียน แต่ก็มีเด็กที่โตกว่า วาดรูปเก่งกว่าเข้ามาสอนน้อง ๆ ให้วาดได้ด้วย เรื่องการใช้จ่าย เมื่อก่อนตอนแรก ๆ เขาวาดรูปมาก็เอาเงินไปซื้อขนม แต่หลัง ๆ เขาทำงานเยอะ เหนื่อยด้วยตัวเอง พอได้เงินมาน้องก็บอกว่าจะเก็บหมดเลย ไม่ซื้อขนมแล้ว"

ไม่อยากให้ซื้อเพราะความสงสาร แต่อยากให้ทุกคนมองที่ความสามารถ

เช่นเดียวกันกับสิ่งที่โปสเตอร์บอกเรา จีนก็มองว่าสินค้าของ PaintJai คืองานศิลปะจากคนที่มีความสามารถเช่นกัน "คือจีนไม่อยากให้มองว่าน้องเขาน่าสงสาร ถึงแม้เรื่องราวของเขาบางคนก็น่าสงสารจริง ๆ อะแหละ แต่จีนอยากให้มองเขาที่มีความสามารถ จีนจะบอกน้องเสมอ ๆ ว่า ให้ตั้งใจวาดน้าา อยากให้คนซื้อประทับใจ รู้สึกดีที่ได้ถือกระเป๋าที่เราวาด แล้วเขาจะกลับมาซื้ออีก ความตั้งใจจีนคืออยากให้คนซื้อถือแล้วภูมิใจว่ากระเป๋าสวย แล้วช่วยน้องด้วย ไม่อยากให้ซื้อเพราะสงสารน้อง ๆ อย่างเดียวค่ะ"  

อายุ 24 กับการทำแบรนด์ด้วยตัวคนเดียว "ถ้าเราไม่ได้ลอง เราจะไม่มีวันรู้

เรารักในพลังที่อยู่ในตัวจีนมาก ๆ และรู้สึกว่านี่แหละคือสิ่งที่ผู้หญิงยุคใหม่ควรจะเป็น เราถามว่าในระหว่างที่เพื่อน ๆ ในรุ่นเดียวกันอาจจะกำลังค้นหาตัวเองอยู่ ทำไมเธอถึงเลือกที่จะเริ่มทำโปรเจคท์การกุศลแล้วในอายุแค่ 24 จีนบอกกับเราว่า "การค้นหาตัวเองคือการได้ลองลงมือทำ จีนว่าถ้าเราไม่ได้ลองทำก็ไม่มีวันรู้เลยว่าเราถนัดอะไรหรือชอบอะไรจริง ๆ ทุกคนก็มีงานประจำหรือมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบเหมือนกัน แต่การทำเพื่อสังคมก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมาทำแบบจีนที่ต้องทำโปรเจคท์ขึ้นมา เราอาจจะไปเป็นจิตอาสาแบบที่เราถนัดด้านไหนด้านหนึ่งก็ได้ เช่น เราพูดภาษาอังกฤษเก่ง เราไปสอนภาษาอังกฤษได้ หรือเราวาดรูปเก่งเราไปสอนเขาไหม หรือถ้าสมมติเราไม่มีเวลา เรามีเงิน เราก็ช่วยสนับสนุนได้ หรือแค่การช่วยแชร์เรื่องราวดี ๆ ก็ถือเป็นการสนับสนุนแบบนึงเช่นกัน

ทุกคนอาจจะมองว่า PaintJai เป็นของจีน แต่จีนมองว่ามันเป็นของทุก ๆ คนที่ร่วมมือกัน เพราะจีนคนเดียวไม่สามารถทำให้มันเกิดขึ้นมาได้ ถ้าไม่มีคนซื้อและสนับสนุน โปรเจคท์นี้ก็รันต่อไปไม่ได้"

ซัพพอร์ตผลงานของน้อง ๆ สังขละบุรีได้ที่เฟซบุคเพจ PaintJai-กระเป๋าเพ้นท์โดยน้องสังขละบุรี

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0