โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“การกักตุน” ยังจำเป็นอยู่ไหม ในเมื่อรัฐบอกว่า “เอาอยู่” - จุดประเด็น

LINE TODAY

เผยแพร่ 18 มี.ค. 2563 เวลา 17.00 น. • AJ.

หายนะของการเดินซูเปอร์มาร์เก็ตกลับมาอีกครั้ง เมื่อเราแค่จะไปซื้อขนม แต่ต้องพบคิวยาวเหยียดของรถเข็นกับข้าวของเครื่องใช้ในรถเป็นสิบ ๆ ชิ้น บ่งบอกให้รู้ว่าทุกคนที่นี่เตรียมพร้อมสู้รบกับสงครามโควิด-19 ราวกับวันนี้เป็นวันสิ้นโลก แม้ทางการจะบอกว่ารับมือได้ แต่วิกฤตตุนของยังคงระบาดไปทั่วราชอาณาจักรอย่างยากจะยับยั้ง

และไม่ใช่แค่ประเทศไทย ทั่วโลกก็กำลังเจอวิกฤตของขาดตลาด ภาพชั้นวางของในร้านสะดวกซื้อว่างโล่งกลายเป็นเหตุการณ์น่าหนักใจของทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่การเร่งรีบกักตุนของจำนวนมากในคราวเดียวไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

หลายประเทศถึงกับมีแคมเปญจำกัดเวลาให้ผู้สูงอายุซื้อของต่อวัน ตัดปัญหาแย่งชิงกับหนุ่มสาว คนมีน้ำใจหลายคนอาสาซื้อของไปให้บ้านพักคนชรา เพื่อแบ่งเบาภาระของบ้านพักและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่กำลังเดือดร้อน นับว่าเป็นเรื่องราว #ดีกับใจ ไม่กี่เรื่องที่พอจะทำให้เราชื่นใจในช่วงนี้

ในสถานการณ์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้แบบนี้การกักตุนจำเป็นก็จริงแต่เพื่อหยุดปัญหาสินค้าไม่เพียงพอ เราคนไทยมารวมใจตุนของอย่างมีสติกันดีไหม?

ตุนอย่างมีสติ ไม่แพนิกจนของหมดชั้น

สูดหายใจเข้าลึก ๆ แล้วทบทวนอีกทีว่าเราตุนของเพื่ออะไร? เข้าใจว่าเมื่อรัฐประกาศหยุดโรงเรียน ปิดหลายสถานที่เสี่ยง พนักงานหลายคนก็ได้ใช้เวลาช่วงนี้ในการทำงานที่บ้าน (Work from Home) การเตรียมตัวสำหรับอยู่บ้านยาว ๆ เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ตุนได้ตุน เก็บได้เก็บ แต่ต้องเตือนสติตัวเองขณะกักตุนของด้วย ไปซื้อของคราวหน้า ลองใช้วิธี “ตุนอย่างมีสติไม่แพนิกจนของหมดชั้น” ตามนี้กันก่อน

1

ไม่ตุน ไม่ตาย

ถ้าไม่ได้ตุนหรือตุนไม่ทัน ไม่ต้องกลัวตาย ลองประยุกต์สิ่งที่ใช้ได้ยามคับขันจริง ๆ เช่น นำผลไม้มาแปรรูป (ง่ายสุดคือกล้วยตาก) ใช้น้ำผึ้ง (ที่คนไม่ค่อยนึกถึง) แทนขนมหรือเวลาอยากหวาน หรือทำผักดองเตรียมเอาไว้ แต่อาจจะต้องใช้ทักษะลูกเสือสำรองกันนิดหน่อยสำหรับคนที่เข้าครัวไม่ค่อยถนัด

2

ตุนสุดตัวไม่ช่วยใคร

การซื้อทิชชูร้อยแพ็ก ข้าวสารแปดสิบถุง น้ำเปล่าเก้าสิบเก้าแกลลอนนับเป็นการกระทำที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม เช่นเดียวกับการกว้านซื้อหน้ากากและเจลแอลกอฮอล์คราวละมาก ๆ จนเกิดปัญหาไม่มีใช้ในวงการแพทย์

ในกรณีของวิกฤตโควิด-19 ให้ซื้อของให้มากพอที่จะไม่ต้องเดินทางไปซูเปอร์มาร์เก็ตบ่อย ๆ จากเคยมาสัปดาห์ละ 2 ครั้งให้ลดเหลือ 2 สัปดาห์ครั้ง เป็นต้น เหตุผลแรกเพื่อหลีกเลี่ยงการซื้อของแบบบ้าคลั่ง เหตุผลที่สองคือหลีกเลี่ยงการพบปะฝูงชน (Social Distance) เพื่อลดติดเชื้อไปด้วยนั่นเอง

3

ตุนแบบต้องรอด

อย่าลืมดูวันหมดอายุของทุกสินค้าที่เราซื้อมากักตุน ตรงนี้ต้องใช้สตินิดนึง ว่าไข่ไก่สามแพ็กที่กองอยู่ตรงมุมห้องหมดอายุเมื่อไหร่นะ? หากเช็กดูว่าใกล้หมดให้รีบนำมาใช้สอย แล้วตุนเพิ่มด้วยการซื้อของจำนวนเท่าเดิมมาเติม ระบบเติมเมื่อขาดแบบนี้จะช่วยประหยัดพื้นที่ในบ้าน อีกทั้งยังไม่ทำให้เรากักตุนอย่างไร้สติอีกด้วย

ของที่ควรมีในทุกสถานการณ์ฉุกเฉิน

  • ยารักษาโรคประจำตัว
  • อาหารให้โปรตีนสูงอย่างไข่ไก่หรือนมถั่วเหลือง
  • น้ำดื่มสะอาด
  • เงินสด

จะเห็นว่าการตุนในแบบที่เราสนับสนุนไม่ใช่การตุนเอาจำนวน แต่เป็นการตุนอย่างมีสติ

สรุปต้องตุนใช่ไหม?

เมื่อรวบรวมข้อมูลจากรัฐบาล (วันที่ 18 มี.ค. 63) ทำให้เรารู้ว่ารัฐบาลเอาไวรัสอยู่แน่นอน การกักตุนของพวกเรานั้นเชื่อว่าหลายคนทำไปเพื่อความสบายใจ ทั้งสำหรับคนที่ต้องกักตัว 14 วัน และคนที่กำลังทำ Social Distance

  • ผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ พูดตรงกันว่าสถานการณ์วันนี้สาหัสน้อยกว่าคราวน้ำท่วมเมื่อปี 54 มาก เพราะรอบนั้นระบบขนสั่งใช้การไม่ได้ คนยิ่งตุนกันหนัก แต่ปัจจุบันยังรับมือได้ดี สินค้าไม่หมด มาซื้อเมื่อไหร่ก็จะมีของแน่นอน
  • นายกฯ ย้ำว่าชาวไทยจะต้องรอดพ้นวิกฤตนี้ไปได้แน่นอน ขอให้ปฏิบัติตัวด้วยความระมัดระวังเหมือนเดิมคือ กินร้อน ช้อนส่วนตัว ล้างมือบ่อย ๆ หากมีไข้ให้ไปพบแพทย์ นอกจากนี้ยังมีมาตรการปิดสถานที่เสี่ยง ทั้งสถานที่ศึกษา สนามม้า สนามมวย สนามกีฬา โรงหนัง ฟิตเนส และสปา เพื่องดการเดินทางโดยไม่จำเป็น

ปัญหากักตุนของไม่หมดไปแน่นอนถ้าเรายังตกอยู่ในภาวะตื่นตระหนกแบบนี้ พวกเราในฐานะภาคประชาชนต้องช่วยกันดึงสติและใช้จิตสำนึกสาธารณะให้มากในช่วงเวลาคับขัน เป็นการช่วยรัฐบาล และบอกไวรัสว่า “ประเทศไทยจะชนะ!”

ไทยแลนด์สู้ ๆ !
ไทยแลนด์สู้ ๆ !

--

อ้างอิง

1 / 2 / 3

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0