โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

สัญญาณจากความเศร้าที่บอกว่าเราไม่ปกติ - หมอเอิ้น พิยะดา

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 15 เม.ย. 2563 เวลา 07.49 น.

ใกล้จะร่วม 1 เดือนแล้วที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid – 19 เข้ามามีผลกระทบกับการใช้ชีวิตของคนไทย หลังจากการระบาดอย่างหนักในประเทศจีนตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ในขณะที่ปัจจุบันประเทศจีนสถานการณ์การแพร่ระบาดกำลังสงบ แต่ในประเทศไทยและอีกในหลายประเทศทั่วโลกกำลังเริ่มต้น

ผลกระทบต่อจิตใจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในช่วงแรก มักจะเป็นเรื่องของความกังวลและแพนิก เพราะทุกคนกำลังเริ่มต้นเผชิญกับปัญหาใหม่ที่ไม่เคยพบเจอและยากต่อการรับมือ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป ท่ามกลางปัญหาที่ยังคงอยู่และไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร

ภาวะซึมเศร้าและโรคซึมเศร้าก็เป็นอีกผลกระทบทางจิตใจที่เราควรใส่ใจเช่นกัน

อารมณ์เศร้า เป็นอารมณ์ที่มีอยู่และเกิดขึ้นได้ในมนุษย์ทุกคน แต่อารมณ์เศร้าต่างจากอารมณ์อื่นตรงที่แกนหลักของอารมณ์มาจากความสูญเสีย เสียความสัมพันธ์จากการที่ต้องรักษาระยะห่าง เสียงาน เสียเงิน เสียความหวัง อย่างที่หลายคนกำลังรู้สึก แล้วสุดท้ายเราอาจรู้สึกว่ากำลังเสียคุณค่าในตัวเอง เป็นต้น  

หากเราไม่สังเกตความเปลี่ยนแปลงของจิตใจที่เกิดขึ้น และเผลอจมอยู่กับความรู้สึกสูญเสียนานเกินไปโดยไม่มีการปรับตัว

เราก็มีโอกาสจะเปลี่ยนจากความเศร้าโดยปกติเป็นโรคซึมเศร้าได้

เราลองมาเช็คตัวเองดูด้วยการเรียนรู้ 3 สัญญาณความแตกต่างของความเศร้าโดยปกติและไม่ปกติ

1.ลักษณะความเศร้าโดยปกติกับโรคซึมเศร้ามีความแตกต่างกันอย่างไร

สิ่งที่เราต้องพิจารณาเมื่อเกิดคำถามนี้คือ : เราเศร้าตั้งแต่เมื่อไร เศร้าแค่ไหน เศร้าเพราะอะไร

ความเศร้าโดยปกติ : เราจะรู้ว่าอะไรที่ทำให้เราเศร้า ถ้าเรื่องนี้ดีขึ้นอารมณ์เราจะดีขึ้น ความเศร้ามาๆไปๆตามปัจจัยที่กระตุ้น เศร้ามากเศร้าน้อยแล้วแต่การกระตุ้น ที่สำคัญไม่ได้เป็นตลอดเวลา เมื่อไรมีสิ่งที่เบี่ยงเบนจากปัญหา เช่น เราเศร้าเพราะสูญเสียงานจากการที่ธุรกิจได้รับผลกระทบ เรารู้ว่าเมื่อไรที่เราได้กลับไปทำงาน ได้เงินเดือนเหมือนเคยเราจะกลับมามีความสุขเหมือนเคย

ความเศร้าแบบโรคซึมเศร้า : เราจะรู้สึกเหมือนตัวเองอยู่ในหลุมดำตลอดเวลา ไร้แรงกายแรงใจ แม้ว่าไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นในชีวิตเลย หรือถ้ามีปัญหาที่มากระตุ้นต่อให้ปัญหานั้นหายไปแล้วแต่ความซึมเศร้าก็ไม่เบาบาง และเริ่มส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการใช้ชีวิตประจำวัน การงานและความสัมพันธ์ เช่น แม้ว่าเราเริ่มเศร้าตั้งแต่ตกงาน แต่ตอนนี้ต่อให้มีงานที่เราสามารถกลับไปทำได้ก็เริ่มไม่อยากทำ ไม่แน่ใจว่าตัวเองจะมีความสุขหรือไม่หรือยังคงทำงานนั้นได้หรือไม่ ทั้งที่เป็นงานที่เราถนัด

2.ความแตกต่างระหว่างภาวะเศร้าปกติกับโรคซึมเศร้า

ข้อนี้สำคัญมาก คำถามคือคนเราแม้จะเสียใจสักแค่ไหนแล้วจิตใจจะเริ่มปรับตัวได้  

โดยเฉลี่ยแล้วคือประมาณ 2 อาทิตย์เราจะเริ่มปรับตัวได้และถึงแม้ว่าปัญหาจะเรื้อรังยาวนาน  

เราก็จะเริ่มรู้ว่าควรอยู่กับมันอย่างไรแม้ว่าจะไม่ได้มีความสุขกลับมา 100%    

คนที่เริ่มเป็นโรคซึมเศร้าจริงๆแม้ว่าปัญหาทุกอย่างจะคลี่คลาย แต่ความเศร้าก็ยังอยู่ยาวนานต่อเนื่องอย่างน้อยประมาณ 2 อาทิตย์ขึ้นไปและไม่มีท่าทีจะดีขึ้น ทั้งหมดไม่ได้มาจากความอ่อนแอแต่มาจากการที่สมองเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง

3. ความแตกต่างของอาการแสดงร่วมระหว่างภาวะเศร้าปกติกับโรคซึมเศร้า

ภาวะเศร้าโดยปกติอาจมีอารมณ์เบื่อหน่ายท้อแท้เป็นช่วงๆ แต่ไม่ตลอดเวลา ตึงร่างกาย ไมเกรน นอนหลับๆตื่นๆได้

แต่หากเป็นเพราะเริ่มเป็นโรคซึมเศร้า นอกจากอาการเบื่อหน่าย ซึมเศร้าเกือบตลอดเวลา 2 อาทิตย์ขึ้นไปแล้ว อาการที่มักเป็นร่วมเช่น เบื่ออาหารหรือทานมากกว่าปกติ นอนไม่หลับหรือนอนมากกว่าปกติ การเคลื่อนไหวเชื่องช้าหรือกระวนกระวายกว่าปกติ มีความคิดว่าตัวเองไร้ค่าและมองโลกในแง่ลบกว่าปกติ สมาธิลดลง อาจมีความคิดฆ่าตัวตายแบบย้ำคิดได้

โดยสรุปคือ ถ้าหากว่าเราเริ่มเป็นโรคซึมเศร้าให้สังเกต 3 D

Depression มีความเศร้าเบื่อหน่ายท้อแท้เกือบตลอดเวลา

Distress ความเศร้านั้นสร้างความทุกข์ให้กับตัวเองและคนรอบข้าง

Dysfunction สูญเสียประสิทธิภาพการทำงาน ความสัมพันธ์ และการใช้ชีวิต

แล้วเมื่อรู้ว่าเริ่มป่วยใครช่วยได้บ้าง?

อันดับแรกคือตัวเราต้องเปิดใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเองและความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง

ต่อมาคือจิตแพทย์ ที่จะช่วยประเมิน วินิจฉัยและวางแผนการรักษาให้เราอย่างเหมาะสม

แล้วเราจะผ่านพ้นสถานการณ์อันยากลำบากนี้ไปด้วยกัน

ความสุขจากการตื่นเช้า

--

ติดตามบทความใหม่ ๆ จาก หมอเอิ้น พิยะดา ได้ทุกวันพุธ บน LINE TODAY

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0