โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ศิลปะเพื่อโลกที่ดีขึ้น! รู้จักกับ "น้ำน้อย" หญิงที่ใช้ศิลปะในทุกบทบาทของชีวิต

LINE TODAY

เผยแพร่ 04 มี.ค. 2564 เวลา 04.54 น. • @mint.nisara

ความสุขของผู้หญิงคนนี้คือการได้อยู่กับศิลปะและการได้วาดภาพ ความสุขของเธอจะพองโตมากขึ้นหากศิลปะของเธอได้สร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นไปพร้อมกันด้วย เธอคือ น้ำน้อย – ปรียศรี พรหมจินดา ผู้หญิงที่เป็นทั้งนักวาดภาพประกอบ คุณครู และผู้อยู่เบื้องหลังการจัดทำสื่อการเรียนการสอนของเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ วันนี้ LINE TODAY ได้มาคุยกับเธอ เกี่ยวกับโลกของความสุขที่มีศิลปะเป็นองค์ประกอบหลักและเรื่องราวการเดินทางของน้ำน้อยในฐานะนักศิลปะจิตอาสากับโปรเจคท์ต่าง ๆ 

เป็นบทสทนาประมาณชั่วโมงกว่า ๆ แต่ก็ทำให้เรามีความสุขไปทั้งวันด้วยเรื่องราวดี ๆ ของผู้หญิงคนนี้ ลองมารู้จักเธอให้มากขึ้นกัน!

<b>น้ำน้อย – ปรียศรี พรหมจินดา</b>
น้ำน้อย – ปรียศรี พรหมจินดา

“คนชอบคิดว่าเราเป็นฟรีแลนซ์ เป็นศิลปินอิสระอะไรอย่างนี้ อาจจะด้วยลุคหรือบุคลิก แต่จริง ๆ แล้วเราทำงานประจำเป็น strategic planner ของบริษัทที่ทำสื่อการเรียนการสอน ที่เราดูเป็นหัวข้อเฉพาะนิดนึงเรียกว่า “การศึกษาพิเศษของเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้” ซึ่งคนก็จะงงว่า “ทำงานประจำด้วยเหรอ” (หัวเราะ) 

เราทำงานประจำจันทร์ถึงศุกร์นี่ล่ะ แต่ด้วยความที่เป็นคน alert คึก ดีด และด้วยความที่งานประจำมันก็มีความเครียดอะเนาะ แถมเราก็เป็นโรคแบบว่า “ฉันต้องมีความสุขอะ” ก็เลยพยายามที่จะหาอย่างอื่นมาเติมเต็มตัวเอง มันเลยทำให้เรามีจ็อบอื่น ๆ งอกเพิ่มขึ้นมา ซึ่งนั่นก็คือการวาดภาพประกอบและการเป็นคุณครูกับอาจารย์พิเศษ”

บทบาทที่ 1 : ‘นักวาดภาพประกอบ’ ที่เกิดขึ้นพร้อมวิกฤต

“เหตุการณ์ที่ทำให้เราเริ่มวาดรูป ๆ แรกก็คือตอนน้ำท่วมปี 54 เราเป็นเด็กต่างจังหวัด โตมาในจังหวัดอยุธยาซึ่งเป็นดินแดนแห่งน้ำท่วม เพราะฉะนั้นน้ำท่วมถือว่าเป็นอะไรที่ปกติมาก ๆ สำหรับเรา อย่างช่วงลอยกระทงเนี่ย ไม่ต้องไปไหนไกลเลย ก็ลอยกันหน้าบ้าน เปิดประตูใหญ่หน้าบ้านก็มีเรือแจวพายเข้ามาได้เลย ซึ่งตอนนั้นด้วยความที่เป็นเด็กอยู่ เราก็รู้สึกว่าน้ำท่วมเป็นเรื่องที่สนุกสนานมาก รู้สึกว่าการได้ทำกับข้าวบนชั้น 2 หน้าห้องน้ำคือเรื่องน่าตื่นเต้นทุกครั้ง (หัวเราะ) แต่พอโตมา เรารู้ว่ามันเป็นเรื่องที่น่าเครียดมากกว่าสนุก ตอนปี 54 ที่เขากลับมาอีกครั้ง คราวนี้มาใหญ่เลยและมาทั้งประเทศด้วย ในฐานะที่เราเป็นเหมือนศิษย์เก่าน้ำท่วม เราก็เลยมีวิธีการรับมือกับมันมากกว่าคนอื่น ๆ 

วันที่เกิดเหตุคือจะไปช่วยแม่ยกของหนีน้ำแต่สุดท้ายก็ไม่ทัน น้ำพัดเข้าบ้าน พัดเอาพวกรูปถ่ายตั้งแต่เด็ก ๆ รูปตอนรับปริญญาและอีกหลาย ๆ อย่างไปหมด เหมือนทั้งชีวิตเราฟู่..หายไปกับสายน้ำเลย วันนั้นก็เลยเริ่มต้นวาดรูป ๆ แรก จุดประสงค์ก็คือเราต้องการแชร์ข้อมูลกับเพื่อน ๆ ว่า เฮ้ย น้ำท่วมอะ สบ๊าย วิธีรับมือต้องทำยังไงบ้าง การย้ายสัตว์เลี้ยงต้องทำยังไง เราก็แชร์ลงในเฟซบุคแล้วกฎว่าคนก็แชร์ต่อออกไปเยอะมาก เราก็รู้สึกว่ามันดีนะที่อย่างน้อยสิ่งที่เราวาดเล่น ๆ มันช่วยคนอื่นได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราไม่ใช่คนเก่ง เราไม่ได้มีแรงเยอะ ๆ ไปยกกระสอบทรายหรืออุ้มวัวทั้งตัวหนีน้ำได้ แต่เราเอาสิ่งที่ถนัดมาใช้ในการช่วยในสิ่งที่ช่วยได้ และมันก็รู้สึกดีมาก ๆ เลย”

บทบาทที่ 2 : ‘คุณครูศิลปะ’ ที่หยุดตัวเองไม่ได้!

“เรามีกรุ๊ปในเฟซบุคที่ชื่อว่า “นักวาดใจดี” ตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะรวบรวมรุ่นพี่รุ่นน้องที่อยากรับงานวาดภาพและอยากทำงานจิตอาสาด้วยกัน เป็นคอมมิวนิตี้เล็ก ๆ ของเราที่ชวนกันไปทำอะไรดี ๆ อย่างเช่นค่ายศิลปะตามโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งการทำค่ายคือแล้วแต่เวลาว่างของพวกเราแต่ก็พยายามจะทำแบบสม่ำเสมอ 

ล่าสุดไปที่จังหวัดตรัง เรารู้จักกับรุ่นน้องที่ไปเป็นครูที่นั่น เป็นโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งจริง ๆ แล้วเขามีสอนแค่ป.1-ป.6 แต่ก็เปิดสอนถึงม.3 ด้วยสำหรับเด็ก ๆ ที่อยากเรียนต่อ น้องก็บอกว่าที่นี่มีปัญหาตรงที่เด็กไม่ค่อยมีแพสชั่นกัน รู้สึกว่าตัวเองอยู่โรงเรียนรองไม่ใช่โรงเรียนอันดับต้น ๆ เรียนไปก็สู้เขาไม่ได้ ป.6 จบแล้วก็เลิกเรียน เขาเลยอยากให้เราไปช่วยตรงนี้ เราก็เลยจัดคลาสเพื่อช่วยแก้ปัญหาเบื้องต้น ชี้ให้เขาเห็นว่าการเรียนมันสำคัญ มันมีอาชีพอะไรที่เป็นไปได้โดยการใช้ศิลปศึกษา 

ก็ไปเจอเด็กคนนึงอยู่ป.5 เขาบอกเราว่าตั้งใจว่าจะไม่เรียนต่อ พอถามว่าทำไม เราก็ไปเจอปัญหาบางอย่างที่เราช่วยแก้ไม่ได้หรอก เพราะมันคือปัญหาในครอบครัวเขา พอหลังจากที่กิจกรรมวันนั้นจบ เขาก็เดินมาหาเราถามว่า “ครู ๆ ครูจะมาอีกไหม” เราก็ถามเขากลับไปว่า “อยากให้ครูมาอีกไหมล่ะ ทำไมถึงถามว่าจะมาอีกหรือเปล่า” เขาก็บอกประมาณว่า “ถ้าครูกลับมาอีก ผมจะเรียนต่อ ที่เรียนไปวันนี้มันสนุกดีนะ” ซึ่งกิจกรรมที่เราให้เขาทำคือสมุดบันทึกความฝัน วาดรูปออกมาว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไรและเขาไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน เราก็เลยแหย่กลับไปว่าถ้าครูกลับมาไม่ได้ปีหน้าแต่มาอีกปีเลยจะได้เจอกันไหม เขาก็นั่งนับนิ้วว่าตัวเองจะต้องอยู่ม.1 ในตอนนั้นแล้ว แล้วก็บอกว่า “งั้นเรียนก็ได้ จะได้เจอครูและผมอยากเป็นตำรวจท่องเที่ยวขึ้นมาจริง ๆ แล้ว” 

พอได้ยินแบบนั้นมันฟินเรามาก ๆ เลยเพราะมันคือการที่เราได้เปลี่ยนทัศนคติของใครสักคนในทางที่ดีขึ้นหรือช่วยเปลี่ยนความคิดที่อาจจะเปลี่ยนชีวิตของเด็กคนนึงไปเลยจากกิจกรรมแค่ 20-30 นาที ถึงเราไม่ได้มีกำลังส่งเขาให้เรียนต่อแต่สิ่งที่เราให้เขาได้คือการเปลี่ยนความคิดให้ดีขึ้น และพอเราเจออะไรแบบนี้ ก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกอยากกลับไปทำอีก เพราะมันก็จะต้องมีเด็กประมาณนี้ในที่อื่น ๆ อีกแน่ ๆ มันทำให้เรารู้สึกว่าเราหยุดไม่ได้”

บทบาทที่ 3 : ‘นักวาดจิตอาสา’ กับมวลความสุขที่แผ่ขยาย

“มีอีกครั้งนึงที่เราไปช่วยวาดตึกในโรงพยาบาลเด็ก แล้วตรงที่เราวาดนั้นน่ะเป็นกำแพงหน้าห้องของเด็กที่มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินอาหาร ระหว่างที่วาดอยู่วันแรกก็มีเด็กคนนึงที่เดินผ่านมา ตัวน้องเองโดนโกนหัวและมีเส้นอะไรไม่รู้วาดอยู่เต็มไปหมด เขาก็เดินมาขอเราให้ช่วยระบายสีตรงนั้นตรงนี้ให้ดูหน่อยได้ไหม ตรงนี้เป็นสีชมพู ขอตรงนั้นเป็นสีเหลืองได้ไหม มาช่วยเราเลือกสี เราก็ได้ๆๆ เดี๋ยวพี่ลองระบายให้ดูนะ ก็ช่วยกันวาด ช่วยกันระบายกันไป น้องเขาก็มีความสุขมาก ๆ เพราะสีสวยถูกใจเขา 

พออาทิตย์ถัดมา เราก็กลับไปนั่งระบายสีที่เดิม ก็เจอน้องคนเดิมอีก เขาก็มาช่วยเราเลือกสีเหมือนครั้งแรก เราก็วาด ๆๆ ใช้เวลากับน้อง แต่พออีกอาทิตย์นึง เรากลับไปอีกครั้ง คราวนี้ไม่เจอน้องแฮะ ก็เลยถามพี่พยาบาลว่าน้องไม่อยู่หรอคะวันนี้ คำตอบของพี่พยาบาลก็คือ “น้องไปแล้วค่ะ” เราถึงได้รู้ว่าเส้น ๆ ที่วาดอยู่บนหัวน้องคือจุดที่ต้องผ่าตัดและเขาป่วยเป็นโรคในสมอง เราก็เลยรู้สึกว่าอย่างน้อยศิลปะของเราก็เป็นความสุขสุดท้ายก่อนที่น้องจะจากไป มันยิ่งย้ำเลยว่าฉันหยุดทำงานพวกนี้ไม่ได้”

บทบาทที่ 4: ‘นักแก้ปัญหา’ ด้วยศิลปะ

“ตอนที่มันมีประเด็นเรื่องเสือดำ เรารู้สึกว่าสิ่งที่ควรจะต้องทำอันดับแรกเลยก็คือการปลูกจิตสำนึกเด็ก แล้วทำยังไงกับมันได้บ้าง เพราะมันก็เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก โอเค งั้นเราทำอะไรกับสิ่งที่เราถนัดละกันก็คือศิลปศึกษา ก็เลยรวมตัวกับน้อง ๆ ในแก๊งค์ Jaidee Artist คิดขึ้นมาว่าอยากจะสอนเด็กในเรื่องของธรรมชาติ เรื่องของสัตว์ป่า จะทำยังไงให้เขารู้สึกว่าถ้ามันไม่มีสิ่งนี้ มันจะกระทบกับชีวิตยังไง ได้ผลสรุปก็คือการทำเป็นสมุดกิจกรรมศิลปะเหมือนสมุดระบายสี ก็ให้เพื่อน ๆ สมาชิกช่วยกันวาด คนละตัวสองตัว ประกอบกันจนเป็นเล่มแล้วก็พิมพ์ขึ้นมา 2,000 กว่าเล่ม ส่งไปที่โรงเรียนหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งไม่รู้จะได้ผลมากน้อยแค่ไหนแต่อย่างน้อยเราก็ดีใจที่ได้ทำ”

“ศิลปะช่วยให้มนุษย์เป็นมนุษย์" 

เราถามน้ำน้อยทิ้งท้ายเอาไว้ว่าในฐานะที่เธอเป็นคนที่คลุกคลีกับศิลปะมานาน เธอคิดว่าศิลปะสำคัญอย่างไร" คำตอบของน้ำน้อยก็คือ "ศิลปะทำให้คนเป็นคน" เป็นประโยคสั้น ๆ ที่ฟังแล้วก็ทำให้เราต้องคิดตาม เธออธิบายเพิ่มเติมว่า

"มันต้องแยกกันก่อนระหว่างศิลปะกับการศึกษาศิลปะ ถ้าพูดในเชิงของศิลปะ เรามองว่ามันทำให้คนไม่กลายเป็นหุ่นยนต์อะ และทุกคนก็ต้องการมัน มันไม่มีหรอกที่แยกกันชัดเจนว่าเธอสายวิทย์นะ ฉันสายศิลป์นะ จริง ๆ แล้วมันก็ต้องควบคู่กันไป เราเชื่อว่าคนที่ทำงานในสายวิทย์ สายธุรกิจก็ต้องการศิลปะในชีวิตเช่นกัน มันไม่สามารถแยกได้หรอกว่าคุณเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือนวัตกรแล้วศิลปะไม่จำเป็น 

จริง ๆ แล้วศิลปะทำหน้าที่ให้กับมนุษย์ในแต่ละช่วงชีวิตต่างกัน ช่วงที่เป็นเด็กน้อย ศิลปะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เด็กคนนึงพร้อมแบบรอบด้านผ่านหนังสือภาพ นิทานหรือของเล่น ศิลปะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่และช่วยหล่อหลอมมนุษย์ให้พร้อมสำหรับการเติบโต พอเข้าโรงเรียน ศิลปะกลายเป็นวิชาการที่เราต้องเรียนรู้แล้ว ทั้งนาฏศิลป์ ทัศนศิลป์ ดนตรี ทั้งหมดนี้คือกระบวนการสร้างคนที่สำคัญนะในความคิดของเรา”

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคอมมิวนิตี้ "นักวาดใจดี" ได้ที่เฟซบุค www.facebook.com/groups/JaideeArtist

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0