โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รู้ไว้ใช่ว่า..อายุเท่าไหร่ เสี่ยงเป็นมะเร็งที่สุด

LINE TODAY

เผยแพร่ 04 ก.พ. 2563 เวลา 03.53 น.

ไม่รู้ก็รู้ซะ..มะเร็งเป็นโรคที่มีอัตราเสียชีวิตสูงสุดในประเทศไทย ปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากกว่าตายเพราะอุบัติเหตุ จากสถิติในปีที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นวันละ 336 คน หรือ 122,757 คนต่อปี เสียชีวิตวันละ 215 คน หรือ 78,540 คนต่อปี เฉลี่ยเสียชีวิตชั่วโมงละ 8 ราย

ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเราเสี่ยงเป็นมะเร็งกันได้ทุกคน แม้โดยทั่วไปความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งจะเกิดจากการใช้ชีวิต การกินอาหาร พันธุกรรม ฮอร์โมน และสารเคมี แต่มะเร็งบางประเภทก็ยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ ดังนั้นมะเร็งจึงเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่ในเด็กเล็ก ๆ ไปจนถึงคนแก่ที่อายุมาก ๆ

แต่ถ้าถามว่าอายุเท่าไหร่ เสี่ยงเป็นมะเร็งมากที่สุด ก็ต้องบอกว่าอายุไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง แต่โดยทั่วไปพออายุมากขึ้น ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น และความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นทันทีเมื่ออายุมากขึ้นบวกกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เคยดูแลตัวเองเลย เช่น ไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์

ต้องจำไว้ด้วยว่าอายุไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง เพราะนอกจากความแก่ของร่างกายแล้ว ปัจจัยอื่น ๆ อย่างพันธุกรรมและพฤติกรรมการใช้ชีวิตก็มีส่วนไม่น้อย ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก็คือการรู้จักความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

☻ มะเร็งตับ มะเร็งอันดับ 1 ในผู้ชาย และอันดับ 3 ในผู้หญิง มักพบในคนที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป โดยพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 2-3 เท่า และมักพบในคนที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบมาก่อนมากกว่าคนปกติ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี ชนิดซี หรืออาจเป็นโรคตับแข็งและพัฒนาทำให้เป็นมะเร็งได้ ซึ่งมะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่น่ากลัวอันดับต้น ๆ เพราะจะลุกลามเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิตภายใน 3-6 เดือน 

☻ มะเร็งปอด เมื่ออายุมากขึ้นจะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากขึ้น โดยจากสถิติของผู้ป่วยมะเร็งปอด 2 ใน 3 จากจำนวนผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมดเป็นมะเร็งปอดเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้เป็นมะเร็งปอดหนีไม่พ้นการสูบบุหรี่ สูดดมฝุ่น รวมถึงมลพิษในอากาศเป็นเวลานาน 

☻ มะเร็งเต้านม อันดับ 1 ในผู้หญิง มักพบมากในหญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ส่วนผู้ชายก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมเช่นกัน แต่น้อยกว่า ส่วนใหญ่ในผู้ชายมักพบเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป สาเหตุหลักของมะเร็งเต้านมยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่ความเสี่ยงร่วมกันมีหลายอย่างทั้งอายุ พันธุกรรม และฮอร์โมน 

☻ มะเร็งลำไส้ อันดับ 3 ในผู้ชาย และอันดับ 4 ในผู้หญิง มักพบในคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป สาเหตุแน่ชัดของมะเร็งลำไส้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน แต่สำหรับผู้ที่มีอายุ 30 ต้น ๆ หากเป็นมะเร็งลำไส้มักเกิดจากพฤติกรรมการกิน ซึ่งมีแนวโน้มว่าการบริโภคเนื้อแดงมาก ๆ เป็นประจำส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรังและอาจกลายเป็นมะเร็งลำไส้ได้  

☻ มะเร็งปากมดลูก อันดับ 2 ในผู้หญิง พบในหญิงอายุ 21 ปีขึ้นไป โดยกว่า 99% มะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ การสูบบุหรี่ และการมีลูกหลายคน ซึ่งสิ่งที่เสี่ยงที่สุดสำหรับมะเร็งปากมดลูกก็คือการมีเพศสัมพันธ์ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เลยจะไม่มีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะเชื้อ HPV มีหลายสายพันธุ์ และบางชนิดก็ติดต่อผ่านทางการสัมผัสผิวหนังโดยไม่ต้องมีเพศสัมพันธ์ใด ๆ 

☻ มะเร็งต่อมลูกหมาก พบในเพศชาย อายุ 50 ปีขึ้นไป ปัจจุบันยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ แต่ผู้ที่มีประวัติบิดาหรือพี่น้องเคยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีโอกาสเสี่ยงกว่าคนทั่วไป และคนที่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ให้พลังงานสูง และอาหารจำพวกเนื้อแดงอย่างต่อเนื่อง มีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้มากกว่า 

☻ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ส่วนมากจะเกิดขึ้นกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง พบมากที่สุดในช่วงอายุประมาณ 60–70 ปี มะเร็งต่อมน้ำเหลืองสามารถเกิดได้ในทุกที่ เพราะต่อมน้ำเหลืองมีอยู่ทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น คอ รักแร้ ข้อพับแขน ข้อพับขา ช่องอกหรือช่องท้อง ส่วนสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ที่สามารถบอกได้ก็คือน่าจะมาจากสารเคมีบางอย่าง พันธุกรรม และเชื้อไวรัส เช่น ไวรัส HIV 

ข้อควรระวังก็คือ มะเร็งจะรักษาได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งระยะของโรค ประเภทของมะเร็งที่เป็น การตรวจพบ ฯลฯ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือแม้จะรักษาหายแล้ว ก็สามารถกลับมาเป็นอีกได้ และไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซ็นต์ทางการแพทย์ ดังนั้นการดูแลตัวเองและหมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำสม่ำเสมอ จึงเป็นการป้องกันโรคมะเร็งที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0