โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ธรรมlife EP.41#ช่วยด้วย อยากหยุดความคิด

สวนโมกข์

เผยแพร่ 18 ก.พ. 2563 เวลา 21.32 น.

รายการธรรมlife EP.41 โดยอ้อม สุนิสา สุขบุญสังข์

คำถาม #ช่วยด้วย อยากหยุดความคิด

คำตอบโดย พระครูเมธังกร (ปณต คุณวฑฺโฒ) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม

คุณเคยคิดฟุ้ง ๆ วน ๆ ไม่จบไม่สิ้นกันบ้างไหมคะ แถมบางครั้งไม่ใช่เพราะหาคำตอบไม่ได้ แต่เพราะมันหยุดคิดไม่ได้ต่างหาก

วันนี้คำถามของคุณผู้ชมคือ อยากจะสามารถ “หยุดความคิด” ให้ได้ค่ะ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม พระอาจารย์ได้เมตตาชี้ทางให้ดังนี้ค่ะ

“ก่อนจะไปถึงวิธีหยุดความคิด จะต้องแยกความคิดก่อน คือดูก่อนว่าเรากำลังคิดอะไร ถ้าสิ่งที่เราคิดมันดี ก็ไม่ต้องหยุด ปัญหาคือเรื่องที่เราคิด เป็นเรื่องดีหรือเปล่า

“หลังจากนั้นต้องแยกอีกว่า ตอนนั้นเราทำอะไรอยู่ ถ้าสมมติว่าเราไปเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ว่าจะคิดดี หรือจะคิดไม่ดี เราก็อาจไม่ต้องคิดในเวลานั้น แต่ถ้าพูดถึงในชีวิตประจำวัน ความคิดย่อมเกิดขึ้นตลอดเวลาอยู่แล้ว เช่น เจอคนเดินผ่านหน้า มองหน้าเราด้วยหางตา เราคิดแล้วว่า คนนี้คงมีปัญหากับเรา นี่ก็คือความคิด แถมส่วนใหญ่ เราไม่รู้ตัวว่าคิด บางทีคิดไปแล้วยังคิดต่อว่า ถ้าคนนี้เขาไม่ชอบเรา เราจะจัดการกับเขาอย่างไร ก็คิดต่อไปอีก

“เพราะฉะนั้น ขั้นแรกของแบบฝึกหัดนี้ก็ คือ การรู้ตัวว่าคิด เมื่อรู้ตัวว่าคิดแล้วก็แยกแยะให้เป็น ว่าความคิดนั้น ดีหรือไม่ดีก่อน ถ้าดี ควรที่จะคิด คิดแล้วเป็นประโยชน์ ก็คิดต่อได้ แต่หากคิดแล้ว มันไม่ดี เป็นอกุศล ก็หาวิธีที่จะหยุดคิด ซึ่งมีหลายแนวทาง

“อาตมานึกถึงพระสูตรบทหนึ่ง ถ้าท่านใดสนใจลองศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ พระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่องการที่พระภิกษุมีความคิดในทางที่เป็นอกุศล แล้วจะหยุดความคิดนั้นได้อย่างไร ชื่อพระสูตรว่า “วิตักกสัณฐานสูตร” พระพุทธเจ้าให้แนวทางไว้ 5 วิธี

“วิธีที่หนึ่ง คือ ลองคิดเรื่องดี ๆ ทดแทนเรื่องไม่ดี ท่านเปรียบเทียบเหมือนนำลิ่มไม้อันเล็ก ไปตอกไม้ชิ้นใหญ่ให้แยกออก หลุดออกได้ เราคิดเรื่องดี ๆ เล็ก ๆ ให้ไปเปลี่ยนแปลงสิ่งไม่ดี ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราคิดจะทำสิ่งไม่ดี ทำตามใจตัวเอง ทำสิ่งที่ชั่วแล้วเรานึกถึงพ่อแม่เรา นึกถึงคนที่รักเรา นึกถึงความดีในตัวเราที่เคยทำมา บางครั้งเมื่อนึกถึงแล้ว ก็ทำให้เราหมดแรงที่จะทำความชั่วเกิดกำลังใจที่จะทำความดีขึ้นมาได้

“วิธีที่สอง คือ การนึกถึงโทษของความคิดที่ไม่ดีว่า ความคิดที่ไม่ดีนั้นจะส่งผลให้เกิดโทษอะไรบ้าง อันนี้ท่านเปรียบเทียบไว้ว่า คนที่แต่งตัวสวยงาม ย่อมไม่อยากเกี่ยวข้องกับซากสัตว์ ขยะสกปรกที่มีกลิ่นเหม็น ฉันใด ถ้าเรามองเห็นโทษของความคิดไม่ดีว่า มันแปดเปื้อน มันสกปรก เราก็จะค่อย ๆ คลายความคิดที่ไม่ดีนั้นลงไป

“วิธีที่สาม คือ ฝึกที่จะหยุดคิด คือรู้ตัวว่าความคิดนั้นไม่ดี แล้วจึงหยุดความคิดนั้น เปรียบเหมือนบุคคลมีดวงตาแล้วหลับตาลง เมื่อฝึกหลับตา ฉันใด ก็ฝึกการหยุดความคิด ฉันนั้น ถ้าเราไม่ติดเพลินในการอยากดู เราก็หลับตาได้ ถ้าเราไม่ติดเพลินในความอยากคิด เราก็หยุดความคิดได้

“วิธีที่สี่ คือ การรู้อาการคิด ท่านเปรียบเทียบเหมือนคนวิ่ง เมื่อรู้ว่าวิ่งแล้วเหนื่อย ก็จะเดิน เมื่อรู้ว่าเดินแล้วเหนื่อย ก็จะหยุดยืน และเมื่อรู้ว่ายืนแล้วก็ยังเมื่อย ก็จะนั่ง ฉันใดฉันนั้น ถ้าเรารู้อาการคิดว่า คิดอย่างนั้นแล้วมันทุกข์ คิดอย่างนั้นแล้วมันเหนื่อย ก็จะพักและหยุดคิดได้เอง

“วิธีสุดท้าย คือ การกดข่มความคิด เมื่อรู้ว่าความคิดนั้นไม่ดี ก็เอาความคิดดี หรือว่าพยายามบังคับตัวเองให้ไม่คิด ท่านเปรียบเหมือนการที่เราเอาฟันกัดฟัน เอาลิ้นดุนเพดาน เพื่อที่จะอดกลั้นความคิดนั้นให้ได้

“แต่ละคนต้องลองใช้วิธีที่เหมาะกับตัวเอง ซึ่งบางครั้งในแต่ละกรณี แต่ละเหตุการณ์ วิธีที่ใช้แล้วประสบผลดีก็อาจจะแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ลองใช้วิธีการที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้ใน “วิตักกสัณฐานสูตร” เป็นแนวทางเบื้องต้นน่าจะเป็นการดี ขออนุโมทนา”

อย่าลืมว่า ถ้าคุณรู้สึกหนัก มีทุกข์ในใจแบ่งเรื่องราวของคุณให้พวกเราได้ค่ะ ที่สำคัญลองเติมธรรมกันวันละนิดเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นค่ะ ส่งความหนัก ความทุกข์ สิ่งสงสัยมาให้พวกเราได้ที่ www.bia.or.th/dhamlife อ้อมจะไปหาคำตอบจากพระอาจารย์มาให้ค่ะ อะไรที่อ้อมช่วยได้ อ้อมยินดีค่ะ

ติดตามข้อธรรมดี ๆ ได้ที่เพจ FB: หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือ Line @Suanmokkh_Bangkok และติดตามรายการธรรมlife ได้ทุกวันพุธ และวันอาทิตย์ เวลา 08:00 น. บน LINE TODAY

อ่านเพิ่มเติม วิตักกสัณฐานสูตร ว่าด้วยอาการแห่งวิตก http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=12&A=4099&Z=4207

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0