โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คู่มือลาออก..แด่มนุษย์เงินเดือนทั่วไทย

LINE TODAY

เผยแพร่ 21 ก.พ. 2561 เวลา 11.39 น. • Pimpayod

มีหลายเหตุผล หลายปัจจัยที่ทำให้มนุษย์เงินเดือนคนหนึ่งตัดสินใจลาออกหรือเปลี่ยนงาน จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เมื่อตัดสินใจลาออกแล้ว ไม่ใช่จะออกไปเฉย ๆ ก็เป็นอันเสร็จสิ้น แต่ยังมีเรื่องที่ต้องรู้อีกสารพัดสิ่ง โดยเฉพาะคนที่ลาออกโดยที่ยังไม่มีงานใหม่รองรับ ยิ่งต้องรู้ให้เยอะว่าคุณมีสิทธิ์อะไรบ้าง และใช้สิทธิ์เหล่านั้นให้คุ้มค่าที่สุด

เรื่องที่ต้องรู้ก่อนลาออก

ก่อนเข้าทำงานหลายคนผ่านการเซ็นสัญญากับบริษัทว่าหากจะลาออกต้องแจ้งล่วงหน้ากี่วัน 15 บ้าง 30 บ้าง แต่รู้หรือไม่ จริง ๆ แล้วตามกฎหมายแรงงานไม่ได้บังคับต้องแจ้งล่วงหน้าใด ๆ เลย แต่ที่หลายบริษัทมักกำหนดไว้ให้แจ้งล่วงหน้าก็เพื่อจะได้มีเวลาเตรียมหาคนมาแทน และจัดการงานส่วนที่เรารับผิดชอบให้เสร็จสิ้น เรียกว่าเป็นมารยาทในการทำงานที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนพึงกระทำเสียมากกว่า

โดยหลักการแล้ว เมื่อเรายื่นจดหมายลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรเรียบร้อย ก็ถือว่าการลาออกเป็นอันสมบูรณ์ มีผลทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอการอนุมัติใด ๆ จากนายจ้าง แต่ถ้าคุณเป็นพนักงานแบบสัญญาจ้างที่มีระยะเวลาในการทำงานกำหนดอยู่ในสัญญา คุณไม่สามารถลาออกได้ทันทีก่อนครบกำหนดสัญญา ดังนั้นเมื่อต้องการลาออกจำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าและรอการอนุมัติเสียก่อน ไม่เช่นนั้นอาจเข้าข่ายละเมิดสัญญาและอาจต้องจ่ายค่าชดเชยเนื่องจากทำให้บริษัทเสียหายได้

อย่าลืมเงินทดแทนกรณีว่างงาน

หลายคนมักคิดว่าสิทธิประกันสังคมเป็นอะไรที่เล็กน้อย ยิบย่อย และไม่มีประโยชน์สักเท่าไหร่ แต่รู้หรือไม่..จริง ๆ แล้วประกันสังคมเป็นสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนต้องรู้ ต้องเข้าใจ และเอาประโยชน์จากสิทธิเหล่านี้มาใช้อย่างเต็มที่ บางคนถึงขั้นไม่เคยใช้ ไม่รู้เลยได้แต่ส่งเงินเข้ากองทุนทุกเดือน ๆ ละตั้งหลายบาท

แม้คุณจะไม่อยากใช้สิทธิรักษาพยาบาลเพราะขี้เกียจไปต่อคิว แต่ยังไงสิทธิของเรา เราก็ต้องใช้ โดยเฉพาะกรณีที่คุณออกจากงานแล้วยังหางานใหม่ไม่ได้ บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองมีสิทธิได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงานด้วย โดยจะต้องไปขึ้นทะเบียนว่างงานภายใน 30 วันหลังออกจากงาน หรือลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน ซึ่งในกรณีที่ลาออกเองจะได้รับเงินทดแทน 30% ของค่าจ้างเป็นเวลา 3 เดือนหรือประมาณ 13,500 บาท/ปี และหากถูกเลิกจ้างจะได้รับ 50% ของค่าจ้างเป็นเวลา 6 เดือน หรือประมาณ 45,000 บาท/ปี 

ที่สำคัญคือเงินทดแทนกรณีว่างงานไม่ได้จ่ายให้รวดเดียวเป็นก้อน แต่จะต้องรายงานตัวทุกเดือนเพื่อรับรองสถานะว่าคุณยังว่างงานอยู่จริง โดยสามารถรายงานตัวผ่านทางเว็บไซต์ของกรมจัดหางานก็ได้เช่นกัน

สิทธิประกันสังคมทำต่อเนื่องไว้ก็ดี

อย่างที่รู้กันว่ามนุษย์เงินเดือนทุกคนจะได้รับสิทธิประกันสังคมเหมือนกันหมด ได้แก่ กรณีเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน เพราะฉะนั้นอย่าคิดแต่ว่าสิทธิประกันสังคมเป็นเรื่องเล็กน้อยยุ่งยากเด็ดขาด โดยเฉพาะคนที่อยากจบสถานะมนุษย์เงินเดือน ทั้ง ๆ ที่ส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมมาก็หลายปี ขอให้นึกถึงผลประโยชน์กรณีชราภาพไว้หน่อย แก่ตัวไปเมื่อไหร่ อย่างน้อยคุณก็ยังมีเงินบำเหน็จไว้ใช้ทุกเดือน

สำหรับคนที่ไม่คิดจะเป็นมนุษย์เงินเดือนอีกต่อไป หลังจากรับเงินทดแทนกรณีว่างงานไปแล้ว 3 เดือน สเต็ปต่อไปก็คือถ้าอยากคงสถานะผู้ประกันตนไว้ คุณจะต้องไปยื่นเรื่องเป็นผู้ประกันตนภาคสมัครใจในมาตรา 39 ภายใน 6 เดือนหลังออกจากงาน ซึ่งมาตรา 39 นี้ สำหรับผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน (ผู้ประกันตน มาตรา 33 คือมนุษย์เงินเดือนทั่วไปที่ส่งเงินประกันสังคมทุกเดือน) และจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเดือนละ 432 บาท โดยรัฐบาลจะช่วยสมทบอีก 120 บาท/เดือน ซึ่งจะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ (รายละเอียดผู้ประกันตน มาตรา 39) 

จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นสวัสดิการที่นายจ้างมีให้ ทำให้มนุษย์เงินเดือนอย่างเรา ๆ ได้ออมเงินอย่างต่อเนื่องในระยะยาวไว้ใช้ยามเกษียณหรือลาออกจากงาน แต่เมื่อลาออกจากงานแล้วจะจัดการกับเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไร

ทุกบริษัทจะกำหนดให้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนอย่างต่อเนื่องทุกเดือนในอัตรา 2-15 % ของรายได้ และบริษัทจะจ่ายเงินสมทบให้อีกในแต่ละเดือนในอัตรา 2-15 % เช่นกัน ซึ่งเงินจำนวนนี้จะถูกนำไปบริหารจัดการโดยมืออาชีพเพื่อให้งอกเงยมากขึ้น และหากลาออกจากงานก็จะได้รับเงินที่จ่ายเข้ากองทุนฯ คืน ส่วนเงินสมทบของนายจ้างและผลตอบแทนจะได้คืนเป็นสัดส่วนตามอายุงาน เช่น อายุงาน 5 ปีขึ้นไปมีสิทธิได้รับเงินสมทบ 100% เป็นต้น 

โดยปกติเมื่อลาออกจากงานแล้วจะหมายถึงการสิ้นสุดสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทันที และเงินที่จ่ายเข้ากองทุนฯ จะถูกคำนวณคืนให้ตามสัดส่วนและตามอายุงานเป็นเช็คหรือเงินโอนเข้าธนาคาร แต่ถ้ายังไม่อยากเอาเงินออมจำนวนนี้ออกมาใช้ หรือรอให้ได้งานใหม่ก่อนแล้วค่อยย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมไปไว้ที่กองทุนฯ ใหม่ของที่ทำงานใหม่เลยก็ได้ โดยจะต้อง แจ้งคงเงินเอาไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิมเอาไว้ก่อนผ่านแบบฟอร์มขอคงเงินไว้ในกองทุนปัจจุบัน ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมคงเงินไว้ในกองทุนประมาณ 700 บาท

นอกจากการเงินไปกองทุนสำรองเลี้ยงชีพใหม่แล้ว เรายังสามารถย้ายเงินไปยังกองทุน RMF ได้ด้วย เพราะไหน ๆ เงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็คือเงินไว้ใช้ยามเกษียณอยู่แล้ว การย้ายไปยังกองทุน RMF ก็เป็นการตอบโจทย์ที่ดี แม้จะไม่ได้ผลประโยชน์ทางภาษี แต่ก็ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่หลากหลาย ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ อีกทั้งสามารถถอนเงินในส่วนนี้ได้โดยไม่ต้องเสียภาษี เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

ทั้ง 4 ข้อนี้เป็นเรื่องที่มนุษย์เงินเดือนทุกคนต้องรู้ และต้องทำความเข้าใจ อย่าคิดแค่ว่าลาออกไปก่อน เดี๋ยวก็หางานใหม่ได้เอง ที่สำคัญอย่าลืมว่าอะไรที่เป็นสิทธิของเรา เราต้องรักษาไว้อย่างเต็มที่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0