โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ความหายนะของ ‘การหลอกตัวเองว่ากำลังทำสิ่งที่ถูก’ - เพจ Beautiful Madness by Mafuang

TOP PICK TODAY

อัพเดต 12 มี.ค. 2563 เวลา 08.48 น. • เผยแพร่ 10 มี.ค. 2563 เวลา 09.54 น. • เพจ Beautiful Madness by Mafuang

 

‘หนึ่งในพฤติกรรมที่ทรงพลังที่สุดของมนุษย์ มีรากเหง้ามาจากความต้องการที่จะคงภาพลักษณ์ที่มั่นคงและดูดีของตนเองเอาไว้!’

นี่คือคำพูดจากเอลเลียต อรอนสัน นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกัน

และแน่นอน หลายครั้งการ ‘อยากคงภาพลักษณ์ที่ดูดี’ นี้เอาไว้ของแต่ละคน มันก็ลื่นไถลลงไปในสิ่งที่เรา ‘ไม่เคยคาดคิดว่าจะทำมาก่อน’ เหมือนกัน

.

.

.

มีคำหนึ่งที่เขาเรียกว่า ‘Cognitive Dissonance’ ถ้าแปลเป็นไทย คงหมายความถึง

‘ความไม่กลมกลืนกันของกระบวนความคิด/การรับรู้’

 

อธิบายได้ว่า เมื่อไหร่ก็ตาม ที่การกระทำของเรา มันขัดกับความเชื่อและหลักศีลธรรมในใจที่เรายึดถืออยู่ จิตใจก็จะเกิดปรากฎการณ์ หาวิธีอะไรก็ได้ มาทำให้เราเลิก ‘หงุดหงิดหรือไม่สบายใจ’ กับความรู้สึกนั้นซะ!

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ

ผู้ชายคนหนึ่งกำลังมีความสุขกับการลอกข้อสอบเพื่อนอยู่ ทันใดนั้น ‘ศีลธรรมในจิตใจ’ ก็ดังขึ้นมาว่า ‘นี่มันเป็นสิ่งที่ผิดนะ!’ ทีนี้ ผู้ชายคนนี้ก็พยายามหาความคิดหรือการกระทำอะไรก็ได้ที่ทำให้เขากลับมา ‘มีความสุข’ ตามเดิม

อาจเป็นการ ‘หยุดลอกข้อสอบนั้น’ เพื่อให้ชีวิตกลับมาตรงกับศีลธรรมที่ใจตัวเองเชื่อไว้

หรืออาจเป็นการบอกตัวเองว่า ‘โอ้ย ไม่เห็นเป็นไรเลย ใครๆ เขาก็ทำกัน’ เพื่อให้เขาสบายใจ และกลับมีความสุขได้เหมือนเดิม

หรืออีกตัวอย่างง่ายๆ ก็เช่น เราโดนหลอกให้ซื้อเครื่องสำอางแพงๆ โมโหตัวเองจนต้องไปหารีวิวเครื่องสำอางต่างๆ แล้วก็บอกตัวเองว่า เห้ยยยยย มันดีนะ คุ้มค่านะ เราคิดถูกแล้ว ให้ตัวเองสบายใจ

.

.

.

ทำไมเจ้า Cognitive Dissonance มันถึงจะรุนแรงได้?

เพราะหลายคน เมื่อรู้แล้วว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่มันทะแม่งๆ แต่บางครั้งมันเลยเถิดจนกลับลำไม่ได้แล้ว จึงเลือกหาวิธีคิดต่างๆ มาทำให้ตัวเองสบายใจขึ้น

ตัวอย่างหนักๆ ก็เช่น

มีนักจิตวิทยา เคยไปติดตามพิธีทางศาสนาฮินดูในเทศกาลไทปูซัม พิธีนี้ จะแบ่งศาสนิกชนออกเป็น 2 ฝ่าย

ฝ่ายแรกก็คือเคารพแบบเบาๆ กราบไหว้บูชา ร้องเพลงก็ว่ากันไป ส่วนอีกฝ่ายคือ ฝ่ายจัดหนัก โดยสิ่งที่คนเหล่านี้ต้องทำ คือการเอาทั้งเข็มมาเจาะ เอาตะขอมาเกี่ยวแผ่นหลังของตัวเองเอาไว้ โดยมีตุ้มหนักๆ ถ่วงเอาไว้อีก และยังต้องเอาตะขอมากมายที่เกี่ยวหลังนั้น ลากรถเลื่อนที่อยู่ข้างหลัง เป็นเวลากว่า 4 ชั่วโมง จากนั้นก็ปีนขึ้นภูเขาด้วยเท้าเปล่า เพื่อให้ไปถึงจุดสุดยอด

หลังจากนั้น นักจิตวิทยาก็ไป เดินเรี่ยไรเก็บเงินผู้ไม่ประสงค์ออกนามเพื่อบำรุงศาสนา จากผู้เข้าร่วมพิธีทั้งฝ่ายเบาๆ และฝ่ายจัดหนัก

ที่น่าสนใจก็คือ ผู้ที่จัดหนักกับพิธีสุดทรมานนั้น บริจาคเงินเยอะกว่าผู้ที่ผ่านพิธีแบบเบาๆ หลายเท่าตัวนัก

‘ยิ่งเขาผ่านเหตุการณ์หนักหนาที่ทางวัดได้ให้เขาทำมากเท่าไหร่

เขายิ่งรู้สึกผูกมัดกับทางวัดมากเท่านั้น ยิ่งเจ็บแสบ ยิ่งภูมิใจ’

(ทั้งนี้ทั้งนั้น นี่คือความเชื่อทางศาสนาส่วนบุคคล เราไม่ได้มีเจตนาจะวิจารณ์ให้สั่นคลอน เราอยากอธิบายให้เห็นถึงพลังของความคิด/ความเชื่อนี้เท่านั้น

.

.

.

มีตัวอย่างที่หนักกว่านี้อีก!

ในปี 1997 มีกลุ่มนิกายหนึ่งชื่อว่า เฮเวนส์ เกท (Heaven’s Gate)

ผู้เริ่มตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมามีนามว่า มาร์เชล แอปเปิ้ลไวท์ (Marshall Applewhite) เขามีความเชื่อหนักแน่นกับเรื่องเหนือธรรมชาติแบบสุดๆ เขาเชื่อว่า จะมีดาวหางดวงหนึ่งที่โคจรเข้ามาในโลกมนุษย์ และนำพาทุกคนที่เชื่อในสิ่งนี้ ไปสู่สรวงสววรค์ในโลกใหม่ ซึ่งการจะเดินทางไปถึงโลกใหม่นั้นได้ ทุกคนจะต้องออกจาก ‘ร่างของในโลกนี้’ และขึ้นยานดาวหางนี้ออกเดินทางไปพร้อมกัน

ใช่ค่ะ ตัดภาพมา ในที่สุดแล้ว มีคนไปเจอศพของผู้ร่วมนิกายจำนวน 39 ศพ ‘เต็มใจฆ่าตัวตาย’ ด้วยความสงบ ในสถานที่ประกอบพิธีสุดหรูในเมืองแคลิฟอร์เนีย เพื่อพร้อมไปเจอโลกใหม่ที่เขาโหยหา

และใช่ค่ะ ดาวหางที่พวกเขาเชื่อมั่น ก็ไม่ได้มารับพวกเขาไป

ก่อนหน้าที่จะถึงวันฆ่าตัวตาย มีผู้ร่วมนิกายบางคนถึงขั้นไปซื้อกล้องโทรทรรศน์ที่แพงที่สุดมา เพื่อตามหาดาวหางนี้ และเมื่อเขาหาดาวหางนั้นไม่เจอ แทนที่เขาจะตระหนักรู้ว่า ‘ดาวหางนั้นไม่มีจริง’ เขากลับบอกว่า ‘กล้องโทรทรรศน์นั้นไม่มีประสิทธิภาพมากพอ’

.

.

.

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เหล่าผู้ร่วมนิกายเหล่านี้ เมื่อถามเพื่อนบ้านของพวกเขา ทุกคนต่างบอกว่า พวกเขาเป็นคนฉลาด มีเหตุมีผล เป็นคนร่าเริงอัธยาศัยดี

‘แต่เมื่อเราเอาตัวเองเข้ามาถึงจุดๆ หนึ่งแล้ว ถลำเข้ามาลึกแล้ว มันยากที่จะดึงตัวเองออกมาพร้อมกับความจริงที่ว่า ความเชื่อที่ผ่านมานั้นมัน ‘ผิด’

มันเลยง่ายกว่าสำหรับบางคน ที่จะทำทุกวิถีทาง เพื่อคงไว้ซึ่งการกระทำและความคิดที่ถลำเข้ามาในดินแดนแห่งความทะแม่งๆ นี้’

.

.

.

วิธีแก้ไข Cognitive Dissonance พูดง่าย แต่อาจจะทำยาก

คือการคอยเช็คตัวเองตลอดว่า สิ่งที่เราทำอยู่ มันสอดคล้องกับศีลธรรมที่เรายึดไว้ในใจหรือไม่ และเมื่อไหร่ที่เราเริ่มรู้สึกว่ามันขัดกับศีลธรรมที่เรายึดไว้

มันจะเป็นไปได้หรือไม่

ที่เราจะทำลายทิฐิหนาแน่นที่เรามี

ด้วยการเดินออกมา หาจุดที่ถูกต้องและ ‘ใช่’

เพื่อให้ชีวิตกลับมามีความสุขได้ตามเดิม.

อ่านบทความใหม่จากเพจ Beautiful Madness by Mafuang ได้บน LINE TODAY ทุกวันอังคาร

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0