โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ความรุนแรงไม่ได้เกิดแค่ในพงหญ้า ทำความเข้าใจใหม่เรื่อง "ความรุนแรงต่อผู้หญิง" และวิธีการปกป้องคนที่คุณรัก

LINE TODAY

เผยแพร่ 24 พ.ย. 2563 เวลา 17.00 น. • @mint.nisara

“เขาดีกับเรามาก ยกเว้นแค่ตอนโมโหหรือเวลาที่เราสองคนทะเลาะกัน เขาจะเริ่มลงไม้ลงมือ เราไม่โทษเขานะ เขาแค่ทำไปเพราะโกรธ เขาขอโทษเราและก็กลับมาเป็นแฟนที่ดีเหมือนเดิม เราเข้าใจ..เราโอเค..”

 

ประโยคข้างต้นคือสิ่งที่เราเคยได้ยินจากเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่ง เธออยู่ในความสัมพันธ์ที่บอบช้ำแต่ปกป้องตนโดยการเอาความคิดแง่บวกสุดขั้วมากลบรอยแผลเอาไว้ 

สำหรับหลาย ๆ คนแล้วเรื่องเหล่านี้อาจจะเป็นอะไรที่ฟังเข้ามาแล้วผ่านออกไป ไม่ได้ร้ายแรงเท่าผู้หญิงที่ถูกหลอกไปค้าประเวณี ไม่ได้ทารุณเท่ากับการโดนขู่เข็ญขืนใจ

“ก็เพราะเธอยอมเขาเองนี่นา” บางคนก็อาจจะคิดเช่นนี้ 

แต่ความจริงแล้วนี่ไม่ใช่แค่ปัญหาของคู่รักธรรมดา ๆ ที่ทะเลาะกันและในฐานะคนนอก เราควรเอาตัวออกห่างเรื่อง ‘ผัวเมีย’ ให้มากที่สุด มันคือความรุนแรง มันคืออาชญากรรม และเป็นเรื่องที่ไม่ควรปล่อยผ่าน 

 

ในวันที่ข่าวเต็มไปด้วยพื้นที่ของคดีข่มขืนและความรุนแรงต่อผู้หญิง LINE TODAY ขอหยิบเอาประเด็นนี้กลับมาทบทวนอีกครั้งว่าขอบข่ายความรุนแรงอยู่ตรงไหน สถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงในปัจจุบันเป็นอย่างไร และเราสามารถทำอย่างไรกับปัญหานี้ได้บ้าง…  

 

ความรุนแรงไม่ได้จำกัดแค่การถูกข่มขืน

ความรุนแรงต่อผู้หญิงหมายถึงอะไร? เหตุการณ์แบบไหนที่สามารถเรียกได้ว่าความรุนแรง? 

คำถามทั้งสองนี้ทำให้เรานึกถึงเรื่องของ นานา - วิภาพรรณ วงษ์สว่าง เจ้าของเพจ ThaiConsent เธอแชร์กับเราว่าเธอเคยถูกรุ่นพี่ที่สนิทกันลวนลามแต่ไม่แน่ใจว่ามันเข้าข่ายความรุนแรงทางเพศแล้วหรือเปล่า

 

“ตอนนั้นเรียนอยู่ปี 1 ปี 2 แล้วไปปาร์ตี้บ้านเพื่อน พี่เจ้าของบ้านเป็นคนที่สนิทกันมาก รู้จักกันมาประมาณ 7-8 ปี ตอนนั้นเราเมา เขาก็อุ้มเราขึ้นห้อง แต่ไม่ได้จะส่งไปนอนนะ แx่งแบบจะข่มขืนเรา เราที่อายุ 20 ไม่รู้หรอกว่าสิ่งนั้นเรียกว่าข่มขืนได้หรือเปล่า เพราะว่ามันไม่เหมือนกับการข่มขืนที่เราเห็นในข่าว ว่าต้องเป็นคนแปลกหน้ากระทำกัน ฉุดเข้าป่า…”

 

โดยหลักแล้ว ความรุนแรงสามารถหมายถึงทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อผู้หญิงโดยขาดการยินยอม ตามคำบัญญัติของสหประชาชาติในปฏิญญาว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรีปี 1996 ให้คำจำกัดความเอาไว้ว่า “ความรุนแรงหมายถึงการกระทำโดยเพศชายที่ก่อความเสียหายทางร่างกายและจิตใจให้กับเพศหญิง ไม่ว่าจะเป็นการลวนลามทางวาจาหรือกาย การบังคับขู่เข็ญ การจำกัดเสรีภาพ ความรุนแรงภายในบ้าน รวมไปถึงการล่วงละเมิดทางเพศโดยสามี (หากภรรยาไม่สมยอม) การบังคับให้ค้าประเวณี บังคับแต่งงาน และประเพณีหรือลัทธิที่กีดกันสิทธิทางเพศ” 

 

1 ใน 3 ของจำนวนผู้หญิงทั่วโลกเคยเป็นเหยื่อของความรุนแรง

นอกจากเคสที่ปรากฏอยู่ในข่าวแล้ว มีผู้หญิงอีกหลายคนที่ยอมทนเพราะรัก ยอมพึ่งความหวังอันริบหรี่ในการประคับประคองความสัมพันธ์และกลายเป็นเหยื่อของความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว สถิติของ UN Women ปี 2018 เปิดเผยว่า 1 ใน 3 ของจำนวนผู้หญิงทั่วโลกเคยเป็นเหยื่อของความรุนแรง  และ 83% ของผู้กระทำคือคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะในฐานะคนในครอบครัว เพื่อน หรือคนรัก 

 

ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือ หญิงไทยกว่า 20,000 คนต่อปีต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจากผลกระทบของความรุนแรง แต่มีเพียงแค่ 2,000-3,000 คนเท่านั้นที่กล้าเข้าแจ้งความ และจากการคาดการณ์มีอีกหลายหมื่นเคสต่อปีที่ไม่กล้าเปิดเผยเรื่องราวของตน

 

หยุดความรุนแรงต้องเริ่มต้นที่ตรงไหน

สถานการณ์ความรุนแรงบางอย่างมีความละเอียดอ่อน โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างคนในครอบครัวและคู่รัก การตัดสินใจนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอาจจะเป็นเรื่องที่น่าลำบากใจสำหรับฝ่ายหญิง เพราะมีปัจจัยเรื่องของความผูกพันและบุคคลภายในครอบครัวคนอื่น ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่หากความรุนแรงมาถึงตัวคุณหรือคนใกล้ตัว ควรเริ่มจัดการกับปัญหาอย่างไรดี? 

อย่าทำเรื่องให้เป็นความลับ เหยื่อความรุนแรงส่วนมากจะรู้สึกละอายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและยอมที่จะปิดปากเงียบเพราะไม่อยากถูกมองว่าตนเป็นคนมีตราบาป นานาแนะนำว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องเริ่มต้นจากตัวเอง การทำให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่เป็นความลับ” ลองเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้กับเพื่อนที่ไว้ใจที่สุดฟัง ถึงแม้ฟังดูแล้วอาจเป็นวิธีการแก้ปัญหาแบบง่าย ๆ แต่ก็ถือเป็นการจัดการขั้นต้นที่ช่วยให้เหยื่อรู้สึกสบายใจขึ้นได้

ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเช่น มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล, ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 หรือโครงการ SHero ที่ช่วยเหลือด้านนี้โดยเฉพาะ หากเหตุการณ์ดูบานปลายและเจ้าทุกข์ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ การขอการสนับสนุนจากหน่วยงานเหล่านี้ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ดีและมีประสิทธิภาพที่สุด

การคุ้มครองเหยื่อ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเหยื่อหลาย ๆ คนคือพอผ่านพ้นเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งหมดไปได้แล้ว เมื่อผู้ก่อเหตุกลับเข้ามาในชีวิตอีก จะใจอ่อนและพาตัวเองกลับไปสู่จุดเดิม สิ่งที่ทำได้คือการมีกฎหมายคุ้มครองเหยื่อและสวัสดิการครอบครัวที่แข็งแรง “การทำให้ครอบครัวกลับมาเหมือนเดิม กับการคุ้มครองเหยื่อมันควรวางตัวบทออกจากกันให้ชัดเจน ไม่งั้นในทางปฏิบัติ คนใช้กฎหมายก็จะโน้มน้าวให้ผู้เสียหายคืนดีกับคนรักที่ทำร้าย” เบส - บุษยา ศรีสมพงษ์ ผู้ก่อตั้งโครงการ SHero กล่าว

เปลี่ยนที่แนวคิดตั้งต้น การหยุดความรุนแรงที่ยั่งยืนไม่ใช่การป้องกันที่ปลายเหตุแต่เป็นการปรับความคิด "ชายเป็นใหญ่" ที่ฝังรากในวัฒนธรรมบ้านเรา "เราก็คิดว่าคนที่ทำเราก็ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นแบบนั้น แต่บังเอิญที่ว่าเป็นผู้ชายที่โตมาในสังคมแบบนั้น ถูกสอนมาแบบนั้น ถ้ามีโอกาสก็ให้ทำแบบนั้น ไปเอาเรื่องเป็นคน ๆ มันก็ไม่หายไป ต้องเริ่มปรับที่วัฒนธรรมเลย" นานาบอกกับเรา

อ้างอิง

- WHO

- THE STANDARD

- Workpoint News

- Thai Health

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0