การสอบยังจำเป็นมั้ย? สิงคโปร์เตรียมยกเลิกสอบชี้! การเรียนไม่ใช่การแข่งขัน
อนาคตของเยาวชนไม่อาจวัดผลจากคะแนนสอบได้เสมอไปแต่หลายปีที่ผ่านมาภาพที่ชินตาที่เรามักจะเห็นลูกๆหลานๆน้องๆต้องทำก็คือการแบกกระเป๋าใบใหญ่ไปโรงเรียนคร่ำเคร่งกับการเรียนพิเศษกันตั้งแต่อนุบาลต้องเตรียมการสอบเข้าเรียนกันตั้งแต่ระดับประถมแท้จริงแล้วสิ่งเหล่านี้จำเป็นหรือไม่ทิศทางที่เยาวชนบ้านเรากำลังจะเดินไปมันนำไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นจริงหรือเปล่า
ค่านิยมทำพิษแม้แต่ประเทศที่เอื้อต่อการศึกษาที่สุดยังยกเลิกการสอบ
เพื่อนบ้านของเราอย่างสิงคโปร์ซึ่งได้รับการจัดอันดับจาก องค์กรเพื่อเด็กระหว่างประเทศ Save the Children ในรายงานคุณภาพชีวิตเด็กประจำปี 2018 ว่า เป็นประเทศที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด เหมาะที่สุดต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ๆ ชนะขาดลอยจากการประเมิน 175 ประเทศทั่วโลก
ไม่นานมานี้กระทรวงศึกษาประเทศสิงคโปร์ประกาศว่า จะยกเลิกการสอบทั้งกลางภาคและปลายภาคของนักเรียนชั้นป. 2 ในปี 2019 ส่วนนักเรียนชั้นป. 3, ป. 5, ม. 1 และม. 3 ก็จะยกเลิกการสอบกลางภาคภายใน 3 ปีหลังจากนี้ไป
เหตุผลก็เพราะว่า เดิมทีสิงคโปร์เป็นประเทศที่ผลักดันเยาวชนในเรื่องการศึกษาเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยค่านิยม "KIASU" ที่มาจากภาษาจีนแปลว่า กลัวจะแพ้เขา ค่านิยมนี้ยังอยู่ในประชากรของสิงคโปร์ซึ่งมีเชื้อสายจีนอยู่มากกว่า 70% แรงขับนี้ทำให้คนสิงคโปร์มีความมุ่งมั่น เพราะเป้าหมายคือเอาชนะ ทั้งความยากจน และทรัพยากรธรรมชาติที่ขาดแคลน นี่คือเหตุผลที่ทำให้ประชากรประเทศทะเยอทะยานและทำงานหนักเป็นอย่างมาก จนพัฒนาการทางเศรษฐกิจประสบความสำเร็จอย่างเด่นชัด
จนกระทั่งมีรายงานวิเคราะห์โครงสร้างการศึกษาของประเทศสิงคโปร์จากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศกลุ่มยุโรป ( OECD ) พบว่า ค่านิยมดังกล่าวมีผลให้เยาวชนสิงคโปร์ชอบชิงดีชิงเด่นและทำงานเป็นทีมไม่ได้ แม้จะเรียนเก่งมากก็ตาม
กระทรวงศึกษาสิงคโปร์จึงดำเนินงานเพื่อจะแก้ไขข้อผิดพลาดนี้ โดยหนึ่งในนโยบายเหล่านั้นก็คือการยกเลิกการสอบในโรงเรียน โดยมุ่งที่จะรักษาสมดุลระหว่าง “ความสุขในการเรียนรู้” และ “การแข่งขันในการศึกษา” ซึ่งจะมีการวัดผลโดยให้คุณครูประเมินจากพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็ก ๆ ทักษะในการปรับตัวและมุมมองต่อโลกให้มากขึ้น วัดผลจากการสอบน้อยลงเพื่อให้สอดคล้องกัน คุณครูเองก็จะได้ผ่อนคลายจากการทำงานอย่างหนักด้วย
ขณะที่บ้านเราเด็กต้องเรียนพิเศษตั้งแต่อนุบาล
นอกจากการสอบให้ได้คะแนนดีในแต่ละเทอมที่ทำให้นักศึกษาบ้านเราถึงขั้นจะต้องทำร้ายตัวเองเพราะความกดดัน การสอบเข้าก็ทำร้ายพวกเขาไม่แพ้กัน
หากยังจำกันได้ เพิ่งจะมีข่าวไปไม่นานนี้ว่า ผู้ปกครองต้องแข่งขันอย่างมากที่จะนำลูกๆ เขาเรียนป.1 ในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง คอร์สติวนักเรียนเพื่อสอบเข้าเรียนป.1 ของบ้างสถาบัน ถูกจองเต็มไปถึงปี 2564
นักเรียนที่ศึกษาอยู่ในระดับชั้น ป.3, ป.6, ม.3 และ ม.6 บ้านเราต้องเข้าสอบ โอเน็ต (O-NET) การทดสอบการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานที่เป็นการสอบวัดความรู้รวบยอด ยิ่งสำหรับเด็ก ม.6 คะแนนนี้มีผลในการประกอบเข้าเรียนเรียนมหาวิทยาลัยและสอบได้แค่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น
ไม่นับรวมการสอบ GAT / PAT ซึ่งนักเรียนมัธยมปลายที่ต้องทุ่มเทอย่างมากต้องเรียนพิเศษทุกวัน ทุกวิชา เสียเงินเข้าคอร์สติวกันเป็นแสนๆ เพื่อที่จะได้เรียนต่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราๆ ท่านๆ เห็นกันจนชินตามานับ 10 ปี
การผลักดันให้เด็กๆ เรียนอย่างหนัก ทำการบ้านอย่างหนักเพื่อให้ได้คะแนนสอบที่ดีนั้น สามารถการันตีผลลัพธ์ในการเรียนรู้ของเยาวชนได้จริงหรือไม่ ทั้งที่สุดท้ายปลายทางแล้ว อนาคตในการที่จะได้งานทำหรือไม่ จะมีรายได้ดีหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัยเหลือเกินที่ไม่ใช่คะแนนสอบ ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติ ความสามารถในการเข้าสังคม จังหวะหรือโอกาส ความสามารถพิเศษเฉพาะตัว สุขภาพจิตที่ดี ซึ่งเราอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกันสักเท่าไหร่
ในขณะเดียวกันสิ่งที่เด่นชัดไปกว่าสิ่งที่เด็กๆ จะได้ คือ ก้อนเงินมหาศาลของผู้ปกครองที่ไหลเวียนอยู่ในระบบการศึกษาและธุรกิจเกี่ยวกับการศึกษา ค่าเทอม ค่าบำรุงการศึกษาที่เสียทุกเทอม ค่าเรียนพิเศษและค่าใช้จ่ายเมื่อเด็กๆ ต้องเดินทางไปเรียนพิเศษตามสถาบันต่างๆ ค่าแป๊ะเจี๊ยะในกรณีที่ความสามารถของลูกอย่างเดียวอาจไม่พอ
คำถามที่ผู้ใหญ่ต้องตอบให้ได้ตั้งแต่วันนี้ คือ พ่อแม่ต้องจ่ายไปเพื่ออะไร ต้องพยายามไปเพื่อใคร การเคี่ยวเข็ญอย่างเอาเป็นเอาตายของผู้ปกครองและระบบการศึกษานั้นนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่คุ้มค่าหรือไม่ เพราะสุดท้ายแล้วผู้ที่จะต้องรับกรรม ไม่ใช่แค่เยาวชน แต่หมายถึงอนาคตของประเทศชาติที่ไม่ก้าวหน้า เพราะระบบการศึกษามันล้มเหลวอีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง
https://brandinside.asia/singapore-cut-mid-year-exams/
https://education.kapook.com/view87255.html
http://www.unigang.com/Article/42799
https://www.thairath.co.th/content/1379168
https://www.posttoday.com/politic/report/545072
ผมว่าการสอบมันเป็นการประเมินผลความรู้ความเข้าใจของนักเรียนนักศึกษาเหมือนกันนะครับว่า มีความเข้าใจมากน้อยเพียงใด ส่วนตัวยังไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการสอบ อาจจะใช้ได้กับประเทศอื่นแต่ประเทศไทยยังไม่ผ่าน
04 ต.ค. 2561 เวลา 00.05 น.
AEIOU อยากให้ครูเป็นครูจริงๆซะที
04 ต.ค. 2561 เวลา 00.43 น.
Wee จะทำอะไรก็ดูคุณภาพประชากรด้วย บ้านเรายังไม่พร้อมขนาดเค้า แล้วสิงคโปร์เนี่ยไปดูเลย เจริญแต่วัตถุ แต่คนดูไม่มีความสุขเลย
04 ต.ค. 2561 เวลา 00.06 น.
AEED การเรียนไม่ใช่การแข่งขัน แต่สังคมสิงคโปร์แข่งขันสูงมาก ปี 59 หรือ 60 รายงานบอกว่าเป็นประเทศที่เครียดที่สุดในโลก
04 ต.ค. 2561 เวลา 00.21 น.
B ก็จริงนะ เครียดมากก็ไม่ดี
04 ต.ค. 2561 เวลา 00.11 น.
ดูทั้งหมด